จริงอยู่ที่ในปีปีหนึ่งของดินแดนดินแดนหนึ่งจะบรรจุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำลังดำเนินอยู่ คลี่คลาย และผันผวน มากมาย ยิ่งเฉพาะในช่วงหลายปีหลังมานี้ที่เทคโนโลยีเคลื่อนโลกให้หมุนไปในจังหวะที่รวดเร็วกว่าที่เคย แต่เมื่อย้อนกลับมามองภาพรวมของเมืองไทย กลับเป็นเรื่องเศร้าที่ว่าด้วยปัจจัยบางอย่าง ไม่เพียงทำให้จังหวะก้าวเดินแผ่วช้า หากคล้ายกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังถอยหลัง และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเข้าไปอีก ที่จังหวะถอยหลังไม่ได้เกิดขึ้นเพียงปีใดปีเดียว แต่มันกินเวลายาวนานเป็นทศวรรษ
แม้ไม่ใช่นิทรรศการศิลปะที่พูดถึงการเมืองโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘แดนชั่วขณะ: ศิลปะสะสมใหม่เอี่ยม จาก พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน’ (Temporal Topography: Maiiam’s New Acquisitions from 2010 to Present) นิทรรศการล่าสุดที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ก็สะท้อนความเป็นมาและเป็นไปของสถานการณ์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านมุมมองของศิลปินร่วมสมัยหลากแขนงได้อย่างน่าใคร่ครวญ
ผลงานทั้งหมด 23 ชิ้น (ครอบคลุมทั้งจิตรกรรม ภาพถ่าย ประติมากรรม สื่อผสม วิดีโอ อินสตอเลชั่น ฯลฯ) โดยศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 18 คน หาใช่งานสะสมทั้งหมดในรอบ 10 ปีของฌอง มิเชล เบอร์เดอเลย์ และอิริค บุนนาค บูทซ์ ผู้เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์เท่านั้น หากงานเหล่านี้ได้ถูกคัดสรร (จากคอลเลกชั่นที่มีทั้งหมด) ภายใต้กรอบของการแสดงถึง ‘ภูมิทัศน์’ ทั้งทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรม รวมไปถึงภูมิทัศน์ที่เป็นรูปธรรม เช่น สัณฐานของภูมิประเทศ หรือภาพเหตุการณ์ที่ศิลปินจำลองขึ้น โดย กิตติมา จารีประสิทธิ์ คิวเรเตอร์รุ่นใหม่จาก Waiting You Curator Lab ผู้เคยคิวเรทนิทรรศการก่อนหน้าของที่นี่ รวมถึงนิทรรศการ ของ (คณะ) ราษฎร เป็นอาทิ
อาจด้วยกรอบในการคัดสรรผ่าน ‘ภูมิทัศน์’ การมาชมนิทรรศการจึงเป็นคล้ายการได้มา ‘ชมวิว’ ที่เกิดจากมุมมองและเรื่องเล่าอันแตกต่างกันของศิลปิน คิวเรเตอร์เลือกจัดวางผลงานทั้งหมดอยู่ในโถงแบบเปิดโล่ง ที่เมื่อผู้ชมยืนอยู่สุดปลายห้อง ก็จะสามารถรับชมผลงานทั้งหมดได้พร้อมกัน ทั้งนี้ยังมีการนำม้านั่งและต้นไม้กระถางมาประดับประดา และการเลือกใช้ไฟนีออนสีขาวที่ไล่เฉดแสงเจือจางจากต้นห้องไปสู่แสงจ้าเข้มข้นท้ายห้อง ก็ช่วยลดความขรึมขลังของสถานะพิพิธภัณฑ์ สร้างบรรยากาศให้โถงนิทรรศการเป็นคล้ายห้องนั่งเล่นที่เปิดให้ผู้ชมมาชมวิวในกรอบรูป ในจอโทรทัศน์ รวมถึงสื่ออื่นๆ เปลี่ยนให้การสำรวจบ้านเมืองในรอบหนึ่งทศวรรษผ่านงานศิลปะเป็นไปอย่างผ่อนคลาย
