สองตอนที่ผ่านมา (1, 2) เราพูดถึงศิลปะแห่งการต่อต้านของประเทศอื่นไปแล้ว ในตอนนี้ขอหันกลับมามองในประเทศไทยเราบ้าง ในตลอดประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมา ศิลปะมีบทบาทในการเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐอันฉ้อฉลและไม่เป็นธรรมเสมอมา

มีศิลปินไทยหลายคน มีบทบาทในการทำงานศิลปะทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาทิเช่น วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมผู้มีแนวคิดทางการเมืองที่มุ่งเน้นไปยังการต่อต้านจักรวรรดิทุนนิยมของอเมริกา ผ่านการแสดงงานทางศิลปะทั้งในรูปของภาพวาด ดนตรี และบทกวี

วสันต์ สิทธิเขตต์: โปสเตอร์หาเสียงของพรรคศิลปิน

วสันต์เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการเข้าร่วมการขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่ง วสันต์และกลุ่มเพื่อนศิลปินยังเคยร่วมกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา โดยในการเลือกตั้งในปี 2544 เขาประกาศตั้ง พรรคเพื่อกูที่มีนโยบายเสียดสีพรรคไทยรักไทย อาทิ โครงการหนึี่งตำบล หนึ่งกองพัน เพื่อก่อตั้งแก๊งมือปืน, นโยบายไล่ล่านักการเมืองที่หากินกับโครงการของรัฐ, รวมทั้งการจัดซื้อเครื่องบินเอฟ 16 จำนวน 20 ฝูง เพื่อเอาค่าคอมมิสชั่นมาแจกจ่ายให้สมาชิกพรรค

ในการเลือกตั้งปี 2548 วสันต์ตั้งพรรคศิลปินร่วมกับเพื่อนๆ ศิลปินหลายคน ก็ได้ก่อตั้ง พรรคศิลปินขึ้นมา ซึ่งมีนโยบายยึดทรัพย์นักการเมืองเศรษฐี ยกเลิกสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรม และจัดการศึกษาฟรีตั้งแต่เกิดจนโต โดยวสันต์และคณะผู้ก่อตั้งพรรค ทำการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายจริงๆ (โดยมีหมายเลขเลือกตั้งในเบอร์ 500)

สุธี คุณาวิชยานนท์: History Class | ห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ถนนราชดำเนิน), (2543) โต๊ะและเก้าอี้นักเรียน 14 ชุด, แกะสลักไม้, ดินสอ, สีไม้, ขนาดหลากหลาย แปรผันไม่แน่นอน นิทรรศการ: ร่วมแสดงในโครงการศิลปกรรม ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์, ๑๑-๑๔ พฤษภาคม, บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพจาก http://www.rama9art.org/sutee/09_history_class.html

หรือศิลปินร่วมสมัยอย่าง สุธี คุณาวิชยานนท์ ที่ใช้งานศิลปะแนวคอนเซ็ปชวลนำเสนอประเด็นทางการเมืองอย่างโดดเด่นในผลงาน ห้องเรียนประวัติศาสตร์ที่ประกอบด้วยโต๊ะนักเรียน 14 ตัว บนหน้าโต๊ะสลักด้วยภาพนูนต่ำเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยในแต่ละยุคสมัย เช่น 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งภาพประวัติศาสตร์การเมืองเหล่านี้ ผู้ชมสามารถเอากระดาษมาทาบแล้วใช้สีฝน เพื่อเก็บภาพห้องเรียนประวัติศาสตร์บนโต๊ะเอาไว้เป็นที่ระลึกกลับไปบ้านได้ด้วย นอกจากนั้นเขายังทำงานวิดีโอในชุดเดียวกัน ที่เป็นห้องเรียนจริงๆ ที่มีเรื่องราวจากประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่เขียนเอาไว้บนกระดานดำ แต่บางช่วงเลอะเลือนเพราะถูกลบด้วยแปรงลบกระดาน ซึ่งตอกย้ำความหมายที่หายไปและความทรงจำที่พร่าเลือนของการเมืองไทย

สุธี คุณาวิชยานนท์: โต๊ะที่ ๑๗ ห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ถนนราชดำเนิน) ภาพจาก http://www.rama9art.org/sutee/09_history_class.html

