จู่ๆ ก็มีคนผู้หนึ่ง ห่มกายด้วยอาภรณ์แปลกตา หนีบเครื่องดนตรีหน้าตาประหลาดขึ้นเวที แล้วเริ่มขับขานบทเพลงไพเราะที่เราไม่รู้ภาษา ด้วยจังหวะที่เราไม่รู้จัก ประกอบเสียงจากเครื่องดนตรีที่เราไม่เคยเห็น
ทันใดนั้น เราก็นึกได้ว่า ดนตรีในโลกนี้ไม่ได้แค่แจ็ส ป็อป ร็อก คลาสสิก หรือดนตรีตะวันตกทั้งหลาย หรือลูกทุ่ง ลูกกรุง หมอลำ และดนตรีไทยที่เคยนั่งพับเพียบฟัง แต่ยังมี bolero, son, vallenato, choro, klezmer, fasıl, arabesque, kwela และดนตรีอีกหลากหลายประเภทที่ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้ยินชื่อ และใช้เวลาทั้งชีวิตก็ทำความรู้จักได้ไม่หมด
บางคนต้องเดินทางไปต่างแดน จึงได้พบดนตรี ‘แปลกๆ’ ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง โลกนี้มีดนตรีอยู่มากมายเหลือเกิน —“แทบทุกสังคมมีดนตรี” นักมานุษยดนตรีวิทยา (ethnomusicologist) ส่วนใหญ่ลงความเห็นไว้อย่างนั้น
ทว่าหากการเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองไม่ได้ตอบโจทย์ ณ เวลานี้ ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นสิ หนังสือเรียนปกสีเขียวความหนาห้าร้อยกว่าหน้า หน้าปกเขียนไว้ตัวใหญ่ว่า World Music ต่อด้วยซับไตเติล a global journey อย่ากลัวไปว่ามันเป็นหนังสือเรียน ฉันไปเจอหนังสือนี้โดยบังเอิญในห้องสมุดแห่งหนึ่ง พลิกหนังสือดู เห็นภาพประกอบสีที่มีรูปคนเล่นดนตรี ทั้งคนผิวขาว ผิวน้ำตาล ผิวเหลือง ผิวดำ คนจมูกแบน จมูกโด่ง แต่งกายแตกต่างกันไป ส่วนเครื่องดนตรีนั้นเล่าก็หลากหลายชวนตื่นตาไม่แพ้กัน
World Music: a global journey นำเราเดินทางไปหลายที่รอบโลกเพื่อรู้จักดนตรีในแต่ละวัฒนธรรม หนังสือพูดถึงบทบาทของดนตรีในแต่ละสังคม และเรื่องราวของผู้คนที่อยู่ในสังคมนั้น
ฉันบังเอิญมาพบกับหนึ่งในผู้เขียนตำราเรียนเล่มนี้ในบ่ายวันหนึ่ง “เธออ่านฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่ล่ะ” เทอร์รี อี. มิลเลอร์ (Terry E. Miller) ถามฉันเมื่อฉันรี่เข้าไปแนะนำตัว
เทอร์รีเป็นอดีตอาจารย์สอนหลักสูตรมานุษยดนตรีวิทยา (ethnomusicology) อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเคนต์ (Kent State University) เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ร่วมกับแอนดรู ชาห์เรียรี (Andrew Shahriari) เพื่อเป็นหนังสือเรียนวิชาว่าดนตรีจากหลากหลายวัฒนธรรม โดยทุกวันนี้ วิชานี้เป็นวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ต้องเรียน
แม้จะเกษียณแล้ว เทอร์รีในวัยเจ็ดสิบกว่าปียังคงเขียนบทความด้านมานุษยดนตรีวิทยา และปรับปรุงหนังสือเรียนเล่มนี้ในแต่ละฉบับที่ตีพิมพ์ ได้โอกาสดี ฉันจึงชวน ‘อาจารย์เทอร์รี’ มานั่งคุยกันเสียหน่อย ว่าด้วยเรื่องดนตรีๆ นี่แหละ
ดนตรีคืออะไร และทำไมมันจึงมิใช่เพียงเสียงในอากาศ บทสนทนาในวันนี้อาจทำให้มุมมองเกี่ยวกับดนตรีของคุณเปลี่ยนไป
เสียงที่มนุษย์จัดเรียงขึ้น
ในความคิดของคุณ ดนตรีคืออะไร
