เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ในวันที่ทางกองทัพเรือได้จัดแถลงข่าวเหตุผลการจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ มูลค่า 24,000 ล้านบาท โดยอ้างประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางการประมงและการขนส่งทางทะเลของไทยในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านบาท
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก รวมถึงในไทยด้วย ทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามถึงเรือดำน้ำที่กองทัพเรือกำลังจัดซื้อมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร และภายใต้สภาพเศรษฐกิจ ณ เวลานี้ สมควรหรือไม่ที่จะมีการจัดซื้อ
ทะเลจีนใต้ : ข้อพิพาททางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน / รัฐชายฝั่งทะเลจีนใต้ / สหรัฐฯ
ประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ถือเป็นอีกหนึ่งข้อพิพาทที่มีการถกเถียงมาอย่างยาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กรณีหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์สที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ครอบครอง แต่หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามและถอยทัพออกจากเกาะ ทำให้เริ่มเกิดข้อพิพาทว่าหมู่เกาะที่ญี่ปุ่นเคยยึดครองเป็นของใคร
จีนเคยเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในสมัยเจียงไคเช็ค และเริ่มจริงจังในสมัยพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยโจว เอินไล ช่วงปีพ.ศ. 2494 และเกาะเหล่านี้เริ่มมีความสำคัญในช่วงสงครามเย็น เกิดเงื่อนไขในการควบคุมน่านน้ำ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศที่อยู่ในเงื่อนไขนี้ในทางเทคโนโลยีที่จะเข้าไปควบคุม และพื้นที่บริเวณนั้นอยู่ใกล้เขตกองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ทำให้ในช่วงเวลานั้นจีนและประเทศชายฝั่งทะเลจีนใต้ยังไม่อ้างกรรมสิทธิ์ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
ช่วงหลังๆ รัฐชายฝั่งทะเลจีนใต้ได้แก่ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เริ่มอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ หลังเริ่มมีความต้องการทรัพยากรในบริเวณนี้และการเข้ามามีอิทธิพลของสงครามทางการค้า จึงเริ่มมีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ จากการอ้างกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้ของจีนโดยอิงจากแผนที่เส้นประ 9 เส้น ทำให้รัฐชายฝั่งไม่พอใจถึงการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน รวมถึงสหรัฐฯ ด้วยที่ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือทางจุดยุทธศาสตร์ของกองเรือที่ 7 และเป็น ‘เสรีภาพในการเดินเรือ’
บทบาทของทะเลจีนใต้ในปัจจุบันมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จากทรัพยากรพลังงานในพื้นที่ และเส้นทางการค้าที่สำคัญ ภายใต้นโยบายการสร้างเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ได้สร้างความขัดแย้งกับประเทศในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ยกตัวอย่างกรณีของฟิลิปปินส์ที่เคยชนะจีนจากข้อพิพาทที่ได้รับการตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ อย่างไรก็ตาม จีนไม่ยอมรับกระบวนการของศาล และดำเนินการสร้างเกาะเทียมในพื้นที่พิพาท ส่งเรือลาดตระเวนเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ตามแผนที่เส้นประ 9 เส้น ทำให้สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนในข้อพิพาทนี้โดยอ้างเสรีภาพในการเดินเรือในเส้นทางนี้ และเริ่มมีการข่มขู่กันระหว่างจีน–สหรัฐฯ
