ตอนไปพุทธคยาครั้งแรกเมื่อปลายปี 2014 สิ่งที่ชอบมากคือรถสามล้อใช้ไฟฟ้า หน้าตานั้นก็เหมือนรถสนามกอล์ฟบ้านเรา แต่เขาเอามาวิ่งรับส่งผู้โดยสารแทนสามล้อเครื่องกินน้ำมันแบบที่เรียกกันว่า autorickshaw
อินเดียปลายปี 2014 หรือกระทั่งเดี๋ยวนี้ ยังหลากหลายด้วยโหมดรถรับจ้างสาธารณะ นับจากแท็กซี่ แท็กซี่เรียกด้วยแอพฯอย่าง Ola สามล้อเครื่อง สามล้อถีบ (rickshaw) และรถลาก (pulled-rickshaw) ล่าสุด-ที่กำลังแย่งพื้นที่สามล้อเครื่องและสามล้อถีบตามหัวเมืองและอำเภอเล็กๆ คือ สามล้อขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ภาษาทางการเรียกว่า e-rickshaw แต่แถวบ้านเดิมซึ่งอยู่ในเขตชนบทของรัฐเบงกอลตะวันตก เรียกกันติดปากว่า ‘To-to’
หลังกลับจากพุทธคยาไม่ถึง 2 เดือน สามล้อใช้ไฟฟ้าก็เริ่มผุดให้เห็นตามท้องถนนในตำบลที่อยู่ แรกๆ ชาวบ้านร้านตลาดก็เห่อในรูปลักษณ์ ความเงียบ และความไร้ควัน แถมยังนั่งร่วมทางกันไปแบบไม่ต้องเหมาจ่าย เช่นว่าเส้นทางผ่านตลาด ไปรษณีย์ จนถึงสถานีรถไฟ จะลงใกล้ไกลก็ 7 รูปี แต่ให้หลังเพียงไม่กี่เดือน ข่าวการโก่งราคาของโตโต้ก็แพร่สะพัด ตามมาด้วยอุบัติเหตุของบรรดามือใหม่หัดขับ เพราะโตโต้นั้นใครบิดคันเร่งเป็นเท้าถึงเบรคก็ขึ้นขี่ได้ ไม่เหมือนสามล้อถีบที่กว่าจะออกถนนได้ต้องถือว่าเก๋าจริง ใครไม่เชื่อเชิญลอง ลำพังออกตัวให้ได้ขณะมีผู้โดยสารก็ถือว่าเก่ง ยังไม่นับเรื่องเข้าโค้งและขึ้นลงสะพาน
อย่างไรก็ตาม แม้โตโต้จะเนืองแน่นท้องถนนในหลายหัวเมืองของอินเดีย เพราะไร้การคุมกำเนิด แต่ก็ยังไม่สามารถแย่งพื้นที่ของสามล้อถีบและสามล้อเครื่องได้เสียทีเดียว ด้วยจุดอ่อนที่ต้องพักเครื่องเพื่อชาร์จไฟนาน 8 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่แห้งหรือ Lead-acid battery) ดังนั้น รถรับจ้างสาธารณะที่คนอินเดียตามหมู่บ้านยังอาศัยเป็นที่พึ่งสำคัญยามดึก ก็ยังเป็นสามล้อถีบขับเคลื่อนด้วยแรงน่องที่เจ้าของสามารถงีบชาร์จแบ็ตฯได้ทุกที่ทุกเวลา
e-rickshaw ไม่ใช่การแก้ปัญหามลพิษระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของฝันใหญ่อยากไปให้ถึงของอินเดีย ที่วาดว่าภายในปี 2030 รถยนต์ใหม่ที่ถอยสู่ท้องถนนจะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมด
ในทวิตข้อความถึงอีลอน มัสก์-ซีอีโอของ Tesla เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา นายอนันต์ มหินทรา-ซีอีโอของ Mahindra Group อินเดีย ทักไปว่า
“ถึงเวลาที่คุณจะมา (เปิดตลาด) ที่นี่แล้วล่ะอีลอน คุณคงไม่อยากให้มหินทราฮุบตลาดไปคนเดียวใช่ไหม ยิ่งเร็วยิ่งดีนะ”
และในวันเดียวกัน อีลอน มัสก์ได้แชร์บทความของ weforum.org ที่พูดถึงนโยบายเปลี่ยนตลาดรถยนต์ของอินเดียให้เป็นรถไฟฟ้าแบบ 100% ในอีก 13 ปีข้างหน้า โดยกล่าวข้ามช็อตว่า “อินเดียกำลังจะกลายเป็นตลาดพลังงานโซลาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
ขณะที่เทสลายังลังเลเรื่องการใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แม้ถูกจีบหนแล้วหนเล่าจากภาคเอกชนและภาครัฐ มหินทรากรุ๊ปผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดียก็บุกตลาดรถนั่งส่วนบุคคลขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามาทั้งแต่ปี 2013 อย่างโมเดลล่าสุด Mahindra Reva e2o การชาร์จแบ็ตฯใช้เวลา 5 ชั่วโมง ความเร็วระหว่าง 80-120 กม./ชม. รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอินเดีย เมดอินอินเดีย อีกรุ่นที่จะออกสู่ท้องถนนในปีนี้คือ Tata Nano Electric จากค่ายตาต้า ที่คุยว่าสามารถทำความเร็วได้ถึง 120-140 กม./ชม.
