แปลกดีที่ว่าจนมาถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2561 นี้ ยังมีผู้คนไม่น้อยเห็นตรงกันว่า การปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม และจนทุกวันนี้ สังคมไทยก็ยังไม่เหมาะกับการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

ความคิดเรื่องชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ นั่นยังพอถกเถียงกันได้ แต่ความคิดที่ว่าบ้านเมืองเราในปัจจุบันยังไงก็ไม่เหมาะกับประชาธิปไตย และเป็นเรื่องดีแล้วที่ประเทศชาติในปัจจุบันจะเดินต่อไปข้างหน้าด้วยรองเท้าบูธของทหารนี่… (ขออภัยที่ไม่สุภาพ) เป็นความคิดที่ดักดานเหลือทน และเปล่าประโยชน์ที่จะต้องมาแลกเปลี่ยนด้วย

แต่ที่ต้องยกข้อถกเถียงเช่นนี้มาเปิดเรื่อง เพราะผู้เขียนสนใจประเด็นข้อกล่าวหาจากฝั่งอนุรักษ์นิยม ทั้งการชิงสุกฯ เอย หรือ ข้อกล่าวหาที่ฮิตไม่แพ้กันอย่าง นี่คือการชิงอำนาจกันเองของคนชนชั้นบนในเมืองหลวงเพียงหยิบมือเท่านั้น ไพร่ฟ้าหน้าใสอย่างพวกเราจะไปรู้เรื่องอะไร

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามตอบคำถามในประเด็นนี้มาตลอด หลายคนรู้จักเขาดีในฐานะนักวิชาการสายประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ล่าสุดในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นทั้งวันชาติ (เดิม) ของไทย และวันครบรอบ 86 ปีที่ประเทศเปลี่ยนผ่านการปกครอง เขาได้ร่วมงานกับกิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์จาก Waiting You Curator Lab จัดนิทรรศการ ‘ของ (คณะ) ราษฎร’ โดยหวังจะตอบคำถามข้างต้น พร้อมไปกับการเฉลิมฉลอง 86 ปีที่ประเทศเรามีประชาธิปไตย

โอเค, แม้ 4 ปีหลังมานี้ บ้านเมืองเราจะติดหล่มอยู่กับเผด็จการทหารก็เถอะ

‘ของ (คณะ) ราษฎร’ จัดขึ้นที่ คาร์เทล อาร์ตสเปซ เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงสิ่งของที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎร 52 ชิ้น ทั้งวัตถุที่ผลิตขึ้นโดยรัฐ (ตัวคณะราษฎรเอง) เพื่อเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตย วัตถุที่ผลิตขึ้นโดยเอกชนที่สะท้อนถึงความตื่นตัวของความทันสมัยอันใหม่หมาดในสังคม รวมไปถึงแบบร่างอาคารหรืออนุสรณ์สถานที่ไม่ได้สร้าง หรือเคยสร้างแต่ถูกทุบทำลายหรือเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยรวบรวมวัตถุที่ผลิตขึ้นนับตั้งแต่การปฏิวัติสยามไป 15 ปี (ก่อนที่ผิน ชุณหะวัณ จะทำการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2490)

“นี่คือความพยายามโต้แย้งวาทกรรมที่ว่าการปฏิวัติในปี 2475 เป็นการถ่ายโอนอำนาจโดยนายทหารหัวสมัยใหม่ที่จบจากเมืองนอกเท่านั้น โดยวัตถุที่จัดแสดงนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งงานออกแบบ สถาปัตยกรรม ดนตรี และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถึงทางพุทธศาสนา” กิตติมา กล่าว

วัตถุจัดแสดงครอบคลุมตั้งแต่โมเดลของสิ่งปลูกสร้างอย่างแบบจำลองของฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ไม่ได้ถูกเลือกใช้ เหรียญตรา ถ้วยรางวัล ไปจนถึงข้าวของเล็กๆ น้อยๆ โดยสิ่งปลูกสร้างที่จัดแสดงก็มีไม่น้อยชิ้น มาจากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมหรือสิ่งของที่ถูกใช้ในวัด อีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ก็ไปปรากฏอยู่ในสถานที่ที่แต่เดิมคือศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัด เป็นต้น

ตั้งอยู่ ณ จุดที่เห็นได้ชัดที่สุดภายในห้องนิทรรศการ ‘หน้าบันศาลาการเปรียญ’ วัดตลิ่งชัน คือหนึ่งในไฮไลต์ของงาน หน้าบันที่มีประติมากรรมเทวดาเทินพานรัฐธรรมนูญ บนรัฐธรรมนูญแกะสลักเป็นตัวอักษร พ.ศ. ๘๔ ซึ่งเป็นปีที่หน้าบันนี้ถูกแกะขึ้นมา (2484) นี่เป็นลวดลายที่สร้างขึ้นจากคอนกรีตทับลวดลายของหน้าบันเดิม โดยหน้าบันเดิมสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อีกมุมหนึ่งของห้อง จะพบพนักพิงธรรมาสน์ ของวัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี (พนักพิงนี้จัดแสดงถาวรอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด) โดดเด่นด้วยแผ่นไม้แกะสลักรูปพานรัฐธรรมนูญมีรัศมีเปล่งประกายอยู่เบื้องหลัง (ประหนึ่งจะแสดงความหมายถึงแสงสว่างที่เจิดประกายจากการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ) และเมื่อแหงนคอมองขึ้นไปบนเพดาน จะพบกับฝ้าเพดานที่จำลองมาจากวัดท่าคก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ฝ้าพื้นสีน้ำเงินประดับลายไทยสีทอง ที่มีพานรัฐธรรมนูญตระหง่านอยู่กลางฝ้า – นั่นล่ะครับ วัตถุแปลกใหม่ในยุคนั้นอย่างพานรัฐธรรมนูญ ยังเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ ไปอยู่บนฝ้าเพดานของเชียงคานเลย

