ถ้าเอาชื่อของ ‘ธนน วีอารยะ’ ไปเข้าระบบค้นหา ภาพที่ปรากฏ คือผู้ชายหน้าคมที่มาพร้อมรอยสัก ซึ่งนั่นอาจทำให้หลายคนมองว่า เขาน่าจะเป็นไม่พ้นการเป็นแบดบอยคนหนึ่ง ยิ่งเมื่อปรายตามองดูโปรไฟล์เขาอีกนิด ‘ธนน วีอารยะ’ คือ ประธานบริษัท บีเอ็นเอฟ โฮลดิ้ง จำกัด และประธานกรรมการบริษัท ฮอนด้าบ้านใหม่ ปทุมธานี จำกัด ยิ่งอาจทำให้คำจำกัดความของเขาเพิ่มขึ้นว่า ไฮโซลุคแบดบอย ที่น่าจะโฟกัสแต่เรื่องธุรกิจและใช้เวลาว่างไปกับงานอดิเรกสุดหรู ปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อนสไตล์เดียวกัน แต่ถ้าคุณรู้จักเขาอย่างจริงจังขึ้นมาอีกสักนิดละก็ เขาคนนี้อาจพลิกสิ่งที่คุณตีความไปอีกขั้ว

ธนน วีอารยะ ไม่เพียงมุ่งมั่นที่จะทำให้ธุรกิจของเขาทะยานสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ แต่คุณภาพชีวิตของคนในองค์กรต้องทะยานขึ้นเช่นกัน และถ้าคุณคิดว่าเขาคงสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ขอบอกว่าคุณคิดผิด เพราะถ้าเมื่อใดที่มีโอกาสที่จะทำให้กราฟชีวิตของคนรอบข้างในสังคมพุ่งขึ้นจากเดิม เขาไม่เคยลังเลที่จะทำ

โดยเขาชื่อมั่นเสมอว่า เมื่อใดที่มีโอกาสในการ ‘ให้’ จงให้อย่างไม่ลังเล เพราะไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม คำว่า ‘ให้’ ทรงพลังเสมอ อยู่ที่ว่าคุณตั้งใจจะ ‘ให้’ ในแบบไหน และ ‘ให้’ ในโอกาสใด

บางคนคิดว่ารอยสักทำให้ผมใช้ชีวิตยาก แต่จริงๆ แล้วมันดีสำหรับผมนะครับ เพราะรอยสักเป็นเหมือนเกราะช่วยคัดคนที่จะเข้ามาหาผม เช่นบางคนที่ตัดสินคนจากภาพลักษณ์ภายนอกโดยที่ยังไม่ได้รู้จักว่าคนๆ นั้นเป็นคนอย่างไร ซึ่งสำหรับผมรอยสักไม่ใช่ตัวตัดสินว่าผมต้องเป็นหรือต้องทำอะไร คนเหล่านั้นจะรู้จักผมจริงๆ ก็ต่อเมื่อได้เห็นสิ่งที่ผมทำ  ตั้งแต่สักมาจนถึงตอนนี้ ไม่มีตอนไหนที่รู้สึกว่าไม่น่าสักเลยสักครั้ง เพราะรอยสักที่เห็นคือตัวตนของผม มันเป็นสัญลักษณ์ของตัวเราที่เราชอบแบบนี้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อสักแล้วต้องไม่กลัวกับการคาดหวังหรือการมองเราจากสายของคนในสังคม เพราะแค่ ‘รอยสัก’ มันไม่สามารถตัดสินการกระทำหรือความตั้งใจที่จะทำอะไรของใครก็ตาม”

ประสบการณ์สะท้อนความเข้าใจ…ความ ให้ จึงเริ่มขึ้น     

หากย้อนไปเมื่อตอนเป็นเด็ก  ‘ธนน วีอารยะ’ ก็เหมือนเด็กชายทั่วไปที่มีหน้าที่ต้องไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตแบบเด็กๆ เพียงแต่เขาไม่ได้ใช้ชีวิตเด็กๆ แบบสบายๆ ที่เล่นสนุกไปวันๆ แต่เขาคือเด็กที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความแตกต่างของวัฒนธรรมที่แวดล้อม ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ให้ได้ในต่างแดน ซึ่งนั่นกลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมความคิดบางอย่างจนกลายเป็นเขาในวันนี้

