ช่วงนี้หลายคนคงเห็นหน้าค่าตา หมอท็อป นพ. ธนัตถ์ ชินบัญชร แพทย์วิจัย และแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กันมาบ้าง จากการเป็นกระบอกเสียงรณรงค์ให้คนหันมามองเอชไอวีในแง่มุมใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเชิญชวนคนในสังคมให้เปลี่ยนมุมมอง และทัศนคติที่เคยมีต่อเอชไอวีและผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีด้วย หลังเสร็จสิ้นภารกิจวิ่งมาราธอน HIV RUN 2019 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา เราได้นัดหมายหมอท็อป เพื่อพูดคุยถึงความรู้ความเข้าใจว่าก่อนจะหมดปี 2019 นี้ มีความกลัวหรือความเข้าใจผิดใดๆ บ้างที่เราควรลบทิ้ง และมีเรื่องอะไรที่เราควรรู้เกี่ยวกับเจ้าไวรัสเอชไอวีนี้อีกบ้าง
เชื้อเอชไอวีมันอยู่ในไหนได้บ้าง
มันเป็นไวรัสที่อยู่ตามสารคัดหลั่ง เช่น พวกน้ำที่อยู่ในช่องคลอด น้ำในทวาร หรือว่าทางเลือด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทางสองช่องทางนี้ โดยส่วนมากก็จะติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ในกรณีที่ไม่ได้กินยาเพร็พ (PrEP) อีกทางก็คือติดต่อจากแม่สู่ลูก แม่ตั้งครรถ์แล้วก็คลอดออกมา ลูกก็ติดเชื้อ อันที่สาม คือ การใช้เข็มร่วมกัน เพราะมันสามารถติดต่อกันทางเลือดได้เหมือนกัน ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีการสัมผัสกับเลือด ก็อาจจะมีความเสี่ยง แต่ผิวหนังเรามันก็เหมือนเป็นตัวป้องกัน ไว้ชั้นหนึ่ง ถ้าเลือดหยดบนผิวหนังก็ไม่ติดนะ เพราะผิวหนังมันกันไว้อยู่ แต่เมื่อไหร่ที่ผิวหนังมีแผลก็อาจจะเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าสู่ตัวเราได้
ถ้าเป็นน้ำลายก็ต้องเป็นปริมาณที่มาก เป็นลิตรเลย เท่ากับว่าจูบกันเป็นลิตรกว่าจะติดเชื้อเอชไอวีได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีใครเขาจูบกันขนาดนั้นไหม และออรัลเซ็กซ์ หรือ blowjob เปอร์เซ็นต์ติดเชื้อค่อนข้างต่ำมากเลย เว้นแต่ว่าในปากมีแผล มีเลือดออก ก็จะเพิ่มความเสี่ยง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ติด
ความเข้าใจของคนทั่วไปต่อเอชไอวีในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าถามว่าคนเข้าใจเอชไอวีมากขึ้นไหม ก็คงมากขึ้น แต่ไม่ได้ดีขึ้นมากเท่าที่เราอยากเห็น ก็ยังมีความกลัวต่อตัวเชื้อนี้ค่อนข้างมาก และมันเป็นความกลัวที่อยู่มา 30 – 40 ปี สมัยก่อนมันน่ากลัวจริง เพราะเราไม่รู้ว่าเอชไอวีมันคือเชื้ออะไร รู้เพียงแค่ว่ามีเชื้อเอชไอวีก็คือต้องตายเร็วแน่นอน 10 – 20 ปี ซึ่งเดี๋ยวนี้มียาใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้น เพียงแค่กินยาเข้าไป มันก็ไปกดเชื้อได้ ยามันมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ความกลัวไม่ได้พัฒนาไปตามความคืบหน้าของวงการแพทย์ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เอชไอวีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดแล้ว แค่กินยาก็ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว
ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนในสังคมตระหนักและเข้าใจเอชไอวีดีขึ้นจากเดิม
เพราะมีคนกล้าพูดเกี่ยวกับเอชไอวีมากขึ้น เมื่อก่อนแค่จะพูดถึงคนยังไม่กล้าเลย ตอนนี้ก็เห็นว่ามีคนกล้าออกมาพูด คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อก็กล้าที่จะออกมาเปิดเผยตัวเองมากขึ้น ว่าเขาอยู่ร่วมกับเชื้อนะ เขาก็ยังแข็งแรง ยังใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เป็นตัวอย่างให้สังคมได้เห็นว่า คนกลุ่มเหล่านี้เขาก็ใช้ชีวิตปกติได้ สังคมก็ค่อยๆ เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา
จากที่คุณหมอทำงานมา ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์ อย่างไรบ้าง
ที่เข้าใจผิดเยอะสุดเลยคือความกลัว กลัวว่ามีเชื้อแล้วจะต้องตายเร็ว ชีวิตจะต้องเปลี่ยนไปเยอะมาก ต้องปรับตัวเยอะมาก รู้สึกว่าฟ้าดินสลาย ซึ่งไม่ใช่ ถ้ารู้ว่ามีเชื้อก็แค่มาตรวจ มาเจอหมอแล้วก็เริ่มยา ซึ่งยาก็ทานวันละเม็ด หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้มีข้อห้ามอะไรเลย ขอแค่กินยาทุกวันเท่านั้นเอง เหมือนกินวิตามิน นี่คือเรื่องแรกเลยที่คนอาจจะไม่เข้าใจ
ถ้ารู้ว่ามีเชื้อก็แค่มาตรวจ มาเจอหมอแล้วก็เริ่มยา ซึ่งยาก็ทานวันละเม็ด หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อีกเรื่องคือ การตีตราผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ เราไม่อยากให้ไปตีตราพฤติกรรมของคนอยู่ร่วมกับเอชไอวีว่าสำส่อน เพราะมันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องมีกิน มีเพศสัมพันธ์ มีนอน เป็นเรื่องธรรมดา แต่สาเหตุของการติดเชื้อ คือเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันต่างหาก หรือบางคนก็ติดจากแม่สู่ลูก หรือจากการใช้เข็มฉีดยา ถ้าจะไปโทษเรื่องพฤติกรรม ทำไมถึงไม่ไปว่าคนที่เขาเป็นเบาหวาน ความดันบ้างล่ะ เพราะคุณกินหวาน คุณก็เลยเป็นเบาหวาน แล้วทำไมถึงมาว่าคนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีว่าเป็นคนสำส่อนก็ไม่ถูก
รวมถึงความเชื่อผิดๆ ที่ว่าถ้าใช้ภาชนะบางอย่างร่วมกัน การกินข้าวด้วยกัน ดื่มน้ำร่วมกัน สัมผัสกันจะติด ซึ่งมันไม่ใช่เลย มันไม่ได้ติดกันง่ายขนาดนั้น แล้วแนวทางใหม่ที่ทางองค์การอนามัยโลกกำลังเดินไปก็คือ ในอนาคตเอชไอวีจะไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงแล้ว เพราะถ้าคนที่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัสดีๆ เขาก็จะไม่แพร่ไปให้คนอื่น จะไม่มีการติดต่อเลย จะเป็นเหมือนโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เหมือนเบาหวาน ความดัน จริงๆ ในตอนนี้มันก็เกิดขึ้นอยู่แล้วนะ มันเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าคนที่มีเชื้อเอชไอวีถ้ากินยาดี เขาจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ แต่ว่าข้อมูลในทางสาธารณะยังไม่ได้แพร่หลายมากพอ
ซึ่งเอชไอวีและเอดส์ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
HIV ไม่เท่ากับเอดส์เอชไอวีคือเชื้อไวรัส Human Immunodeficiency Virus เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ไปทำลายภูมิคุ้มกันของเราในเม็ดเลือดขาว ทำให้ร่างกายเราอ่อนแอ พอร่างกายเราอ่อนแอเราก็มีสิทธิ์ที่จะติดเชื้ออื่นๆ เรียกว่าเชื้อฉวยโอกาส อันนั้นถึงเรียกว่าเป็นเอดส์
เอดส์คือปลายทางของการเป็นเชื้อเอชไอวี การมีเชื้อเอชไอวีไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นเอดส์ คนส่วนใหญ่ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีก็ใช้ชีวิตตามที่เคยเป็นมาได้เลยนะครับ นานเป็นสิบปีถึงจะพบว่าตัวเองเป็นโรคเอดส์ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่ามีเชื้อ เรากินยาเร็ว ก็จะไม่ต้องเจอกับความน่ากลัวของโรคเอดส์เลย
สถานการณ์เอชไอวีในประเทศไทย ตอนนี้เป็นอย่างไร
ปัจจุบันมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อประมาณ 500,000 คน ทุกๆ ปีก็จะมีคนติดเชื้อใหม่ประมาณหมื่นคน ซึ่งครึ่งหนึ่งของคนติดเชื้อใหม่จะเป็นเยาวชนอายุประมาณ 16 – 24 ปี
