แม้ไม่ได้เข้าไปอภิปรายในรัฐสภาแม้แต่วินาทีเดียว แต่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดูจะ ‘ทำงานการเมือง’ แบบไร้กระบวนท่า และได้พื้นที่ยิ่งกว่าอยู่ในสภา

เขาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีลักษณะแปลกไปจากท้องตลาด เป็นลูกผสมระหว่าง นักธุรกิจ นักการเมือง และอาจกึ่งๆ นักวิชาการด้วย ก่อนหน้านี้เขาเคยเปิดเลคเชอร์สาธารณะเรื่องงบการเงินทางเพจพรรคอนาคตใหม่ รอบนี้เป็นการบรรยายเรื่อง ‘เศรษฐกิจซบเซาและซึมยาว SMEs ไทยจะรับมืออย่างไร’ ที่สำนักงานใหญ่พรรคอนาคตใหม่ ตึกไทยซัมมิท ในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่สัดทัดเรื่องธุรกิจยอมรับว่า เป็นการเลคเชอร์ที่ค่อนข้างตรงปก เพราะครึ่งค่อนทางเป็นเรื่องของการแนะนำเครื่องมือพื้นฐานเพื่อการเอาตัวรอดของธุรกิจจริงๆ Excel simulation ต้นทุนต่างๆ มาเป็นชุด อธิบายแนวทางในระดับไมโคร ก่อนจะตบท้ายด้วยระดับแมคโคร คือ การบริหารประเทศว่าจะไปทางไหนให้ SMEs ไทยรอดชีวิตและรุ่งโรจน์สถาพร 

จุลภาค

SMEs ตามคำนิยามคือ ผู้ประกอบการที่มีพนักงานลูกจ้างน้อยกว่า 200 คน และมีสินทรัพย์ถาวรน้อยกว่า 200 ล้าน 

เครื่องมือที่เขาแนะนำให้ดูคือ งบการเงิน 3 ตัว คือ 

(1) งบดุล แบ่งเป็นสองส่วน ฟากหนึ่งคือ ทรัพย์สิน  อีกฟากหนึ่งคือ หนี้สิ้น+เงินลงทุน พูดภาษาชาวบ้านคือ เป็นการดูว่าเอาเงินมาจากไหน แล้วเอาไปทำอะไร สองส่วนนี้ต้องเท่ากัน 

(2) งบกำไร-ขาดทุน คือ ยอดขาย – ต้นทุน = กำไรสุทธิ หรือที่เรียกว่า bottom line บรรทัดสุดท้ายท่านได้เงินเข้ากระเป๋าเท่าไร ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีราว 20% ดังนั้น รัฐจึงอยากให้บริษัทห้างร้านทำกำไรได้เยอะๆ เพราะเท่ากับได้รายได้จากภาษีเยอะตามไปด้วย 

(3) งบกระแสเงินสด แบ่งเป็น งบดำเนินการ, งบการลุงทน, งบการเงิน 

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ยอดขายซบเซา สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การทำความเข้าใจตัวเองเพื่อประเมินผลร้ายทางเศรษฐกิจ เรียกว่าต้องรู้จักตัวเองให้ดีที่สุด และวิธีการก็คือ การทำแบบจำลอง simulation เพื่อดูต้นทุนต่างๆ เอ็กเซลและตัวอย่างถูกนำมาฉายให้เห็นว่า เราจะต้องแจกแจงรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบอย่างไร และเมื่อตัวเลขหนึ่งผันแปร ค่าอื่นๆ จะผันแปรตามอย่างไร แปลภาษาชาวบ้านคือ ความสามารถในการพยากรณ์ผลกำไรหรือผลขาดทุนของเรา ให้ได้รู้กันล่วงหน้าว่าเข้าเนื้อหรือยัง แค่ไหน และจะลดต้นทุนตรงไหนได้บ้าง

“วิธีที่ผมลดต้นทุนตอนมีวิกฤติ อย่างแรกคือ ลดเงินเดือนผู้บริหาร เป็นการแสดงความรับผิดชอบ” 

การดูงบกำไรขาดทุนอาจไม่เพียงพอ ธนาธรบอกว่าต้องดูงบกระแสเงินสดกันเป็นรายวันเลยทีเดียวหากองค์กรวิกฤติ เพราะแม้ทางบัญชีจะขาดทุนติดลบ แต่ถ้ายังมีกระเงินสดในมือ ก็ยังสู้ต่อได้ 

“นอกจากเข้าใจตัวเองแล้ว ตัวสำคัญที่สุดคือ เงินสด cash is king” เขาแนะนำให้เก็บเงินสดเข้าบริษัทให้มากที่สุด “ภาวะแบบนี้ กำไรขาดทุนสำคัญน้อยกว่าจำนวนเงินสดในกระเป๋า” และ “เสถียรภาพทางการเงินสำคัญที่สุด ในวันที่ฝนตก มันตัดสินกันว่า คุณกับคู่แข่ง ใครตายก่อนกัน” แล้วเขาก็อธิบายถึงลักษณะเงินกู้ที่สร้างเสถียรภาพได้ดีกว่า ตีความแบบบ้านๆ คือ กู้ก้อนใหญ่ใช้หนี้ระยะยาว ดอกเบี้ยสูงกว่า ทำให้มีเสถียรภาพทางการเงินมากกว่า นั่นย่อมดีกว่ากู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่พอมีวิกฤติธนาคารมักไม่ปล่อยกู้ต่อทำให้ ‘ช็อต’ ไปต่อไม่ได้ ดังนั้น ในการดูงบการเงินของบริษัท หากพบว่าบริษัทไหนมีสัดส่วนการกู้ระยะสั้นสูงมากๆ แต่กู้ระยะยาวต่ำ แทงไปได้เลยว่า ‘อันตราย’ เวลาเกิดวิกฤติมักจะไปก่อน 

นอกจากนี้เขายังเตือนว่า ควรแยกเงินตนเองกับเงินในธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทไม่ได้มีตัวเองคนเดียวแต่มีหุ้นส่วนด้วย เวลาขาดเงินสด หากจะเอาเงินตัวเองไปลง ต้องชัดเจนว่าเป็นส่วนของหนี้ หรือส่วนการลงทุนและหุ้นส่วนคนอื่นๆ จะลงด้วยไหม เพราะเวลาเจ๊งแล้วขายสินทรัพย์กันแบบขาดทุนย่อยยับนั้น มันมีลำดับการได้เงินจากสินทรัพย์ที่ขายอยู่ ความชัดเจนนี้จะทำให้ไม่ทะเลาะกันภายหลัง 

เมื่อเริ่ม ‘ช็อต’ แล้วทำอะไรได้บ้าง? สัญชาตญาณนักธุรกิจย่อมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถ้าจำเป็น วิธีการหนึ่งคือ ขายสินทรัพย์ที่มีแล้วเช่าซื้อใหม่ เพื่อเพิ่มเงินสดในมือ เอาไปสู้ต่อ, ดูสินค้าคงเหลือในสต็อกแปลงมันเป็นเงินสด, ขอขยายเวลาชำระหนี้กับคู่ค้า และเช่นกัน ตามทวงหนี้กับลูกหนี้, คุยกับผู้ถือหุ้นแต่เนิ่นๆ ว่าจะไม่ปันผล หรือไม่ลงทุนเพิ่ม ฯลฯ ‘อย่าได้อาย’

ฟังดูเหมือนง่ายและพื้นฐานมาก แต่หลายคนอาจมองข้ามไป 

เวลาช็อตสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการมักจะทำคือ ปลดคนงาน ธนาธรนำเสนอตัวอย่างการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยไม่ปลดคนงาน นั่นคือ ในช่วงเวลาที่ยอดขายลด เวลาว่างมีเพิ่มขึ้น มันเป็นเวลาทองแห่งการทบทวนว่าอะไรคือช่องว่างช่องโหว่ในระบบที่ปรับปรุงได้ พนักงานมีเวลาพัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อที่เมื่อมียอดขายพุ่งอีกครั้งจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“ในช่วงวิกฤติที่งานไม่เยอะมาก เราสามารถทำได้ทั้งการพัฒนาบุคลากรไปข้างหน้า หรือ back to basic กลับไปทบทวนว่าที่ผ่านมาอะไรที่ปรับปรุงบ้าง ซึ่งมันสำคัญทั้งคู่” 

ธนาธรยกตัวอย่างช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ยอดขายลด เขาคิดโครงการพัฒนาช่างอายุมากที่คุมเครื่องกลึงสายกัดเจาะซึ่งต้องอาศัยเด็ก ปวส.ในแผนกอื่นเขียนโปรแกรมสั่งให้เครื่องจักรทำงาน ส่วนช่างอายุมากจะทำงานแมนนวลอยู่หน้างาน เขาบอกว่า ช่างควรเขียนโปรแกรมได้ เหมือนฟ้าผ่า ไม่น่าเป็นไปได้ แต่จากนั้นหนึ่งปีจากช่างที่จับเมาส์ยังมือสั่นกลายเป็นช่างที่เขียนโปรแกรมพื้นฐานได้ และแผนกเด็กปวส.ก็ได้ขยับขึ้นไปทำงานที่ยากขึ้น เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น ที่สำคัญคือ ช่างเหล่านั้นภูมิใจและขอบคุณบริษัทมาก

อีกประการหนึ่งคือ การกลับไปดู supply chain และ resourcing ให้ดีขึ้น ซึ่งมีช่องทางเพิ่มมูลค่าได้มาก

หลังจากนั้นมีการแชร์ประสบการณ์จากผู้ร่วมงาน เจ้าของกิจการที่ติดหนี้ระดับ 160 ล้านเมื่อปี 2561 เกือบคิดสั้น แต่ได้ครอบครัวและลูกเล็กเหนี่ยวรั้งไว้ เขาเล่าว่าเขาพยายามใช้วิธีเดียวกับที่ธนาธรกล่าวมา คือ ขายสินทรัพย์แล้วไปเช่าแทน และการดูว่า ‘ตัวเองคือใคร’ มีจุดแข็งอะไรนั้น ยากมากในทางปฏิบัติ ตอนจะปรับลดค่าใช้จ่าย ตอนแรกรู้สึกว่าอะไรๆ ก็จำเป็น แต่เมื่อวิกฤติจริงๆ ก็จะพบว่า อะไรๆ ก็ไม่จำเป็น และเหลือส่วนที่จำเป็นจริงๆ ที่เป็นจุดแข็งของตัวเองเท่านั้น เขายังยกตัวอย่างมาตรการต่างๆ อีกมากมาย แล้วสรุปจบว่าปี 2562 ตัวเลขเริ่มเป็นบวกอีกหน พร้อมให้กำลังใจคนอื่นๆ 

ธนาธรขอบคุณตัวอย่างและหยิบยกคำถามต่อไปว่าระหว่าง ก.ยอดขาย ข.อัตรากำไร อะไรที่สำคัญกว่ากัน การตัดสินใจเรื่องนี้สำคัญมาก และนักธุรกิจต้องเผชิญมันเสมอ ซึ่งคำตอบ ไม่มีอะไรถูกหรือผิด

“แต่ถ้าต้องเลือกเมื่อไหร่ แสดงว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอในแง่การสร้างองค์กรระยะยาว มันมี ค.ด้วย คือ การสร้างความต่าง ถ้าสร้างความต่างเพียงพอเราจะเผชิญการตัดสินใจระหว่าง ก.กับ ข.น้อยลง แต่ถ้าคุณต้องเลือกบ่อยๆ แสดงว่าลงทุนเพื่ออนาคตน้อยไป”

ผู้ฟังแลกเปลี่ยนอีกประสบการณ์ว่า เพื่อนของเขาขายน้ำปลาหวานดีมากแล้วนำไปเสนอขายร้านขายปลีกเจ้าใหญ่แห่งหนึ่ง ได้รับการปฏิเสธ แต่อีก 3 เดือนต่อมาปรากฏมีมะม่วงน้ำปลาหวานขายในร้านขายปลีกแห่งนั้น คำถามคือ ทำอย่างไรจะเอาตัวรอดท่ามกลางทุนผูกขาด 

มหภาค

ฟังคำถามแล้วราวกับร่วมวางโครงเรื่องมาด้วยกัน หัวข้อต่อมา ธนาธรขยับมาพูดเรื่องเชิงระบบ มองระดับมหภาค เขาเริ่มต้นจากฝั่งแรงงาน พรรคอนาคตใหม่เตรียมนำเสนอกฎหมายที่จะให้แรงงานไทยทำงาน 40 ชม .ต่อสัปดาห์ (จากปัจจุบัน 48 ชม.) ซึ่งเท่ากับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และต้องได้ค่าครองชีพเพียงพอ เขาบอกว่าแม้จะเข้าใจผู้ประกอบการ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงแรงงานด้วย พวกเขาเหล่านั้นแทบ ‘ไม่มีชีวิต’ เพราะต้องทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน เลี้ยงดูลูก และอ่านหนังสือเพิ่มเติมความรู้ ฯลฯ

ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยอื่นที่ต้องทำพร้อมกัน นั่นคือ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่พัฒนาและยั่งยืน + จัดการกลุ่มทุนผูกขาด + ใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในเรื่องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่นั้น ธนาธรวิพากษ์วิธีคิดของรัฐบาลปัจจุบัน ระบุว่าเป็นการมองแบบเก่าสมัยเดียวกับตอนที่ประเทศเพิ่งเปิด เพิ่งมีสภาพัฒน์ฯ เพิ่งมีบีโอไอ เน้นเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งที่ 50 ปีผ่านมา ไทยมีเงินในระบบเยอะ ไม่ได้ยากจนเหมือนก่อน มีเทคโนโลยี มีคนคุณภาพพอสมควร

“ถ้าภาครัฐออกกฎหมายผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ มันก็จะเปิดซับพลายเชนใหม่ เกิดการจ้างงานมหาศาล” 

เขายืนยันด้วยตัวเลข capacity utilization หรืออัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งพบว่า ในอุตสาหกรรมเด่นๆ เดิมๆ ของไทยนั้น ใช้กำลังการผลิตแค่ 65% ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่นักลงทุนสติดีที่ไหนจะลงทุนเพิ่ม ในเมื่อซับพลายมันล้นเกินดีมานด์ 

จากนั้น เขาหยิบยกให้ดูภาพโรงงานคัดส้มที่ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีฟู่ฟ่า เป็นตัวอย่างจากสหกรณ์ในญี่ปุ่น หรือเครื่องอบข้าวที่ทำได้ไม่ยาก เพื่อให้เห็นว่าสามารถพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยให้ก้าวหน้าไปได้มาก หากเราลงทุนให้คนไทยคิดค้นเครื่องจักรหรือระบบเหล่านี้เอง ซึ่งเขายืนยันว่าทำได้ หากนโยบายรัฐผลักดันไปทางนั้น

“ผมเป็นกมธ.งบประมาณ แม้เขาไม่อยากให้เป็น ผมพบว่ามันยังมีงบให้เพิ่มลานตากข้าวอยู่เลย ไม่มีประเทศพัฒนาแล้วที่ไหนที่ใช้แรงงานตากข้าว มันเป็นการใช้แรงงานเข้มข้นมาก ที่สำคัญมันควบคุมไม่ได้ ทั้งความชื้น อุณหภูมิ ความสะอาด แทนที่จะแจกเงินชาวนา ก็อาจจะผลิตและแจกเครื่องอบข้าว เมื่อความชื้นในข้าวน้อยลง ราคาก็ต่างกันสองพันต่อตัน แต่ตอนนี้แม้แต่อุปกรณ์การเกษตรพื้นฐานต่างๆ เราก็ยังต้องทำเข้าจากจีน”

สรุปว่า เขามองเห็นว่า ต้องลงทุนในด้านเทคโนโลยีการเกษตร และอัปเกรดภาคเกษตรของไทย  ลามไปถึงการสร้างอุตสาหกรรมของตัวเองในด้านต่างๆ แทนการสั่งซื้อง่ายๆ จากจีน ญี่ปุ่น และพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศให้น้อยลง

“ถ้าจีนจะสอนเราสักอย่างหนึ่ง มันคืออะไร คุณจะเป็นประเทศที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ คุณต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ที่ผ่านมาไม่มี technology transfer เลย แถมเขามาลงทุนบีโอไอก็ให้สิทธิพิเศษไม่เสียภาษี สรุปแล้วไทยอาจได้แค่ค่าแรงงานเท่านั้น” 

ธนาธรยังหยิบยกการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการกำจัดขยะว่า ใช้งบในการลงทุนดำเนินการเพียง 26% ของงบทั้งหมด และมีบ่อขยะได้มาตรฐานน้อยมาก หากมีวิสัยทัศน์ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าลงทุนผลักดัน

ในประเด็นการจัดการกับทุนผูกขาด ธนาธรหยิบยกงานของพรรคอนาคตใหม่ปีหน้าไตรมาส 1 หรือ 2 ว่า จะนำเสนอกฎหมายปลดล็อคสุราพื้นบ้าน เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าว และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจฐานราก 

“ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการทุนใหญ่ มันมีหน้าที่ของมันจริงๆ อย่างที่คุณสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) พูด หน้าที่ของมันคือ ดึงกลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นไปด้วย แต่ทุนไทยไม่ทำอย่างนั้น สิ่งที่คุณสมคิดพูดมันจึงไม่จริง”