ถ้าจะถามว่าดนตรีต่างจากเสียงรบกวนอย่างไร ความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นที่ไหน ผมก็จะตอบว่า ความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นในจิตใจของเรา
แล้วเราแยกความแตกต่างของสองสิ่งออกจากกันได้อย่างไร คำตอบคือ เราถูกตั้งเงื่อนไขให้จำแนกแบบแผน โครงสร้าง การจัดเรียง และตรรกะในเสียงที่ได้ยิน แต่การถูกตั้งเงื่อนไขนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละวัฒนธรรม เราจึงคุ้นเคยกับดนตรีในวัฒนธรรมของเรา และจำแนกว่ามันต่างจากเสียงรบกวน
แต่เมื่อใดที่เราได้ยินดนตรีจากที่อื่น อย่างนักเรียนหลายคนของผมที่ได้ยินดนตรีไทยเป็นครั้งแรก บางคนบอกว่านั่นเป็นเสียงรบกวน เพราะพวกเขาไม่สามารถจัดโครงสร้างของเสียงที่ได้ยินได้ คนจำนวนมากในประเทศแถบตะวันตกก็มีปัญหาในการฟังเพลงสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 เช่นกัน เพราะดนตรีเหล่านั้นไม่มีแบบแผนในแบบที่เขารู้จัก การจะบอกว่าอะไรเป็นดนตรีได้ เราต้องเห็นระบบระเบียบของเสียงที่ได้ยิน ดังนักมานุษยวิทยาชาวไอร์แลนด์นามจอห์น แบล็กกิง (John Blacking) กล่าวว่า “Music is humanly organized sound” ดนตรีคือเสียงที่มนุษย์จัดเรียงขึ้น
คุณเห็นอย่างไรกับคำนิยามดนตรีของนักมานุษยดนตรีวิทยาที่ว่า “การจะเรียกว่าสิ่งใดเป็นดนตรีนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละสังคม” (“Music is what a society thinks it is”)
ผมเห็นด้วยนะ อย่างบางวัฒนธรรมก็ไม่มี ‘ดนตรี’ แม้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คนนอกวัฒนธรรมเรียกว่าดนตรี เช่น ชาวม้งไม่มีคำที่ใช้เรียกดนตรี เวลาพวกเขาเล่นเครื่องดนตรีคล้ายออร์แกนปาก พวกเขาเรียกมันว่าบทกวี เมื่อพวกเขาร้องเพลง คนภายนอกคิดว่าพวกเขาร้องเพลง แต่เปล่าเลย สำหรับชาวม้ง เขาบอกว่าตนกำลังท่องบทกวี
ในประเทศไทยเอง เวลาที่พระเทศน์แหล่ คนไทยไม่พูดว่าพระร้องเพลง แม้ว่าสิ่งที่พระทำเป็นการเปล่งเสียงร้องที่หากคนต่างชาติได้ยิน พวกเขาจะพูดว่าพระกำลังร้องเพลงอย่างแน่นอน ดังนั้น คำนิยามดนตรีและสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นดนตรีจึงต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม
เราแต่ละคนเกิดมาในวัฒนธรรม วัฒนธรรมนั้นกลายเป็นสิ่งปกติสำหรับเรา เพราะมันคือประสบการณ์ที่เรามี แต่เมื่อใดที่เราปะทะกับวัฒนธรรมใหม่ เราจะเปรียบเทียบสิ่งใหม่กับสิ่งที่เรารู้จัก เราพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เราไม่รู้จักโดยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่คุ้นเคย มันคือ ‘ethnocentrism’ หรือการมองสิ่งต่างๆ โดยยึดเอาวัฒนธรรมของตัวเองเป็นศูนย์กลาง มันคือความคิดที่ว่า วัฒนธรรมของตัวเองเป็นสิ่งปกติ และวัฒนธรรมของคนอื่นเป็นสิ่งประหลาด เราบอกว่าดนตรีประเภทใหม่ที่เพิ่งได้ยินนี้ช่างเพี้ยน หรือเป็นเสียงรบกวน ethnocentism คือการตัดสินทุกอย่างโดยยึดกับประสบการณ์ในชีวิตของตัวเราเอง
คุณมองว่าการศึกษามามนุษยดนตรีวิทยาช่วยให้เราก้าวพ้นสิ่งนี้?