การที่กลุ่มคนใหม่ๆ ที่ติดเชื้อเป็นเยาวชน คุณหมอมองบทบาทของหลักสูตรเพศศึกษาอย่างไร
คนมักมองว่าเรื่องเพศไม่ควรเอามาพูดคุยกัน เป็นเรื่องใต้ผ้าห่ม ไม่ค่อยกล้าที่จะเปิดใจคุย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าเพศ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ แล้ววัยรุ่นทุกคนต้องผ่านช่วงเวลาชีวิตที่เขาต้องทดลอง ถ้าเรากล้าพูดถึงเรื่องเพศศึกษามากขึ้นในโรงเรียน ก็จะเป็นการช่วยให้น้องๆ เยาวชนรู้ว่าจะป้องกันตัวเองอย่างไร เราไม่สามารถห้ามไม่ให้คนมีเพศสัมพันธ์กันได้ แต่เราสามารถสอนให้เขารู้วิธีว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์ เวลาที่เจอสถานการณ์นั้น ถ้าเรากล้าพูดเรื่องนี้ มันก็จะเป็นประโยชน์
หลักสูตรเรื่องเพศศึกษา มันก็ควรต้องปรับไปตามสมัยมากขึ้น แต่ที่อยากแนะนำคืออยากให้เปิด กล้าที่จะพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น อย่าไปคิดว่าการสอนเพศศึกษาจะทำให้เด็กมีเซ็กซ์มากขึ้น เพราะอย่างที่บอก เราไปบอกให้ใครอย่ามีเซ็กซ์ไม่ได้หรอก
เรายังต้องช่วยกันหลายภาคส่วนเลย เช่น สื่อกระแสหลัก ช่องใหญ่ๆ ตอนนี้ก็ยังมีการผลิตซ้ำภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีแบบนอนป่วย นอนตาย มีผื่นขึ้นตามตัวเต็มไปหมด ก็ยิ่งทำให้สังคมหวาดกลัวเรื่องเอชไอวีเพิ่มมากขึ้นไปอีก
อยากให้สื่อรู้เท่าทันข้อมูล อยากให้สื่อทำให้เห็นอีกด้านหนึ่งของการอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีว่ามันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ภาพจำเก่าๆ เหล่านี้ มันควรหมดไปจากสังคมได้แล้ว ตัวยารักษาใหม่ๆ เองก็ไม่ได้มีผลทำให้หน้าตอบที่ทำให้รู้ว่าคนนี้มีเชื้ออยู่ สิ่งเหล่านี้มันหมดไปแล้ว ตอนนี้ยามันดี กินแล้วก็เป็นเหมือนเดิม เหมือนปกติ ก็อยากให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใครที่พอจะเป็นกระบอกเสียงพูดถึงเรื่องนี้ได้ก็อยากจะให้ออกมาพูด
การเปลี่ยนคำเรียกจาก ‘ผู้ติดเชื้อเอชไอวี’ มาเป็น ‘ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี’ ช่วยทำให้มุมมองดีขึ้นมากไหม
เราต้องเปลี่ยนเพราะภาษาสำคัญมาก ภาษา คือ พลัง การเรียกว่าเป็นผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ มีส่วนทำให้คนรู้สึกว่ามันน่ากลัว ถ้าเราแค่อยู่ร่วมกับเชื้อ เราก็มีชีวิตอยู่ เชื้อก็ยังอยู่ แต่ว่าไม่ได้ทำอะไรกัน ก็ช่วยให้ความกลัวนี้มันลดลงได้ แล้วก็ช่วยให้คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อไม่ต้องคิดว่าเขาคือผู้ป่วย เพราะเขาไม่ได้ป่วย
ส่วนใหญ่ในวงการเอชไอวีก็จะใช้คำนี้ ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า People living with HIV แต่ในทางสาธารณะยังไม่ใช้กัน คนอ่านบางคนก็งง ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อคืออะไร แปลว่าเราอยู่บ้านเดียวกับคนที่มีเชื้อนี้หรือเปล่า ก็อาจจะยังมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจ
คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อแล้วกินยาดี ก็จะแข็งแรงเท่ากับคนที่ไม่มีเชื้อ เราถึงไม่เรียกว่าเป็นผู้ป่วย เพราะเขาไม่ได้ป่วย เขาแค่อยู่ร่วมกับเชื้อ ลองสมมติร่างกายเราเป็นเหมือนหมู่บ้าน ร่างกายเรามีเซลล์ คิดเป็นบ้านก็ประมาณหนึ่งล้านหลัง แล้วมีคนเข้ามาขออาศัยอยู่สิบคนซึ่งก็คือตัวเชื้อเอชไอวีและเรามีบ้านว่างๆ ซึ่งไม่มีคนอยู่ และเขามาอยู่ก็ไม่ได้ทำอะไร เขาก็นอนหลับทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้ทำอะไร ก็เรียกว่าเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ เพราะมันขอแค่อาศัยอยู่ในร่างกายเรา เพราะฉะนั้นเราก็เลยเรียกว่าเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ อันนี้ยกตัวอย่างในกรณีที่ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อและกินยาต้านนะ
ทำไมตัวยาปัจจุบันถึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ยาปัจจุบัน สามารถฆ่าเชื้อได้เฉพาะเชื้อที่แบ่งตัวแบบ active อยู่ แต่เชื้อส่วนหนึ่งที่ยังนอนหลับอยู่ในร่างกายเรา ยาจะยังไม่สามารถไปทำอะไรได้ ยาปัจจุบันเลยยังไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ทั้งหมด แล้วถามว่าถ้าตรวจไวรัลโหลดไม่เจอแล้ว สามารถหยุดยาได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะไวรัสไม่ได้หายไปไหน มันยังอาศัยอยู่ในร่างกายเรา มันแค่นอนอยู่ ถ้าวันไหนที่เราหยุดกินยามันก็จะตื่นแล้วมันก็จะมาทำลายร่างกายเรา
ไวรัลโหลด (viral load) คืออะไร อยากให้คุณหมอช่วยอธิบาย
ต้องอธิบายเรื่องเอชไอวีก่อนคร่าวๆ ว่าเอชไอวีคือเชื้อไวรัสที่ไปทำลายเม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่า CD4 ซึ่ง CD4 มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกาย ถ้า CD4 ติดเชื้อเอชไอวีนานๆ จะทำให้ CD4 ต่ำก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เราก็ติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ก็จะเป็นเอดส์ เพราะฉะนั้นการเริ่มยาเร็ว ก็จะทำให้ CD4 ไม่ต่ำ เราก็จะแข็งแรง ไม่ป่วย
การกินยาก็จะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญพันธุ์ของไวรัส ไปฆ่าไวรัส ซึ่งไวรัสที่อยู่ในเลือดเราจะเรียกว่า HIV viral load ถ้ากินยาดีมันก็ควรจะตรวจไม่เจอเลย เพราะมันกดไวรัสได้ อย่างน้อยกินยาไป 6 เดือนมันก็ควรไม่เจอแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเครื่องที่ใช้ตรวจด้วย อย่างเครื่องที่คลินิกนิรนามตรวจได้ 40 ตัว หมายถึงถ้าน้อยกว่า 40 ตัวก็คือ Undetectable เราก็จะเรียกว่า U=U ย่อมากจาก Undetectable = Untransmitable หมายถึงการที่ตรวจไวรัลโหลดไม่เจอ คนนั้นก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้เลย
แล้วในกรณีผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ เขาต้องปรับตัวอย่างไรบ้างหลังจากที่ทราบผลแน่ชัดแล้ว
ไม่ต้องปรับเลยครับ ขอแค่อย่างเดียวเลย คือ อย่าหยุดกินยา แค่นั้นเอง อย่างอื่นไม่ขออะไรเลย แล้วก็มาเจอหมอแค่ปีละครั้ง สองครั้งก็พอแล้ว
แล้วคนรอบตัวเขาต้องทำอย่างไรบ้าง
ทำเหมือนเดิม ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย ในคู่ที่เขาเป็นแฟนกัน แต่งงานกัน ก็สามารถมีลูกได้ ทำตามธรรมชาติเลย ส่วนคนที่อยู่บ้านเดียวกันก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อก็แค่กินยาของเขาไป ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ฟังแล้วมันไม่มีอะไรน่ากลัวเลยนะ แต่ความกลัวที่สังคมมีต่อโรคนี้มันเกินเหตุ เกินไปกว่าเรื่องที่มันเป็นจริง ซึ่งความกลัวนั้นส่งผลให้คนทั่วไปต้องคอยระแวงด้วยว่าคนนั้น คนนี้จะเป็นหรือเปล่า ซึ่งเราจะรู้ไปทำไม
มีตัวอย่างของคู่รักที่อยู่ร่วมกันบ้างไหม
มีครับ ที่คลินิกนิรนามของเราก็จะมีคลินิกที่ชื่อว่า คลินิกครอบครัว (MTCT-Plus Clinic) ทำเกือบสิบปีแล้ว เป็นการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ก็จะเป็นคู่สามีภรรยาที่เขาอยู่ด้วยกัน แล้วเขาก็จะมีเพศสัมพันธ์กันแค่สองคน ถ้าเขาวางแผนที่จะมีลูก หมอก็บอกว่าเขาสามารถมีได้ตามธรรมชาติเลย ไม่ต้องทำ IVF (In-vitro Fertilization – เด็กหลอดแก้ว) ถ้าเขายังกินยาต้านเชื้ออยู่ก็มีลูกได้ตามธรรมชาติ ลูกเขาก็จะไม่รับเชื้อจากทั้งแม่หรือพ่อ
