ภาพเด็กน้อยที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายายยังมีอยู่เสมอในสังคม

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจของสังคมไทย ทำให้เกิดสภาพเช่นนี้มากขึ้น มีครอบครัวมากกว่าร้อยละ 60 ที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน โดยฝากให้พ่อแม่ของตัวเองดูแลเด็กๆ อีกทอด

เธอยอมรับว่า แม้การเลี้ยงดูโดยผู้สูงอายุจะมีข้อดีหลายประการ แต่ยังมีข้อจำกัดคือ เป็นการเลี้ยงที่ใช้ความรู้ชุดเก่า ซึ่งหลายงานวิจัยพิสูจน์ว่าไม่เหมาะกับการพัฒนาเด็ก อย่างการเลี้ยงแบบไม่ให้เล่นซน หรือความเชื่อว่าไม่ต้องให้ดื่มนมแม่ในหกขวบเดือนแรก

ดวงพรเล่าด้วยว่า ขณะนี้จะพบว่าเด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายาย มีแนวโน้มที่พ่อแม่จะซื้อสมาร์ตโฟนทิ้งไว้ให้มากขึ้น เพื่อที่ผู้สูงอายุจะไม่ต้องเป็นภาระมาก พอมีปัญหาก็เปิดยูทูบให้เด็กดู ซึ่งมีงานวิจัยบอกแล้วว่าเด็กเหล่านี้จะกลายเป็นเด็กก้าวร้าว ไม่เกื้อกูล และอยู่กับความรุนแรง

“คนสมัยก่อน เวลาเลี้ยงลูกไม่ให้ซน กลัวจะตก ให้ล้มไม่ได้ แต่งานวิจัยบอกว่าไม่ได้ สมองเด็กที่มีศักยภาพมากจะไม่ถูกพัฒนา เด็กต้องได้เล่นอย่างอิสระ”

จากสองสาเหตุข้างต้น เริ่มมีการพาเด็กออกจากจอโทรศัพท์มือถือ โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จับมือกันทำโครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น” โดยนำแนวคิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญามาใช้

ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และสถาปนิกผู้ออกแบบสนามเด็กเล่น เล่าว่า เขาได้แนวคิดมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเล่นกองทราย ปีนเชือก หรือเล่นน้ำ

“ยิ่งทรายละเอียดจะช่วยสร้างจินตนาการได้เยอะ เตรียมที่ขุดไว้ เด็กจะค้นพบตัวเอง โดยที่เราอำนวยความสะดวกในการเล่น หรืออย่างด่านสไปเดอร์แมน มีเชือกให้เขาได้ปีนป่าย ใช้กล้ามเนื้อ ปลดปลอยความเครียดในสมอง ส่วนสระน้ำ เราให้เด็กเล่นได้ตั้งแต่ 1 ขวบ ทำชายหาดไว้ น้ำไม่ต้องลึก ให้มีน้ำพุตรงกลาง เด็กจะเริ่มทำความคุ้นเคย ทดลองตัวเองกับน้ำ” ดิสสกรบรรยาย พร้อมชี้ว่า น้ำมีส่วนช่วยในเรื่องความจำของเด็ก โดยมีการทดลอง พบว่า หากให้เด็กจดจำของ 100 อย่าง ขณะที่อยู่ในน้ำ จะจำได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่ในน้ำถึงร้อยละ 30

“ผู้ใหญ่จะได้เห็นการพัฒนามนุษย์ต่อหน้า เด็กจะไม่มีการเล่นซ้ำ เขาจะพัฒนาตัวเอง พัฒนาการตัดสินใจ ถ้าอยากให้เด็กมีจินตนาการ ก็ต้องมีแหล่งให้เด็กได้ทดลอง” ดิสสกรย้ำแนวคิด

หลังมีสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ มีหลายรายที่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ดวงพร ยกกรณี ‘น้องออม’ ซึ่งเป็นเด็กที่พ่อแม่ทำงานรับจ้างก่อสร้าง จึงเอามาให้ปู่ย่าเลี้ยงแล้วเอาสมาร์ตโฟนไว้ให้ น้องออมไม่พูด แม้จะถึงวัยแล้ว และมีพฤติกรรมก้าวร้าว ปู่ย่าเอามาฝากไว้ที่ ศพด. ครูต้องคอยเฝ้าระวัง เพราะเวลากินอาหาร น้องออมชอบแย่งเพื่อน

