ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก (World University Ranking) ซึ่งต้องตรงกันทุกสถาบัน คือ ‘สัญญาณเตือน’ (alarming signs) ว่ามหาวิทยาลัยไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล ต้องตื่นจากหลับใหล และต้องตระหนักว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยนั้นถอยห่างจากสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่มาเลเซียไปเรื่อยๆ

ผู้บริหารประเทศอาจยังไม่ตระหนักว่าโลกวัดศักยภาพการแข่งขันระหว่างประเทศจากคุณภาพของอุดมศึกษา การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกจึงเป็นภาพสะท้อนคุณภาพของอุดมศึกษาที่สำคัญอย่างยิ่ง

มหาวิทยาลัยไทยแข็งแกร่งแค่ไหนในเวทีเอเชียและอาเซียน

ในระดับเอเชีย มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยก็เดินตามหลังมหาวิทยาลัยของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ค่อนข้างไกล โดย QS World University Rankings by Region 2018 จัดให้สองมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ คือ Nanyang Technological University (NTU) และ National University of Singapore (NUS) อยู่ในอันดับที่ 1 และ 2 ของเอเชีย (อันดับที่ 11 และ 15 ของโลก) ตามลำดับ แม้กระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างมาเลเซียก็มีมหาวิทยาลัยถึงห้าแห่งเดินนำอยู่ข้างหน้ามหาวิทยาลัยไทย คือ Universiti Malaya (UM) (อันดับที่ 24 ของเอเชีย อันดับที่ 114 ของโลก) Universiti Putra Malaysia (UPM) (อันดับที่ 36 ของเอเชีย อันดับที่ 229 ของโลก) Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM) (อันดับที่ 43 ของเอเชีย อันดับที่ 230 ของโลก) Universiti Sains Malaysia (USM) (อันดับที่ 46 ของเอเชีย อันดับที่ 264 ของโลก) Universiti Teknologi Malaysia (อันดับที่ 49 ของเอเชีย อันดับที่ 253 ของโลก) ก่อนจะตามมาด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 50 ของเอเชีย และอันดับที่ 245 ของโลก

เกือบทศวรรษแล้วที่มหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมระบบการประเมินมาตรฐานทางการศึกษาจากสถาบันจัดอันดับการศึกษาระดับโลกเป็นประจำทุกปี ปีละ 8-10 สถาบัน เช่น QS World University Rankings, Times Higher Education (THE), SCIMago Institutions Rankings, Nature Index, Center for World University Rankings (CWUR) และ Webometrics ซึ่งผลการจัดอันดับก็มีมหาวิทยาลัยชื่อเดิมๆ สลับสับเปลี่ยนขึ้นเป็นที่ 1 และที่ 2 ของประเทศ หรือแบ่งกันได้ที่ 1 ในสาขาที่ต่างกัน

ตัวอย่างเช่น QS World University Rankings 2018 จัดให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติด Top 250 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ส่วน Times Higher Education จัดให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย และติดอันดับ Top 501-550 ของโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับชาติในเอเชีย หรือแม้กระทั่งอาเซียน มหาวิทยาลัยไทยก็เดินตามหลังชาติอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่เมื่อทศวรรษที่แล้ว มหาวิทยาลัยในมาเลเซียหลายแห่งอยู่ในอันดับต่ำกว่ามหาวิทยาลัยในไทย

นอกจากนี้ เมื่อดูจำเพาะรายสาขาวิชาว่ามหาวิทยาลัยไหนเก่งเรื่องอะไรบ้าง ผลล่าสุดที่ประกาศเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย QS World Rankings by Subject ได้ข้อสรุปดังนี้

  1. ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมเคมี ด้านเคมี ด้านสังคมวิทยา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการเมือง ด้านศิลปกรรม และด้านมานุษยวิทยา จุฬาฯ เป็นอันดับ 1 ของไทย 
  2. ด้านชีวศาสตร์และการแพทย์ และด้านเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับ 1 ของไทย
  3. ด้านเกษตรและป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอันดับ 1 ของไทย

การจัดอันดับคุณภาพมหาวิทยาลัยระดับโลกกับคุณภาพมหาวิทยาลัยไทย

เมื่อเปรียบเทียบผลการจัดอันดับจากสถาบันต่างชาติหลากหลายค่าย จะพบว่ามีประเด็นที่ควรวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง นั่นคือ เกณฑ์การให้คะแนน และค่าน้ำหนักที่ใช้ตีค่าและบ่งชี้คุณภาพการศึกษาทั่วทั้งโลก