ไทยอยู่ตรงไหนในข้อพิพาททะเลจีนใต้
จากประเด็นที่กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศในน่านน้ำทะเลจีนใต้ดูเหมือนจะเป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ เนื่องจากไทยไม่ได้มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ภายใต้เงื่อนไขภูมิรัฐศาสตร์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อสังเกตถึงท่าทีของกองทัพเรือและรัฐบาลไทยต่อกรณีนี้
“โดยเงื่อนไขในทางภูมิรัฐศาสตร์ ไทยไม่เกี่ยวอะไรเลย กล่าวคือง่ายที่สุดคือเราไม่ใช่รัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
“ปัญหาของรัฐบาลไทยในปัจจุบันคือ ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่าในฐานะที่ไทยมีบทบาทหลักในอาเซียน มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นจุดเชื่อมในการเคลียร์ปัญหาข้อพิพาทระหว่างเพื่อนบ้านในอาเซียนกับจีน แต่น่าเสียดายที่ผู้นำไทยมองไม่เห็นและไม่มีขีดความสามารถพอในการเข้าใจถึงบทบาทของตัวเองในเวทีระหว่างประเทศ กลับไปวางโจทย์บทบาทของไทยในมุมมองทางทหาร โดยหวังว่าจะเอาเรือเข้าไปในเขตทะเลจีนใต้ เพื่อคุ้มครองเส้นทางขนส่งสินค้า ซึ่งมัน ‘เกินเลยจากความเป็นจริง’
”ยกตัวอย่าง หากมีการปิดทะเลจีนใต้ ซึ่งทางการไทยกลัวจะมีผลกระทบกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งประเทศที่จะปิดทะเลได้ต้องยอมรับว่าเป็นจีน โดยหลักการชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มีส่วนเกี่ยวข้องในข้อพิพาทจะไม่เป็นฝ่ายปิด เพราะบริเวณนั้นยังเป็นผลประโยชน์ที่พวกเขามีอยู่ ในขณะเดียวกัน ทะเลจีนใต้ก็เป็นช่องทางหลักในการขนส่งพลังงานของจีนมากประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ การขนส่งสินค้าของจีนก็ใช้เส้นทางนี้เป็นหลัก เอาเข้าจริงแล้วการปิดทะเลกระทบโดยตรงกับจีนด้วยเช่นกัน
“ดังนั้นในมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเลย รวมถึงในทะเลจีนใต้ด้วย”
ความจำเป็นของเรือดำน้ำเพื่อชาติที่ผิดที่ผิดทาง
“ในมุมมองของรัฐและกองทัพเรือต่อการจัดสรรเรือดำน้ำที่จำเป็นต่อผลประโยชน์ของประเทศในน่านน้ำไทย ในทางกลับกัน ยุทธศาสตร์ของไทยกลับสวนทางกับระเบียบโลกใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการทูตมากขึ้น รัฐกลับไม่มองถึงบทบาทนี้ และเลือกจะเพิ่มกำลังทหารแทน เมื่อประเทศไทยได้วางโจทย์ถึงการเป็นใหญ่ในทางทหาร โดยเฉพาะทางทะเลแล้ว เอาเข้าจริงเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเป็นมหาอำนาจทางทะเลในภูมิภาค แม้จะมีเรือน้อยกว่าอินโดนีเซีย แต่ไทยมีกำลังพลมากถึง 69,000 นาย ว่ากันตามจริงไทยไม่ได้มีแสนยานุภาพน้อยกว่าใคร การไม่มีเรือดำน้ำจึงไม่ได้ตอบว่าไทยด้อยกว่าชาติอื่นในทางยุทธศาสตร์และขีดความสามารถในทางทะเล
“นอกจากนี้มุมมองของกองทัพเรือที่เคยพูดว่า เมื่อเทียบกับเหล่าทัพอื่นแล้ว กองทัพเรือมีโอกาสที่จะเห็นโลกภายนอกมากกว่า เหมือนสำนวนของทัพเรืออเมริกันหรือชาติตะวันตกที่มักจะพูดกันว่า ‘Join the Navy, see the world’ กองทัพเรือไทยก็มีโอกาสเหมือนกัน แต่ทำไมเวลาพูดถึงเพื่อนบ้าน กลับไม่เห็นความเป็นอาเซียนและทัศนะเชิงบวกกับเพื่อนบ้านเลย คิดเหมือนกับอยู่ช่วง ร.ศ. 112 ที่ข้าศึกจะปิดอ่าว ทฤษฎีประเทศต้นอ่าวกับท้ายอ่าว โดยเชื่อว่าถ้ามีวิกฤติเกิดขึ้น ประเทศท้ายอ่าวจะปิดทะเลแล้วประเทศต้นอ่าวก็ออกมาไม่ได้ เอาเข้าจริงในช่วงวิกฤตกาณ์ปากน้ำ ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ถึงขั้นปิดอ่าวสยามได้เหมือนที่เราคิดในปัจจุบัน เพราะตอนนั้นเรือรบฝรั่งเศสเข้ามาเพียงแค่ 2 ลำ และในสถานการณ์ปัจจุบันมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปิดทะเล เพราะไทยเองก็มีขีดความสามารถทางทะเลมากเหมือนกัน โอกาสที่ประเทศเพื่อนบ้านจะปิดพื้นที่ทางทะเลก็เป็นไปไม่ได้เหมือน
