“ยังความคิดอีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ปัญญาชนไม่อาจนึกฝันไปถึง”—มิแช็ล ฟูโกต์

เคยไหมครับ ไม่ว่าคุณจะอธิบายหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวคุณเองอย่างไร แต่เพื่อนๆ พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายก็ยังจะเล่าให้คนอื่นฟังในเวอร์ชั่นที่ผิดๆ อยู่ดี คุณในเรื่องนั้นก็ยังเป็นคนเปิ่นเทิ่น น่าขบขัน และเผชิญกับเหตุโชคร้ายรุนแรงเหลือเชื่อ ซึ่งเมื่อมีใครมาถามคุณว่า เป็นแบบนั้นจริงหรือ คุณก็ได้แต่ส่ายหน้าแล้วถามกลับไปว่าได้ยินมาจากไหน จนได้ทราบว่าต้นตอบ่อเกิดของเรื่องราวมาจากคนที่คุณได้อธิบายไปหลายหนแล้วว่า เรื่องที่เล่าน่ะจริงๆ แล้วเป็นแบบนี้ต่างหาก จากนั้นคุณก็ได้ค้นพบสัจธรรมว่า “สุดท้ายแล้วความจริงในเรื่องเล่าไม่สำคัญเท่าความสนุก”

หลักการข้อนี้อาจใช้ประยุกต์กับกรณีของนักเขียนชาวอาร์เจนติน่า ฆอร์เก หลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) ได้ด้วยเช่นกัน

ฆอร์เก หลุยส์ บอร์เกส นักเขียนชาวอาร์เจนติน่าที่ได้ชื่อว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20

เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่สำนักพิมพ์เพนกวินจัดพิมพ์รวมข้อเขียนของบอร์เกสออกมาพร้อมๆ กัน 3 เล่ม โดยแบ่งตามประเภทผลงานเป็นเรื่องแต่ง สารคดี และกวีนิพนธ์ ก็นับว่าน่าเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งสำหรับตอนนั้น ในส่วนของเล่มหลังสุดดูจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะมันชัดเจนว่าเป็นหนังสือรวมบทกวีของบอร์เกส แต่สำหรับสองเล่มก่อนหน้า การจำแนกแยกแยะจากกันถือไม่ง่ายเลย เพราะทั้งรูปแบบการเขียนและประเด็นต่างๆ ในของเขียนทั้งสองเล่มนับว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก

ดังที่เราทราบกันว่าบอร์เกสนั้นเป็นนักเขียนที่มักเล่าเรื่องในรูปแบบของความเรียง หรือสารคดีเชิงสร้างสรรค์ (creative nonfiction) เรื่องอำและเรื่องจริงสำหรับเขาแล้วจึงถูกขีดคั่นด้วยเส้นแบ่งบางเบาเท่านั้น คนที่จะรู้ได้ว่าถูกอำก็ต้องมีพื้นภูมิความรู้ดีพอจะแยกแยะได้ ซึ่งเมื่อบอร์เกสใช้แนวการเขียนแบบนี้บอกเล่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งทำให้เราต้องระมัดระวังอย่างมาก เวลาจะอ้างอิงผลงานของเขา

แต่ถ้าสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์อย่างมิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ก็ต้องรู้พลั้งเป็นธรรมดา เมื่อเขาเคยหยิบยก ‘สารานุกรมจีน’ ของบอร์เกส ไปกล่าวถึงไว้ในคำนำของหนังสือเล่มดังอย่าง Les mots et les chose

มิแช็ล ฟูโกต์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ทำให้สารานุกรมในงานเขียน The Analytical Language of John Wilkins ของบอร์เกสหลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ระเบียบอันยุ่งเหยิง

ตอนที่ Les mots et les chose หรือที่เรารู้จักในชื่อ The Order of Things ของมิแช็ล ฟูโกต์ ตีพิมพ์ออกไปในช่วงกลางของทศวรรษที่ 60 (แปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในทศวรรษที่ 1970) มันส่งผลสะเทือนต่อแวดวงวิชาการโลกตะวันตกมากพอสมควร ส่วนหนึ่งที่เราส่วนใหญ่น่าจะจดจำได้ก็มาจากการหยิบยกเอาภาพเขียน ที่ชื่อ Las Meninas ของ เวลาซเกซ (Velázquez) จิตรกรชาวสเปน มาทำการวิเคราะห์วาทกรรม และประเด็นทางญาณวิทยา (Epistemology) ฯลฯ