หรือศิลปินภาพถ่าย มานิต ศรีวานิชภูมิ กับผลงานสร้างชื่ออย่าง Pink Manที่เป็นภาพตัวละครชายวัยกลางคนในชุดสูทสีชมพู ที่สอดแทรกตัวเองเข้าไปในภาพถ่ายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่าง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา โดยแสดงสีหน้าไม่ยี่หระแยแสต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น (ตัวละคร Pink Man ยังไปปรากฏตัวในอีกหลายพื้นที่หลายบริบท เช่นในซีรีย์ Pink, White, Blue ที่เขาเข้าร่วมซีนกับเด็กชายในชุดลูกเสือโบกธงชาติ หรือบางครั้งก็ไปยืนเฉยเมยอยู่ต่างประเทศ)

มานิต ศรีวานิชภูมิ: Horror in Pink (2001) ภาพจาก https://www.agencevu.com/photographers/photographer.php?id=197

หรือผลงานของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรืออิ๋ง เค หลานสาวของเสรีไทย ซึ่งวาดภาพบุคคลในความทรงจำของเธอผู้ประสบความสูญเสียจากความขัดแย้งทางการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในผลงาน Thank You for History + Memory (triptych of oil on canvas paintings: ‘portrait of little granny, widow of chit singhaseni’; ‘weeping icon # 2’ & ‘weeping Icon # 3(2001)

สมานรัชฎ์ยังทำภาพยนตร์นอกกระแสอย่าง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ (2555) ที่ดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของวิลเลียม เชกสเปียร์ โดยดัดแปลงให้สะท้อนสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงเวลานั้น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์  และได้รับเรท ‘ห’ หรือ ห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เนื่องจากในภาพยนตร์มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ มีการนำฟุตเทจภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือน เมษายน 2552 มาใช้ เหตุการณ์นี้ต่อยอดมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เซ็นเซอร์ต้องตาย (2556) โดย สมานรัชฎ์และมานิต ที่ว่าด้วยกระบวนการแบนหนัง เชคสเปียร์ต้องตาย และการอุทธรณ์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมของพวกเขา

นอกจากงานทัศนศิลป์อย่างจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และศิลปะจัดวางแล้ว การ์ตูน ก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอยู่เสมอมา นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่มีชื่อเสียงของไทยก็มีอาทิ ชัย ราชวัตร, อรุณ วัชระสวัสดิ์, เซีย, บัญชา คามิน ฯลฯ

หรือนักเขียนการ์ตูนการเมืองที่ผมติดตามเป็นการส่วนตัวอย่าง ทองธัช เทพารักษ์ นักเขียนการ์ตูนการเมืองผู้เขียนการ์ตูนลงในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และ ต่วย’ตูน กับผลงานเสียดสีสังคมการเมืองอันแสบสันต์คันคะเยอ และเกาะติดสถานการณ์เหตุบ้านการเมืองได้อย่างทันยุคทันสมัยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากการ์ตูนแล้ว ทองธัชยังวาดภาพประกอบ ออกแบบปกหนังสือนิยาย พอกเก็ตบุ๊ค นิตยสาร เขียนบทกวี และทำงานจิตรกรรม ปัจจุบันเขาเขียนการ์ตูนลงหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน หน้าสาม เป็นประจำทุกวัน ( ยกเว้นวันอาทิตย์) ทั้งยังเผยแพร่ผลงานการ์ตูนและบทกวีเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ทางการเมือง ลงทางสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กของตนเองเป็นประจำด้วย

ผลงานการ์ตูนการเมืองของ ทองธัช เทพารักษ์

หรือเพจการ์ตูนล้อเลียนการเมืองอย่าง ไข่แมวที่เล่าเรื่องเสียดสีการเมืองด้วยไอเดียและอารมณ์ขันแบบเจ็บๆ คันๆ ที่สื่อสารอย่างไร้ถ้อยคำอธิบาย ด้วยตัวละครเพียงไม่กี่ตัว (แต่คุ้นหน้าเหลือเกิน) เกาะกระแสข่าวเด่นประเด็นร้อนทางสังคมการเมืองไทยได้อย่างรวดเร็วฉับไวและโดนใจ ในแฟนเพจ ไข่แมวx จนมียอดไลค์และติดตามกว่าสองแสนคน (เพจก่อนหน้าอย่าง ไข่แมว เคยมียอดไลค์กว่าสามแสนคน และถูกแบนไปเสียก่อน)

