“หลายคนอาจจะจินตนาการภาพว่าผู้ลี้ภัยคือฝ่ายรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่ที่จริงแล้ว เขามีศักยภาพที่จะช่วยเหลือตัวเอง เพียงแต่เราช่วยสนับสนุน” ตุลย์นภา ติลกมนกุล หรือเฟิร์น เจ้าหน้าที่ภาคสนามอาวุโสของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ผู้อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินในหลายประเทศมาแล้ว เล่าให้เราฟัง 

ตุลย์นภา จบการศึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เธอเลือกทำงานด้านผู้ลี้ภัยเพราะมองว่าเรื่องแบบนี้ “อาจจะเป็นเราได้ทุกเมื่อ” เพราะสงครามและความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ เธอทำงานกับ UNHCR มาตั้งแต่ปี 2011 และได้ลงสนามในหลายประเทศ ทั้งเมียนมา ลิเบีย เยเมน ล่าสุด เธอประจำอยู่ที่สำนักงานเมืองโดฮุก ในเขตเคอร์ดิสถาน ประเทศอิรัก ชายแดนระหว่างซีเรียกับตุรกี มาราวเก้าเดือนแล้ว 

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ตุรกีเริ่มปฏิบัติการโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรีย มีผู้คนที่หนีภัยสงครามทะลักเข้าสู่ค่ายผู้อพยพเรือนหมื่น หน้าที่ของเธอคือการประสานงานให้ความช่วยเหลือทั้งด้านที่พักและสาธารณสุข รวมถึงดูแลด้านกฎหมาย อย่างสถานภาพความเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งเธอบอกว่าต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดอย่างเงินทุนและเวลา The Momentum ไปคุยกับเธอถึงสถานการณ์การทำงานในพื้นที่ รวมถึงถามถึงข้อเสนอด้านนโยบาย

ลงในพื้นที่จริงกับอยู่ที่ออฟฟิศเห็นอะไรที่ต่างออกไปไหม

คล้ายๆ กัน เพียงแต่เวลาเราอยู่หน้างานในภาคสนาม มันเป็นการตัดสินใจในช่วงเวลานั้นเลย ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนแก่หนีภัยมาอายุ 101 ปี มาคนเดียวหรือมากับครอบครัวที่อาจจะถูกทิ้งไว้ในซีเรีย เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร มันเป็นการตัดสินใจ ณ ตอนนั้น เราไม่สามารถที่จะนั่งไตร่ตรอง ดูระบบกฎหมายหรืออะไรอย่างนี้ได้ มันก็จะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง 

UNHCR เจอข้อจำกัดอย่างไรบ้างเวลาทำงาน

โดยส่วนตัวแล้ว ข้อจำกัดของเราคือเราอาจจะมีงบไม่พอที่จะช่วยเหลือทุกคนที่อยากช่วย ตอนนี้มีผู้ลี้ภัยในโลกเกิน 70 ล้านคน ถือว่ามีประชากรที่หนีภัยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ สูงกว่าตอนที่ UNHCR ก่อตั้ง เยอะกว่าตอนสงครามโลกครั้งที่สอง มันเยอะมากเมื่อเทียบกับเงินที่เรามีจำกัด เพราะฉะนั้น เวลาอยู่หน้างาน คุณต้องเลือก เด็ก ผู้หญิง คนชรา คนที่อาจจะมีความเปราะบางเป็นพิเศษ แต่คนอื่นก็ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน ก็จะต้องแยกนิดหนึ่งว่าใครที่เราจะ prioritize ก่อน 

สอง คือเวลาจำกัด ถ้าเราสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง เราก็อาจจะมีเวลาช่วยเหลือมากขึ้น แต่ถ้าเรามีโอกาสแค่ 7.00-21.00 น. ตอนกลางคืนเราก็จะนั่งพะวงแล้วว่าถ้าเขาเกิดเข้ามาแล้วใครจะรองรับ นำพาเข้ามา ดูแลด้านสุขภาพ มีหลายกรณีที่มีผู้หญิงเพิ่งคลอดลูก เพิ่งผ่าตัด แล้วต้องเดินทางสามวัน อุ้มลูกมา อายุ 3-4 วัน ก็ทำให้เราวิตกกังวลเหมือนกันว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นหรือเปล่า 

จะต้องทำงานตามเวลาทำการ?

