มาตรการเยียวยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 เฟสที่ 3 โดยนอกจากเงินจากพ.ร.บ. โอนงบประมาณแล้ว ยังมีเงินจากพ.ร.ก. เงินกู้ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ต่อจีดีพี เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ซึ่งทั้งหมดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1) พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท
สำหรับพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยให้หน่วยรับงบประมาณปรับลดงบประมาณลงไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือ โดยคาดว่าเงินในส่วนนี้จำนวน 80,000-100,000 ล้านบาท จะนำมาใช้แก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากโรคโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะเร่งเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ นี้โดยเร็วและคาดว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายได้ไม่เกินต้นเดือนมิถุนายนนี้
2) พ.ร.ก. ของธนาคารแห่งประเทศไทย 900,000 ล้านบาท
เป็นการออก พ.ร.ก.เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินไปใช้แก้ปัญหาในภาคธุรกิจและการเงิน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวย้ำว่าไม่ใช่การกู้เงิน แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในการบริหารจัดการ โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ
2.1 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
2.2 วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อให้ซื้อตราสารหนี้เอกชน อันเป็นการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ
โดยในส่วนนี้ ทั้งรายละเอียดและกรอบเวลา ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้แถลงรายละเอียดอีกที
3) พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
เป็นการการออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระจบจากโรคโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ
3.1 วงเงิน 600,000 ล้านบาท นำไปใช้ในด้านการสนับสนุนงานสาธารณสุขทั้งการจัดซื้อ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรครวมไปถึงการสนับสนุนการทำงานและงานวิจัย นอกจากนี้ยังรวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการต่างๆ
3.2 วงเงิน 400,000 ล้านบาท นำไปใช้ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการสร้างงานใหม่ การกระตุ้นการบริโภค การส่งเสริมการลงทุน
โดยคาดว่าพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านของกระทรวงการคลังนี้จะสามารถเซ็นสัญญางวดแรกภายในเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับปัญหาเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแถลงว่าสามารถให้ได้เพียงเดือนเดียวก่อน (จาก 3 เดือน) โดยส่วนที่เหลือจำเป็นต้องรอจากพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำเม็ดเงินออกมาใช้ตามมาตรการเยียวยา 5,000 นี้ได้ ซึ่งการกู้เงินนั้นต้องทยอยกู้เป็นก้อนๆ ไม่ได้หมายความว่าหากพ.ร.ก. ผ่านจะสามารถมีเงินออกมาใช้เพื่อเยียวยาได้เลย 1 ล้านล้านบาท
หากดูตามไทม์ไลน์แล้ว คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญางวดแรกในเดือนพฤษภาคม จากนั้นจึงจะมีการดำเนินการจ่ายเงิน 5,000 บาทได้ในงวดที่สอง
อ้างอิง:
https://www.prachachat.net/politics/news-447716
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874852
https://www.bbc.com/thai/thailand-52194425
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, รัฐบาลไทย, พ.ร.ก. เงินกู้