จากเมื่อต้นปีที่เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ Ten Years Thailand (2018) ซึ่งเป็นการส่งไม้ต่อจาก Ten Years Hong Kong (2015) และได้ฉายรอบพรีเมียร์ไปที่เมืองคานส์ มาสู่การฉายจริงในโรงภาพยนตร์ในช่วงปลายปีนี้ น่าเสียดายที่หนังถูกทยอยถอดออกจากโรงในเวลาไม่นานนัก ท่ามกลางการกระจายฉายในโรงภาพยนตร์โรงเล็ก และกิจกรรมฉายหนังอิสระในหลายจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังจะเน้นย้ำว่า นี่คือหนังของคนไทย ไม่ใช่หนังของคนกรุงเทพฯ และเป็นหนังที่สร้างให้คนไทยดู ไม่ใช่ให้คนกรุงเทพดูฯ เพราะเบื้องหลังของหนังเรื่องนี้คือความจริงของประเทศนี้ ถึงจะถูกห่อคลุมด้วยความไม่จริงหรือกระทั่งเหนือจริงในหลายรูปแบบก็ตาม
Ten Years Thailand ประกอบด้วยหนังสั้น 4 เรื่องที่ตั้งใจจะพูดถึงเมืองไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ Sunset โดยอาทิตย์ อัสสรัตน์ ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ทหารกลุ่มหนึ่งพร้อมด้วยตำรวจสองนายเข้าไปตรวจนิทรรศการในอาร์ตสเปซ และขอความร่วมมือศิลปินให้ถอดภาพถ่ายภาพหนึ่งลง, Catopia โดยวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ว่าด้วยพนักงานบริษัทในรูปลักษณ์ของแมวที่รวมกลุ่มกัน ‘ล่าแม่มด’ มนุษย์ที่ยังหลงเหลือที่แอบซ่อนและพรางตัวอยู่ในกลุ่ม, Planetarium โดยจุฬญาณนนท์ ศิริผล นำเสนอความเซอร์เรียลของฐานฝึกลูกเสือหนุ่มที่มีหญิงใหญ่คนหนึ่งเป็นดั่งครูใหญ่คอยล้างสมองคน และ Song of the City โดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เล่าเรื่องของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย 4-5 คนที่หมุนรอบอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ที่ขอนแก่น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการบูรณะ
หนังสั้นแต่ละเรื่องถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวทางที่ต่างกัน แต่งแต้มด้วยจินตนาการคนละแบบกัน และเล่าด้วยน้ำเสียงที่ผิดแผกจากกันทั้งหมด Sunset ทำให้เราเศร้าโศกหากยังมีหวัง Catopia ทำให้เราขุ่นเคืองและเกรี้ยวกราด Planetarium ทำให้เราหัวร่อหงายหลัง และ Song of the City ทำให้เราสั่นสะเทือนในหัวใจ หากเมื่อนำมาฉายต่อกันกลับสร้างแรงกระเพื่อมที่ควรค่าแก่การถูกกล่าวถึง แม้เราจะคาดหวังลีลาที่โลดโผนกว่านี้ และความเป็นมนุษย์ที่ละเมียดละไมมากกว่านี้ก็ตาม
ปราศจากคำถามว่านี่คือหนังการเมืองหรือไม่ หนังทุกเรื่องในโปรเจ็กต์นี้พูดถึงประเทศไทยที่ถูกปกครองด้วยคนในเครื่องแบบมาตลอดระยะเวลาเกินครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ยุคของนายพลสฤษดิ์—มิใช่เพียงเครื่องแบบทหารที่เป็นตัวแทนของอำนาจเผด็จการเท่านั้น แต่คืออำนาจของเครื่องแบบในตัวมันเองไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบใด หนังในโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมและพื้นที่เดียวกันทุกเรื่อง เพียงแต่ต่างช่วงเวลา กระนั้นกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปรผันไปตามจังหวะการเดินของเข็มนาฬิกา แน่นอน เราไม่รู้แน่ชัดว่าช่วงเวลาในหนังแต่ละเรื่องนั้นคือช่วงเวลาใด เพราะมันต่างคือเรื่องแต่งที่ดัดแปลงไปตามความตั้งใจของผู้กำกับ ซึ่งพวกเขาอาจไม่ได้กำหนดช่วงเวลาเอาไว้เลยก็ได้
