ด้วยความที่อิหร่านเป็นประเทศปิดและโดดเดี่ยวตัวเองจากสังคมโลก อีกทั้งยังมีข่าวไม่ค่อยดีให้ได้ยินกันบ่อยๆ เช่น การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ การทำสงครามและความขัดแย้งกับประเทศต่างๆ การจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มงวดและจับคนคิดต่างเข้าคุกเป็นว่าเล่น ฯลฯ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดถึงอิหร่านเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับการท่องเที่ยวสักเท่าไร

ทั้งที่จริงแล้ว อิหร่านถือเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจหลายประการ เช่น อารยะธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 4,000 ปี สิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ธรรมชาติอันหลากหลายทั้งภูเขา ทะเล หิมะ ทะเลสาบ ทะเลทราย และผู้คนอิหร่านก็ใจดี เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยว

สำหรับผู้ที่หลงใหลการเดินเล่นในเมือง เตหะรานน่าจะเป็นเมืองที่คุณชื่นชอบได้ไม่ยาก  ด้วยความที่ทางเท้าในเมืองมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มีต้นไม้ใหญ่และดอกไม้ทั่วเมือง ตึกรามบ้านช่องที่สวยงามคลาสสิก ยิ่งการจราจรในเมืองนี้ติดขัดวุ่นวายแบบสุดๆ ก็ยิ่งทำให้เดินทางด้วยการเดินเท้าบวกกับรถไฟฟ้าดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

นอกจากนั้น การเดินยังเปิดโอกาสให้เราได้พบเจอและพูดคุยกับคนท้องถิ่น คนที่นี่มีความเป็นมิตรสูง มีมารยาท ชอบชวนคุยและให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ซึ่งนั่นทำให้ผมมักจะแนะนำมิตรสหายที่ไปเที่ยวเตหะรานอยู่เสมอว่า อย่าเที่ยวแบบเน้นแลนด์มาร์กเพียงอย่างเดียว แต่ควรเผื่อเวลาให้กับการเดินเที่ยวในเมืองด้วย เพราะน่าจะได้รับประสบการณ์ดีๆ กลับมาไม่น้อย

ในเตหะราน ควรไปเดินเที่ยวที่ไหนดี? เพื่อให้รู้จักบ้านเมือง สังคม วัฒนธรรม และผู้คนอิหร่านได้ดีขึ้น ผมขอแนะนำสถานที่ที่น่าสนใจสี่แห่ง

ตลาด Grand Bazaar

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าอยากรู้จักบ้านเมืองที่ไหน ให้ไปดูตลาดของที่นั่น” ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าการไปเดินที่แกรนด์บาซาร์ (Grand Bazaar) ถือเป็นการทำความรู้จักบ้านเมืองนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งก่อนหน้านั้น ผมคาดเดาว่าตลาดชื่อดังใจกลางเมืองเตหะรานอายุนับ 100 ปีแห่งนี้น่าจะมีขนาดประมาณตลาดจตุจักร แต่ที่จริงแล้วมันใหญ่กว่านั้นเยอะ

ด้วยความยาวเกิน 10 กิโลเมตร มีจำนวนร้านค้าและปริมาณผู้ขายผู้ซื้อมหาศาล ทำให้มันเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโซนตะวันออกกลาง ตลาดแห่งนี้เหมือนเป็นเมืองย่อมๆ อีกเมือง เพราะนอกเหนือจากร้านค้าแล้ว ยังมี มัสยิด โรงแรม ธนาคาร ร้านอาหาร ร้านน้ำชา สุสาน ฯลฯ

และด้วยความที่ตลาดมีทางเข้าหลายจุด มีหลายชั้นหลายโซน มีทางเดินวกวนราวกับเขาวงกต ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเดินไปแล้วจะเกิดหลงทางหาทางออกไม่เจอ

ตลาดแห่งนี้ไมได้เป็นแค่ที่ขายของธรรมดา แต่มันมีอิทธิพลทั้งในเชิงเศรษฐกิจ พาณิชย์ การสำรองสินค้า การส่งออก รวมถึงในเชิงการเมืองด้วย เนื่องจากพ่อค้าในตลาดนี้ถือเป็นขุมกำลังสำคัญของกลุ่มอนุรักษนิยม อีกทั้งยังเป็นกองหนุนสำคัญในการปฏิวัติอิสลามในปี 1979