เริ่มต้นจาก Sea States 9 ของ ชาร์ลส์ ลิม (Charles Lim) ศิลปินชาวสิงคโปร์ แสดงภาพเคลื่อนไหวมุม top view ของพื้นที่ชายฝั่งของเกาะสิงคโปร์ ในระหว่างถมทะเลเพื่อขยายพรมแดนประเทศ ภาพเคลื่อนไหวของเครื่องจักรและมวลมหาสมุทรที่สอดรับกันอย่างไม่ตั้งใจ หากก็งดงามและมีความ dramatic (รถเครนกำลังตักดินจากบนชายฝั่งเพื่อถมลงทะเล ขณะที่คลื่นทะเลก็ซัดเข้าหาฝั่งอย่างเป็นจังหวะไม่หยุดหย่อน) เป็นผลงาน 1 ใน 3 ชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการ โดยชาร์ลส์สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าถึงความพยายามเปลี่ยนพื้นที่อันเป็นนามธรรม (อย่างอากาศและพื้นมหาสมุทร) ให้กลายเป็นภูมิทัศน์ที่เป็นรูปธรรม (พื้นดินอันเป็นพรมแดนขยายของชาติ)
Nine Dragons River ของ ตวน แอนดรูว์ เหงวียน (Tuan Andrew Nguyen) ศิลปินเวียดนาม ฉายภาพของแม่น้ำในมุม top view เช่นกัน หากภูมิทัศน์ดังกล่าวคือภูมิทัศน์ของแม่น้ำโขง (คนเวียดนามเรียกว่าแม่น้ำเก้ามังกร) ที่ไหลจากจีนผ่านหลายดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศิลปินเลือกใช้เรซิ่นอีพอกซี่และผ้าห่มฉุกเฉินสีทองที่ใช้ในการกู้ภัย ประกอบกันเป็นภาพจำลองอย่างหยาบของท้องน้ำและโขดหิน กระตุกเตือนให้ผู้ชมจ้องมองแม่น้ำสายสำคัญทั้งในเชิงระบบนิเวศ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของภูมิภาค ในมุมมองใหม่ ผ่านวัสดุสังเคราะห์จากโรงงานอุตสาหกรรม
National Road No. 5 ของ ลิม โศกจันลินา (Lim Sokchanlina) ศิลปินกัมพูชา เป็นภาพถ่ายรูปด้านหน้าของบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการตัดถนนแห่งชาติหมายเลข 5 หนึ่งในโครงการพัฒนาถนนที่เชื่อมกัมพูชาสู่ประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกับการเปลี่ยนพื้นที่ที่ถนนพาดผ่านให้กลายเป็นเขตแดนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ กระนั้นภูมิทัศน์ที่ได้รับการบันทึกของลิม กลับเป็น เคหะสถานที่บางหลังถูกทำให้แหว่งวิ่น บางแห่งเหลือเพียงซากแห่งอดีตสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่บางหลังแม้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากก็ปกคลุมไปด้วยฝุ่นหนาในแบบที่เราคุ้นชินกับบ้านเรือนในพื้นที่ชนบทของประเทศกำลังพัฒนา
จุฬญาณนนท์ ศิริผล เป็นหนึ่งในศิลปินไทย ที่คิวเรเตอร์เลือกผลงาน Planking ของเขามาถ่ายทอดภูมิทัศน์ของประเทศไทยได้อย่างแสบสันต์ Planking คือชุดวิดีโอถ่ายทำภาพของศิลปินที่นอนคว่ำไปบนพื้นตามที่สาธารณะต่างๆ ในเวลา 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น ในขณะที่ผู้คนอื่นๆ กำลังยืนตรงและสงบเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรแห่งชาติ จุฬญาณนนท์ ผลิตผลงานชุดนี้ในปี 2012 อันเป็นช่วงเวลาที่วาทกรรมอะไรๆ ก็ ‘ทำเพื่อชาติ’ กลายมาเป็นทั้งแต้มต่อและอาวุธที่ใช้ฟาดฟันผู้คนที่ยืนอยู่บนขั้วการเมืองตรงข้ามมากที่สุด