มันช่วยได้ แต่เราต้องพยายามมากเช่นกัน การก้าวพ้น ethnocentrism ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เราก้าวพ้นมันได้ด้วยประสบการณ์ คือเราต้องฟังดนตรีนั้นหลายครั้งหลายหนจนมันกลายมาเป็นสิ่งที่คุ้นเคย
มานุษยดนตรีวิทยา
เทอร์รีเล่าว่า ครั้งแรกที่เขาได้ยินดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตกคือตอนที่เขาเป็นนักศึกษาดนตรี วิชาเอกออร์แกน เสียงนั้นเสียงจากเครื่องดนตรีซีตาร์ของรวี ชานการ์ (Ravi Shankar) นักเล่นซีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดีย
“ผมไม่เข้าใจอะไรเลย เราสื่อสารกันไม่ได้เพราะโลกดนตรีของเขาต่างจากเราโดยสิ้นเชิง เขานั่งบนพรมพร้อมกับเครื่องดนตรีชิ้นเบอเร่อ” เทอร์รีเล่าว่าเขาและเพื่อนนักศึกษาดนตรีตะวันตกส่วนใหญ่ไม่มีกรอบความคิดที่จะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของรากะ (raga) ของอินเดีย ไม่เคยเห็นนักดนตรีเล่นดนตรีโดยนั่งอยู่ที่พื้น หรือได้กลิ่นธูปประกอบการแสดงดนตรี สมัยนั้นไม่มีคอร์สสอนวิชา world music และการหาบันทึกเทปการแสดงดนตรีจากหลากหลายวัฒนธรรมก็ทำได้ยาก แล้วโลกของเขาเปลี่ยนไปได้อย่างไร
คุณเข้ามาอยู่ในเส้นทางมานุษยดนตรีวิทยาได้อย่างไร
ผมไม่ได้เรียนมานุษยดนตรีวิทยา สมัยนั้นหลักสูตรมานุษยดนตรีวิทยามีสอนเพียงไม่กี่แห่งและก็ไม่เป็นที่รู้จัก ผมเรียนปริญญาโทสาขาดนตรีวิทยา (musicology) ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University) หลังจากนั้นก็ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ถูกส่งไปทำงานอยู่ในออฟฟิศที่เวียดนาม ตอนนั้นผมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับดนตรีเวียดนาม ผมต้องแอบออกไปดูการแสดงดนตรีในช่วงสุดสัปดาห์ที่ไซ่ง่อน ซื้อเครื่องดนตรี และเทปเพลง ก่อนกลับอเมริกาก็ได้แวะเมืองไทยเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการเล่นแคนและการร้องหมอลำในภาคอีสานของไทย
ผมเรียนผ่านการปฏิบัติ ดูสถานการณ์ ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะทำความเข้าใจสิ่งนี้ ตอนนั้นผมรู้ว่าตัวเองต้องบันทึกเทป ถ่ายภาพ และสัมภาษณ์คน ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างกับการเรียนดนตรีวิทยาโดยสิ้นเชิง
ทีนี้การต้องมาสอนนักศึกษาด้านมานุษยดนตรีวิทยาอย่างเป็นระบบ ผมต้องสอนว่าเป้าหมายของสิ่งที่พวกเขาจะทำคืออะไร ระเบียบวิธีวิจัยเป็นอย่างไร และต้องสื่อสารผลการวิจัยที่ได้อย่างไร