ท่ามกลางวัตถุจัดแสดงที่ส่วนใหญ่มีพานรัฐธรรมนูญเป็นลวดลาย ราวกับเครื่องหมายการค้า (ไม่เว้นกระทั่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นสินค้าในยุคสมัยนั้นอย่าง ขวดบรรจุน้ำหวาน ขวดเบียร์ ขัน โอ่งดินเผา กล่องใส่บุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ แผ่นเสียงเพลงสดุดีรัฐธรรมนูญ ฯลฯ) หนึ่งในวัตถุจัดแสดงที่ไม่มีรูปพานรัฐธรรมนูญ หากก็สื่อความหมายของ ‘ความทันสมัย’ ที่เกิดจากการได้มาซึ่งเสรีภาพได้ดีคือ เมรุเผาศพของวัดไตรมิตร (จัดแสดงด้วยแบบจำลอง) ออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร สถาปนิกจากกรมศิลปากร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484

นี่เป็นเมรุเผาศพสามัญชนแห่งแรกของไทย (แต่เดิมจะมีการเผาบนเชิงตะกอน) หนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า จากการที่สามัญชนได้มีโอกาสจัดพิธีศพอย่างเป็นส่วนตัว คนอื่นไม่ต้องมาเห็นศพของเราถูกเผาบนเชิงตะกอนอย่างน่าสังเวช หรือกระทั่งมีแร้งกามาจิกกิน รวมถึงการเข้าถึงสุขอนามัยที่เป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง

เตาเผาศพสมัยใหม่นี้อยู่ด้านหลังอาคารทรงเครื่องยอดมณฑป สถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมในยุคคณะราษฎร ซึ่งแม้ในปี พ.ศ. 2550 เมรุหลังนี้จะถูกรื้อทำลายและแทนที่ด้วยมหามณฑปของวัด หากรูปแบบของการสร้างเมรุเผาศพของวัดไตรมิตร ก็เป็นต้นแบบของเมรุเผาศพที่มีให้เห็นตามวัดทั่วๆ ไป และยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

มีวัตถุอีกหลายชิ้นที่แม้ไม่ได้สื่อสารถึง ‘แนวคิดประชาธิปไตย’ โดยตรง แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชักจูงให้ประชาชนมาร่วมกันมีบทบาทสร้างชาติกันในทางอ้อม ทั้งคู่มือสมรส ที่เป็นไกด์บุ๊กการสร้างครอบครัวที่ถูกสุขลักษณะ จัดพิมพ์โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก่อตั้งครั้งแรกก็ในยุคคณะราษฎร หนังสือและสิ่งพิมพ์อีกหลากหลายที่กลายมาเป็นสมบัติที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง รวมทั้งประติมากรรมนูนต่ำรูปเจ้าแม่โมฬี ของประดับผนังโรงภาพยนตร์ทหารบกในจังหวัดลพบุรี ที่รูปร่างของเจ้าแม่โมฬีสะท้อนอุดมคติในการสร้างชาติผ่านร่างกายผู้หญิง ด้วยมีรูปร่างที่อวบอัดสมส่วน ดูสมบูรณ์แข็งแรง ไม่อ้อนแอ้นอรชร เป็นต้น

แม้ของเกือบทุกชิ้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่แฝงฝังไปด้วยคำโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐแบบหนึ่งในยุคสมัยนั้น กระนั้นก็น่าสนใจที่ว่าเมื่อมองในภาพรวม เราจะพบว่าก็มีสิ่งของอีกไม่น้อยที่สร้างขึ้นโดยภาคเอกชน ประหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้า edition ร่วมฉลองการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของสยามประเทศด้วย ไม่เว้นกระทั่งการตบแต่งภายในวัด

คิดว่านิทรรศการนี้จะสมบูรณ์แบบมากๆ หากมีหมุดคณะราษฎรของจริงที่สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย มาจัดแสดงด้วย เพราะนี่คือหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ตรงไปตรงมาที่สุดในสยามประเทศ แต่นั่นล่ะ ในยุคสมัยที่รัฐบาลเผด็จการพยายามตัดต่อประวัติศาสตร์กันอย่างหน้าด้านๆ เช่นนี้ และเหล่าประชาชนผู้มีการศึกษาส่วนใหญ่กลับไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอะไร หรือกระทั่งสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ การที่ใครสักคนนำ ‘หมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใส’ มาใส่แทน บางทีมันก็อาจเหมาะสมดีแล้ว   

 

หมายเหตุ: นิทรรศการ ของ (คณะ) ราษฎร จัดแสดงถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2018 ที่ Cartel Artspace

ขอบคุณภาพโดย: Watcharapat Kongkhaow

Fact Box

หมุดคณะราษฎร หรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ  เป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นบนลานพระบรมรูปทรงม้า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศคณะราษฎร มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"  กระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2560 จู่ๆ ก็มีคนมาเปลี่ยนหมุดอันเดิมออกไป และแทนที่ด้วยหมุดที่มีข้อความว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน

Tags: , , , ,