ขยายความก็คือ ทุนใหญ่ควรเป็นหัวหอกในการแย่งตลาดโลก แล้วปล่อยให้การแปรรูปขั้นกลางอยู่ในมือบริษัทขนาดกลาง การแปรรูปขั้นต้นอยู่ในมือบริษัทขนาดเล็ก โตโยต้าคือบริษัทชั้นนำของโลกที่ทำเช่นนั้น 

“บริษัทขนาดใหญ่คุณต้องออกไปต่อสู้กับโลกภายนอก แต่ของไทยกลับอาศัยความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะกองทัพ ออกกฎระเบียบที่เอื้อตัวเอง มาแปรรูปสินค้าขั้นกลางขั้นต้น เบียดเบียนผู้ประกอบการรายย่อย”

คำถามจากผู้เข้าฟังถามว่า ถ้าธนาธรเป็นนายกฯ อนาคตใหม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก จะส่งเสริม SMEs ยังไง เป็นคำถามตัดจบราวกับช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

คำตอบของธนาธรคือ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เขายกตัวอย่างเพื่อให้เห็นปัญหาการกระจุกตัวที่  ‘กรุงเทพฯ’ ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งของญี่ปุ่น อเมริกา จีน ฯลฯ ล้วนไม่ตั้งที่เมืองหลวง แต่ของไทยทุกอย่างอยู่เมืองหลวง งบประมาณก็เช่นกัน การตัดสินใจใช้งบประมาณก็เช่นกัน แม้จะเป็นงบท้องถิ่นก็ตาม ธนาธรหยิบยกตัวเลขของ อปท.ในจังหวัดต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่า จังหวัดที่รายได้ดี รวย อำนาจการตัดสินใจบริหารงบก็มีมาก จังหวัดที่ยากจน อำนาจการตัดสินใจบริหารงบต่างๆ เองก็มีน้อย เรียกว่ายิ่งจนยิ่งไม่มีอำนาจ เขาระบุว่า หากจะพัฒนาอุตสาหกรรมใหญ่ ควรย้ายฐานไปอีสาน เพื่อให้คนไม่ต้องจากถิ่นที่อยู่ และกระจายรายได้มีประสิทธิภาพ ส่วนภาคกลางพัฒนาให้เป็นเกษตรก้าวหน้า 

ผู้ฟังยังไม่หนำใจ ถามคำถามอีกว่า ที่พูดมาทั้งหมด มองไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้…เพราะไม่รู้ว่าจะได้เปลี่ยนนายกฯ เมื่อไร คงต้องรอชาติหน้า (ผู้ฟังอื่นๆ หัวเราะ) เราสามารถรวมกลุ่มกันทำอย่างอื่นได้ไหม

ธนาธรตอบคำถามนี้ว่า ไม่ปฏิเสธเลยหากเพื่อนพี่น้องจะตั้งกลุ่มขึ้นมาผลักดันประเด็นความคิดความเชื่อความหลงใหลของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอที เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอะไรต่างๆ ใช้พื้นที่พรรคอนาคตใหม่ให้เป็นประโยชน์ในการผลักดัน 

“ส่วนจะ…ผมจะพูดยังไงดี ส่วนจะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้อย่างไร ผมว่าเราต้องมาช่วยกัน มันคงไม่มีใครมีคำตอบเบ็ดเสร็จ แต่เรารู้อย่างหนึ่งว่า พรรคการเมืองทำเองลำพังไม่ได้ มันมีข้อจำกัด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยพี่น้องประชาชนเข้ามาร่วม ผมเรียนว่ามันสัมพันธ์กันหมด เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการหยุดราชการรวมศูนย์ เรื่องการสร้างประชาธิปไตย เรื่องการเปลี่ยนรัฐบาล เรื่องการปฏิรูปกองทัพ ถ้าคุณไม่ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้พร้อมๆ กัน การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สังคมที่ดีกว่านี้เป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆ เริ่มทำไป ดังนั้น การเดินทางครั้งนี้ยาว ผมคาดหวังว่าทุกคนจะเดินทางไกล จะร่วมเดินทางที่ต้องขึ้นเขาชัน ผ่านขวากหนามไปด้วยกัน ผมยืนยันว่ายาวแน่ๆ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อการเลือกตั้งหนึ่งครั้ง สองครั้ง มันยาวกกว่านั้นมาก”

Tags: , ,