แม้เราจะไม่ใช่นักช็อปตัวยง แต่ด้วยข้าวของในตลาดก็ทำให้กระเป๋าเงินในมือของเรามันสั่นระริก ซึ่งสินค้าที่น่าสนใจมีทั้ง ของกิน เช่น ถั่วสารพัดชนิด (ถั่วพิสตาชิโอราคาถูกกว่าไทยหลายเท่า) เครื่องเทศ ผลไม้แห้ง น้ำผลไม้ปั่นแบบสดๆ ข้าวของหลากชนิด เช่น พรมเปอร์เซีย ผ้าม่าน โคมไฟ สร้อย/ตุ้มหู/กำไล/นาฬิกา อัญมณีต่างๆ จานถ้วยชามหม้อไห ชุดจอกแบบเปอร์เซีย

ด้วยค่าครองชีพของอิหร่านที่ใกล้เคียงกับไทย ทำให้ข้าวของที่ดูเหมือนจะแพงระยับเหล่านี้กลับมีราคาไม่สูงเกินเอื้อม

อีกสิ่งที่ดูเพลิดเพลินไม่แพ้กัน ก็คือลีลาการขายของพ่อค้าที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศ แม้เราจะบอกพ่อค้าขายพรมหรือชุดจานชามว่า แบ็กแพคเกอร์อย่างเราไม่มีปัญญาแบกของใหญ่ขนาดนั้นบินกลับประเทศได้ อีกทั้งเงินสดของเราก็มีไม่มากพอ (อิหร่านถูกบอยคอตเรื่องธุรกรรมการเงินจากประเทศอื่นๆ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถรูดบัตรเครดิตหรือกดเอทีเอ็มได้ จึงควรเตรียมเงินสดมาให้มากพอและวางแผนการใช้ให้ดี เพราะถ้าเงินหมดแล้วจะเกิดปัญหาทันที) แต่พ่อค้าก็บอกมาว่า ไม่มีปัญหา เพราะเขามีบริการจัดส่งสินค้าทางเรือ อีกทั้งยังมีที่รูดบัตรเครดิตให้เราใช้อีกด้วย (ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมที่นี่ถึงใช้ได้)

ธรรมเนียมที่เห็นได้ชัดจากเหล่าพ่อค้าในตลาด (รวมถึงคนอิหร่านที่อื่นๆ ด้วย) ก็คือ การชวนไปจิบน้ำชาที่ร้าน/ที่บ้านเพื่อพูดคุย โดยไม่ได้คาดคั้นว่าต้องซื้อสินค้าของเขา (แต่ก็มีความคาดหวังว่าซื้อก็ดี) เราเข้าไปกินชาในร้านขายพรมที่อยู่กันเป็นครอบครัว หลังจากพ่อค้าอธิบายถึงศิลปะการทำพรมว่ามีความซับซ้อนแค่ไหนแล้ว เขาก็ถามเราว่ามาจากไหน พอรู้ว่ามาจากเมืองไทยก็ตอบกลับมาทันทีว่า “I know Pattaya” (ข้อสังเกต – คนอิหร่านส่วนใหญ่รู้จักพัทยาเป็นอย่างดี รวมถึงมีหลายคนเคยไปด้วย) และถามเรากลับมาว่า คุณคิดว่าอิหร่านเป็นอย่างไร เหมือนที่เคยคิดเอาไว้หรือเปล่า (ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่เราได้ยินทุกวัน) เราก็ตอบจากใจจริงว่าชอบมากๆ และไม่เหมือนที่คิดไว้ ต่อมาลูกชายของบ้านนี้ก็อาสาพาเราเดินเที่ยวตลาด เราตอบปฏิเสธเพราะเกรงใจและรับปากว่า ถ้าได้มาแถวนี้อีกครั้งจะกลับมาอุดหนุนแน่นอน (แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหาร้านเจอหรือเปล่าเพราะทางเข้าชวนสับสนมาก)

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์

เตหะรานมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย แต่ที่ที่เรามองว่าห้ามพลาดเด็ดขาด! ได้แก่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์อิหร่าน (Iran Film Museum) ด้วยความที่ผู้เขียนชอบดูหนังอิหร่านและมีหนังอิหร่านติดอันดับหนังในดวงใจหลายเรื่อง

หนังอิหร่านโด่งดังอย่างมากในหมู่คอหนังเมื่อ 20 ปีก่อนในยุคที่ ‘แว่นวีดิโอ’ กำลังโด่งดัง หลายคนน่าจะคุ้นชื่อหนังอย่าง The White Balloon, Taste of Cherry, Children of Heaven, The Day I Became a Woman และชื่อผู้กำกับอย่างอับบาส เคียรอสตามี, จาฟาร์ ปานาฮี, โมห์เซน มัคมัลบาฟ ฯลฯ

