ระบบจดจำใบหน้าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาผสานเข้ากับชีวิตของเรา ตั้งแต่การใช้ตรวจหาอาชญากรของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารและช่วยให้ผู้ใช้โทรศัพท์ปลดล็อคหน้าจอโทรศัพท์ได้ แต่ที่อึ้งไปกว่านั้นก็คือ ตอนนี้มีการใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะล่าสุด มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องชื่อดังใช้ระบบจดจำใบหน้ากับแฟนเพลงของเธอด้วย

การแสดงคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 มีผู้ชมมากกว่า 60,000 คน ในสนามกีฬา Rose Bowl รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้ระบบจดจำใบหน้า เช่นเดียวกับรัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา มีการติดตั้งตู้เล็กๆ ให้แฟนเพลงชมวิดีโอของเธอ แต่ผู้ชมเหล่านั้นไม่รู้ตัวเลยว่า มีกล้องที่มีระบบจดจำใบหน้า (facial-recognition) ติดอยู่และถ่ายภาพพวกเขาเอาไว้ด้วย ภาพเหล่านั้นถูกส่งไปยัง “กองบัญชาการ” ในเมืองแนชวิลล์ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาตรวจสอบและวิเคราะห์ใบหน้าร่วมกับฐานข้อมูลเกี่ยวกับสตอล์กเกอร์ที่มีแนวโน้มจะติดตามเธอได้

เทย์เลอร์ สวิฟต์ถูกคุกคามจากสตอล์กเกอร์มากมาย ในเดือนนี้เอง มีผู้ที่ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน จากการบุกเข้าไปในบ้านของเธอที่นิวยอร์ก ซึ่งตำรวจบอกว่าเขาขึ้นไปนอนบนเตียงของเธอ ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Esquire เมื่อปี 2014 สวิฟต์บอกว่า เธอต้องจัดการกับปัญหาที่มีผู้ชายหลายต่อหลายคนมาที่บ้านของเธอและบ้านของแม่ ข่มขู่ว่าจะฆ่า ลักพาตัว หรือแต่งงานกับเธอมาโดยตลอด จนต้องอาศัยทีมรักษาความปลอดภัยมาขจัดความกลัว

ทีมรักษาความปลอดภัยของสวิฟต์ใช้เทคนิคดึงดูดให้คนเข้ามายืนหน้ากล้องที่ตู้นี้ แทนที่จะใช้การตรวจจับสแกนกว้างๆ จากคนที่เดินผ่านไปมา ไมค์ ดาวนิ่ง (Mike Downing) หัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของบริษัทโอ๊ค วิว กรุ๊ป (Oak View Group) เปิดเผยระหว่างให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโรลลิ่งสโตนว่า จากที่ตัวเองสังเกตการใช้งานหลังจากที่ติดตั้งตู้เหล่านี้แล้ว ทุกคนที่เดินผ่านจะหยุดและจ้องมองเข้าไป จากนั้นซอฟต์แวร์ก็จะเริ่มทำงาน

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าบริษัทใดเป็นผู้ออกแบบตู้นี้และเคยถูกใช้ในคอนเสิร์ตอื่นหรือไม่ รวมทั้งตรวจหาสตอล์กเกอร์ได้หรือไม่ ส่วนสวิฟต์และทีมงานของเธอไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้

แต่การเปิดเผยนี้ก่อให้เกิดคำถามทางจริยธรรมและความกังวลต่อประเด็นความเป็นส่วนตัว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองเห็นว่านี่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสอดแนมที่รุกล้ำมากที่สุด เพราะว่ามันสามารถจดจำใบหน้าของคนที่อยู่ไกลได้ โดยที่คนที่ถูกบันทึกภาพไม่รู้ตัว

เจย์ สแตนลีย์ (Jay Stanley) นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโส สหภาพเสรีภาพพลเมืองชาวอเมริกัน (American Civil Liberties Union) หรือ A.C.L.U. ให้สัมภาษณ์ว่า การสตอล์กคนดังเป็นปัญหาจริง แต่ก็มีข้อกังวลหลายด้านต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า ภาพถ่ายที่ถูกรวบรวมไว้ได้มีการเก็บไว้หรือไม่ ส่งต่อให้ใครหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดหรือไม่ หน่วยงานรัฐจะใช้มันติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนหรือพฤติกรรมของคนที่พวกเขาคิดว่า “น่าสงสัย” หรือไม่ ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวกระทบต่อคนที่ไปดูคอนเสิร์ตทุกคน ผู้จัดคอนเสิร์ตควรจะแจ้งกับผู้ชมว่าสถานที่จัดงานจะมีการสแกนตรวจจับใบหน้า

ดูเหมือนนี่อาจจะเป็นการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าแบบลับๆ ซึ่งผู้ที่ถูกบันทึกภาพไม่รู้ตัว โดยบริษัทเอกชนครั้งแรก เจนนิเฟอร์ ลินช์ (Jennifer Lynch) จากมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation) ให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียนว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว แต่ไม่ควรเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเกรงว่าสวิฟต์และทีมงานของเธออาจต้องถูกฟ้อง หากข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บไว้รั่วไหล “เธออาจจะถูกฟ้องร้องมากมายจากกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลรั่วไหลทั้งในและระหว่างประเทศ ดังเช่นกรณีข้อมูลรั่วไหลของเครือโรงแรมแมริออร์ท”

การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญและน่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม ไมโครซอฟท์เพิ่งเรียกร้องใช้สภาคองเกรสกำกับดูแลระบบจดจำใบหน้า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม แบรด สมิธ (Brad Smith) ประธานไมโครซอฟท์เขียนบล็อกว่า ควรมีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทติดตั้งการแจ้งเตือนว่าเทคโนโลยีนี้ทำงานตอนไหน เพื่อให้คนที่ไม่อยากจะถูกบันทึกภาพสามารถหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อต้นปี A.C.L.U และพนักงานของแอมะซอนเองก็ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงซีอีโอของบริษัทก็เรียกร้องให้แอมะซอนหยุดขายอุปกรณ์จดจำใบหน้าที่ชื่อ Rekognition

ที่มา:

Tags: , ,