ไม่ แล้วแต่ว่าพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก เพราะมันมีเรื่องความปลอดภัยที่เราอาจจะต้องมีกระบวนการของเราว่าโอเค ถ้าหลังสามทุ่มไป อาจต้องให้หน่วยงานอื่นช่วยเหลือเราด้วย หรือรัฐบาลช่วยเหลือ เราไม่สามารถจะอยู่ในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง มันอาจจะเกิดระเบิด หรือการก่อการร้ายขึ้นได้ ก็เป็นกฎของหลายองค์กรที่ว่า ช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ต้องดูแลความปลอดภัยของตัวเองด้วย 

เงินที่ UNHCR ได้มาจากไหนบ้าง

เราได้จาก UN ใหญ่ น้อยมาก ส่วนมากแล้วจะมารัฐบาลอื่น และที่มีผู้บริจาคเข้ามาที่ UNHCR 

ในกรณีที่เหตุเกิดในซีเรีย มันมีห้าประเทศที่ได้รับผลกระทบ คือ 

อิรัก เลบานอน จอร์แดน อียิปต์ ตุรกี กับผู้ลี้ภัยที่มาจากซีเรีย เราต้องการเงินประมาณ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เงินที่มีอยู่ที่ ราว 29% เท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างวิกฤตที่ไม่มีเงิน 

สภาพในค่ายเป็นอย่างไร

เต็นท์หนึ่งใช้เวลาประมาณ 7 นาที คือเราต้องรู้ก่อน เช่น วันนี้มีผู้ลี้ภัยเข้ามาพันกว่าคน เราต้องมีเต็นท์รองรับกี่ร้อยคน แล้วก็มีอาหารเตรียมพร้อม มีผ้าห่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์ แล้วก็มีการรองรับ สัมภาษณ์ จดทะเบียน พร้อมกับรัฐบาล นำพาไปที่พัก เพราะบางคนเดินทางมาหลายวันมากยังไม่ได้นอน ก็ดูแลด้านพื้นฐานก่อน อาจจะมีการสร้างที่เล่นสำหรับเด็ก เพราะเด็กมาเยอะมาก ภายในสองอาทิตย์ที่มีประชากรทะลักเข้ามา หนึ่งหมื่นสี่พันกว่าคน 50% เป็นเด็ก 

พอมีคนอพยพเข้ามาแล้ว เขาจะได้ไปที่ไหนต่อ 

ส่วนมากคนที่เข้ามา จะเข้ามาตอนกลางคืน ถ้า ตี 3 ถึง 8 โมงเช้า ก็จะองค์กรอื่น ที่ช่วยเราย้ายเข้ามาในค่าย หลังจากนั้นก็จะมีการจดทะเบียน แล้วถ้ามีครอบครัวอื่นอยู่นอกพื้นที่ เขาอาจจะไปจอยร่วมกัน บางคนที่ไม่มีที่ไป ไม่มีบ้านอยู่ ก็อยู่ในค่าย การจดทะเบียน เราจดทะเบียนพร้อมกับรัฐบาล หลังจากนั้น เขาก็ได้สถานภาพของผู้ลี้ภัย เขาจะสิ้นสภาพก็ต่อเมื่อเขากลับประเทศ ซึ่ง ณ ตอนนี้ โอกาสน้อยมาก

เขามีทางเลือกคือ จะอยู่ประเทศที่สอง หรือกลับประเทศตัวเอง ถ้าเหตุการณ์สงบ หรือไปประเทศที่สาม ซึ่งโอกาสนั้น 0.5 % ของคนที่ลี้ภัยจะได้ไป เพราะไม่มีประเทศไหนที่จะรับ เพราะตอนนี้มีประชากรที่หนีภัยและพลัดถิ่นเกิน 70 ล้านคน เยอะกว่าประชากรในประเทศไทย และน้อยประเทศมากที่จะรองรับ แล้วประเทศที่รองรับอยู่ตอนนี้เป็นประเทศที่อยู่ใน lower middle income กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ จอร์แดน เลบานอน อียิปต์ คือประเทศเขาก็ suffer อยู่แล้ว ต้องมีประชากรเพิ่มอีก ซึ่งเราต้องขอบคุณรัฐบาลประเทศเหล่านั้นที่ยอมรับ