จากภาพถ่ายของจุฬญาณนนท์ ‘เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล’ พาเราย้อนเวลากลับไปอีกสองปีก่อนหน้าในปี 2010 Hocus Pocus หรือ เผาเล่น ทีจริง คือผลงานศิลปะที่ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าแผ่นกระจกลามิเนตแผ่นหนึ่งซึ่งถูกกระสุนปืนชำแรกผ่าน – หนึ่งในผลผลิตจากเหตุสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ แม้สิ่งที่เราเห็นคือวัตถุ (object) หรือหลักฐานในที่เกิดเหตุ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือวัตถุสะท้อนภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ และยังส่งผลสะเทือนมาจนถึงปัจจุบัน
Imagine Flood ของ มิติ เรืองกฤติยา คือชุดภาพถ่ายกรุงเทพฯ ในช่วงที่เมืองทั้งเมืองจมบาดาลในปี 2011 วิกฤติอุทกภัยที่ไม่เพียงรุนแรงในเชิงกายภาพ แต่ยังรุนแรงและเผ็ดร้อนในแง่มุมทางการเมือง รวมไปถึงการที่ภาครัฐให้ความสำคัญ (ในการแก้ปัญหา) อย่างไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองหลวงและพื้นที่ต่างจังหวัด โดยมิติเลือกออกไปบันทึกภาพถ่ายในช่วงเวลากลางดึกอันเงียบสงัด ไร้ซึ่งความเคลื่อนไหวและผู้คน ประหนึ่งเมืองร้าง นั่นทำให้ภาพถ่ายของมิติสะท้อนความลึกลับ น่าหวาดหวั่นในความดำมืด ได้เท่าๆ กับสะท้อนความว่างเปล่าและเฉยชาของเมืองเมืองหนึ่ง
เช่นเดียวกับ Sky Lines ของวิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ ที่เลือกถ่ายภาพ ‘ที่ว่าง’ ในกรุงเทพฯ ในมุมมองที่ไม่สะท้อนอัตลักษณ์ใดๆ ของพื้นที่ นอกเหนือจากเส้นสายหรือความว่างเปล่าที่ดูไร้ขอบเขต และไม่อาจระบุเนื้อหาอื่นใดได้ กระทั่งช่วงเวลา อีกหนึ่งชุดภาพนิ่งที่สะท้อนความเป็น ‘ชั่วกาลนาน’ ของสถานที่ ซึ่งศิลปินยืนยันว่านี่คือภาพถ่ายกรุงเทพฯ
ที่ตั้งอยู่ในสุดมุมห้อง ในมุมที่เปิดให้ผู้ชมได้นั่งลงบนเก้าอี้หวายและรับชมวิดีโอจากจอโทรทัศน์ขนาด 14 นิ้ว One Light Year on Earth ของอัลเบิร์ต สัมเรท (Albert Samreth) ดูจะเป็นผลงานที่ ‘เล่าเรื่อง’ ที่สุด เพราะภายในจอโทรทัศน์ดังกล่าวฉายวิดีโอสารคดีที่ศิลปินพาไปสำรวจสิ่งปลูกสร้างอันเป็นผลงาน วันน์ โมลีวันน์ (Vann Molyvaan) สถาปนิกคนสำคัญในยุค 1960s ของกัมพูชา ที่ได้ออกแบบอาคารโมเดิร์นไว้หลายแห่งในพนมเปญ ในยุคก่อนเขมรแดงเรืองอำนาจ และจนปัจจุบันสถาปัตยกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นมรดกของชาติหลายแห่งนี้ ก็ยังคงถูกทิ้งร้างไว้ อัลเบิร์ตยังจัดแสดงประติมากรรมที่ทำจากซีเมนต์ผุเก่าแซมด้วยไม้เลื่อย เสริมอรรถรสแห่งความร้างไร้ประกอบไปกับวิดีโออีกด้วย
