‘กรรมการสมานฉันท์’ ถูกกล่าวขานถึงมากขึ้น ไม่ว่านักการเมือง หรือนักวิชาการ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นถึงการตั้งกรรมการสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการเมือง หลังจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน เสนอแนวทางแก้ปัญหาผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘ราษฎร’ ด้วยการตั้งกรรมการสมานฉันท์ ในคราวอภิปรายแบบไม่ลงมติ เมื่อ 26-27 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ตั้งชื่อแตกต่างกันไป ครั้งแรก คือ ‘คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ’ หรือ กอส. เมื่อปี 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางสันติวิธี หลังจากเกิดความรุนแรงผ่านไปแล้วราวปีกว่า
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปะทุระลอกใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง’ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นับจากนั้น เสียงปืน เสียงระเบิด ดังกัมปนาทขึ้นทุกวันทั่วพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา บางครั้งลุกลามไปถึงใจกลางเศรษฐกิจภาคใต้อย่างเมืองหาดใหญ่
เหตุร้ายเกิดขึ้นรายวัน การสังหารรายวัน ลอบวางระเบิด เฉลี่ยวันละ 4-5 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บมากมาย เฉพาะปี 2547 มีเหตุการณ์รุนแรงมากถึง 1,843 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 800 กว่าคน บรรยากาศในพื้นที่ เต็มไปด้วยความหวาดระแวงระหว่างชาวไทยพุทธและมลายูมุสลิม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผู้ที่ตอนแรกเชื่อว่า ไม่มีแนวร่วมขบวนการที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนหลงเหลืออยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกแล้ว คงมีแต่เพียง “โจรกระจอก” จึงทุ่มสรรพกำลังทหารตำรวจจากนอกพื้นที่เข้าไปเพื่อหวังให้เหตุการณ์สงบโดยเร็วที่สุด ทว่ายิ่งทุ่มกำลังเข้าไปมากเท่าใด ยิ่งมีแต่ความสูญเสียมากขึ้นเท่านั้น หนำซ้ำเหตุการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ
28 มีนาคม 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ จึงออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 104/2548 แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เพื่อทำหน้าที่ เสนอแนะนโยบาย มาตรการ กลไกวิธีการสร้างความสมานฉันท์ และสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ต.ท.ทักษิณ ทาบทามนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธาน กอส. จากนั้นนายอานันท์ เป็นผู้คัดเลือกกรรมการ กอส. ด้วยตัวเอง รวมกรรมการกอส. ชุดนั้น ทั้งหมด 48 คน แบ่งเป็นภาคประชาสังคมในพื้นที่ 16 คน ภาคประชาสังคมนอกพื้นที่ 11 คน ภาคการเมือง 7 คน และภาคราชการ 9 คน นับเป็นกรรมการสมานฉันท์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดชุดหนึ่ง
ในห้วงเวลานั้น ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่แข็งแกร่งเท่าปัจจุบัน การเกิดขึ้นของ กอส. จึงเป็นความหวังสำคัญอย่างยิ่ง ว่าจะสามารถหาแนวทางให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ที่มีความสูญเสียได้ในเร็ววัน การเดินทางลงพื้นที่ของ กอส. แต่ละครั้ง จึงได้รับการตอบรับจากผู้คนในพื้นที่โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมค่อนข้างมาก ภายใต้ความคาดหวังว่า กอส. จะช่วยทำให้หลายเหตุการณ์กระจ่างขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อ 28 เมษายน 2547 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 25 ตุลาคม 2547
แต่อีกมุมหนึ่ง คนกลุ่มน้อยในพื้นที่อย่างชาวไทยพุทธ และเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารชั้นผู้น้อย เป็นกลุ่มที่ในช่วงแรกไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของ กอส. บ่อยครั้งที่ผู้คนเหล่านี้ตั้งคำถามถึง กอส. ว่ากำลังสมานฉันท์กับใคร ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีเจ้าหน้าที่ หรือคนไทยพุทธเสียชีวิต คำถามเหล่านี้มีแต่จะดังขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งผ่านไป 14 เดือน กอส. สรุปรายงาน ‘เอาชนะความรุนแรงด้วยความสมานฉันท์’ จำนวน 168 หน้า เมื่อ 16 พฤษภาคม 2549 รายงานฉบับนั้นนำเสนอรากเหง้าปัญหาอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาว นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือพ.ต.ท.ทักษิณ จะตัดสินใจนำแนวทางของ กอส. มาปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังเผชิญกับวิกฤติการเมืองรอบด้าน ทั้งการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ การที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่ออกจากตำแหน่ง ทำให้รายงานของ กอส. เป็นเสมือนรายงานที่ถูกนำขึ้นหิ้งเก็บไว้ ไม่ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้
ครั้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กลับมาเป็นหน่วยงานแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อีกครั้ง หลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ยุบองค์กรนี้ทิ้งเมื่อปี 2545 ข้อเสนอของ กอส. บางเรื่อง จึงถูกนำมาใช้ แต่ก็เป็นเพียงหน่วยย่อยที่อยู่ภายใต้ ศอ.บต. เช่น สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
การตั้ง กอส. ขึ้นมาในขณะนั้น จึงเป็นเหมือนการลดแรงเสียดทาน หรือลดการปะทะโดยตรงต่อรัฐบาล ถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงแรก เพราะจนถึงตอนนี้ ข้อเสนอหลายข้อ ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ แม้จะผ่านมานานถึง 14 ปีแล้ว
ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ครั้งที่ 2 คือหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ ภายหลังเหตุการณ์นั้น คณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเมื่อ 8 มิถุนายน 2553 ให้ตั้ง ‘คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ’ หรือ คอป.
คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน เพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริง ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรง โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และการเยียวยาอันจะนำไปสู่การป้องกันมิให้เกิดความรุนแรง และความเสียหายอีกในอนาคต
คอป. มีระยะเวลาการทำงานยาวนานถึง 2 ปี คือจาก 17 กรกฎาคม 2553 ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนถึง 17 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนั้นได้สรุปรายงานจำนวน 276 หน้า ร่ายยาวถึงรากเหง้าปัญหา ตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และจบลงด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553
ถึงอย่างนั้น รายงานของ คอป. กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการกล่าวถึงเหตุการณ์รุนแรงสำคัญต่างๆ นับจากเหตุการณ์ที่แยกคอกวัว 10 เมษายน 2553 ที่เน้นย้ำว่ามีชายชุดดำพร้อมอาวุธสงคราม เป็นตัวละครสำคัญที่มาช่วยผู้ชุมนุมเสื้อแดง ยิงปะทะทหาร ที่เข้าสลายคนเสื้อแดง หรือที่เรียกว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ และในรายงานของ คอป. ระบุว่า ชายชุดดำเกี่ยวพันกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ทหารผู้ควบคุมดูแลการ์ดเสื้อแดง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 13 พฤษภาคม 2553
การเน้นย้ำถึงชายชุดดำพร้อมอาวุธสงคราม และเสธ.แดง ในหลายเหตุการณ์ ทำให้ภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงหลายเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง และเป็นความชอบธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อาวุธจัดการ เพราะไม่ใช่การชุมนุมโดยสันติวิธี จึงมีคำถามถึง คอป. มากมายในช่วงนั้นว่า รายงาน 276 หน้า เสมือนจงใจทำให้การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเลือนรางหรือไม่ และอาจเป็นการแก้ต่างให้ผู้สั่งการสลายการชุมนุม ว่า ในเมื่อผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ มีอาวุธสงคราม รัฐก็มีความจำเป็นต้องใช้ทหารจำนวนมาก สไนเปอร์ พร้อมกระสุนจริง และรถหุ้มเกราะ เข้าสลายการชุมนุม ขณะที่ข้อมูลในหลายเหตุการณ์ ก็ไม่มีการเจาะลึกลงไป
แต่ใช่ว่ารายงานของ คอป. จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเสียทั้งหมด ยังมีอีกส่วนที่พยามแนะนำแนวทางการสร้างความปรองดองในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบยกข้อเสนอบางข้อของ คอป. ไปดำเนินการ โดยเฉพาะการเยียวยาผู้เสียชีวิต จากการชุมนุมทางการเมืองนับจากปี 2548-2553 รายละ 7.5 ล้านบาท แต่ถูกโจมตีจากฝ่ายไม่เห็นด้วยว่า มุ่งเยียวยาเฉพาะพวกฝ่ายเดียวกัน
สุดท้าย แต่ละครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง เมื่อเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนเกินจะแก้ไข และยากที่จะอธิบาย การตั้งกรรมการสมานฉันท์ อาจจะเป็นหนทางในการลดแรงเสียดทาน แรงปะทะที่พุ่งตรงเข้าหารัฐบาล มากกว่าที่จะหาทางออกของปัญหาอย่างจริงใจ เพราะสองครั้งที่มีการตั้งกรรมการสมานฉันท์ สะท้อนให้เห็นแล้วว่า รายงานและข้อเสนอเหล่านั้น ถูกนำมาปฏิบัติจริงน้อยมาก อีกทั้งรายงานบางฉบับ กลับยิ่งตอกลิ่มความแตกร้าวให้ยังคงอยู่ในสังคม
ด้วยเหตุนี้ ทำให้พอจะมองเห็นอนาคตของกรรมการสมานฉันท์ ที่กำลังถูกพูดถึงในช่วงนี้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว น่าจะเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับใช้ลดแรงปะทะจากผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘ราษฎร’ มากกว่าที่จะเป็นการหาทางออกอย่างที่กล่าวกัน
Tags: การเมืองไทย, คณะกรรมการสมานฉันท์