มันมีความจำเป็นไหมที่ต้องบอกว่าตัวเองเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ เช่น ในบริษัทที่บังคับให้พนักงานระบุผลเลือด
มันไม่มีความจำเป็น และมันก็ผิดกฎหมาย ไม่มีใครสั่งให้เราตรวจเอชไอวีได้ ถ้าเราไม่ยอม แล้วการที่มีเชื้อเอชไอวีมันไม่มีผลต่อการทำงานเลย เราต่างก็รู้ว่าการทำงานมันวัดกันที่ศักยภาพ วัดที่ฝีมือของเรา การมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อมันไม่ต่างกันเลย เพราะฉะนั้นก็อยากให้รณรงค์ ขอร้องว่าบริษัทอย่าเรียกร้องให้ตรวจเอชไอวีเพราะมันไม่มีผลต่อการทำงาน และเป็นการตีตราต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อด้วย
หรือแม้แต่การเป็นเกย์จะไม่สามารถบริจาคเลือดได้ เรื่องนี้ก็เป็นการตีตรา จะเหมารวมว่าเกย์ทุกคนมีเอชไอวีไม่ได้ การบริจาคเลือดต้องมีการตรวจเลือดที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้วทุกคนไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ จะต้องตรวจเอชไอวีก่อนอยู่แล้ว
เวลาที่คนรณรงค์เรื่องทำแท้ง ก็จะมีคนบางกลุ่มบอกว่า อย่าไปบอกว่าสามารถทำแท้งได้ เพราะถ้าคนรู้ว่าทำได้ เดี๋ยวคนก็จะมาทำแท้งกัน ถ้าเทียบกับเรื่องเอชไอวีถ้าคนรู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น มันจะก่อให้เกิดผลอีกทางหนึ่งไหม
ถึงแม้ว่าเอชไอวีมันไม่ได้น่ากลัวก็จริง เพราะถ้าเรามีเชื้อก็กินยาวันละเม็ด แต่การที่ไม่มีโรคมันก็ดีกว่าไหม ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่แค่เอชไอวี การป้องกันมันย่อมก็ดีกว่าการรักษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็อยากจะบอกว่าถึงจะเป็นก็ไม่ต้องเครียดอะไร แต่ถ้าเรายังไม่เป็นก็ควรจะหาวิธีป้องกันตัวเองไว้ อยากให้สังคมมองไปในทิศทางนี้มากกว่า
ก่อนบทสนทนาจะสิ้นสุดลง หมอท็อปได้ฝากถึงวิธีป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีว่านอกจากถุงยางแล้ว ยังมีนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ อย่างยาเพร็พ (PrEP – PreExposure Prophylaxis) หรือเรียกว่ายาต้านไวรัสก่อนเสี่ยง
สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ (ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย) รับประทานวันละหนึ่งเม็ด เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในกรณีที่สัมผัสกับเชื้อไวรัส มีงานวิจัยว่าควรทานติดต่อกันล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ยาจึงจะออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
และยาเป๊บ (PEP – Post -Exposure Prophylaxis) สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบเช่นกัน แต่ยาตัวนี้ต้องกินหลังจากมีความเสี่ยงภายใน 72 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน
แม้ตัวยาทั้งสองจะออกเสียงคล้ายๆ กัน แต่วิธีการใช้และหน้าที่ในการทำงานต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้เชื้อเอชไอวีจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป แต่ก็ต้องรู้ข้อมูลและหาวิธีการในการป้องกันตัวเองไว้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
อ้างอิง
https://www.testbkk.org/th/news/รู้จักยาเพร็พหรือมีคำถามในใจ
Tags: เอดส์, เอชไอวี, โรคติดต่อ, ธนัตถ์ ชินบัญชร