ตอนอายุประมาณ 10 ปี ผมเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนนั้นต้องปรับตัวทั้งเรื่องภาษา และการใช้ชีวิต เพราะเราต้องอยู่ห่างไกลจากครอบครัว จนอายุ 18 ปีก็ย้ายไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งไปอยู่แบบไม่ได้สบายเลยนะครับ หลายๆ คนมองว่า โชคดีที่ได้เรียนไปต่างประเทศ ได้ใช้ชีวิตสบายที่นั่น แต่ชีวิตของผมไม่ได้เป็นแบบนั้น การที่เราเป็นคนเอเชียทำให้ต้องปรับตัวมาก โดยเรื่องของวัฒนธรรมที่ต่าง ต้องรับมือกับการเหยียดชาติพันธุ์ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่หนักและเราต้องปรับตัวค่อนข้างมาก

ไปอยู่ที่นั่นก็เข้าไปทำงานในร้านอาหารเหมือนเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ ทำงานหลายอย่างทั้งล้างผัก ล้างห้องน้ำ เป็นเด็กรับรถ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่การไปทำงานแล้วทำไปโดยไม่มีใครว่าวอแวกับเรา แต่เพราะเราเป็นคนเอเชีย ก็ต้องทำงานไปพร้อมๆ กับรับมือกับความรู้สึกเรื่องของการโดนเหยียด แต่นั่นก็กลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมต้องเอาตัวรอด และเป็นบทเรียนชีวิตที่สำคัญที่มีผลต่อการมองสังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้

ระหว่างที่ทำงานพาร์ทไทม์ทำให้ได้เห็นอะไรหลายอย่าง และก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ทำงานด้วยกันที่ให้ความช่วยเหลือกับผมโดยที่ไม่สนใจว่า ผมเป็นใคร มีเงินเท่าไหร่ และกลุ่มคนเหล่านั้นก็ให้การช่วยเหลือจนผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ สิ่งที่เราเข้าใจและเรียนรู้ผ่านชีวิตของตัวเองในตอนนั้นก็คือ ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมมันมีมากกว่าที่เราคิด และบางครั้งมันก็มีอย่างไม่มีเหตุผล

พอกลับมาเมืองไทย ความที่เราได้มองเห็นและเจอกับตัวเองถึงความเหลื่อมล้ำที่ว่า  มันทำให้เราคิดได้ว่า เราไม่ควรดูถูกแรงงานเหล่านี้ เพราะถ้าไม่มีแรงงานเหล่านี้การทำงานหลายๆ อย่างก็ไม่ประสบความสำเร็จ พอเข้ามาดูแลธุรกิจ ผมจึงมีแนวคิดว่าอยากให้ลูกน้องของผมประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กับที่บริษัทเติบโต การทำงานในบริษัท ไม่ใช่ทำให้บริษัทเติบโต แต่ทั้งนายจ้างลูกจ้างเราต้องช่วยกันให้ต่างฝ่ายต่างเติบโต ซึ่งมองดูดีๆ มันคือการหยิบยื่น ‘การให้’ บางสิ่งบางอย่างแก่กันในรูปแบบหนึ่ง

ความสำเร็จในการทำงานของผม จึงไม่ใช่แค่เม็ดเงินหรือยอดขายทะลุเป้า แต่คือการที่ได้เห็นคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน คนที่ได้รับความเดือดร้อนที่เราช่วยเหลือได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในฐานะเจ้าของบริษัท เราได้ ‘ให้’ อะไรกับทีมงานของเราบ้าง และสิ่งที่เราให้เขา มันยั่งยืนแค่ไหน