ผลงานการ์ตูนการเมืองของ ไข่แมว ภาพจากเพจ ไข่แมว และ ไข่แมวx

เมื่อพูดถึงโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก นอกจากจะเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ใช้ในการสื่อสารความคิดและเรื่องราวต่างๆ ไปจนถึงการพูดคุยสังสรรค์สนทนาแล้ว มันยังกลายเป็นเหมือนพื้นที่ในการแสดงออกทางศิลปะของเหล่าศิลปินในยุคปัจจุบัน ไม่ต่างอะไรกับหอศิลป์กลายๆ ที่สะดวกยิ่งนั้นกว่าก็คือ ผู้ชมไม่จำเป็นต้องถ่อออกจากบ้านไปดูงาน แต่สามารถดูผ่านจอคอมพิวเตอร์  สมาร์ตโฟน หรือแท็ปเล็ตในมือได้ในทันทีทันใด คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะบอกว่า โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กนั้น เป็นการปฏิวัติรูปแบบของการแสดงงานศิลปะในปัจจุบัน เพราะนอกจากมันจะรวดเร็ว ฉับไว ทันใจ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องรอต่อคิวแสดงงาน และสามารถเข้าถึงคนได้ทุกชนชั้น (อย่างน้อยก็คนที่เข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้น่ะนะ) ข้อดีที่สำคัญที่สุดของมันก็คือ มันฟรี

และในบรรดานั้นก็มีศิลปินบางคนที่นำเสนอผลงานศิลปะเสียดสีสะท้อนสังคมและการเมืองผ่านทางโซเชียลมีเดียได้อย่างโดดเด่น

เพจเฟซบุ๊กชื่ออยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อปของศิลปินไทย ประกิต กอบกิจวัฒนา ผู้จบการศึกษาจากศิลปะภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มจิตรกรผู้ร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังไทยร่วมสมัย ที่วัดพุทธประทีบ กรุงลอนดอน ร่วมกับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ ปัญญา วิจินธนสาร ก่อนจะผันตัวไปทำงานเป็นครีเอทีฟในสายโฆษณา เขาเกิดแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดแนวคิดทางการเมืองลงในผลงานศิลปะจากวิกฤตการณ์การเมืองไทยในปี 2553

ประกิต กอบกิจวัฒนา: อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป

ด้วยความที่ประกิตมีพื้นฐานมาทางศิลปะไทย แต่ทำงานในสายโฆษณา ผลงานของเขาจึงเป็นการผสมผสานศาสตร์ทั้งสองแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยการใช้รูปภาพอันฉูดฉาดเปี่ยมสีสันเตะตาผนวกเข้ากับข้อความสั้นๆ กระชับ แต่ติดหูโดนใจ จดจำง่าย แบบเดียวกับสโลแกนโฆษณาซึ่งงานศิลปะลักษณะนี้เป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับงานศิลปะในสไตล์ป๊อปอาร์ตของ เจ้าพ่อป๊อปอาร์ตอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล ในการสะท้อนความดัดจริตหน้าไหว้หลังหลอก ความเป็นสองมาตรฐานของสังคมไทย รวมถึงกระชากหน้ากากและตีแสกหน้าวาทกรรม คนดีหรือแม้แต่วิพากษ์วิจารณ์ความดัดจริตปลิ้นปล้อนในวงการศิลปะไทยได้อย่างแหลมคมและแสบสันต์อย่างยิ่ง

นอกจากจะเป็นพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะในเชิงสะท้อนสังคมของประกิตแล้ว เพจ อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป ของเขายังกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ถูกหยิบฉวยไปใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและนอกบริบททางการเมืองและสังคม คำว่า เมืองดัดจริตเอง ก็ถูกนำไปบรรจุไว้ใน พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย ในเว็บไซต์ thaipolitionary.com อีกด้วย