สนนราคาของ Mahindra Reva e2o อยู่ระหว่าง 482,000-560,000 รูปี (คิดเป็นตัวเลขกลมๆ คือ 241,000-280,000 บาท) ส่วนตาต้านาโนแรงขึ้นมานิด ที่ 550,000-620,000 รูปี เมื่อคิดเทียบจากฐานเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐของอินเดีย ที่อยู่ระหว่าง 40,000-100,000 รูปีต่อเดือน ก็ถือว่ามนุษย์เงินเดือนทั่วไปซื้อได้ไม่ลำบากกระเป๋า
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของอินเดียราคาไม่แพง เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียมีศักยภาพพอที่จะผลิตส่วนประกอบต่างๆ ได้อย่างครบวงจร ผิดกับไทยเรา อย่างที่เห็นกันแต่ต้นปีว่า รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยรุ่นแรก Vera V1 ของ Vera Automotive ที่ออกสู่ท้องตลาดนั้น ยังคงใช้ตัวถังและเครื่องยนต์ที่นำเข้าจากจีน สนนราคาจึงสูงถึง 945,000 บาท
สัญญาณอีกข้อที่ชี้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า (ไม่ใช่ไฮบริด) จะเป็นยานยนต์แห่งอนาคตอันใกล้ คือการที่เทนเซนต์โฮลดิ้ง บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จีนเจ้าของแอพฯ WeChat ซื้อหุ้น 5% จาก Tesla lnc. เปิดประตูให้เทสลาเข้าไปขยายตลาดในจีน
สำหรับบ้านเรา รัฐบาลเพิ่งจะประกาศมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเป็นรูปธรรมไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โดยผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายใหญ่ก็แสดงการตอบรับแตกต่างกันไป อาทิ มิตซูบิชิมองข้ามไฮบริดเพื่อเดินหน้าพัฒนาไฮบริดปลั๊กอินและแบบแบตเตอรี่ เพราะมองว่าไฮบริดไม่ได้ตอบโจทย์ระยะยาวที่อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังมุ่งไปที่พลังงานไฟฟ้า ค่ายนิสสันหวังเห็นความพร้อมสาธารณูปโภค ส่วนอีซูซุสนใจทำตลาดปิกอัพ แต่โดยรวมยังสับสนกับแนวนโยบายเรื่องการลดภาษีที่ยังเน้นลดภาษีรถไฮบริดทุกประเภท 50% หากมีการผลิตแบตเตอรีในประเทศ
หากภาครัฐของไทยยังมองข้ามช็อตไม่เป็น และเห็นอนาคตไม่ชัด ก็น่าเสียดายว่าไทยเราจะเสียโอกาสทั้งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ การมีโอกาสได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารวมไปถึงพลังงานสะอาดในราคาย่อมเยาว์ — อย่างน้อยก็สิบปี
Tags: เทสลา, รถยนต์ไฟฟ้า, Mahindra, Tata Nano Electric, ไฮบริด, ไฮบริดปลั๊กอิน