‘ธนน วีอารยะ’ เชื่อมาเสมอว่า หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจไม่ได้มีแค่กลยุทธ์หรือมุมมองทางการตลาด แต่คือการดูแลพนักงานทุกคนเหมือนคนใน ‘ครอบครัว’ จึงไม่แปลกที่การ ‘ให้’ ของเขาจะอยู่บนพื้นฐานของการให้แบบเดียวกัน ที่เริ่มต้นจากใจที่อยากจะให้ อยากจะแบ่งปันของตัวเองสู่คนใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัว คนในบริษัท ก่อนที่จะกระจายความรู้สึกของการแบ่งปันนั้นให้กับคนอื่นในสังคม เพื่อให้เกิดเป็นการแบ่งปันกันในระยะยาว

ทำในสิ่งที่ถนัดและเป็นไปได้เพื่อการแบ่งปันระยะยาว

 สิ่งที่เขาเชื่อมาเสมอคือ การจะเริ่มต้นทำอะไรก็ตาม ถ้าได้เริ่มทำจากสิ่งที่รู้หรือสิ่งที่ถนัด จะนำไปสู่การทำต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถส่งต่อความช่วยเหลือในออกไปได้กว้างมากขึ้นได้ไม่ยาก ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดเป็นการแบ่งปัน การช่วยเหลือในระยะยาว

อย่างโครงการ Ride4Hero ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ทำขึ้นมา ก็คือการนำเอาสิ่งที่มีและความถนัดที่ทำในธุรกิจมาช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ถ้ายังจำกันได้ในช่วงที่ COVID-19 หนักๆ บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นแนวหน้าออกไปสู้กับวิกฤตนี้ กลับต้องเจอกับปัญหาไม่มีรถกลับบ้านเพราะเรียกรถไม่ได้ ตรงนี้ทำให้ผมเกิดคำถามว่า เราช่วยอะไรเขาได้ไหม เรามีอะไรในมือบ้าง คำตอบคือ รถเทสต์ไดรฟ์ที่บริษัทเรามีอยู่แล้ว แต่ ณ วิกฤตตอนนั้นไม่มีใครมาใช้งานหรอก ถ้าอย่างนั้นเอามาใช้รับส่งบุคลากรทางการแพทย์ดีกว่า พอคิดได้ก็ลงมือทำ เพราะเมื่อทุกอย่างครบ ไม่ช่วยตอนนี้ จะไปช่วยตอนไหน

สิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้ในวิกฤตเสมอ

 สำหรับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC = Long Term Care)  นี้ ต้องขอย้อนไปช่วงปีที่แล้ว ผมได้รู้ข่าวจากโบสถ์ที่ไปเป็นประจำเนื่องจากเป็นคาทอลิกว่า มีชุมชนหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี ที่กำลังเผชิญกับภาวะน้ำท่วม มีปัญหาเรื่องข้าวสารอาหารแห้งเพราะความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง ก็เลยตัดสินใจไปที่นั่น เพื่อเอาสิ่งจำเป็นไปช่วยเหลือ ทำให้ได้เจอกับคนในชุมชนนี้ ได้รู้ว่าเขามีความต้องการอะไร ยิ่งพอได้สัมผัสกับคนในชุมชนมากขึ้น ทำให้เรายิ่งมองเห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของคนในชุมชนนี้มากขึ้น

สิ่งที่สัมผัสได้คือ ทุกคนมีความรักในเพื่อนบ้านของตัวเอง ทุกคนให้ความช่วยเหลือกันเหมือนเป็นญาติกันมากกว่าแค่ความสัมพันธ์ของคนร่วมชุมชนร่วมหมู่บ้าน ยิ่งพอได้เห็นว่า เมื่อเขาเผชิญกับภาวะวิกฤตใดๆ เขาจะไม่รอให้ใครมาช่วยเขาก่อน แต่จะพยายามช่วยเหลือตัวเองก่อนเท่าที่เขาจะทำได้ นั่นยิ่งทำให้คิดว่า เราน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชุมชนนี้ให้มีความสุขมากขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ความช่วยเหลือควรเป็นระยะยาว ไม่ใช่ช่วยเพียงแค่ให้พ้นแต่ละเหตุการณ์ไป ก็มาประจวบกับว่า ที่นี่มีโครงการ LTC อยู่ก่อนแล้ว เราจึงคิดต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือด้านไหนได้อีกบ้าง