เริ่มจากค่ายแรก QS World University Rankings 2018 ซึ่งใช้การสำรวจความคิดเห็น (global survey) จากผู้ประเมินที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาและวงการที่เกี่ยวข้องกว่า 70,000 คนทั่วโลก เพื่อประเมินว่ามหาวิทยาลัยใดดีที่สุดในแต่ละประเทศ โดยดูจากความมีชื่อเสียงทางวิชาการ (40 เปอร์เซ็นต์) และชื่อเสียงของผู้ว่าจ้างบัณฑิตที่เรียนจบ (10 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนี้ยังพิจารณาสัดส่วนของคณาจารย์ต่อนักศึกษา (20 เปอร์เซ็นต์) การอ้างอิงผลงานวิจัย (20 เปอร์เซ็นต์) และสัดส่วนของคณาจารย์และนักศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติ (10 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศไทยตามเกณฑ์นี้

ขณะที่ Times Higher Education 2018 เน้นไปที่การวัดคุณภาพการสอน (30 เปอร์เซ็นต์) การวิจัย โดยดูจากรายได้และชื่อเสียง (30 เปอร์เซ็นต์) การอ้างอิงงานวิจัย (30 เปอร์เซ็นต์) สัดส่วนของคณาจารย์และนักศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติ (7.5 เปอร์เซ็นต์) และรายได้จากภาคอุตสาหกรรม (2.5 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศไทยตามเกณฑ์นี้

Nature Index 2017 เป็นการจัดอันดับโดยวารสารในเครือ Nature Publishing Group มีเกณฑ์การให้คะแนนโดยการนับจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ (ต่อปี) ในวารสารในเครือ ซึ่ง 10 อันดับของไทยมีดังนี้ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) สถาบันวิทยสิริเมธี 3) มหาวิทยาลัยมหิดล 4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 5) มหาวิทยาลัยนเรศวร 6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 7) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 8) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 9) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 10) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Academic Ranking of World Universities (ARWU) 2017 มีเกณฑ์การให้คะแนนคือคุณภาพการศึกษา 30 เปอร์เซ็นต์ (จำนวนศิษย์เก่าและคณาจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลหรือรางวัลอันทรงเกียรติอื่นๆ) คุณภาพของคณาจารย์ 20 เปอร์เซ็นต์ (จำนวนนักวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงใน 21 สาขาวิชา) ผลผลิตทางการวิจัย 40 เปอร์เซ็นต์ จำนวนการตีพิมพ์งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ 20 เปอร์เซ็นต์ (หากเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ สามารถปรับเปลี่ยนสาขาได้) จำนวนการตีพิมพ์ใน Science Citation Index และ Social Science Citation Index 20 เปอร์เซ็นต์ และการประเมินผลผลิตทางวิชาการต่อหัวของสถาบัน 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ติดอันดับ Top 401-500 ของโลกตามเกณฑ์การจัดอันดับนี้

มองสถานการณ์มหาวิทยาลัยไทยในวันนี้ (พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร?)

ในภาพรวม มหาวิทยาลัยไทยปฏิรูปและปรับตัวช้าเกินไป เนื่องจากระบบการบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ และเป้าหมายไม่มีความชัดเจน

แม้จะออกจากระบบราชการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจำนวนหนึ่งแล้ว แต่การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ยังขาดหรือไร้ซึ่งอิสรภาพ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่ง รวมทั้งรายได้ของมหาวิทยาลัย ยังถูกกำกับและควบคุมด้วยระบบที่เน้นการลงรายละเอียดตามแบบแผนการบัญชีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงขาดความคล่องตัว ทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการแข่งขันในระดับนานาชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยไทยยังขาดอิสรภาพในการปรับหลักสูตรให้ได้ตามมาตรฐานสากล เนื่องจากติดอยู่ในระบบการประกันคุณภาพและมาตรฐานของ สกอ. ซึ่งมุ่งเน้นการกำกับมหาวิทยาลัยของรัฐหรือที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนให้ได้มาตรฐานเบื้องต้น มากกว่ามุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศในเวทีการแข่งขันระดับสากล