ความน่าสนใจของหนังอิหร่านอยู่ที่แม้ประเทศนี้จะมีการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดมากๆ (เช่น ห้ามวิพากษ์รัฐหรือศาสนาตรงๆ ผู้หญิงในหนังต้องคลุมผม ตัวละครห้ามทำผิดกฎศาสนา เช่น กินเหล้า) แต่คุณภาพของหนังยังคงโดดเด่น โดยเฉพาะยุค New Wave ช่วง ’90s ซึ่งจุดเด่นของหนังอิหร่านยุคนี้อยู่ที่การนำเสนอแบบสมจริง (realistic) มากๆ ไม่ใส่องค์ประกอบเร้าอารมณ์ (เช่น มุมกล้องหวือหวา ดนตรีประกอบ การแสดงแบบโอเวอร์) ใส่ประเด็นในเชิงปรัชญา (อย่างเรื่องชีวิต ความจริง ความรัก ความตาย) หลายเรื่องมีความก้ำกิ่งระหว่างเรื่องแต่งกับเรื่องจริง ซึ่งนั่นทำให้หนังอิหร่านหลายเรื่องมีลักษณะเหมือนบทกวี ดูแล้วเกิดความ enlighten แต่ด้วยความเรียบนิ่งของมันทำให้ผู้ชมที่ชอบดูหนังเน้นบิลด์อารมณ์หรือหนังเพื่อความบันเทิงเกิดอาการหลับคาจอได้

จากการหาข้อมูลพบว่า พิพิธภัณฑ์นำเสนอประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เปอร์เซียครอบคลุมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีทั้งข้อมูลหนังที่เด่นๆ ประวัติคนทำหนัง เครื่องมือของจริงที่เคยถูกใช้ รวมถึงฉายหนังในอดีตที่หาดูยาก (น่าจะคล้ายๆ หอภาพยนตร์บ้านเรา) พอหาข้อมูลเสร็จก็เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์อย่างมุ่งมั่นเพื่อที่จะได้พบว่ามันปิดทำการ! ทั้งที่เราเช็กข้อมูลต่างๆ มาดีแล้วว่า เป็นช่วงที่เปิดทำการชัวร์ๆ จากการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ได้ความว่า พิพิธภัณฑ์น่าจะปิดปรับปรุงชั่วคราว เราจึงได้แต่เดินเล่นรอบๆ อาคาร ซึ่งตกแต่งด้วยโปสเตอร์หนังอิหร่านเรื่องเด่นๆ ที่โด่งดังในระดับนานาชาติ อย่าง Tastes of Cherry ที่ได้รางวัลปาล์มทองคำที่เมืองคานส์รวมถึง A Separation ที่ได้ออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมและเป็นเรื่องผู้ชมชาวไทยน่าจะรู้จักกันดีเพราะเคยเข้าฉายในบ้านเราด้วย

แต่เอาเข้าจริง แม้พิพิธภัณฑ์จะปิด แต่เราก็มองว่าไม่ได้มาเสียเที่ยว ด้วยความที่ตัวอาคารเป็นวังเก่าทำให้แค่ดูจากภายนอกก็คุ้มแล้ว พื้นที่โดยรอบก็สวยงามและมีบรรยากาศรื่นรมย์ชวนให้ใช้เวลาเดินเล่นและถ่ายรูปได้เป็นชั่วโมง ในบริเวณนี้มีทั้งต้นไม้ดอกไม้หลากสีสัน น้ำพุ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านดีวีดี รวมถึงมีแมวน่ารักๆ ตามจุดต่างๆ เยอะไปหมด เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่ควรมาแม้จะไม่เคยดูหนังอิหร่านสักเรื่องก็ตาม

ที่สวนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ มีคนอิหร่านท่าทางเป็นปัญญาชนเข้ามาเดินทักเรา เนื่องจากเห็นหนังสือเกี่ยวกับหนังที่เราถือในมือ เขาอธิบายว่า หนังอิหร่านเรื่องที่โด่งดังและได้รางวัลในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นหนังที่คนอิหร่านเองก็ไม่ค่อยได้ดู และฉายในโรงแบบจำกัดมากๆ บางเรื่องถึงขั้นถูกเซ็นเซอร์ห้ามฉายด้วยซ้ำ (น่าจะเป็นแบบเดียวกับหนังของ เจ้ย–อภิชาตพงศ์ ในเมืองไทย)

คนที่นี่นิยมดูหนังเพื่อความบันเทิง โดยหนังที่ฉายในโรงส่วนใหญ่จะเป็นหนังท้องถิ่นที่ไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ (ได้ฟังดังนี้แผนการของเราที่จะดูหนังอิหร่านในโรงจึงถูกระงับไป) ส่วนหนังฮอลลีวู้ดนั้น ต้องบอกว่าฝันไปก่อน เพราะถูกแบนทั้งแบบฉายโรงและดีวีดี (แต่พอหาได้จากแผ่นผิดลิขสิทธิ์ที่แอบขายกันอยู่)