ความโด่งดังของ Les mots et les chose ทำให้นักเขียน-นักปรัชญา ผู้ปฏิเสธรางวัลโนเบล อย่าง ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ถึงกับกระโดดลงมารีวิวหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเอง โดยซาร์ตร์เรียกงานของฟูโกต์ว่าเป็น “แนวกำบังสุดท้ายของพวกกระฎุมพี” ซึ่งฟูโกต์ก็ได้โต้ตอบซาร์ตร์ไปอย่างสุภาพว่า “กระฎุมพีผู้น่าสงสาร หากว่าพวกเขาต้องการใช้ผมเป็น ‘แนวกำบัง’ ให้จริง พวกเขาก็คงจะสูญเสียอำนาจไปตั้งนานแล้ว” ในขณะที่ข้อถกเถียงทางวิชาการด้านมนุษย์ศาสตร์ยังดำเนินสืบเนื่องเรื่อยไปหลัง Les mots et les chose เผยแพร่ตีพิมพ์ (ซึ่งแน่นอนว่าวิวาทะทางปรัชญาระหว่างฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) กับฟูโกต์ได้เกิดขึ้นก่อนแล้ว นับจาก Histoire de la folie à l’âge classique ตีพิมพ์ออกมา)

หากในท่ามกลางฝุ่นควันจากการตะลุมบอนทางปัญญา ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า มีนักอ่านอีกไม่มากก็น้อยที่สะดุดใจกับ ‘สารานุกรมจีน’ ของฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส ซึ่งฟูโกต์ยกมากล่าวถึงในคำนำ ที่เขียนไว้ประมาณว่า

หนังสือที่ทุกท่านกำลังอ่านนี้เป็นผลงานจากเสียงหัวเราะขำขื่น หลังจากได้ค้นพบข้อความพิลักพิลั่นในงานของบอร์เกส ซึ่ง “แบ่งประเภทของสัตว์ออกเป็น (ก) เป็นขององค์จักรพรรดิ (ข) ถูกดองไว้ (ค) เชื่อง (ง) ดูดนมหมู (จ) ครึ่งปลาครึ่งคน (ฉ) มีอยู่ในนิทาน (ช) หมากระดิกหาง (ซ) รวมอยู่ในการจัดประเภทนี้ (ฌ) คลุ้มคลั่ง (ญ) ไม่สามารถนับได้ (ฎ) วาดด้วยพู่กันขนอูฐอย่างดี (ฏ) อื่นๆ อีกมากมาย (ฐ) เพิ่งทำแจกันแตกไปเมื่อครู่ (ฑ) มองจากมุมไกลๆ ดูเหมือนแมลงวัน” กระทั่งอยากรู้เสียเหลือเกินว่า ‘สารานุกรมจีน’ อันมีที่มาจากบทความของบอร์เกสที่ชื่อ The Analytical Language of John Wilkins มีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร

หนังสือรวมงานเขียนสารคดีของบอร์เกสที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพนกวินที่รวมเอา The Analytical Language of John Wilkins ไว้ในเล่มด้วย

ความสงสัยนี้ทำให้ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นไปจนพบว่า โอกาสที่ ‘สารานุกรมจีน’ ซึ่งมีชื่อเต็มๆ คือ Celestial Emporium of Benevolent Knowledge (หรือ Emporio celestial de conocimientos benévolos ในภาษาสเปน) จะมีอยู่จริงนั้น มีน้อยถึงน้อยมากๆ

ใน The Analytical Language of John Wilkins บอร์เกสได้อ้างชื่อของฟรันซ์ คูห์น (Franz Kuhn) โดยไม่ได้มีอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวแก่หลักฐานที่มาของเจ้าสารานุกรมนี้

การอ้างคูห์นของบอร์เกสต้องถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความน่าเชื่อถือที่เขาถนัด เพราะคูห์นเป็นนักเขียน-นักแปลงานบูรพคดีชาวเยอรมันชั้นแนวหน้าที่ทำให้วรรณกรรมจากจีนหลายต่อหลายชิ้นเช่น Dream of the Red Chamber ได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมัน ก่อนจะโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วทั้งยุโรป

คูห์นมีประวัติชีวิตที่น่าสนใจคือ เขาสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยไลบ์ซิกและวรรณคดีจีนจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ตั้งแต่เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เขาทำงานเป็นล่ามที่กรุงปักกิ่งจนกระทั่งปี ค.ศ. 1912 เริ่มแปลวรรณกรรมจีนเป็นภาษาเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่นับจากยุคที่พรรคนาซีเยอรมันเรืองอำนาจ งานของเขาก็ถูกกล่าวหาว่าทำลายศีลธรรมอันดีงามของประชาชน จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง งานแปลของคูห์นจึงได้กลับมาเป็นที่นิยมของผู้อ่านอีกครั้ง