ผมคิดว่าในยุคทศวรรษที่ 70 มานุษยวิทยาเป็นสาขาที่น่าตื่นเต้นในแง่ที่ว่า เราค้นพบดนตรีมากมายที่โลกตะวันตกไม่รู้จัก เราพยายามต่อสู้กับการครอบงำของดนตรีคลาสสิกตะวันตก พยายามบอกว่ายังมีดนตรีที่อื่นๆ อีกในโลก มานุษยดนตรีวิทยาเริ่มมาจากการเป็นสาขาชายขอบ แต่ผมคิดว่าความตื่นเต้นแบบนั้นไม่หลงเหลืออยู่แล้ว แทบจะทุกอย่างถูกค้นพบหมดแล้ว เราสามารถดูและฟังดนตรีหลากหลายได้จากยูทูป แต่ก่อนไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้
หากนักมานุษยดนตรีวิทยายุคก่อนตื่นเต้นกับการค้นพบดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตก แล้วนักมานุษยวิทยาสมัยนี้ล่ะ ยังมีอะไรให้พวกเขาตื่นเต้นอีกไหม
แอนดรู ชาห์เรียรี หนึ่งในนักเรียนของผม (และผู้ร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้) ซึ่งปัจจุบันสอนมานุษยดนตรีวิทยาเคยบอกผมว่า เขาคิดว่าสิ่งที่ทำให้นักเรียนของเขาตื่นเต้นอาจจะเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่ทำให้เขาตื่นเต้นตอนที่เขาเลือกอาชีพนี้ นั่นคือ ความใคร่รู้เกี่ยวกับผู้คนและวัฒนธรรมในฐานะที่มันเชื่อมโยงกับดนตรี แม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงการสื่อสารและการใช้ชีวิตของเรา แต่นักเรียนของเขายังคงตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้สิ่งที่ต่างจากประสบการณ์ของตน โอกาสการเข้าถึงวิดีโอและไฟล์เพลงต่างๆ ทำให้ความสนใจของพวกเขาเพิ่มขึ้น ทำให้มีแหล่งข้อมูลสำหรับใช้วิจัยมากขึ้น
แอนดรูมักจะผลักดันนักเรียนของเขาให้เดินทางสายนี้ด้วยความหลงใหล และให้ความมั่นใจกับนักเรียนว่า สาขามานุษยดนตรีวิทยายังมี ‘ที่ทาง’ ให้ทุกคนเสมอ นักเรียนบางคนสนใจวิเคราะห์ดนตรี บางคนสนใจเล่นเครื่องดนตรี มีส่วนน้อยจำนวนหนึ่งที่เน้นไปในทางทฤษฎี
ส่วนตัวผมเองคิดว่า นักมานุษยดนตรีวิทยารุ่นใหม่สนใจกับ ‘ประเด็น’ มากกว่า ‘สถานที่’ คนรุ่นผมตื่นเต้นกับสถานที่ งานวิจัยของผมถูกกระตุ้นด้วยความสนใจในประเทศที่ไปศึกษา ขณะที่คนรุ่นใหม่สนใจความยุติธรรมทางสังคม การแบ่งแยกทางเพศและชาติพันธุ์ วาทกรรมทางการเมือง อัตลักษณ์ สิทธิสตรี และประเด็นอื่นๆ
คนที่จะเรียนด้านนี้จำเป็นที่เราต้องเป็นมีความรู้ทฤษฎีดนตรีหรือเป็นนักดนตรีหรือเปล่า
อันนี้แล้วแต่ความเห็นของแต่ละมหาวิทยาลัย ในบางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเคนต์ สาขานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (School of Music) นักเรียนจึงไม่ได้เรียนแค่วิชามานุษยวิทยา แต่ต้องเรียนอย่างวิชาทฤษฎีดนตรีหรือประวัติศาสตร์ดนตรีด้วย นักเรียนที่ไม่มีพื้นฐานทางดนตรีก็ประสบกับความลำบากมากทีเดียว
สมัยก่อนมีนักดนตรีไทยที่ไม่ได้เรียนทฤษฎีดนตรีมาก่อนหลายคนไปเรียนสาขานี้ที่ต่างประเทศ พวกเขาต้องเรียนวิชาเสริมหลายวิชา เช่น วิชาทฤษฎีดนตรีตะวันตกหรือหัดเล่นเปียโนหรือไวโอลิน เพื่อตามให้ทัน เพราะตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีสถานศึกษาที่สอนเอกดนตรี