งานที่ดูมีอารมณ์ขันที่สุด แต่สะท้อนภูมิทัศน์ที่ไปไกลกว่าภาพที่เห็นได้มากที่สุดงานหนึ่งคือ Charoensuk World Tour ชุดภาพถ่ายของศิลปิน อนุสรณ์ เจริญสุข และครอบครัวของเขา บนฉากหลังที่เป็นภาพวาดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั่วโลกอย่าง กำแพงเมืองจีน, ภูเขาไฟฟูจิ และลอนดอนอาย (London Eye) ฯลฯ ภาพถ่ายที่ศิลปินอธิบายว่าจะช่วยเติมความฝันของเขาในฐานะชนชั้นกลางคนหนึ่งที่ต้องการพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศ อนุสรณ์สร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ขึ้นระหว่างปี 2010-2012 อันเป็นยุคสมัยก่อนการมาถึงโดยสมบูรณ์ของโซเชียลมีเดีย หากมองในยุคปัจจุบัน อารมณ์ขันของอนุสรณ์มีลักษณะคล้ายมีม (meme) หรือภาพตัดต่ออันขบขันที่ผู้คนในโซเชียลมีเดียนิยมนำมาแชร์ต่อเนื่อง ซึ่งก็น่าสนใจว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มุกตลกที่สะท้อนข้อจำกัดและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (ทั้งต่อชนชั้นที่แตกต่าง และกระทั่งภายในชนชั้นกลางด้วยกันเอง) ในประเทศนี้ก็ยังคงอยู่ ไม่หายไปไหน
ส่วน Ten Places in Tokyo (2013) โดยสุทธิรัตน์ ศุภปริญญา คือนิทรรศการที่ใช้พื้นที่มากที่สุด (ห้องสี่เหลี่ยมขนาด 20 ตารางเมตรโดยประมาณ) ขณะเดียวกันก็มีสีสันในความไร้สีสันมากที่สุด และมีความเคลื่อนไหวในความนิ่งงันมากที่สุด นี่คือผลงาน video installation ผ่านจอโทรทัศน์และการฉายภาพด้วยโปรเจกเตอร์สู่ผนัง แสดงภูมิทัศน์ของความเคลื่อนไหวของผู้คนในสถานที่ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้า (ที่ส่วนหนึ่งได้มาจากพลังงานนิวเคลียร์) มากที่สุด 10 แห่งทั่วกรุงโตเกียว
ในห้องสี่เหลี่ยมที่ฉาบด้วยไฟฟลูออเรสเซนต์สีส้มเจิดจ้า สุทธิรัตน์เริ่มต้นวิดีโอทั้งหมดด้วยทัศนียภาพอันชัดเจนของสถานที่และวิถีชีวิตของผู้คนในโตเกียวในโทนขาว-ดำ และเมื่อความเคลื่อนไหวดำเนินไปได้สักพัก ภาพก็ค่อยๆ แตกออกเป็นเม็ดสีดำเล็กๆ คล้ายภาพถูกสัญญาณรบกวน และสัญญาณดังกล่าวกำลังกัดกินทัศนียภาพนั้นลง จนในที่สุดภาพเคลื่อนไหวทั้ง 10 ก็เลือนหายเหลือเพียงแสงสีขาว ตัดกับสีของไฟในห้องที่เปลี่ยนจากโทนส้มเป็นสีแดงเข้ม ก่อนที่เพียงอึดใจ ทัศนียภาพในหน้าจอทั้ง 10 ก็กลับมาใหม่ พร้อมกับเฉดสีของห้องที่เปลี่ยนไป หมุนเวียนตามกระบวนการที่กล่าวเช่นนั้นอย่างไร้จุดจบ
สุทธิรัตน์สร้างสรรค์งานชิ้นนี้เมื่อปี 2013 ระหว่างที่เป็นศิลปินพำนักที่ญี่ปุ่น และได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่า (ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) และเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเมื่อปี 2011 ทั้งในสถานะของอาวุธหนักและภัยพิบัติที่คร่าชีวิตผู้คน หากผู้คนก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานนี้อย่างไม่สิ้นสุด ความย้อนแย้งดังกล่าวยังสะท้อนผ่านการเลือกใช้แสงสีที่ฉาบทับห้อง ที่ดูเผินๆ ก็เป็นสีสันที่สวยงามและชวนให้เซลฟี่ดี แต่ข้อเท็จจริงที่สุทธิรัตน์พบมาว่าเฉดสีดังกล่าวนี้ก็เป็นเฉดเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างการระเบิดของปรมาณูเช่นกัน
