สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูซีรีส์อินเทอร์แอ็คทีฟอย่าง Black Mirror: Bandersnatch มีการสปอยล์ออกมาว่า ภายใต้ทางเลือกต่างๆ ที่ให้เราเลือกตัดสินใจแทนพระเอกนั้น จะดำเนินไปสู่ตอนจบถึง 6 แบบด้วยกัน (แบบไหนไปหาอ่านกันเอาเอง) เราไม่ขอสปอยล์ตอนจบของ Black Mirror: Bandersnatch แต่จะขอสปอยล์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเมืองไทยตอนนี้ ซึ่งก็มี 6 แบบไม่ต่างจาก Black Mirror: Bandersnatch
ต่างกันอย่างเดียว สำหรับการเมืองไทย สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากที่เราเลือกนี่สิ
ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน มีโอกาสอย่างมากที่ นายกฯ คนเก่า หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. จะยังได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้วางกลไกรองรับไว้สามส่วนด้วยกัน
กลไกแรกก็คือ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ที่ทำให้ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากเด็ดขาด พรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลต้องพึ่งพาเสียงของคนอื่น ส่วนกลไกที่สอง คือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ส่วนใหญ่มาจากจากการคัดเลือกโดย คสช. จำนวน 250 คน และกลไกสุดท้าย คือ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการลงคะแนนเสียงเห็นชอบของรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.)
ด้วยกลไกสามอย่างนี้ ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุน คสช. มีตัวช่วยพิเศษถึง 250 เสียง และต้องการเสียงอีกเพียงแค่ 126 เสียง รวมเป็น 376 เสียงเพื่อให้ได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ แม้เป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากเป็นลำดับที่สอง รองจากเพื่อไทย แต่ก็สามารถชิงเก้าอี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วยตัวช่วยพิเศษนี้ อีกทั้งยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีแนวร่วมที่มั่นคงแล้ว อย่างน้อย 254 เสียง จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรครวมพลังท้องถิ่นไทย พรรคอนุรักษ์ผืนป่าไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคเล็กอีก 10 พรรค แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก็ตามที
แม้ว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะเอื้อต่อการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยพรรคที่สนับสนุน คสช. แต่รัฐบาลลักษณะดังกล่าวก็อาจจะไร้เสถียรภาพ เช่น ถูกสภาคว่ำกฎหมายสำคัญ อาทิ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมถึงการถูกลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นไปจากตำแหน่ง
ดังนั้น ทางเลือกของรัฐบาลเสียงข้างน้อย คือ การเพิ่มพรรคร่วมให้มากในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดก็ให้ได้เสียงเกินกว่า 250 เสียงในสภาผู้แทนฯ แต่ทว่า การจะได้มาซึ่งเสียง 250 เสียงต้องใช้พรรคการเมืองมาร่วมถึง 19 พรรค กลายเป็นรัฐบาลพรรคร่วมมาก
แม้อาจจะรอดจากการถูกคว่ำกฎหมายหรือลงมติไม่ไว้วางใจ แต่การเจรจาต่อรองจากพรรคการเมืองก็จะเข้มข้นมาก หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ ก็อาจจะลงเอยด้วยการมี ‘งูเห่า’ หรือการที่พรรคการเมืองย้ายขั้วไปสนับสนุนขั้วตรงข้ามแทน
โดยเราจะเห็นปรากฏการณ์ ‘งูเห่า’ มาแล้วตั้งแต่ตอนเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเสียง ส.ส. บางส่วนแตกจากแนวร่วมไปร่วมกับอีกฝ่าย เช่น ตอนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่ามี งูเห่าจำนวน 6 เสียง จากขั้วที่ไม่สนับสนุน คสช. ไปสนับสนุน ‘ชวน หลีกภัย’ ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ในขณะเดียวกันตอนเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรก็มีงูเห่าจำนวน 3 เสียงจากขั้วที่หนุน คสช. ไปลงคะแนนให้กับตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่
จากจำนวนที่นั่งในสภาฯ เราพอจะเห็นแล้วว่าทางเลือกในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย (ในสภาผู้แทนฯ) ไปรวมตัวกับ ส.ว. แต่งตั้ง ก็จะต้องเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมมากถึง 19 พรรค ซึ่งไม่ว่าทางไหนก็ล้วนแล้วแต่เป็นรัฐบาลที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะจากการลงมติไม่ไว้วางใจ