อย่างไรก็ดี ที่นี่คือพื้นที่ที่มีการกำกับดูแลโดยคนในเครื่องแบบที่มีอำนาจในการกำหนดการแสดงออกของคนในพื้นที่ รวมทั้งควบคุมกรอบวิธีคิดและความเชื่อของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะใน Catopia ที่เครื่องแบบของพนักงานบริษัทซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นกลางได้ชี้นำวิธีการจัดการกับความเชื่อของกลุ่มทางสังคมของตัวเอง และออกแบบพิธีกรรมที่เพิ่มความเกรี้ยวกราดรุนแรงเพื่อคงไว้ซึ่งความเชื่อนั้น รวมทั้ง Sunset ที่คนในอาร์ตสเปซจำต้องปฎิบัติตามคำสั่ง และคนที่เข้ามาในอาร์ตสเปซชั่วคราวอย่างทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นได้เพียงคนขับรถ หากเป็นคนที่ปิดฉากหนังอย่างสวยงามด้วยการสังเกตผลลัพธ์ของการข่มขู่ เดินเสพงานศิลปะในอาร์ตสเปซ เป็นพยานการปลดภาพถ่ายนั้นออก และความพยายามอันขวยเขินในการสานต่อสัมพันธ์รักกับแม่บ้านสาว ราวกับจะบอกกับเราว่า ความหวังในคนรุ่นใหม่นั้นยังมี ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในเครื่องแบบใดก็ตาม
โดยภาพรวมแล้ว Ten Years Thailand มีความไม่จริงบางอย่าง ทุกเรื่องเป็นเยี่ยงเรื่องแต่ง เรื่องจินตนาการ เรื่องเล่าพรรณา ไม่มีทางที่ภาพที่มองเห็นด้วยตาใน Sunset จะเป็นจริงโดยสมบูรณ์ เพราะถูกทำให้เป็นภาพขาวดำฟุ้งฝันที่ย้อมโทนเขียวอ่อนๆ, การที่แมวในร่างมนุษย์เงินเดือนจะไล่เขวี้ยงก้อนหินใส่คน, โลกที่แยกขาดจากชีวิตประจำวัน หากแต่อาจมีพื้นที่ที่มีฟังก์ชันเช่นนั้นจริง อย่างใน Planetarium และโลกที่ตัวละครของอภิชาติพงศ์ได้โคจรกลับมาเจอกันอีกครั้งหลังสิบปีผ่าน
กระนั้นเรื่องแต่งทั้งหมดนี้จริงเหนือจริง ยิ่งเมื่อย้อนคิดถึงประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นั่นคือเราชมภาพยนตร์ด้วยความเพลิดเพลินเพราะรู้ว่ามันไม่จริง แต่ในความไม่จริงนั้นมีความจริงซ่อนอยู่ เพราะตัวละครที่ไม่จริง เป็นตัวแทนของคนที่มีอยู่จริงในช่วงสิบปีมานี้ ในปัจจุบันขณะนี้ และอาจจะในอนาคตอีกไม่รู้กี่สิบปี เพราะคนในเครื่องแบบหรือคนนอกเครื่องแบบเหล่านี้จะยังไม่ตาย จะยังอยู่ในอำนาจ และที่แน่นอนคือจะสืบทอดอำนาจสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน นายทหารชั้นผู้น้อยจะถูกฝึกและเกณฑ์เข้ามาใหม่เรื่อยๆ พนักงานออฟฟิศอายุมากจะเกษียณและมี first jobbers รุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ คนในชุดเครื่องแบบโจงกระเบนสีสดจะรับลูกเสือใหม่เข้ามาฝึก ครูใหญ่และคนหลังม่านจะต้องสละเก้าอี้ให้คนอื่น แต่ทุกอย่างจะคงเดิม
ความไม่สมจริงหรืออาจเรียกว่าเหนือจริงปรากฏชัดที่สุดในตอน Planetarium ที่ถ่ายทำในโลเคชันหลุดโลกแต่มีอยู่จริง ใช้มุมกล้องที่ร้ายลึก และเล่นกับทรงเรขาคณิตรวมถึงรูปทรงก้นหอยตลอดเรื่อง จุฬญาณนนท์ยังคงทำงานกับโลกใบเดิมของเขา อย่างที่หลายคนอาจจะได้เห็นแล้วในงานชิ้นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Golden Spiral (2018) ที่จัดแสดงในงาน Ghost:2561 ที่อาร์ตสเปซซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำของตอน Sunset ลีลาของจุฬญาณนนท์ใน Planetarium มีความสวิงสวาย มีลวดลาย แสบสันต์ และสนุกสนาน ครีมหอยทากหน้าใสที่ถูกใช้ใน Golden Spiral ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งอย่างเจ็บแสบใน Planetarium และถึงจะเป็นครีมทาหน้า แต่เราก็คิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากของเหลวจากการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม นี่คือหนังที่เล่นกับวิชวลได้อย่างทรงพลัง ทั้งส่วนของแอนิเมชันที่ถูกดันไปจนสุดขั้วในทุกทาง และชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ที่ถูกฟันเฟืองในรูปของไฟงานวัดบดขยี้จนแตกกระจาย