“นอกจากนี้ เรือดำน้ำไม่ได้เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์อย่างที่ผู้นำไทยเข้าใจ อาวุธในทางยุทธศาสตร์จริงๆ คือ ลอาวุธนิวเคลียร์’ เรือดำน้ำเป็นเพียงอาวุธเชิงรุกที่เอาไว้ใช้ทำลายเรือรบข้าศึกหรือเรือสินค้า และหากมีกรณีที่เรือรบหรือเรือสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านรุกล้ำเขตอธิปไตยไทย เอาเข้าจริงแล้วจะมีผู้บังคับบัญชาการทหารเรือท่านไหนจะกล้าอนุมัติสั่งให้เรือดำน้ำไทยยิงเรือของประเทศเพื่อนบ้าน
“ทุกวันนี้ไทยและประเทศในอาเซียนอยู่ด้วยกันภายใต้กรอบของอาเซียน น่าเสียดายที่ผู้นำไทยทั้งในฝ่ายการเมืองที่เป็นทหารและกองทัพเองกลับมองไม่เห็นโจทย์และบทบาทของอาเซียนเลย เสมือนอาเซียนไม่มีตัวตน ทั้งที่ในเวทีการเจรจาหลายอย่างของไทยนั้นทำผ่านอาเซียน อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นอีกข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าจะไม่มีการเกิดสงครามในภูมิภาคนี้ เพราะสังคมที่อ่อนแอในช่วงเวลานี้ สร้างกองทัพที่เข้มแข็งไม่ได้ และไม่สามารถพารัฐเข้าสู่สงครามใหญ่ได้ ดังนั้นผู้นำไทยจึงไม่ควรจะรีบจัดหาเรือดำน้ำในช่วง 3 ปีหลังจากนี้ เพื่อมาซ้ำเติมวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศ”
จุดยืนของไทยในอนาคตต่อข้อพิพาททะเลจีนใต้
“ในอนาคตของทะเลจีนใต้กับข้อพิพาทระหว่างมหาอำนาจจีน–สหรัฐฯ คงต้องหวังถึงจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างโดนัล ทรัมป์ และโจ ไบเดน ซึ่งหลังได้รัฐบาลใหม่พวกเขาก็ต้องวางแผนถึงการแข่งขันกับจีนเป็นโจทย์ใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ จะทำอย่างไรให้ดำรงสถานะของเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้
“ตราบใดที่ชาติมหาอำนาจยังคงยืนหยัดบนหลักการเดินเรืออย่างเสรีซึ่งตรงนี้ประเทศไทยได้ผลประโยชน์ ทุกวันนี้ชาติที่อ้างถึงกรรมสิทธิ์และจะปิดทะเลคือประเทศจีน ในทางกลับกันแล้ว ไทยเองเลือกที่จะสนับสนุนจุดยืนของจีนในการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้หรือไม่ หวังว่าผู้นำไทยจะมีสติพอที่จะตระหนักถึงถึงสถานะของประเทศว่าไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ และเข้าใจในบริบทระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ดังนั้นไทยต้องกล้าที่จะคิดและไม่แสดงตัวในลักษณะของการฝักใฝ่
“เห็นได้ชัดตั้งแต่หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ที่ผู้นำไทยเอาประเทศไปผูกกับจีนจนกลายเป็นปัญหาอีกเหมือนกัน หวังว่าจะคิดถึงอนาคตของประเทศด้วยสติ ยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของประเทศที่เป็นจริง ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกสร้างแล้วเกินเลยจากความเป็นจริง”
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/international-53893154
https://www.prachachat.net/politics/news-510414
https://www.brighttv.co.th/news/politics/navy-thai-submarine
บทสัมภาษณ์ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ในรายการ The Momentum Recap
Tags: เรือดำน้ำ, ทะเลจีนใต้, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข