จากข่าวเรื่องหญิงสาวเสียชีวิตหลังจากไปสักลายที่ตลาดนัดคลองหลอด ล่าสุดมีผลชันสูตรออกมาเรียบร้อยแล้วว่าผู้ป่วยติดเชื้อตั้งแต่เมื่อ 1 ปีก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงไม่แน่ใจว่าที่จริงแล้วคนเราสามารถติดเชื้อ HIV จากการสักลายได้จริงหรือไม่ เราจึงอยากชวนไปหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

เชื้อไวรัสเอชไอวีแพร่กระจายได้เมื่อมี 3 สิ่งเกิดขึ้น โดยหลักสากลเรียกว่า QQR มาจาก Quality, Quantity และ Route of Transmission

Q แรกหรือ Quality หมายถึง คุณภาพของเชื้อ ซึ่งหมายถึง เอชไอวีจะมีชีวิตได้ในสารคัดหลั่งในตัวคนเท่านั้น เชื้อไม่สามารถอาศัยในสัตว์ เช่น ยุง ได้ ซึ่งสารคัดหลั่งที่ว่า มีเพียงน้ำไขสันหลัง เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด ส่วนน้ำลายไม่มีเชื้อ

แม้ทุกวันนี้จะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีทางน้ำลายได้ ที่จริงแล้ว นั่นคือการใช้อุปกรณ์ปาดหรือขูดเบาๆ ตามกระพุ้งแก้ม ซึ่งจะมีเนื้อเยื่ออ่อนๆ ออกมาด้วย อย่างไรก็ดี การตรวจเพื่อหาเชื้อเอชไอวีที่ยืนยันได้แน่ชัด คือการตรวจเลือดเท่านั้น

Q ถัดมาหรือ Quantity คือ ปริมาณของเชื้อ เอชไอวีจะเกาะกับเม็ดเลือดขาวซึ่งปะปนอยู่ในสารคัดหลั่ง การที่ใครสักคนจะติดเชื้อเอชไอวีได้ ต้องได้รับสารคัดหลั่งในปริมาณที่มากพอ

R หรือ Route of Transmission คือช่องทางออกและเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากเชื้อเอชไอวีออกมานอกร่างกายแค่ไม่กี่วินาทีก็ตายแล้ว การจะติดเชื้อได้ แปลว่าต้องหลั่งสารคัดหลั่งเข้าสู่ร่างกายของอีกคน ‘โดยตรง’ เช่น ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่แล้วหลั่งข้างใน

QQR ต้องเกิดพร้อมกันทั้ง 3 อย่างถึงจะแพร่เชื้อเอชไอวีได้สำเร็จ นั่นทำให้การกินข้าวร่วมกัน กินน้ำแก้วเดียวกัน และใช้ห้องน้ำร่วมกัน ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV เลย

หากว่ากันตามข่าวที่ว่า การสัก ซึ่งต้องใช้เข็มและอาจมีเลือดออกนั้น เนื่องจากเข็มที่ใช้มีลักษณะปลายตันทั้งยังต้องจุ่มหมีกสี ซึ่งหากมีเชื้อเอชไอวีติดมากับปลายเข็ม เชื้อที่เจอกับหมึกก็สามารถตายลงได้ และกว่าจะนำเข็มมาใช้กับอีกคนก็ทิ้งช่วงพอควร โอกาสที่เชื้อ HIV จะติดต่อได้แทบไม่มีเลย แต่ถึงอย่างนั้นความเสี่ยงเกี่ยวกับเชื้อโรคอื่นๆ ยังคงมีอยู่ในการใช้เข็มสักร่วมกัน ดังนั้นการเข้าร้านสักที่น่าเชื่อถือและมีการเปลี่ยนเข็มทุกครั้ง จึงเป็นทางป้องกันตนเองที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีคำสองคำที่ความหมายต่างกัน คือ เอชไอวี และ เอดส์ โดยเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัส ซึ่งจะไปทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายและเกิดอาการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เรียกว่า เอดส์ ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่มีอาการป่วย จึงไม่ใช่ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอก็สามารถมีชีวิตอยู่โดยมีเชื้ออยู่ในตัวเป็นเวลากว่า 10 ปี หรืออาจยาวนานกว่านั้น

เชื้อเอชไอวีน่ากังวลก็จริง แต่ทั้งนี้ผู้คนควรประเมินความเสี่ยงอย่างมีเหตุผล โดยตามข้อมูลแล้ว 80% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาจากการมีเซ็กซ์แบบสอดใส่โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย ที่เหลือเป็นกรณีผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน และกรณีเด็กติดเชื้อเมื่อแรกคลอด

หลังจาก The Momentum เสนอข้อมูลข้างต้นไปเมื่อ 4 กันยายน 2561 แต่ความคลางแคลงใจต่อเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและเพจ เช่น Drama Addict ย้ำว่าการบอกว่าการสักไม่เสี่ยงเอชไอวีเลยนั้นเป็นเรื่องผิด

The Momentum จึงสัมภาษณ์ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เพื่อแจกแจงข้อเท็จจริงต่อเรื่องนี้โดยละเอียด และนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดอคติ และการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีอย่างถูกจุด

มีคนแย้งว่า ถึงอย่างไรการสักก็ยังเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวี เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร

โดย ‘ทฤษฎี’ แล้ว การเอาเข็มที่เปื้อนเชื้อไปจิ้มอีกคนหนึ่ง ก็คงมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อได้ แต่ใน ‘ทางปฏิบัติ’ ที่ผมดูคนไข้เชื้อเอชไอวีมา 30 กว่าปี ยังไม่เคยเจอใครเลยครับที่ติดเชื้อจากการไปสักมา

ข้อถกเถียงเรื่องการสักยังพูดกันถึงเรื่องเข็มที่ใช้ ว่าเข็มแบบที่เก็บเลือดได้กับแบบที่เก็บเลือดไม่ได้ จะมีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อต่างกันอย่างไร

เข็มที่มีรูที่เรียกว่าเก็บเลือดได้ โอกาสที่จะเก็บเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ได้ก็ย่อมมากกว่าเข็มที่ไม่มีรูเลย เช่นเข็มเย็บผ้า แต่เรื่องนี้เราก็ถกเถียงไปได้เรื่อย ว่าเข็มโต เข็มเล็ก เข็มบาง แต่ประชาชนต้องรับทราบครับว่า การติดเชื้อเอชไอวีจากการสักนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าจึงเป็นการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ตรงนั้นน่าเตือนกันมากกว่าที่ไปพูดเรื่องสัก เพราะพูดไปมันก็ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไร คนที่ทำการสักเขาก็ดูแลเครื่องมือเขาอย่างดีแล้ว ไม่ใช่เอาประเด็นข่าวติดเชื้อจากการสักมาขยายความ มันเสียเวลาโดยใช่เหตุ

แล้วกรณีการสักที่เข็มต้องจุ่มสี เชื้อเอชไอวีโดนสีแล้วเชื้อจะตายไหม

ผมไม่ชำนาญที่จะตอบตรงนี้ได้ว่าสีมันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง จะฆ่าเชื้อได้ง่ายแค่ไหน ในทางทฤษฎีก็บอกว่าเชื้อเอชไอวีมันอ่อนแอ แต่ผมไม่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะบอกได้ว่า สีที่ใช้สักนั้นมันเป็นอย่างไร แต่อย่างที่ผมแจ้งครับ ในชีวิตจริงยังไม่เคยมีรายงานเลยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีจากการสักแม้แต่รายเดียว

แล้วมันไม่ดีหรือ ที่จะพูดเตือนให้คนระวังเอาไว้ก่อน

แปลว่าเตือนไม่ให้เขาสักใช่ไหมครับ คือพูดอย่างนี้แล้ว แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง คุณลองเสนอมาก่อนว่าพูดอย่างนี้แล้วมันจะช่วยอะไรได้บ้าง

เช่นย้ำว่า เมื่อไปร้านสักก็จะได้บอกคนสักว่า ให้ทำความสะอาดเข็มทุกครั้ง

คือทุกฝ่ายก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด คนที่ให้บริการก็ต้องแน่ใจว่าทำสะอาด คนที่ไปสักก็ต้องชั่งใจแล้วว่ามันก็ยังอาจจะมีความเสี่ยงที่จะต้องติดเชื้ออื่นๆ อีกนอกจากเอชไอวี เช่นแบคทีเรีย ฯลฯ มันก็มีโอกาสเป็นไปได้

แม้เชื้อเอชไอวีจะเกิดมานานแล้ว แต่คนยังไม่เข้าใจมันนัก ตัวอย่างเช่น คนจะสงสัยว่า หากคนสองคนมีแผลปลายเปิดแล้วแผลมาชนกัน จะทำให้ติดเชื้อได้ไหม

เรื่องนี้ก็พูดกันเยอะเลย… 32 ปีมาแล้ว ถามกันเยอะ แต่ถามว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกี่ราย มีรายงานเพียงรายเดียวในโลกนี้ที่มีอุบัติเหตุแล้วมีแผลสดสัมผัสกัน มีผู้ติดเชื้อลักษณะนี้รายเดียวทั่วโลก ก็ทำให้คนไปขยายความว่า คนที่ติดเชื้อต้องไปอยู่ห่างๆ เขานะ ไม่ควรไปปนเปื้อน ต้องปิดประตู ไม่ใช้โทรศัพท์เดียวกัน ฯลฯ นี่มันไม่ใช่

คนยังคงหวาดกลัวความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

ผมว่าเราควรถือโอกาสทำให้คนกลัวการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ไม่ว่ากับคู่รักตัวเองหรือใครก็ตาม คนควรจะไปเจาะเลือดตรวจให้รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากชีวิตประจำวัน ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่สุด ก็คือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันนั่นเอง

 

000

 

ทั้งนี้เมื่อดูตามลิงก์ที่จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แห่ง Drama Addict เผยแพร่ในเพจของตัวเองนั้น พบว่า ข้อมูลจาก CDC แห่งสหรัฐอเมริกา https://www.cdc.gov/hiv/basics/transmission.html ก็ชี้แจงในลักษณะเดียวกันว่า แม้ในทางทฤษฎีจะมีความเป็นไปได้ที่การสักที่ไม่ได้มาตรฐานจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ แต่ก็ไม่เคยมีตัวอย่างที่พบในสหรัฐอเมริกาว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากการสักลาย

ส่วนงานอีกชิ้นที่จ่าพิชิตอ้างถึง เป็นการทบทวนวรรณกรรมของงานวิจัยชิ้นต่างๆ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสักและการแพร่เชื้อเอชไอวี ไม่ใช่การทดลองทางการแพทย์

Tags: , ,