“พอมีสนามเด็กเล่น เราก็ชวนน้องออมไปเล่น ผ่านไปหนึ่งเดือน น้องออมเริ่มพูดเป็นคำ จนเป็นประโยค เพราะต้องพูดกับเพื่อน ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น สอง รู้จักการแบ่งปัน ไม่แย่งอาหารกลางวันที่ครูแบ่งแล้ว สาม กลับบ้านเปลี่ยนไป ไม่เอาโทรศัพท์ อยากไปเล่นกับเพื่อน ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เล่นกับใคร”

รวมแล้วมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 600 กว่าแห่งที่เริ่มทำสนามเด็กเล่น และประสบความสำเร็จ ในงานเวที ‘สานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา’ ณ ฮอลล์ 7-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงมีการนำสนามเด็กเล่นขนาดย่อมมาจัดแสดงและเปิดให้เด็กๆ เข้ามาเล่น ทั้งยังมีการพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนและชักชวนให้ อปท. ที่ยังไม่ได้เริ่มทำมาศึกษา

ดวงพร ฉายภาพว่า ในอนาคต มีแผนที่จะขยายเรื่องสนามเด็กเล่น ให้เป็นของชุมชนไม่ใช่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่อยู่ใต้ อปท. เพื่อให้เด็กเล่นได้นานขึ้น ไม่ใช่ถึงเวลาปิดทำการสนามเด็กเล่นก็ปิด โดยอยากให้มีการบริหารจัดการร่วมกับชุมชนเพื่อให้เด็กในชุมชน หรือเด็กประถมมาเล่นได้ด้วย

ส่วนเรื่องของนมแม่ที่ต้องรณรงค์ให้เด็กดื่มในช่วงหกเดือนแรกนั้น ดวงพรเล่าว่า ยังได้ผลค่อยข้างน้อย

“คุณยายจะบอกว่าเลี้ยงพวกเอ็งมาแบบนี้จนโตมีงานทำ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร สอง เราไม่ได้ออกแบบระบบที่จะทำให้แม่ที่ไม่ได้อยู่กับลูกในช่วงกลางวัน สามารถให้นมลูกได้ อย่างที่คนทำงานออฟฟิศเดี๋ยวนี้มีที่ปั๊มนม แล้วฟรีซเก็บไว้” ดวงพรเล่า เธอบอกว่าเรื่องความเชื่อนั้น ขณะนี้มีบางที่ที่พยายามเชื่อมระหว่างโรงเรียนผู้สูงอายุ กับ ศพด. โดยขอให้โรงเรียนผู้สูงอายุดึงผู้สูงอายุที่เลี้ยงเด็กมาด้วย และมีแผนที่จะออกหลักสูตรเรื่องการดูแลเด็กในผู้สูงวัย ส่วนเรื่องระบบการจัดการนม ก็เริ่มมีการให้ความรู้ตรงนี้ รวมถึงมีบาง อบต.เริ่มนำนมแม่ให้เด็กคนอื่นๆ ดื่ม ซึ่งแน่นอนว่า ต้องทดสอบก่อนว่าเขาแพ้ไหม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ศูนย์พัฒนาครอบครัวของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และ อปท.

นอกจากกิจกรรมกับเด็กเล็กแล้ว ขณะนี้ สสส.ยังมีกิจกรรมกับกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 8 – 15   ปีด้วย โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ชี้ว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยมากกว่าร้อยละ 70 มีกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมการใช้หน้าจอที่เกินกว่าเกณฑ์คำแนะนำทางด้านสุขภาพ จึงมีการจัดโครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา ภายใต้แนวคิด “ออกมาเล่น แอคทีฟ 60 นาทีทุกวัน” เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอสะสมอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน

ดร.นพ.ไพโรจน์ ชี้ว่า กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการใน 3 มิติ คือ ทักษะพิสัย ที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางกาย และการปฏิบัติ โดยเด็กจะสามารถเลียนแบบท่าทางจากการเล่น รู้จัก พัฒนาการควบคุมบังคับการเคลื่อนไหว และเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย รวมถึงจิตพิสัย เป็นพัฒนาการทางด้านจิตใจ เห็นคุณค่าของการเคารพกติกาในการเล่น เกิดทักษะสังคม เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และ พุทธพิสัย อันได้แก่ พัฒนาการทางสติปัญญา และการรู้คิด เกิดจากการทำงานของสมองในขณะที่เด็กเล่น โดยทำหน้าที่สั่งการอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเคลื่อนไหวอย่างประสานสัมพันธ์กันอีกด้วย

Tags: , , , , ,