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 151 ส.ส. มีสิทธิเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ ซึ่งการจะให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดพ้นจากตำแหน่งต้องมีเสียงการลงมติไม่ไว้วางใจมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่
ดังนั้น หากรัฐบาลเสียงข้างน้อยมีเสียงน้อยกว่า 251 เสียง หรือ รัฐบาลพรรคร่วมมีเสียงน้อยกว่า 251 เสียง ก็มีสิทธิจะต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะจากการลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ
อย่างไรก็ดี การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะทำได้ 1 ครั้งต่อ 1 ปี ดังนั้น ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจไปแล้ว แต่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกโดย คสช. เห็นค้าน ก็ยังสามารถจะดึงนายกฯ คนเดิมกลับมารับตำแหน่งได้อีกครั้ง
ความน่ากังวลสำหรับรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือ รัฐบาลพรรคร่วมมาก คือ การออกกฎหมาย เพราะหากสภาไม่เห็นชอบกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ ก็อาจจะเป็นเรื่องยากในการขับเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยนอะไรที่สำคัญ
แต่เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 270 กำหนดให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปไม่ว่าด้านใดก็ได้ใน 11 ด้าน ต้องให้ ส.ว. ที่มาจาก คสช. มีส่วนร่วมในการพิจารณา ดังนั้น หากรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากของ ส.ว. ไม่มั่นใจว่า กฎหมายที่ต้องผ่านสภาจะถูกคว่ำหรือไม่ ก็ยังใช้กลไกให้ ส.ว. มาร่วมโหวตกฎหมายได้ด้วย
ความน่ากังวลอีกหนึ่งอย่างสำหรับรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือ รัฐบาลพรรคร่วมมาก คือ ภาวะสุญญากาศทางการเงิน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถผลักดันกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ได้ทันปีงบประมาณ
แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 141 ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่ไม่สามารถออกกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ให้ทันปีงบประมาณ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณก่อนนั้นไปพลางก่อน หรือ พูดง่ายๆ ว่า ถึงรัฐบาลจะขอวงเงินใหม่ไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ยังสามารถใช้เงินได้ในวงเงินเท่าเดิม
หรือเท่ากับว่า แม้ ส.ส. จะตีตกกฎหมายดังกล่าวไป รัฐบาลก็ยังมีเงินงบประมาณใช้จ่ายได้อยู่ อีกทั้งในกรณีที่ ส.ส.พิจารณากฎหมายไม่ทันกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็จะถือว่า ส.ส. เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว
นักวิชาการและนักการเมืองหลายคนทำนายว่า รัฐบาลชุดหน้าจะเป็นรัฐบาลที่อายุสั้น เนื่องจากถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะขาดแรงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร หรือ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมเยอะ ก็จะวุ่นวายกับเกมทางการเมือง ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ เต็มไปด้วยความติดขัด ซึ่งทางออกของรัฐบาลคือ หนึ่ง ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือ สอง สร้างสุญญากาศทาการเมืองเพื่อให้มีการรัฐประหารอีกครั้ง
โดยในประวัติศาสตร์ รัฐบาลพรรคร่วมมากเคยตัดสินใจยุบสภาแก้ปัญหามาแล้วในสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งอยู่ได้แค่ 1 ปี 1 เดือน เนื่องจากมีปัญหาทั้งในและนอกสภา มีการชุมนุมประท้วง ควบคู่ไปกับการเจรจาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนจุดจบด้วยการรัฐประหารก็เคยเกิดมาแล้วในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไม่สามารถคุมสภาได้ สุดท้ายก็เลยต้องรัฐประหารตัวเอง แต่จุดจบของการรัฐประหารตัวเองในครั้งนั้น ก็นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
Tags: การเมืองไทย, รัฐธรรมนูญ 2560, เลือกตั้ง62, จัดตั้งรัฐบาล