ที่นี่เราสังเกตว่าเราแทบไม่เห็นป็อบ คัลเจอร์ จากหนังฮอลลีวู้ด ยกเว้นแต่สพันจ์บ๊อบ มินเนี่ยน ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนที่ไม่ใช่มนุษย์ และไม่มีเพศชัดเจน

อดีตสถานทูตอเมริกา

สถานที่อีกแห่งที่เราลิสต์เอาไว้ว่าห้ามพลาด ก็คือ อดีตสถานทูตอเมริกา ใครที่เกิดทันในยุคนั้น (หรือใครที่เคยดูหนัง Argo) คงจำเหตุการณ์ที่ประชาชนซึ่งโกรธแค้นอเมริกา (ที่หนุนหลังพระเจ้าชาห์) พากันบุกสถานทูตอเมริกาในช่วงปฏิวัติอิสลาม 1979 โดยมีการจับตัวประกัน 52 คนเอาไว้เป็นเวลา 444 วัน ปัจจุบันสถานทูตดังกล่าวถูกทิ้งร้างและถูกเรียกเสียใหม่ว่าเป็น US Den of Espionage (หรือแหล่งซ่องสุมจารชนของสหรัฐ)

ถ้าเดินทางมาที่นี่ เราจะรู้ได้ว่ามาถูกทางแล้ว สังเกตจากกำแพงขนาดยาวที่ถูกพ่นด้วยกราฟิตีมากมาย รวมถึงสนามหญ้าหน้าอาคารซึ่งเต็มไปด้วยภาพวาดและภาพถ่ายเชิงศิลปะ ซึ่งทั้งหมดนี้มีเนื้อหาต่อต้านอเมริกา รวมถึงอิสราเอล สองประเทศคู่แค้นของอิหร่าน (นอกจากกำแพงแห่งนี้เรายังเห็นกราฟฟิตี้และบิลบอร์ดต่อต้านสองประเทศดังกล่าวในอีกหลายที่ในเตหะราน) หลายชิ้นทำออกมาสวยและมีพลังมากจนเราต้องหยุดยืนดูนานหลายนาที พร้อมคิดในใจว่า ถ้าคนอเมริกันหรืออิสราเอลเกิดเดินผ่านมาเห็นกราฟิตีเหล่านี้อาจเกิดอาการกระอักเลือดได้ ซึ่งยากจะเกิดขึ้น เพราะคนทั้งสองประเทศนี้คงขอวีซ่าเข้าอิหร่านได้ยาก

สำหรับอดีตสถานทูตอเมริกา เป็นอาคารสูงสองชั้น หลังเหตุการณ์จับตัวประกันครั้งนั้น อาคารนี้ก็ถูกแบ่งพื้นที่ โดยบางส่วนถูกใช้เป็นหน่วยงานรัฐ บางส่วนถูกเก็บรักษาเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการต่อต้านอเมริกา ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เรารู้มาจากกูเกิล เพราะทางการไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้าไปสำรวจข้างใน เราทำได้เพียงเกาะประตูรั้วแล้วถ่ายรูปจากด้านนอกเท่านั้น ซึ่งเราก็มารู้ทีหลังว่า ที่จริงการถ่ายรูปหรือเกาะรั้ว เขาก็ไม่ให้ทำ แต่โชคดีที่ตอนนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บริเวณนั้น

อันที่จริงก็มีชาวต่างชาติบางคนที่เคยเข้าไปได้ แต่ต้องมีแต้มบุญสูงจริงๆ ในระดับที่การได้จับมือกับ BNK48 ครบทั้งวงดูจะมีโอกาสง่ายกว่า (ดูตัวอย่างของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้าไปข้างในได้จากบล็อกนี้)

สถานที่แห่งนี้อาจไม่ได้ให้ความรู้สึกหย่อนใจเหมือนที่อื่นๆ แต่มันเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ และทำให้ผู้พบเห็นได้รับทราบถึงหนึ่งในความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ และยังคงดำเนินอยู่จนถึงตอนนี้

สวนสาธารณะ Laleh Park

อิหร่านขึ้นชื่อในเรื่องการจัดสวน เห็นได้จากสวนสาธารณะใหญ่ๆ ที่มีอยู่หลายแห่ง ขนาดสุสานของกวีหรือบุคคลสำคัญในอดีต เขาก็ทำเป็นสวนขนาดใหญ่