จากการทำงานที่ยาวนานที่นั่นทำให้คูห์นได้แปลวรรณกรรมจีนไว้เป็นจำนวนมาก และยิ่งบอร์เกส (ผู้ไม่เคยออกมาปฏิเสธการมีอยู่ของสารานุกรมที่ว่า) ได้บรรจุเรื่อง The Analytical Language of John Wilkins ไว้ในงานประเภทสารคดีของเขาก็เลยทำให้ผู้อ่านเชื่อกันว่าสารานุกรมจีนน่าจะมีอยู่จริง

จนเมื่อไม่กี่ทศวรรษมานี้ หรือภายหลังจาก Les mots et les chose ของฟูโกต์เป็นที่โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกวิชาการไปแล้ว ความพยายามจะสืบหาร่องรอยต้นฉบับภาษาจีนของสารานุกรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมและจีนคดีศึกษาจากทั่วทุกทวีป และแน่นอนที่สุดโดยเฉพาะชาวจีนเองต่างลงความเห็นว่า ไม่เคยรับรู้หรือได้ยินถึงการมีอยู่ การอ้างอิงเกี่ยวกับสารานุกรมที่ว่าแต่อย่างใด หรือถ้าจะมีโอกาสที่สารานุกรมนี้จะมีอยู่ก็น้อยถึงน้อยมากๆ ดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้น

ด้วยข้อมูลนี้เองที่ทำให้นักวิชาการสายมนุษย์ศาสตร์บางคนออกมาประณามกระแสการอ้างอิงสารานุกรมจีนอุปโลกน์อย่างขาดยับยั้งชั่งคิด ที่แม้กระทั่งภาษาศาสตร์อย่าง จอร์จ ลาคอฟ (George Lakoff) ก็ยังนำเอาสารานุกรมจีน มาอ้างไว้ในหนังสือเล่มดังของเขา Women, Fire, and Dangerous Thing

สารานุกรมจีนที่ไม่มีอยู่จริง

คีธ วินด์ชัทเทิล (Keith Windschuttle) ถือเป็นหนึ่งคนที่จุดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้อย่างแหลมคม แม้โดยส่วนใหญ่เขาจะไม่ได้ตำหนิบอร์เกสมากเท่ากับฟูโกต์ มาร์แชล ซาห์ลิน และแวดวงวิชาการที่อ้างสารานุกรมจีนนี้ โดยวินด์ชัทเทิลได้เปิดฉากการโจมตีอย่างไม่รีรอว่า

“ปัญหาที่ไม่มีใครกล่าวถึงตลอดเวลาที่มีการหยิบเอาการจัดประเภทดังกล่าวมาใช้ประหนึ่งหลักฐานอ้างอิง ก็คือไม่มีสารานุกรมจีนเล่มใดที่จัดประเภทตามอย่างที่ฟูโกต์ได้แจกแจงให้เห็น และในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีหลักฐานด้วยซ้ำว่ามีชาวจีนคนใดเคยคิดเกี่ยวกับสัตว์ในแบบนี้ การจัดประเภทดังกล่าวเป็นสิ่งอุปโลกน์ เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ของนักเขียนเรื่องสั้นและกวีชาวอาร์เจนไตน์ ฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส (…) การเปิดเผยนี้ย่อมไม่อาจส่งผลกระทบรบกวนต่อข้อสมมติฐานของนักคิดหลังสมัยใหม่โดยทั่วไปที่เชื่อว่าเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่งนั้นไม่แน่นอน แต่ฟูโกต์ก็เปิดเผยชัดว่าเขาใช้บอร์เกสเป็นแหล่งอ้างอิง และตัวอย่างนี้ก็มักถูกอ้างอิงบ่อยๆ ในงานวิชาการและได้รับการยกให้เป็นชิ้นงานที่กล่าวถึงวัฒนธรรมนอกสารบบตะวันตกที่มีความน่าเชื่อถือ มันอาจมองได้หรือยิ่งกว่านั้นคือ เป็นหลักฐานของความเสื่อมถอยทางมาตรฐานของการถกเถียงในแวดวงวิชาการของโลกตะวันตก”

