สหภาพยุโรปขอส่งทีมงานชุดใหญ่เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยแสดงท่าทีคัดค้าน นั่นอาจเป็นเพราะกลัวว่าอียูอาจสรุปผลออกมา ทำนองเดียวกับกรณีของเคนยา

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่ยังคงมีอำนาจเต็ม ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมาจากระบอบรัฐประหาร ท่ามกลางข้อกังขาว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารจะสืบทอดอำนาจ

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้นานาประเทศจับจ้องการเลือกตั้งในไทยครั้งนี้ว่าจะเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมหรือเปล่า จึงต้องการเข้ามาสังเกตการณ์ แต่ก็เกิดเสียงคัดค้านจาก ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ

‘ไม่เป็นมงคล-น่าอดสู’

ดอนบอกว่า การเลือกตั้งเป็นกิจการภายใน แต่ละประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องให้ต่างชาติเข้ามาจับตามอง และว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ การดูแลปกครองตัวเองที่ยังต้องให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์จึงไม่เป็นมงคลของการเริ่มต้นใหม่

รัฐมนตรีต่างประเทศพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งว่า ต่างชาติจะเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งก็ต่อเมื่อเห็นว่าประเทศนั้นมีปัญหา ดังนั้น เราอยากเห็นประเทศเราเป็นประเทศที่มีปัญหาในสายตานานาชาติหรือไม่ เขายืนยันว่าไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง เราทำกันเองได้และสำเร็จมาหลายครั้งแล้ว มันน่าอดสูที่เราต้องไปอาศัยคนอื่นตลอดเวลา

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ข่าวว่า สหภาพยุโรปต้องการส่งผู้สังเกตการณ์คณะใหญ่ จำนวน 200 คนเข้ามาในไทย ดอนย้ำจุดยืนปฏิเสธ โดยบอกว่า ตัวเลขมากถึงหลัก 200 เป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ”

ผู้สังเกตการณ์ชุดใหญ่

ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายอิทธิพร บุญประคอง บอกว่า กกต.จะเริ่มพิจารณาคำขอของอียูในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนกว่า 200 คนเข้ามาในประเทศไทย

ประเด็นที่เจ้าหน้าที่ไทยข้องใจก็คือ ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อียูส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (Election Expert Mission-EEM) เข้ามาดูกันแค่ 4-5 คน แต่ในครั้งนี้ อียูจะส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (Election Observation Mission-EOM) เข้ามาแทน และยังขอให้ไทยเป็นฝ่ายทำหนังสือร้องขอด้วย

แหล่งข่าวบอกกับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post (8 November 2018) ว่า อียูเคยส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้าไปในเคนยา ปรากฏว่า มีการออกรายงานวิจารณ์การจัดการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองที่มีประชาชนถูกสังหารถึง 3,000 คนก่อนหน้านั้นราว 6 ปี ซึ่งต้องถือว่าเคนยาเก่งมากแล้วที่สามารถจัดเลือกตั้งได้

‘เคนยา โมเดล’

ทำไม ‘แหล่งข่าว’ หยิบยกกรณีเคนยาเป็นตัวอย่างแสดงความกังวล ถ้าสอบทานข้อมูลย้อนหลัง ย่อมเข้าใจได้ไม่ยาก

เคนยามีปัญหาความแตกแยกอย่างลึกซึ้ง พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพลังทางสังคมไม่อาจไว้วางใจในสถาบันทางการเมือง กลไกอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง องค์กรตุลาการ ไม่ได้ทำงานตามครรลองที่ควรเป็น ผู้ประท้วงก่อเหตุรุนแรง ทหารตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ สื่อมวลชนและประชาสังคมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีการใช้ทรัพยากรของรัฐในทางเอื้อประโยชน์แก่ผู้ครองอำนาจ

อียูเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งใหญ่ของเคนยา ซึ่งมีขึ้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2017 อียูส่งผู้สังเกตการณ์ระยะยาว จำนวน 30 คน ไปเคนยาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน และในวันเลือกตั้งมีผู้สังเกตการณ์ระยะสั้นตามไปสมทบอีก 32 คน (European Union Election Observation Mission Kenya 2017)

ภายหลังการเลือกตั้ง คณะผู้สังเกตการณ์เสนอข้อสมควรปรับปรุงแก้ไขหลายประเด็น ทั้งในเรื่องความเป็นอิสระของกลไกต่างๆ การแก้กฎหมายให้เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง การทำงานของกกต. การทบทวนระบบเลือกตั้ง ฯลฯ

รายงานของคณะผู้สังเกตการณ์สรุปภาพการเลือกตั้งของเคนยาว่า “ชาวเคนยาเริ่มต้นด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยม ลงเอยด้วยความผิดหวังและการเผชิญหน้า” (EU Election Observation Mission, 10 January 2018)

คงหลอนไม่ใช่เล่นสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ถ้าเชิญอียูเข้ามาดูการเลือกตั้ง แล้วผู้สังเกตการณ์ฉายภาพเมืองไทยละม้ายไปในทางเคนยา

เค้าลางจากประชามติ

รัฐมนตรีต่างประเทศอ้างเหตุผลในการคัดค้านการสังเกตการณ์ของอียูว่า เพราะไทยมีขีดความสามารถที่จะจัดเลือกตั้งเองได้ พร้อมกับอ้างถึง “ความสำเร็จ” และ “เสียงชื่นชม” ในการจัดการออกเสียงลงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคม 2559

“เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีทุนเดิมที่ดีในแง่การจัดการเลือกตั้ง ในการจัดการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เหมือนกับการเลือกตั้งลักษณะหนึ่ง ก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี และได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศที่มาดูเสียด้วยซ้ำ” (มติชน, 9 พฤศจิกายน 2561)

การประเมินของดอนสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่ ลองอ่านถ้อยแถลงของสหภาพยุโรปและสหประชาชาติ น่าจะได้คำตอบ

ก่อนหน้าวันลงประชามติ อียูออกถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อเรื่องว่า “ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง”  โดยแสดงความวิตกที่มีการจับกุมนักเคลื่อนไหว ปิดสื่อของฝ่ายค้าน จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก (คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, 15 กรกฎาคม 2559)  

ภายหลังการลงประชามติ โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นางราวิดา ซัมดาซานี แถลงที่นครเจนีวา เรียกร้องให้ไทยยกเลิกข้อหาและปล่อยตัวผู้เห็นต่างในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งนักกิจกรรมทางการเมือง (UN OHCHR, 19 August 2016)

ด้วยมารยาททางการทูต สหภาพยุโรปย่อมไม่แถลงต่อสาธารณะ เพราะเหตุใดจึงสนใจการเลือกตั้งของไทยในครั้งนี้เป็นพิเศษ แต่ถ้าดูปฏิกิริยาของอียูกับยูเอ็นต่อการจัดการลงประชามติ คงตระหนักได้ว่า โลกมีเหตุให้รู้สึกกังวลต่อการจัดการเลือกตั้งของไทยหรือไม่

ไทยจะเปิดรับการสังเกตการณ์จากภายนอกหรือเปล่า บางที ‘เคนยา โมเดล’ อาจเป็นข้อพิจารณา

 

บรรยายภาพเปิด: พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันลงคะแนนประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคม 2016 (ภาพโดย Jorge Silva/REUTERS)

Tags: ,