สวนในอิหร่านมีจุดเด่นอยู่ที่พื้นที่อันใหญ่โต การออกแบบจัดวางทั้ง ต้นไม้ ดอกไม้ แอ่งน้ำ อย่างสวยงาม เป็นศิลปะจนอยากเชิญคนออกแบบสวนมาช่วยออกแบบที่เมืองไทยบ้าง

สวนในเตหะรานที่เราชอบมากจนต้องหาโอกาสไปเดินซ้ำได้แก่ Laleh Park ซึ่งเป็นสวนที่อยู่ใจกลางเมืองติดรถไฟใต้ดิน ง่ายต่อการเดินทางมากๆ และเป็นสวนที่สวยงามเป็นอันดับต้นๆ และเราไปในช่วงใบไม้เปลี่ยนสีพอดี ทำให้ถ่ายรูปขึ้นกล้องมากๆ จนมิตรสหายของผมเห็นรูปแล้วนึกว่าอยู่ที่ยุโรป

สถานที่รอบสวนก็ล้วนแต่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์พรม ถนนย่านการค้า ช็อปปิงมอลล์ ร้านหนังสือ (ซึ่งขายวรรณกรรมต่างประเทศ) แกลเลอรีศิลปะ โรงหนัง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ (ซึ่งหลายร้านเปิดเพลงแจ๊ซตะวันตก) ฯลฯ

ด้วยความที่ย่านนี้ถือเป็นย่านปัญญาชน (และเป็นย่านฮิปสเตอร์) บรรดาคนที่เดินในสวนนี้ก็แต่งตัวกันสวยงามทันสมัย อีกทั้งยังชวนนักท่องเที่ยวสนทนาเป็นภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วกว่าที่อื่น

ที่น่าสังเกตคือ มีหลายคนเดินมาขออินสตาแกรมจากเรา เนื่องจากมันเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กเพียงอย่างเดียวที่เปิดได้ในอิหร่าน ในขณะที่เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ฮ็อตเมล รวมถึงเว็บต่างๆ ที่มีสัญชาติอเมริกัน ล้วนแต่ถูกบล็อค (ที่จริงสามารถใช้ VPN ช่วยเปิดได้ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามสูงมาก เนื่องจากอินเทอร์เน็ตในอิหร่านนั้นช้าสุดๆ จน VPN แทบไม่ทำงาน) ซึ่งอินสตาแกรมเป็นเหมือนช่องทางได้เห็นโลกกว้างของพวกเขา (ทุกวันนี้ภาพในอินสตาแกรมของผมซึ่งเช็คอินสถานที่ว่าอยู่อิหร่าน ก็ยังมีคนที่นั่นมากดไลค์อยู่เรื่อยๆ)

แค่ประมาณสองชั่วโมงในสวนก็มีคนเดินมาชวนเราคุยเกินสิบคนแล้ว จากการได้พูดคุยกับวัยรุ่นในเรื่องต่างๆ ทำให้ได้เห็นว่าที่จริงพวกเขามีแนวคิดเสรีนิยมและเปิดกว้างกว่าที่คิด บางคนบอกว่าเขาไม่นับถือศาสนา บางคนบอกว่าอยากเห็นอิหร่านมีเสรีภาพมากขึ้นและมีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เราย้อนถามเขาไปว่าคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงไหมและคิดว่าอนาคตของอิหร่านเป็นอย่างไรต่อไป เขานิ่งเงียบราวกับว่าคำตอบยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม

Fact Box

การเดินทางสู่อิหร่าน

ไฟลท์บินสู่เตหะรานมีให้เลือกหลายสายการบิน เช่น การบินไทย แอร์เอเชีย กาตาร์แอร์เวย์ มาฮานแอร์ มีทั้งบินตรง (ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง) และต่อเครื่อง

การทำวีซ่า สามารถทำได้ทั้งที่สถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทย (ต้องใช้ authorization code โดยให้เอเจนซี่ทัวร์อิหร่านหาโค้ดให้) หรือทำ visa on arrival ที่สนามบินซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง (ผู้เขียนแนะนำวิธีหลังเพราะสะดวกกว่า และมีโอกาสน้อยมากๆ ที่พาสปอร์ตไทยจะขอวีซ่าไม่ผ่าน เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้มีวีซ่าอิสราเอลอยู่ในเล่ม)

ในอิหร่านควรระวังเรื่องการปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์และหลักศาสนาของเขา ไม่ควรดื่มสุรา ไม่จับเนื้อต้องตัวเพศตรงข้าม ผู้หญิงควรเตรียมผ้าคลุมผมและแต่งตัวให้มิดชิด

Tags: , ,