นี่เป็นผลงานบางส่วน ซึ่งนอกเหนือจากลักษณะร่วมของการเป็น ‘ภูมิทัศน์’ ผลงานแต่ละชิ้นก็ดูจะไม่มีเนื้อหาใดเชื่อมโยงกันได้เลย กระนั้นก็น่าสนใจที่ว่าเมื่อพวกมันถูกจัดวางอยู่ในห้องเดียวกัน บนผนังเดียวกัน หรือวางเผชิญหน้ากันอย่างไม่มีอะไรกางกั้น ผลงานที่ถูกสร้างขึ้นต่างกรรมต่างวาระในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมานี้ ก็กลับสะท้อนให้เห็นภูมิทัศน์ในภาพใหญ่ของดินแดนโดยรอบและดินแดนที่เราอยู่อาศัย ภูมิทัศน์ที่ทั้งชวนมอง ไม่น่ามอง หรือกระทั่งรู้สึกถึงความว่างเปล่าเมื่อได้จ้องมอง
อีกทั้งภาวะ ‘หมุนวนไม่สิ้นสุด’ ภายในภูมิทัศน์ ยังจะดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งลักษณะร่วมที่พบได้ในผลงานของศิลปินหลายท่าน ทั้งภาพการก่อสร้างขยายดินแดนบนเกาะสิงคโปร์ ที่ในข้อเท็จจริง ก็ดูเหมือนประเทศต้องการขยายพรมแดนออกไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีวันจบ, งานจิตรกรรมสื่อผสมรูปแม่น้ำโขงทรงกลม, รูปถ่ายบ้านเรือนโทรมทรุดและถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจากการก่อสร้างในกัมพูชา ที่ดูเป็นภูมิทัศน์สามัญที่ไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ในกัมพูชา, ภาพถ่ายที่สะท้อนความมืดมนชั่วกาลนานของกรุงเทพฯ หรือภาพกิจวัตรของผู้คนในมหานครโตเกียวที่หมุนวนอยู่ท่ามกลางการบริโภคพลังงานไฟฟ้าอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด
คิวเรเตอร์ตั้งชื่อนิทรรศการชุดนี้ว่า ‘แดนชั่วขณะ’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภูมิศาสตร์หรือเขตแดนทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมที่ไม่มีวันยั่งยืน กระนั้นผลงานหลายชิ้นก็กลับสื่อสารออกมาด้วยนัยสำคัญว่า แม้ภูมิทัศน์จะไม่ยั่งยืน หากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ดำเนินอยู่ คลี่คลาย หรือผันผวน ฯลฯ ในภาพทั้งหลายเหล่านี้ ก็จะยังคงหมุนเวียนต่อไปเช่นนั้นชั่วกาลนาน
Fact Box
‘แดนชั่วขณะ: ศิลปะสะสมใหม่เอี่ยม จาก พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน’ จัดแสดงถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563
เปิดทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร 10.00 – 18.00 น.
ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง, ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่
โทร. 0 5208 1737, www.maiiam.com