แต่ก็มีบางหลักสูตรที่นักเรียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับดนตรีตะวันตกหรือความรู้เกี่ยวกับดนตรีเลย โดยเน้นไปที่ด้านมานุษยวิทยาหรือไม่ก็ Cultural Studies ดังที่มีมุกตลกว่า ชื่อสาขานี้คือ eth ‘NO music’ ology การเรียนหลักสูตรนี้ในบางมหาวิทยาลัยแทบจะไม่พูดถึงดนตรีเลย
แต่ผมเข้ามาสู่สายนี้เพราะผมรักดนตรี ผมจึงไม่เข้าใจว่าคุณจะมาเรียนมานุษยดนตรีวิทยาทำไมหากคุณไม่สนใจด้านดนตรี ดนตรีคือเสียง คือการแสดง ทำไมถึงทำให้มันกลายเป็นแค่เรื่องของความคิดและเหตุผลล่ะ
คนเรามีความสุขกับดนตรีได้หลายระดับ บางคนมีความสุขกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการได้ยินเสียง แต่ถ้าคุณถูกเทรนด์มาในสายดนตรี คุณจะฟังดนตรีโดยโฟกัสไปที่โครงสร้าง สิ่งที่นักดนตรีได้ยินคือสถาปัตยกรรมในดนตรี การจัดวาง และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ พวกเขาซาบซึ้งกับความซับซ้อนและความลุ่มลึกของมัน คุณอาจจะฟังบทประพันธ์เพลงเดิมซ้ำๆ แต่ได้ยินสิ่งที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้ง
แต่หากคุณได้ยินเสียงดนตรีที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น ได้ยินเสียงดนตรีไทยครั้งแรก คุณอาจรู้สึกว่ามันฟังดูมั่วๆ คุณจึงจำเป็นต้องเข้าใจมันในเชิงความคิดและเหตุผล คุณรู้ว่ามันมีการจัดเรียง คุณต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจการจัดเรียงของมันให้ได้มากที่สุด
การเรียนมานุษยดนตรีวิทยาช่วยให้เราซาบซึ้งกับดนตรีมากขึ้น เพราะเราได้ขยายขอบเขตความเข้าใจในดนตรีของตัวเองออก เราจะได้พบดนตรีหลากหลายจากทั่วโลกที่มีตรรกะ การจัดเรียง และเสียงที่แตกต่างกัน
การศึกษามานุษยวิทยาให้อะไรกับผู้เรียนบ้าง
นักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องราวของผู้คนที่ต่างจากตัวเอง ได้รู้จักวัฒนธรรมอื่น และบางทีนักเรียนของเราอาจจะช่วยทำให้คนอื่นๆ เข้าใจความแตกต่างด้วยเช่นกัน เราต้องการแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมของคนอื่นไม่ได้ผิดหรือแปลกประหลาด แต่นั่นเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา
การเข้าใจความแตกต่างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจกัน มันจะนำไปสู่สงคราม ซึ่งโลกกำลังไปในแนวทางนั้น ความเข้าใจและความอดทนอดกลั้นลดน้อยลง ดังที่เห็นได้ในสหรัฐฯ ยุโรป และในอีกหลายที่ นักมานุษยวิทยาต้องการต่อสู้กับสิ่งนี้ แต่ผมไม่คิดว่าเราประสบความสำเร็จเท่าไหร่
ในฐานะคนสอนมานุษยดนตรีวิทยา คุณทำอะไรบ้างเพื่อสร้างความอดทนอดกลั้นที่ว่ามา
