23 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเพิ่ม 122 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 721 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย เกี่ยวข้องกับก่อนหน้า กลุ่มสอง กลุ่มผู้ป่วยใหม่ ที่เดินทางจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติ ผู้ที่ทำงานในสถานที่แออัด ผู้ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับต่างชาติ ผับบาร์ ดีเจในผับ และกลุ่มสาม กลุ่มที่พบเชื้อ อยู่ระหว่างสอบสวนโรค
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น เพราะมีการย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาในช่วงไม่กี่วันนี้ ทั้งก่อนและหลังที่จะมีประกาศปิดสถานที่บางแห่ง
สธ. ขอให้ทุกคนที่เดินทางกลับรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เจ้าหน้าที่ สธ. จังหวัด และกักกันตัวเอง อย่างน้อย 14 วัน และรักษาระยะห่างระหว่างผู้อื่น ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ชม ผู้ทำงานในสนามมวย สถานบันเทิง ที่กลับไปภูมิลำเนา ขอแนะนำให้กักกันตัวเอง และรักษาระยะห่างทางสังคมเพราะมีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ มีผู้ขอรับการตรวจทั้งสิ้น 30,000 ตัวอย่าง แยกเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง PUI หมื่นราย พบเชื้อเพียง 400 ราย 4% เท่ากับสองหมื่นรายไม่มีความจำเป็นมาตรวจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระงาน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ. แสดงกราฟของการติดเชื้อทั่วโลกที่กราฟทางฝั่งยโรุปพุ่งขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน นั้นเบนออก พร้อมระบุว่า วันนี้ไทยอยู่ที่ 721 ราย อยู่ในช่วงที่การแพทย์พูดว่า ‘เวลาทอง’ ถ้าเราไม่มีวินัยเคร่งครัด อยู่บ้านหยุดเชื้อ ออกบ้านระวังป้องกันตัวเอง จะเป็นเหมือนยุโรป ที่ทะลุไปหลายพัน จนถึงวันนั้นนึกไม่ออกว่าในทางการแพทยจะรับมือได้แค่ไหน แม้ระบบสาธารณสุขของเราจะแข็งแรง เราทำได้แค่ค้นหา รักษา ให้ยารักษา จึงขอให้เข้าใจมาตรการของรัฐและช่วยดำเนินการตาม
นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ ย้ำว่า จากสถิติทั่วโลก ผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นผู้สูงอายุ แต่การแพร่เชื้อไม่ต่างกัน ขอให้คนหนุ่มสาวระมัดระวัง บางคนติดเชื้อแล้วยังไม่รู้ตัว ไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน จะเอาเชื้อไปติด โอกาสที่ผู้สูงอายุจะเสียชีวิตมีสูงมาก ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นหนุ่มสาวที่ออกไปทำงาน เมื่อกลับบ้านให้แยกจากผู้สูงอายุ ใส่หน้ากาก หรือมั่นใจว่าไม่มีเชื้อจริงค่อยสัมผัส
ส่วนที่มีข้อสงสัยเรื่องความร้ายแรงของเชื้อนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อจากประเทศไหนร้ายแรงกว่ากัน การแพร่ระบาดที่ช้าหรือเร็ว สาเหตุหลักคือ ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ได้เร็ว หากมีคนหนึ่งติดเชื้อ เราจะต้องออกแรงมหาศาลในการค้นหาผู้เกี่ยวข้อง
ส่วนกรณีที่ WHO ออกคำเตือนเรื่องการติดเชื้อผ่านอากาศ (airborne precautions) นั้น นพ.ศุภกิจชี้แจงว่า เป็นการเตือนบุคลาการทางแพทย์ ที่ใช้เครื่องผลิตฝอยละออง ซึ่งจะผลิตละอองที่ละเอียดยิบและลอยไกล ถ้ามีเชื้อโคโรนาไวรัสจะติดไปกับฝอยละออง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป เพราะการไอ จาม ไม่สามารถผลิตได้เท่าเครื่องผลิตฝอยละออง
ทั้งนี้ การแพร่เชื้อหลักยังเป็นการแพร่โดยละอองเสมหะ และการสัมผัสสารคัดหลั่ง
Tags: โควิด-19