ประกิต กอบกิจวัฒนา: อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป 44.0 Living Fake Life 44.0

นอกจากจะแสดงผลงานในโลกออนไลน์แล้ว เขายังตีพิมพ์ผลงานศิลปะเป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสาร WAY รวมถึงมีนิทรรศการแสดงงานในหอศิลป์และสถาบันต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง เช่นในนิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในปี 2556 หรือในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Conflicted Visions ที่หอศิลป์ WTF Gallery ในปี 2557

ล่าสุดในปี 2561 ประกิตเพิ่งมีนิทรรศการเดี่ยวในหอศิลป์ คาร์เทล อาร์ตสเปซ ในชื่อ อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป 44.0 Living Fake Life 44.0ที่แสดงผลงานศิลปะแนวป๊อปที่วิพากษ์วิจารณ์ความสับปลับและความดัดจริตทางความคิดของสังคมโลกโซเซียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งเสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัยได้อย่างแสบลึกไปถึงรูทวาร

หรือผลงานของศิลปินกลุ่ม Guerrilla Boys ที่มักจะทำงานศิลปะฉับพลัน (Happening Art) ด้วยกระบวนการศิลปะแบบกองโจรอันเป็นลักษณะเฉพาะตัว

ผลงานชิ้นโดดเด่นที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือ ปฏิบัติการบุกเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เกาหลีใต้ เพื่อก่อปฏิบัติการศิลปะฉับพลัน (Happening) ในนิทรรศการ The Truth_To Turn It Over ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการสวมหน้ากากลิงยักษ์ถือป้ายประท้วงเชิงเสียดสีผลงานในนิทรรศการดังกล่าว แล้วบันทึกเป็นภาพถ่ายและโพสต์ลงในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Guerrilla Boys จนได้รับความสนใจและแชร์ต่อๆ กันไปอย่างล้นหลาม ทั้งในแวดวงศิลปะและสังคมวงกว้าง และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และกลายเป็นประเด็นทางสังคมไปในที่สุด

ปฏิบัติการบุกเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูของศิลปินกลุ่ม Guerrilla Boys

ต่อมา พวกเขานำผลงานครั้งนั้นมาทำต่อยอดเป็นผลงานศิลปะเสียดสีสังคมและการเมืองอย่างเจ็บแสบอีกหลายต่อหลายชิ้น โดยแสดงในนิทรรศการ History Class ที่แสดงในหอศิลป์ คาร์เทล อาร์ตสเปซ ที่มีทั้งภาพวาดเหมือนจริงขนาดมหึมาของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนผนังกลางห้องแสดงงาน หน้ากากกอริลล่า (และหน้ากากโดนัลด์ ทรัมป์) กระดาษเปล่าแผ่นใหญ่กับปากกาหลากสี ให้ผู้คนเลือกหน้ากากไปสวมใส่ และเขียนป้ายประท้วงไปถ่ายเซลฟีหน้าภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือให้เจ้าหน้าที่หอศิลป์ถ่ายภาพโพราลอยด์เอาไปติดเรียงรายบนประตูและผนังหอศิลป์

นอกจากนั้นยังมีผลงานในสไตล์เสียดสีสังคมการเมืองอย่างภาพถ่าย Guerrilla Boys ถือป้ายที่เขียนว่า ประชาธิปไตย 99.99% หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่พวกเขากล่าวว่าทำขึ้นเพื่อเป็นการกล่าวคำขอบคุณและสรรเสริญให้กับคณะรัฐบาลทหารที่ได้เข้าปกครองประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 3 ปี และทำให้ประเทศไทยได้อยู่ในระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยถึง 99.99% ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ (แหม่!)