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลอิรักเปิดกว้างให้เขาสามารถที่จะอยู่นอกค่ายได้ บางคนอาจจะอยู่นอกค่าย ถ้าเขามีครอบครัว หรืออยู่ในค่ายเขาก็ทำงานได้ ถ้าเขามีที่ไป แต่ว่าที่จะกลับประเทศ สงครามที่ซีเรียก็เข้าปีที่เก้าแล้ว ซึ่งก็ค่อนข้างยากที่เขาจะกลับ

มีคนที่เข้ามาทุกๆ วัน มีการรองรับหรือเตรียมการอย่างไร ตอนแรกๆ พอเรารู้ว่าอาจจะมีผู้คนหนีเข้ามา เราได้รองรับไว้ค่ายหนึ่งชื่อค่ายบาร์ดาราช จุคนได้ราว 13,000 คน เราไม่แน่ใจว่าคนเข้ามาทุกวันจะเยอะขนาดไหน แต่ค่ายนั้นเต็มภายใน 10 วัน เราก็ต้องหาค่ายอื่นที่จะเป็นที่รองรับครั้งแรก บางคนเข้ามาแล้วอาจจะเดินทางออกข้างนอก แต่ต้องมีที่รอบรับครั้งแรกก่อน ที่พอเดินทางมาแล้วจะสามารถหาที่นอนได้ มีผ้านุ่งห่มแล้ว เพราะส่วนมากแล้วพวกเขามาโดยที่แทบจะไม่มีอะไรติดตัวมาเลย

ดูเหมือนตอนนี้เป็นสถานการณ์ตั้งรับพอสมควร

ใช่ นี่คือช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเลย พอหลังจากนี้ไป สามเดือนหกเดือน ก็จะคิดถึงระยะกลางแล้วว่า เด็กเข้าโรงเรียนในชุมชนนั้นได้ไหม การงานเป็นอย่างไร แล้วผู้ลี้ภัยเขาก็พยายามที่จะช่วยเหลือตัวเองในการหางาน ในการที่จะเรียนรู้ เพราะทุกคนก็อยากกลับบ้าน แต่เขาก็รู้ว่า ณ ตอนนี้กลับบ้านไม่ได้ ฉันก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ ทุกคนจะคิดว่าเมื่อก่อน ตอนที่ฉันอยู่บ้าน บ้านฉันเป็นแบบนี้นะ แต่ตอนนี้ฉันไม่มีอะไร ฉันมาโดยไม่มีอะไรเลย

สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ มีลักษณะแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง

สามประเทศหลักๆ ที่ได้ไปมา จะมีลิเบีย เยเมน อิรัก ในสามประเทศนี้ความแตกต่างคือ แล้วแต่ว่าพื้นที่พร้อมขนาดไหน รัฐบาลพร้อมขนาดไหน แต่โดยประชากรผู้ลี้ภัยแล้ว เรื่องที่เขาเล่าจะคล้ายๆ กันว่า ฉันไม่ได้อยากจะออกจากบ้าน แต่เหตุการณ์มันผลักดัน ฉันมาโดยไม่มีอะไร ไม่ได้วางแผนเลยว่าจะมาประเทศนี้ และคิดว่าเมื่อฉันมาแล้ว เมื่อไหร่ฉันจะได้กลับบ้าน

มันก็จะเป็นหน้าที่ของเราที่จะดูว่าแล้วเราจะทำงานกับองค์กรอื่น กับรัฐบาล เพื่อที่จะช่วยเหลือให้พวกเขามีศักดิ์ศรีในการดำเนินชีวิตได้อย่างไร

แปลว่านอกจากเรื่องกายภาพแล้ว ก็ดูแลเรื่องจิตใจด้วย

เรามีโปรแกรมด้าน Pshyco social ค่ะ ยกตัวอย่าง มีเด็กคนหนึ่ง เราไปคุยกับเขา เขามองไปที่เครื่องบิน เราถามว่าอยากขึ้นเครื่องบินเหรอ เขาบอกไม่ใช่ ที่บ้านฉัน ฉันจำได้ว่าเครื่องบินพวกนั้นมันวางระเบิด นี่เป็นความจำเป็นที่เราจะต้องมีองค์กรและทีมงานไปช่วยเยียวยาจิตใจด้านนี้

ใช้เวลานานไหมในการเยียวยา

นาน นานที่สุดไม่ใช่เด็ก หรือผู้สูงอายุ เป็นคนที่เมื่อก่อนเคยมีทุกอย่าง มีรถ มีบ้าน และตอนนี้ไม่เหลืออะไรเลย  เขาใช้เวลานานกว่าในการที่จะปรับสภาพ ปรับ reality ใหม่ เคสที่นานที่สุดใช้เวลาสิบกว่าปี เพราะเขามีความหวาดระแวงตลอดเวลาว่าจะเกิดอะไรขึ้น

แล้วกับคนทำงานมีวิธีดูแลจิตใจกันอย่างไร

เราจะมีโปรแกรมและมีเพื่อนฝูงที่อยู่ใน peer support group ที่เราสามารถที่จะคุยกับเขาได้ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราได้ออกนอกพื้นที่ ทุกๆ หกหรือแปดอาทิตย์ เราอาจจะได้พัก หนึ่งอาทิตย์ เป็นการ refresh ตัวเอง ปรับสภาพจิตใจ 

สำหรับเฟิร์น ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ คือถ้ามีโอกาสและเราได้กลับไปหาคุณพ่อคุณแม่ ได้เจอคุยกับเพื่อน พยายามที่จะแบ่งแยกระหว่างการทำงานกับเรื่องส่วนตัว ไม่อย่างนั้นเราอาจจะคิดเสมอว่า เอ๊ะ คืนนี้จะเป็นอะไร เกิดอะไรขึ้น

ภาพ: UNHCRThailand

พอได้ลงไปทำงานแล้ว มีเรื่องไหนไหมที่รู้สึกว่าคนทั่วไปอาจจะมีภาพเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยแบบหนึ่ง แล้วเราอยากจะอธิบายมัน

คนอาจจะคิดว่าผู้ลี้ภัยมาแบบเสื่อผืนหมอนใบเหมือนกับที่เราเคยคิดมาก่อน แต่ผู้ลี้ภัยส่วนมากเขามาโดยศักยภาพของเขา ยกตัวอย่างเช่น เราสร้างค่ายใช่ไหมคะ ในการดูแลค่าย มันมีบางคนที่เมื่อก่อนเคยทำงานเป็นนักดับเพลิง เป็นตำรวจ ที่เขาสามารถช่วยเหลือเราได้ หลายคนเป็นหมอ เป็นวิศวกร ยกตัวอย่างประชากรซีเรีย เขาเป็นนักวิชาชีพมาก่อน คือเราต้องเข้าใจว่าเขาก็อยากจะช่วยตัวเอง แล้วหน้าที่ของเราก็คือช่วยให้เขากลับคืนสู่ dignity (ความมีเกียรติ) ของเขาให้ได้

หลายคนอาจจะจินตนาการภาพว่าผู้ลี้ภัยคือรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่ที่จริงแล้วเขามีศักยภาพของเขา ที่เขาจะช่วยเหลือตัวเอง เพียงแต่เราช่วยสนับสนุน

ถ้าอย่างนั้น มีพื้นที่ไหนที่อยากเข้าไป แต่ยังเข้าไปไม่ได้ มีข้อจำกัดอะไร

ที่จริง UNHCR มีออฟฟิศอยู่ราว 135 ประเทศ เราเข้าไปเกือบทุกประเทศที่จำเป็น แต่ข้อจำกัดของเรา อาจจะเป็นอย่างที่บอก คือเวลา แล้วก็อาจจะเป็นความเข้าใจกับรัฐบาลนั้นๆ ว่าฉันจะเข้าไปในพื้นที่นะ เธอจะเปิดประตูให้ฉันเข้าไปได้มากขนาดไหน เพราะมันก็แล้วแต่รัฐบาลด้วย

จากที่ทำงานมา คุณเห็นเทรนด์ของสถานการณ์ผู้ลี้ภัยอย่างไรบ้าง

จากช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำงานด้านผู้ลี้ภัย จนถึงวันนี้ เฟิร์นเห็นว่าประชากรมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นในการทำงานของเรา และการทำงานของ UNHCR จะไม่เหมือนเดิม เราจะพึ่งพาการทำงานรูปแบบเดิมไม่ได้ เราต้องมีพาร์ตเนอร์อื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจที่จะช่วยเราระดมความคิดว่าจะช่วยเขาอย่างไร จากเมื่อก่อน คนจะคิดว่าผู้ลี้ภัยก็ต้องอยู่ในค่าย แต่ตอนนี้ผู้ลี้ภัยส่วนมากแล้วอยู่นอกค่าย อยู่ในเมือง การอยู่ในเมืองแสดงว่าเขาจะต้องพึ่งพาตัวเองได้ อาจจะมีองค์กรเอกชนที่อยากจะให้งานหรือสร้างศักยภาพของเขาในการที่จะเรียนหนังสือหรืออะไรก็แล้วแต่ เฟิร์นคิดว่า ภาระหน้าที่ จากเมื่อก่อนมันเป็นแค่รัฐบาลหรือกับเอ็นจีโอ ตอนนี้มันขยายวงกว้าง สังคมก็เปิดรับมากขึ้น ว่าโอเค ผู้ลี้ภัยเขาก็เหมือนเรา ฉันก็ต้องช่วยเขาได้ เฟิร์นคิดว่ามันเป็นมิติใหม่ของการทำงานด้านผู้ลี้ภัย

ถ้าอย่างนั้น แล้วเราจะมีทางที่จะช่วยผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง

อย่างแรก ทุกคนสามารถบริจาคได้ แต่อันที่สองคือ มันต้องมีนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่จะช่วยเหลือเขา ให้เขาถูกนับรวมอยู่ในชุมชนที่เขาอยู่ได้

ยกตัวอย่าง อย่างอิรัก เขาทำงานนอกค่ายได้ มันมีทางไหนที่เขาอาจจะปรับเปลี่ยนสถานภาพ ได้ใบเขียวได้อยู่ประเทศนั้น เพราะเขาอาจจะไม่ได้กลับประเทศแล้ว นี่คือความยั่งยืนกว่า มันไม่ใช่ว่า ฉันเกิดมาเป็นสถานะผู้ลี้ภัย 50 ปีฉันก็ยังเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ มันต้องมีการปรับเปลี่ยน

สำหรับเฟิร์นแล้ว ที่จริงมันก็เหมือนกับทุกประเทศ 50-60 ปีที่แล้ว เราไม่มีคำว่า นี่คือพรมแดน ทุกคนก็สามารถเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนสถานภาพตัวเองได้

บางที เราจะไม่เห็นภาพผู้ลี้ภัย เพราะมันเป็นสถิติ 25 ล้านคน 70 ล้านคน แต่พอเราอยู่ในพื้นที่หน้างาน เราจะเห็น คนที่เฟิร์นเห็น แก่ที่สุด คือคุณยายอายุ 101 ปีที่ต้องเดินทางเข้ามาโดยมีลูกมีหลานเข็นผ่านชายแดนเข้ามา ใช้เวลาสามวันเจ็ดวัน ทำให้เราคิดว่าถ้าเป็นยายเรา ถ้าเป็นครอบครัวเรา เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง เพราะฉะนั้น อยากจะให้ทุกคนคิดในด้านนี้มากกว่าว่าถึงแม้เราจะอยู่ไกล แต่เราช่วยเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการรู้เพิ่มเติมว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกนี้

Fact Box

สามารถบริจาคให้ UNHCR เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวซีเรีย โดยพิมพ์ Syria เพื่อบริจาค 99 บาท ส่งไปที่ 4141099 หรือบริจาคผ่านเว็บไซต์ที่ unhcr.or.th

Tags: , , ,