ทุกวิกฤตมีโอกาสที่สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ใช่ว่าเมื่อเจอวิกฤตแล้ว ทุกอย่างจะแย่ไปหมด เพียงแต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ามีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น ขอให้มองว่า จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นคู่กันด้วยเช่นเดียวกับชุมชนนี้

ความช่วยเหลือเล็กๆ ที่ทำได้

  โครงการนี้ผมทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน เรายังคงต้องอาศัยรัฐบาลเป็นหลัก เราทำหน้าที่เป็นคนที่เข้ามาช่วยเสริมในสิ่งที่รัฐบาลเข้าไม่ถึง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยบางอย่างที่เราสามารถช่วยเหลือได้ เราก็ช่วยเหลือในสิ่งเหล่านั้น มันอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ช่วยให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นพร้อมๆ กับความสุขทางใจเกิดขึ้นของเขา

หลักๆ เลยผมจะสนับสนุนพวกผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้กับโครงการ เมื่อก่อนผู้สูงอายุจะเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปได้เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว 3-4 วัน แต่เดี๋ยวนี้เขาสามารถเปลี่ยนได้ทุกวัน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องที่จะทำให้สภาพความเป็นอยู่ภายนอกของเขาดีขึ้นเท่านั้น แต่แน่นอนว่ามันส่งผลถึงสภาวะจิตใจของผู้สูงอายุที่ดีขึ้นด้วย

ส่วนเรื่องอาหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพราะเราใช้วิธีผูกปิ่นโตให้กับบางบ้านที่อาจมีความลำบากด้านใดด้านหนึ่ง อย่างผู้สูงอายุในบางครอบครัวในบางชุมชนขยับตัวไม่ได้ก็จะเจอปัญหาว่าจะลุกขึ้นมาทำอาหารกินเองก็คงลำบาก ก็จะมีการผูกปิ่นโตไว้ให้เพื่อนบ้านเป็นคนทำแล้วนำมาส่งให้ ซึ่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่ช่วยได้ และไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร ทุกคนสามารถช่วยกันได้หมด

ไม่มีอะไรราบรื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะก้าวผ่านไม่ได้

ความที่ผมอยู่กรุงเทพฯ แต่ชุมชนนี้อยู่ที่ตำบลเล็กๆ ในจังหวัดอุบลฯ ทำให้ช่วงแรกๆ ผมแทบไม่รู้เลยว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่โชคดีที่เครื่องมือสื่อสารช่วยเราได้ ประกอบกับต้องขอบคุณพี่ๆ และอาสาสมัครทุกคนที่ทำให้เรายังคงได้ติดต่อและรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เรามีไลน์กลุ่มเกิดขึ้น และมีการแอดกันเข้ามา ซึ่งในไลน์กลุ่มนั้นเหมือนการส่งข่าวบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ ของทุกวัน

อาสาสมัครที่ไปตามบ้านคุณตาคุณยายจะถ่ายรูปส่งมาในกลุ่มไลน์ให้ดูว่า วันนี้ผู้สูงอายุได้ทานอะไรบ้าง วัดความดันได้เท่าไหร่ ล้างแผลแล้วเป็นอย่างไร มีการเข้าไปตัดผมให้ ตัดเล็บเท้าให้ พอเห็นภาพเหล่านี้ มันทำให้เราได้รู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนนี้ว่าเปลี่ยนไปแบบแค่ไหน แม้ว่าผมไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้น แต่ก็เหมือนเราได้มีส่วนร่วม ภาพที่เราเห็นในจอขณะที่ตัวผมเองอยู่กรุงเทพฯ ทำให้ผมมองเห็นชุมชนเล็กๆ ที่เราได้ช่วยเหลือ เป็นความสุขทางใจของผมเองกับการได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นบ้าง และได้มองเห็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตในทุกวันของคนในชุมชนนี้

Covid-19 มาแรงแต่การช่วยเหลือที่ยังคงเดินหน้าไม่หยุด

โชคดีที่กลุ่มผู้สูงอายุที่เราให้ความช่วยเหลืออยู่คือ กลุ่มของผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถออกมาข้างนอกได้อยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสในความเสี่ยงที่จะรับเชื้อจึงค่อนข้างน้อย ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังคือ คนจากภายนอกที่จะเข้าไปสัมผัสเขา แต่โชคดีที่บุคลากรจากสาธารณสุขได้รับการอบรมมาอย่างดีที่จะเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองในเรื่องนี้ สิ่งที่ผมเข้าไปช่วยเหลือจึงเป็นลักษณะของการสนับสนุนสิ่งที่ช่วยให้การทำงานของพี่ๆ บรรลุผลและช่วยป้องกันคนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครทุกคน ผู้ช่วยพยาบาล นักจิตวิทยาที่ต้องเข้ามาดูแลให้ปลอดภัยจากเชื้อมากที่สุด ช่วงนั้นผมก็ส่งแอลกอฮอล์เจลมาที่นี่และแจกให้กับทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่

ในส่วนของคนในชุมชนเองก็ช่วยกันดูแลไม่ให้นำเชื้อไปสู่คนกลุ่มนี้ในแบบของเขา อย่างทุกครั้งในการเข้าออกหมู่บ้าน ทางสาธารณสุขก็จะตรวจว่ามีบุคคลคนไหนเข้าออกที่นี่ มีการเช็คประวัติการเดินทาง และสิ่งที่น่ารักของคนในชุมชนนี้คือชาวบ้านช่วยกันรายงานว่าคนนี้กลับมาจากกรุงเทพฯ นะ คนนี้กำลังจะเดินทาง มีการพูดคุยสื่อสารกันเสมอ เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและโรคนี้ว่าเราจะช่วยกันอย่างไร เพราะปัญหานี้ไม่ได้เป็นแค่กลุ่มๆ เดียวเท่านั้น เป็นของคนทั้งโลก ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าสังคมนี้พยายามช่วยเหลือ แก้ปัญหาและช่วยกันระวังตัว

และอย่างที่ผมบอกว่า ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ไม่ได้รอแค่ความช่วยเหลือจากคนภายนอก แต่เขาพยายามที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองก่อนเสมอ อย่างช่วงที่หน้ากากอนามัยหายากมาก แม้เราจะพยายามหาซื้อเพื่อจัดส่งมาให้ก็ยังต้องรอ แต่ความที่เขาเป็นชุมชนที่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ก็จะทำหน้ากากอนามัยกันเอง ด้วยวิธีง่ายๆ คือเอาผ้าที่ไม่ใช้แล้วมาซักทำความสะอาดแล้วตัดเย็บด้วยมือให้เป็นหน้ากากผ้าและแจกจ่ายใช้กัน ซึ่งเรื่องเล็กๆ แบบนี้กลายมาเป็นความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคนี้ของคนในชุมชนนี้ ซึ่งมันทำให้เรามองเห็นความหวังได้ว่า ในวิกฤตต่างๆ หากเขาตั้งใจช่วยกันดูแลชุมชนของเขา พวกเขาทุกคนก็จะผ่านมันไปได้

การ ‘ให้’ ที่ยั่งยืน

การ ‘ให้’ สำหรับผม มันคือให้ในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของสิ่งของจำเป็นที่เขาขาดแคลน หรือแม้แต่ถ้ามีแล้วจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น หรือด้านจิตใจ มันคือการแบ่งปันกำลังใจที่ไม่ต้องลงทุนเลยสักนิด ซึ่งทุกคนในโลกสามารถมอบให้กับเพื่อนร่วมสังคมได้ อยู่ที่ว่าคุณมองออกไหมว่า ตัวคุณเองถนัดที่จะให้ในแบบไหน มีศักยภาพในการแบ่งปันในรูปแบบใด เพราะทุกอย่างมีรูปแบบของมัน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคุณ

ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้กับคนอื่นได้เสมอ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินมหาศาล เพียงแค่คำทักทาย การพูดคุยก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งปันได้ นั่นคือแบ่งปันน้ำใจ ความห่วงหาอาทรต่อคนที่อยู่ใกล้กับเรา คนที่เราเจอ เป็นการให้ที่เริ่มต้นได้ด้วยตัวเองก่อน จากตัวเองไปสู่คนใกล้ตัวของเรา มองแค่พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติเรา คนทำงานร่วมกับเราว่าในวันนี้เขามีปัญหาอะไรหรือเปล่าในชีวิต เราเคยคุยกับเขาไหม ความรู้สึกของเขาเป็นอย่างไร แค่เริ่มต้นที่การดูแลจิตใจกันก่อน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงิน ไม่ต้องพูดถึงการลงแรง

การ ‘ให้’ ที่เราพูดกันง่ายๆ คือการดูแลจิตใจกันในทุกวันที่ผ่านไป ขอให้มีช่วงเวลาสักช่วงที่เราคิดถึงคนอื่นบ้าง อย่างที่ผมบอกคือเริ่มจากคนในครอบครัวแล้วค่อยๆ ขยายวงไปเรื่อยๆ เหมือนการโยนหินลงไปในแม่น้ำที่นิ่งแล้วก็กระจายออกไปเรื่อยๆ มันจะกระจายไปจากครอบครัวเล็กๆ ของเรา จากพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนเรา เพื่อนที่ทำงาน แล้วกระจายไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นการช่วยที่ยั่งยืนและช่วยด้วยหัวใจที่ต้องการ ‘ให้’ อย่างแท้จริง”

พลังแห่งการให้ ไม่จำเป็นต้องสร้างฮีโร่เสมอไป

คนบางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า จริงๆ แล้วเราสามารถแบ่งปันพลังบวกบางอย่างในตัวเองไปให้กับคนอื่นได้ ผ่านความสุขของการให้ในรูปแบบที่ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าคืออะไร แค่มีความรู้สึกที่อยากจะแบ่งปัน การที่พลังบวกจากตัวของเขาส่งต่อไปให้กับคนอื่น สิ่งที่ได้มามันคือการเพิ่มเติมพลังให้กับตัวเองในทุกวัน ยิ่งที่ที่ได้รับมีความสุขมากเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าตัวคนที่ให้จะยิ่งสุขใจมากกว่า เป็นความสุขใจที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องนิยายว่าคุณคือ ฮีโร่ หรือคนดีที่พร้อมจะให้เสมอ เพราะผมว่าทุกคนเป็นฮีโร่ได้หมด ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ตอนนั้น ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ เขาต้องการอะไร แล้วคุณตอบในสิ่งนั้นได้ไหม คุณตอบในสิ่งที่เขาต้องการได้หรือเปล่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในตอนที่คุณขับรถอยู่บนท้องถนนแล้วมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น คุณเห็นว่ามีมอเตอร์ไซค์คันนึงล้มและมีคนยืนอยู่ 10 คน ซึ่งคุณเป็น 1 ใน 10 คนนั้น คุณจะเดินไปช่วยเขาหรือเปล่า ถ้าคุณเดินไปช่วย คุณเป็นฮีโร่แล้ว เห็นไหมครับว่า ฮีโร่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกวินาที อยู่ที่คุณต่างหากที่เลือกจะทำหรือเปล่า ถ้าเราเลือก ณ ช่วงเวลานั้น คุณเป็นฮีโร่ได้ทันที

การ ‘ให้’ ต้องไปต่อ

 ณ เวลานี้ความตั้งใจในเรื่องที่ดูแลอยู่ยังคงเหมือนเดิม และเน้นหนักมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะผมมองว่าชีวิตของคนป่วยที่ต้องนอนติดเตียง ซึ่งเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มันไม่ได้จะหยุดอยู่แค่บนเตียงหรือไม่ได้หมายความว่า เขาจะต้องนอนรอวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน เพราะไม่ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ตรงนั้นได้อีกนานแค่ไหน เขาก็ยังสามารถอยู่ตรงนั้นโดยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนกับเราได้

“แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยเหลือคนทั้งโลกได้ แต่เมื่อสามารถช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ และกำลังทำกันอยู่ด้วยแรงกำลังและความร่วมใจของงหลายๆ คน ผมก็จะทำมันได้ดีที่สุดก่อน เมื่อเขามีชีวิตดีขึ้นจนเราพอที่จะวางใจได้ การใช้ความช่วยเหลือบนพื้นฐานความตั้งใจเดียวกันมันจะขยายไปช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นๆ ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอนครับ”

Tags: ,