แน่นอนว่าในสังคมวิชาการบ้านเรา การอ้างอิงการสารานุกรมจีนของบอร์เกสก็เป็นไปอย่างแพร่หลายเป็นล่ำเป็นสัน พร้อมกันนั้นก็ใช้มันควบคู่ไปกับการสอนวิธีทางความคิดและวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาแบบหลังสมัยใหม่ ซึ่งกล่าวได้ว่า เราเองทั้งที่เป็น Foucauldian และมิได้เป็นนั้น ล้วนเชื่อถึงการมีอยู่ของสารานุกรม กระทั่งเป็นแบบแผนความคิดบางอย่างในการเขียนเกี่ยวกับชาวจีนและโลกตะวันออก ทั้งโดยรู้และไม่รู้ตัว

ผู้เขียนคิดว่าข้อวิจารณ์ของ คีธ วินด์ชัทเทิล มีประเด็นที่น่าสนใจ และคงยากที่เราจะหาหลักฐานการมีอยู่ของสารานุกรมจีนมาใช้โต้แย้งหักล้าง แม้กระนั้นผู้เขียนก็ยังเห็นว่า มีอะไรบางอย่างในระบบคิดของชาวจีนที่มีความน่าสนใจ และอาจใช้เป็นจุดอ้างอิงถึงความพิเศษแปลกต่างได้ไม่น้อยไปกว่าสารานุกรมจีนของบอร์เกส

เช่น นิทานอุปมาอุปไมยของจีน ที่ถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่มีความเก่าแก่ (แม้บางเล่มจะถูกเขียนขึ้นใหม่โดยนักประพันธ์รุ่นต่อๆ มาโดยการให้เครดิตกับนักประพันธ์รุ่นเก่า) แต่โดยเนื้อหาแล้วสามารถพูดได้ว่ามีความพิสดารพันลึกอยู่ในตัว เช่น นิทานเลี่ยจื่อ เรื่อง แกะหายบนทางแพร่ง ที่เล่าว่า

“วันหนึ่ง เพื่อนบ้านของหยางจื่อทำแกะหายไปตัวหนึ่ง เขาจึงเรียกบรรดาญาติพี่น้องออกตามหา รวมถึงเรียกบรรดาบ่าวไพร่ของหยางจื่อไปช่วยด้วย เมื่อหยางจื่อได้เห็นก็พูดว่า แค่แกะหายตัวเดียวต้องใช้คนกันเยอะแยะขนาดนี้เลยหรือ เพื่อนบ้านจึงกล่าวกับหยางจื่อว่า ทางแพร่งมันมีหลายสายก็ต้องใช้คนตามหามากหน่อย หลังจากหายกันไปตามหาแกะพักใหญ่ๆ คนเหล่านั้นก็พากันทยอยกลับมา หยางจื่อเห็นจึงถามเพื่อนบ้านว่า เจอแกะหรือไม่ เพื่อนบ้านส่ายหน้าพลางพูดว่า ทางแพร่งนั้นมีหลายสาย แต่ละสายยังมีทางแยกออกไปอีกมากมาย ไม่รู้ได้ว่าแกะหายไปไหนแน่ หยางจื่อสีหน้าเศร้าซึมไปในบัดดล ไม่ใช่เพราะแกะของเพื่อนบ้านหายไป แต่มาจากความคิดที่หยางจื่อโยงใยไปสู่ความรู้ที่เหมือนการสืบหาแกะบนทางแพร่ง สุดท้ายความรู้ที่แตกแขนงออกไปหลายสาขานั้นอาจลงท้ายด้วยการไม่ค้นพบอะไรเลย”

ตอนจบของนิทานถือว่าเป็นขัดแย้งกับระบบคิดของโลกตะวันตกที่ทางแพร่งต่างๆ จะสามารถนำไปสู่ความรู้แบบองค์รวม คือยิ่งเราแผ่ขยายความคิดออกไปกว้างเท่าไรก็ยิ่งก่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่าไม่ได้อะไรเลย เป็นความล้มเหลวแบบพิสดารพันลึกที่ยากจะลืมเลือน อย่างน้อยก็สำหรับตัวผู้เขียนเอง

อ้างอิง

  • Jorge Luis Borges, Translated by Esther Allen, Suzanne Jill Levine, and Eliot Weinberger, Selected Nonfictions, (London: Penguin Books, 1999)
  • นิทานอุปมาจีนโบราณ (สำนักพิม์ภาษาต่างประเทศ: เป่ยจิง, 1986)
Tags: , ,