นิทรรศการ History Class ของศิลปินกลุ่ม Guerrilla Boys

อนึ่ง กลุ่ม Guerrilla Boys ได้แรงบันดาลใจมาจาก Guerrilla Girls กลุ่มศิลปินเฟมินิสต์นิรนามที่ก่อตั้งขึ้นในนิวยอร์กปี 1985 ที่มีเป้าหมายในการต่อสู้กับการเหยียดเพศและชาติพันธุ์และมุ่งสร้างความเท่าเทียมทางเพศและกำจัดความเหลื่อมล้ำในวงการศิลปะโลกด้วยปฏิบัติการทางศิลปะแบบกองโจร โดยมีสัญลักษณ์อยู่ที่การสวมหน้ากากกอริลลาเพื่อแสดงความไร้ตัวตนของสมาชิกและเป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า Guerrilla (การรบแบบกองโจร) ซึ่งเป็นชื่อและลักษณะการทำงานของกลุ่มนั่นเอง

หรือผลงานของ ป๋อง แท่งทอง ในนิทรรศการ ลมหลงที่แสดงผลงานภาพวาดผสานอินเตอร์แรคทีฟ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมโต้ตอบและมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ ด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นที่ดาวน์โหลดทางโทรศัพท์มือถือ หนึ่งในนั้นเป็นภาพวาดที่สะท้อนเรื่องราวของพ่อแม่นักเรียนเตรียมทหารผู้เสียชีวิต ผู้ต้องคอยเก็บชิ้นส่วนอวัยวะลูกชาย โดยเมื่อส่องใช้แอพในมือถือส่องภาพวาด จะมีเสียงร้องไห้และเสียงพูดของแม่ของทหารผู้เสียชีวิตดังออกมาให้ได้ยิน

นอกจากนั้นยังมีเกมอินเตอร์แอคทีฟ มือป้อมที่เสียดสีเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยตัวเอกในเกมเป็นรูปมือวิ่ง ผู้เล่นต้องพยามยามออกเสียง ตะโกน เป่าลม ให้ตัวละครรูปมือในเกมให้กระโดดหลบ รถถัง เรือดำน้ำ และเรือเหาะที่ผ่านสวนทางมาเป็นอุปสรรค  และจะเก็บคะแนนโดยการเก็บนาฬิกา เมื่อเก็บครบ 44 เรือน ตัวเอกก็จะอยู่ในโหมดเป็นอมตะ ส่วนดนตรีประกอบเวลาเก็บนาฬิกาได้ จะเป็นเสียงเมโลดี้คล้ายกับท่อนฮุกที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา” ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แต่งขึ้น ผู้ชมยังสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเกม มือป้อม ไว้เล่นในโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ในชื่อว่า Chubby Hand

ป๋อง แท่งทอง: ผลงานเกมอินเตอร์แอคทีฟ “มือป้อม” ในนิทรรศการ ลมหลง

ป๋อง แท่งทอง ทำงานชุดนี้ขึ้นเพื่อต้องการนำเสนอเรื่องราวของเผด็จการในมุมขำๆ ในรูปแบบของการ์ตูน เพราะเขาอยากแสดงความอึดอัดที่ประชาชนไม่กล้าพูดถึงการใช้อำนาจของเผด็จการในยุค คสช. และต้องการให้ความชั่วร้ายของเผด็จการกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน แต่คาดว่ารัฐบาล คสช. คงไม่ตลกไปด้วย เพราะหลังจากเปิดงานไปไม่นาน เขาก็ถูกสันติบาลมาเยี่ยมเยือนและเตือนให้งดแสดงงานกันเลยทีเดียว

ซึ่งการถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบและสั่งแบนนิทรรศการศิลปะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยยุคปัจจุบัน อาทิเช่น นิทรรศการภาพถ่ายและศิลปะจัดวางไร้มลทิน ของ หฤษฎ์ ศรีขาว ในแกลเลอรีเว่อร์ ในปี 2560 ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในปี 2553 ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบและสั่งให้ถอดผลงานบางส่วนออกจากนิทรรศการ

และนิทรรศการสุขสลาย ของศิลปินภาพถ่าย ธาดา เฮงทรัพย์กูล ที่แสดงในหอศิลป์บ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง คาร์เทล อาร์ตสเปซ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับนักโทษการเมือง ก็ถูกเพ่งเล็งจนศิลปินตัดสินใจถอดผลงานและยุตินิทรรศการของตัวเองก่อนที่เจ้าที่หน้ารัฐจะเข้ามาตรวจสอบ

ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกต่อยอดมาเป็นนิทรรศการ ขออนุญาตในหอศิลป์ คาร์เทล อาร์ตสเปซ ในปีถัดมา ของ 12 ศิลปิน คัดสรรโดย อารีแอน คุปเฟอร์แมน สุทธวงษ์ ที่นำเสนอผลงานศิลปะในรูป แบบฟอร์มขออนุญาตแสดงงานศิลปะ’ แทนการแสดงผลงานแบบปกติ โดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการศิลปะเวียดนามที่ศิลปินต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐก่อนเผยแพร่งาน และเป็นการเสียดเย้ยมาตรการเซ็นเซอร์ทางความคิดในยุครัฐบาลทหารได้อย่างแยบคายและตลกร้ายอย่างยิ่ง

หฤษฏ์ ศรีขาว: ผลงานภาพถ่ายในนิทรรศการ ไร้มลทิน (Whitewash)

นิทรรศการ ขออนุญาต Seeking Permission ถ่ายภาพโดย Justin Mills ภาพจาก อารีแอน คุปเฟอร์แมน สุทธวงษ์

การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผลงานที่ทำขึ้นโดยศิลปินเท่านั้น เพราะโลกยุคปัจจุบันนั้น เส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับชีวิตประจำวันนั้นเลือนรางจนแทบมองไม่เห็น นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแม้แต่ประชาชนคนธรรมดาสามารถหยิบเอากระบวนการหรือยุทธวิธีทางศิลปะบางอย่างมาใช้ เพื่อตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงการอารยะขัดขืนต่ออำนาจอันไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม กินแซนด์วิช อ่านหนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ หรือการนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ของนักศึกษา หรือการชูไฟฉายเหนือศีรษะเดินฝ่ามวลชน กปปส. ที่ขัดขวางและทำร้ายผู้คนที่ต้องการเข้าคูหาไปกาบัตรเลือกตั้งของ นางสาวพิจาริณี รัตนชำนอง (หรือในฉายาที่สื่อออนไลน์ตั้งให้ว่า เทพีเสรีป้า) หรือ กิจกรรม “walk for justice” รำลึก 7 ปีเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน ของญาติผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่วัดปทุมวนารามนั้นก็ไม่ผิดอะไรจากการทำ แฮปเพนนิ่งอาร์ต (Happening art) หรือ เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต (Performance art) เลย

ยังไม่ต้องพูดถึงงานศิลปะบนท้องถนน อย่างงานสตรีทอาร์ต และกราฟฟิตี้ ที่เป็นทั้งจากฝีมือของศิลปินและคนทั่วไป ที่เกิดความอึดอัดขัดข้องใจกับสภาวะอันกดดัน ความบิดเบี้ยวอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม จนต้องมาระบายออกบนพื้นที่สาธารณะ ก็นับเป็นผลงานศิลปะที่สื่อสารประเด็นทางการเมืองได้อย่างชัดเจนจะแจ้ง และตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศิลปะไม่อาจลอยตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลย มันมักจะมีปฏิสัมพันธ์กับวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ ศาสนา หรือแม้แต่การเมืองมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ศิลปะถูกใช้ทั้งในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง เรียกร้องเสรีภาพ หรือสันติภาพ แต่ในทางกลับกันมันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน

จริงอยู่ที่บางคนอาจจะบอกว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องข้องแวะกับการเมืองเสมอไป แต่จะว่าไปแล้ว สิ่งใดๆ ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับศิลปะได้ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมืองก็ตาม ว่าไหมครับท่านผู้อ่าน?

 

ขอบคุณ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ เอื้อเฟื้อข้อมูล

ขอบคุณภาพจากศิลปิน สุธี คุณาวิชยานนท์, ทองธัช เทพารักษ์, ประกิต กอบกิจวัฒนา, Guerrilla Boys, ป๋อง แท่งทอง และ แกลเลอรีเว่อร์

ข้อมูล

https://prachatai.com/journal/2016/03/64863

https://prachatai.com/journal/2012/06/41284

https://prachatai.com/journal/2017/08/72946

https://waymagazine.org/visualizresistance/

http://oknation.nationtv.tv/blog/phaen/2007/09/19/entry-1

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2

Tags: , , , ,