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยไทยยังคุ้นชินกับการได้มาซึ่งผู้บริหารระดับสูง (อธิการบดีหรือคณบดี) โดยการสรรหาจากคนในองค์กร และเน้นที่เสียงส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะมาจากความนิยม (Popularity) ขณะที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยในประเทศใกล้เคียงหลายแห่ง ได้หันไปจ้างผู้บริหารมืออาชีพ โดยให้อาจารย์และนักวิจัยไปทำงานที่ถนัดกว่า คือการสร้างผลงานทางวิชาการและการวิจัย นอกจากนี้ อธิการบดีของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมทั้งคณบดีของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัย ก็ยังขาดอำนาจที่แท้จริงในการประเมินเพื่อส่งเสริมคณาจารย์และนักวิจัย ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถตักเตือนหรือไล่คณาจารย์/นักวิจัยที่ขาดคุณภาพและความรับผิดชอบออกได้

แตกต่างจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนและเอเชียที่มีคนคุณภาพสูงจากนอกมหาวิทยาลัยหรือแม้แต่จากต่างประเทศเป็นผู้บริหาร ขณะเดียวกัน อธิการบดีก็มีอำนาจในการส่งเสริมหรือรับคณาจารย์/ นักวิจัยคุณภาพสูง โดยสนับสนุนทางด้านงบประมาณ ตำแหน่งทางวิชาการ และการให้คุณให้โทษ ขณะที่มหาวิทยาลัยไทยมักจะติดกับดักที่ว่า “วัฒนธรรมไทยคือต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยและรอมชอมกัน”

อีกหนึ่งปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนามหาวิทยาลัยไทย คือสภามหาวิทยาลัยควรจะมีขนาดเล็กลง ไม่เน้นการส่งตัวแทนมาถ่วงดุลอำนาจในการบริหาร หรือเป็นพื้นที่สำหรับผู้มีบารมี แต่ควรเลือกเฟ้นสมาชิกที่มีความสามารถและประสบการณ์ มีเจตคติที่ดี สามารถชี้นำ ส่งเสริม และผลักดันให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยภายใต้การนำของอธิการบดีดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และรวดเร็ว

มหาวิทยาลัยไทยจะแข่งขันในเวทีนานาชาติได้อย่างไร?

จริงอยู่ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวประชากร (GDP per capita) ของมาเลเซียสูงกว่าไทย 1.6 เท่า และสิงคโปร์สูงกว่าถึง 5.29 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าทรัพยากรหรือทุนที่จะทุ่มไปเพื่อพัฒนาการศึกษาในทุกระดับย่อมมีมากเป็นเงาตามตัว (GDP per capita ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วอยู่ที่ 17,789, 28,870 และ 90,531 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ตามตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) อีกทั้งความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในทศวรรษที่ผ่านมาก็เป็นปึกแผ่นกว่าไทยมากมายนัก แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะนิ่งเฉยและยอมแพ้โดยไม่ทำอะไร

หากมุ่งหวังจะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น มหาวิทยาลัยไทยต้องจับมือกันเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งและคุณภาพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะผ่านเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) ซึ่งประกอบด้วย 8 มหาวิทยาลัย เครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หรือเครือข่ายอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยมุ่งมั่นเพื่อความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพอย่างแท้จริง มากกว่า ความร่วมมือแบบกว้างๆ

เพื่อให้ก้าวกระโดดได้จริง มหาวิทยาลัยไทยต้องปฏิรูปการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการส่งเสริมและวัดคุณภาพของผลสัมฤทธิ์และผลลัพธ์ ไม่ใช่เน้นที่การวัดภาระงานดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด มหาวิทยาลัยไทยต้องจับมือกันสร้างความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ (strategic partnership) รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและภาคเอกชน เพื่อทำให้การศึกษาเป็นอาวุธหลักในการพัฒนาประเทศให้แข่งขันและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเปลี่ยนโลกแบบพลิกโฉม (disruptive change) ในปัจจุบัน

เหนือสิ่งอื่นใด มหาวิทยาลัยไทยต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ‘World Ranking’ จะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างจริงจังที่จะทำให้การสร้างคน การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างนวัตกรรม สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างแท้จริง

Tags: , ,