ในขณะที่ Catopia มีการเล่าเรื่องตรงไปตรงมา กระโตกกระตาก และทื่อมะลื่อในบางจังหวะ ในแบบที่เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจะไม่จดจำ Planetarium กลับดูมีชั้นเชิงมากกว่า ด้วยองค์ประกอบศิลป์และการเล่าเรื่องแบบไม่มีลำดับเวลา แต่เหมือนเหตุการณ์เดิมที่วนซ้ำไปเรื่อยๆ เยี่ยงรูปทรงก้นหอยที่ปรากฏหลายครั้งในหนัง อย่างไรก็ดี ความเป็นมนุษย์ในทั้งสองเรื่องกลับไม่ได้ถูกแสดงออกอย่างละมุนละไมเท่า Sunset และ Song of the City แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีอะไรที่ผิด และกลับดีเสียอีก เพราะความหลายหลายมิใช่หรือที่ จะทำให้ภาพแทนของประเทศนี้และสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ไม่ถูกควบรวมสู่ศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว
สุดท้ายแล้ว เราอยากพูดถึงในส่วนของ Song of the City เป็นพิเศษ (อันที่จริงเราอยากเรียกมันว่า Song of the Country เสียด้วยซ้ำ) เพราะเรามองว่าอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ที่กำลังอยู่ระหว่างการบูรณะนั้นมิใช่เพียงสัญลักษณ์ของระบอบเผด็จการโดยทั่วไป หรือระบอบเผด็จการยุคเก่าที่ตายไปแล้ว แต่เป็นเผด็จการที่กำลังจะเกิดใหม่อีกครั้ง นอกจากนั้นยังปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงจอมพลสฤษดิ์จะเป็นผู้นำที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จผู้เป็นที่พูดถึงมากที่สุด รวมทั้งมีอิทธิพลอย่างสูงในการอุ้มชูสถาบันกษัตริย์ของไทย แต่ทุกวันนี้เขากลับแทบไม่เป็นที่พูดถึง ตัวอนุสาวรีย์เองดูเศร้าโศก หม่นหมอง และปราศจากสง่าราศีไม่ต่างจากอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ หรือป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ตัวพวกเขาเองเป็นดั่งประวัติศาสตร์ที่ตายไปแล้วทั้งเป็น หากแต่ได้ออกลูกออกหลานเป็นอุดมการณ์ที่ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการนิยมหรือเสรีนิยมที่ได้แผ่อิทธิพลทางความคิดสู่คนรุ่นใหม่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และจะสืบทอดต่อไปในสิบปีต่อไปจากนี้หรือมากกว่า
นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวเดินไปเดินมาของคนตัวเล็กจ้อยในพื้นที่จำกัดของ Song of the City ยังถูกทำให้ดูเหมือนกับว่าพวกเขามีเสรีภาพ—มิตรสหายสองคนที่ไม่ได้เจอกันนานกลับมาพบกันอีกครั้งเพื่อพูดคุยถึงปัจจุบันและอนาคตของกัน และชายคนหนึ่งที่เป็นทายาทของคณะหมอลำมาขายเครื่องฟอกอากาศให้ผู้คนนอนหลับสบาย ในแง่หนึ่งมันอาจเป็นอุปกรณ์ที่ฟอกอากาศของเผด็จการให้บริสุทธิ์ขึ้น หรือในอีกแง่หนึ่งมันอาจเป็นการฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กลายเป็นอากาศของเผด็จการ เพราะเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าอากาศที่ตัวละครสูดเข้าไปในช่วงเวลาของหนังนั้นเป็นอากาศแบบใด และในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ เราเองก็ไม่อาจแน่ใจได้เช่นกัน เพียงได้แต่หวังว่าสิ่งที่เราสูดเข้าไปหลังจากนี้ จะเป็นมวลอากาศที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไม่เจ็บปวดหัวใจ หรือปอดเสียหายจนตายไปเสียก่อนก็เท่านั้น
Tags: หนังไทย, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, Ten Years Thailand, อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง