25 ตุลาคม 2562 สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท) ราว 30 คน ร่วมรำลึกเหตุการณ์ 15 ปีตากใบ ที่บริเวณสกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้ชุมนุมชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และนำนกกระดาษที่มีภาพเหตุการณ์มาแสดง กลุ่มนักศึกษายังมีการแสดงละครสั้น เป็นฉากการจับกุมผู้ชุมนุมนอนคว่ำ เอามือไพล่หลังเหมือนกันตอนที่เกิดเหตุการณ์ 

เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 ที่ชาวบ้านอำเภอตากใบจำนวน 1,370 คน ถูกจับยัดลงไปในท้ายของรถจีเอ็มซีของทหารจำนวน 22-24 คัน โดยให้นอนคว่ำซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ เฉลี่ยคันหนึ่งมีคนนอนซ้อนกันประมาณ 4-5 ชั้น แล้วเดินทางจากสถานีตำรวจตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ระหว่างขนส่ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน 

ในวันนั้น ชาวบ้านอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มารวมตัวกันที่หน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน 6 คนที่ถูกจับกุมตัวเนื่องจากต้องสงสัยว่ามีความพัวพันกับการหายไปของอาวุธปืน อีกส่วนมามุงดูด้วยความอยากรู้เห็น 

กระทั่งเวลา 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดถูกโอบล้อมด้วยกำลังทหาร ก่อนถูกยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่เพื่อสลายการชุมนุม การสลายการชุมนุมครั้งนั้นทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตในทันที 7 คน และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 14 คน หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่สั่งแยกผู้หญิงออกจากพื้นที่ และสั่งให้ผู้ชุมนุมชายทั้งหมด ถอดเสื้อ หมอบลงกับพื้น และมัดมือไพล่หลัง   

ผู้ชุมนุมถูกบังคับให้ถอดเสื้อแล้วนอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันท้ายรถ เดินทางไกลเป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 85 คน แบ่งเป็นจากการขนส่ง 78 คน และจากการสลายการชุมนุม 7 คน นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่กลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต เช่น กล้ามเนื้อเปื่อยจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน โรคไตเพราะขาดน้ำนานเกินไป

รุ่งเช้าของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ผู้ชุมนุมทั้งหมดที่รอดชีวิตถูกสอบสวนอย่างต่อเนื่อง กระทั่งผู้ชุมนุม 59 คน ถูกศาลจังหวัดนราธิวาสฟ้องในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อนจะถอนฟ้องไปในปี 2549 และในปี 2552 ศาลจังหวัดสงขลามีข้อสรุปในการไต่สวนสาเหตุการตายว่า ผู้ชุมนุม 78 คนเสียชีวิตเพราะ ‘ขาดอากาศหายใจ’ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

ท้ายที่สุด ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจบลงด้วยการประนีประนอม โดยกระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้แก่ญาติผู้เสียหายทั้ง 79 ราย ก่อนที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาฯ ได้จ่ายเงินเยียวยาให้แก้ผู้เสียหายเพิ่มอีกรายละ 7.5 ล้าน และผู้บาดเจ็บรายละ 500,000 บาท

ต่อมาคณะกรรมการอิสระฯ สอบสวนผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง 3 นาย ได้แก่ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4, พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 ผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการสลายการชุมนุม และ พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รอง มทภ.4 โดยตัดสินว่า ผู้บังคับบัญชาทั้งสามประมาทเลิ่นล่อ ขาดการใช้วิจารณญาณ ละเลยไม่ดูแลการเคลื่อนย้ายผู้ถูกชุมนุม โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้น้อยซึ่งขาดประสบการณ์รับผิดชอบ 

 

อ้างอิง:

Tags: , , ,