ถ้านักวิชาการเพียงแต่เขียนหนังสือที่ไม่มีคนอ่าน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร สิ่งที่เรามักทำคือการนำเสนอและอธิบายดนตรีต่างๆ ตามเทศกาลดนตรีหรือคอนเสิร์ต และการรวบรวมเพลงเป็นอัลบั้ม แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีแผ่นเสียงหรือซีดีแล้ว ทุกอย่างเป็นเรื่องการดาวน์โหลด ซึ่งเราไม่สามารถอธิบายอะไรเกี่ยวกับดนตรีได้มากนัก ถ้าเป็นแผ่นซีดีหรือแผ่นเสียงคนฟังยังสามารถอ่านเกี่ยวกับดนตรีในอัลบั้มได้
ส่วนในเทศกาล สิ่งที่เราทำเคยอธิบายเกี่ยวกับดนตรีที่จะเล่น อย่างการบรรยายหรือแนะนำวงดนตรีก่อนที่คอนเสิร์ตเริ่ม แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีเทศกาลอย่างนั้น มันกลายเป็นเทศกาลคอนเสิร์ตใหญ่ๆ เพื่อความบันเทิงที่ไม่มีวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในฐานะ ‘คนนอก’ ที่เข้ามาศึกษาดนตรีในวัฒนธรรมอื่น คุณจะสามารถเข้าใจดนตรีในวัฒนธรรมนั้นได้มากแค่ไหนกัน
การศึกษาดนตรีในวัฒนธรรมอื่นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ เพียงแต่คุณจะสามารถเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่พยายาม เราก็จะไม่เข้าใจอะไรทั้งนั้น การรู้น้อยดีกว่าการไม่รู้เลย
ดังนั้น ในฐานะคนนอก ผมอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมดหรืออาจจะเข้าใจบางอย่างผิด แต่นี่เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้คนอื่นเข้าใจวัฒนธรรมนั้นด้วย คนไทยไม่สามารถอธิบายดนตรีไทยให้คนนอกวัฒนธรรมฟัง เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าคนนอกวัฒนธรรมคิดอย่างไร เวลาผมศึกษาดนตรีไทย ผมต้องอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยศัพท์ที่คนที่รู้จักเพียงดนตรีตะวันตกเข้าใจ มันย่อมจะมีความคลาดเคลื่อนและความเข้าใจผิดบ้าง แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้น สิ่งตรงข้ามก็คือความมืดสนิท
คุณเห็นอย่างไรกับคำพูดยอดฮิตที่ว่า ‘ดนตรีเป็นภาษาสากล’
ผมไม่เห็นด้วย หากคุณถามนักมานุษยดนตรีวิทยา พวกเขาส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล เพราะอย่างแรกเลย ดนตรีไม่ใช่ภาษา อย่างที่สองก็คือ ไม่มีภาษาใดที่เป็นภาษาสากล
ทุกสิ่งที่เราเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีนั้นถูกกำหนดโดยสังคมที่เราอยู่และประสบการณ์ของเรา เมื่อวันก่อน ผมขอให้นักเรียนชาวจีนเล่นเพลงหนึ่งเพลง เมื่อนักเรียนที่เป็นคนจีนได้ยินเพลงนั้น พวกเขารู้สึกแบบหนึ่ง ขณะที่ผมไม่รู้สึกแบบเดียวกับที่พวกเขารู้สึก เพราะผมไม่ได้มีประสบการณ์ในวัฒนธรรมนั้น
ในเมืองไทยช่วงสิ้นปี ห้างสรรพสินค้ามักจะเป็นเพลงคริสต์มาส แต่คนไทยไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับคริสต์มาสในแบบที่ชาวตะวันตกมี เวลาที่ผมได้ยินเพลงคริสต์มาส ผมนึกถึงประสบการณ์มากมายที่ผมมีเกี่ยวกับคริสต์มาส ดนตรีจะเป็นภาษาสากลได้อย่างไรในเมื่อหากคุณเปิดเพลงคริสต์มาสให้คนที่ไม่เคยรู้จักคริสต์มาสมาก่อนฟัง คุณจะสื่อสารและถ่ายทอดความหมายให้กันและกันผ่านดนตรียังไง ไม่มีทางที่คนที่ไม่เคยได้ยินดนตรีคลาสสิกของตะวันตกมาก่อนจะฟังซิมโฟนีของ Gustav Mahler แล้วรู้สึกแบบเดียวกับคนที่ฟังดนตรีคลาสสิกมาทั้งชีวิต เพราะดนตรีนั้นสัมพันธ์กับประสบการณ์ทั้งชีวิตของเรา
ผมขอยกตัวอย่างประหลาดๆ เสียหน่อย หากผมอยู่ในต่างแดน ซึ่งเป็นที่ที่ผมไม่เคยไปมาก่อนและผมก็ต้องการเข้าห้องน้ำ สิ่งเดียวที่ผมมีอยู่กับตัวคือกีตาร์ ผมจะบอกคนท้องถิ่นด้วยกีตาร์ได้อย่างไรว่าผมกำลังหาห้องน้ำ
เราอาจจะพูดได้ว่าดนตรีมีความเป็นสากล แต่มันไม่ใช่ภาษาสากล
ดนตรีไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เวลาที่คุณได้ยินดนตรี คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งสังคมของคุณ
หนังสือเรียนที่คุณเขียนตั้งชื่อว่า ‘World Music’ คุณคิดว่าคำว่า ‘world music’ นี่ล้าสมัยไปแล้วหรือยัง
ผมและแอนดรูไม่ค่อยอยากใช้คำว่า world music เท่าไหร่นัก คำนี้เป็นเหมือนคำที่ใช้ป้ายแปะสินค้ามากกว่า คือสมัยก่อน ถ้าคุณไปในร้านขายเพลง มันจะมีเซกชัน world music ซึ่งมีดนตรีจากที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตก แต่ก็ไม่ใช่ดนตรีดั้งเดิม นอกจากนี้ คำนี้มักหมายถึง ‘ดนตรีป๊อป’ ที่ไม่ใช่ดนตรีตะวันตก
แต่สำนักพิมพ์อยากให้เราใช้คำนี้เป็นชื่อหนังสือ เพราะเป็นคำที่คนส่วนใหญ่รู้จัก
งั้นถ้าเลือกได้ คุณจะใช้คำว่าอะไรแทนคำว่า world music
อาจจะเป็นชื่อ Music and Cultures (ดนตรีและวัฒนธรรม) หรือ Music Traditions of the World (ประเพณีดนตรีต่างๆ ในโลก) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยายอมรับได้มากกว่า
แม้หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักดนตรีจากที่ต่างๆ แต่ก็ “มีเพียงคนโง่เท่านั้นแหละที่คิดว่าตนสามารถนำเสนอดนตรีจากทุกที่บนโลกได้ในหนังสือเล่มเดียว” เทอร์รีกล่าวไว้ในจากคำนำในหนังสือว่า แม้ว่าเขาจะได้เดินทางไปประสบพบเจอดนตรีจากที่ต่างๆ ด้วยตันเอง แต่ดนตรีที่เขารู้จักทั้งชีวิตก็เป็นเพียงส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับดนตรีทั้งหลายที่มีบนโลกใบนี้ “แม้ว่าความรู้ที่ได้จากการประสบด้วยตนเองจะหยั่งรากลึกกว่าความรู้จากหนังสือหรือซีดี แต่หนังสือเบื้องต้นที่แนะนำดนตรีจากหลากหลายวัฒนธรรม และเทปหรือซีดีที่เราฟังอย่างตั้งใจก็อาจฉายแสงสว่างไปยังบางมุมของโลก ที่หากไม่ทำอย่างนั้น มุมนั้นก็ยังคงเป็นที่ที่เราไม่คุ้นเคยตลอดไป”
Tags: ดนตรี, world music, Terry E. Miller