เวลาชาวไทยไปท่องเที่ยวแถบคันไซของประเทศญี่ปุ่นก็มักจะมุ่งหน้าไปยังเมืองโอซาก้า เกียวโต นารา หรือโกเบ แต่ไม่ค่อยมีใครไปเมืองทาคาระซึกะ (Takarazuka) จังหวัดเฮียวโงะสักเท่าไร ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเมืองนี้ไม่ได้มีของดีของเด็ดในระดับห้ามพลาด แต่หากใครต้องการท่องเที่ยวทางเลือก หนีผู้คนและคณะทัวร์ เมืองนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว
สำหรับคนที่ชอบอ่านการ์ตูน ดูหนัง ดูละครของญี่ปุ่น จะต้องคุ้นกับคำว่า ‘ทาคาระซึกะ’ เพราะของขึ้นชื่อของเมืองนี้คือคณะละครทาคาระซึกะ (Takarazuka Revue) ละครเพลงที่มีจุดเด่นตรงที่นักแสดงทุกคนล้วนเป็นผู้หญิง นั่นหมายถึงว่าผู้หญิงเล่นเป็นทั้งพระเอกและนางเอกนั่นเอง ถ้าใครเคยอ่านการ์ตูนเรื่อง ‘ชินจังจอมแก่น’ คงจำได้ว่ามีตอนที่มิซาเอะพาลูกๆ ไปดูละครทาคาระซึกะ และมีฉากที่ฮิมาวาริ (ลูกสาวคนเล็ก) หลงรักนักแสดงสาวหล่อที่รับบทพระเอกตั้งแต่แรกเห็น
ทันทีที่ก้าวออกจากสถานีทาคาระซึกะจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศเวอร์วังประหนึ่งตัวเองอยู่ในมังงะเรื่อง ‘กุหลายแวร์ซายส์’ ไม่ว่าจะตึกอาคารต่างๆ ที่ทรงเหมือนปราสาท แปลงดอกไม้สวยงามเรียงรายเป็นแถวยาว รูปปั้นของสองนักแสดงหญิงเต้นรำกัน และเด็ดที่สุดคือโรงละคร Takarazuka Grand Theater ความจุ 2500 ที่นั่ง ดูจากภายนอกแล้วเหมือนรีสอร์ทมากกว่าโรงละคร
ความโอ่อ่าของโรงละครและบรรยากาศโดยรอบสะท้อนถึงธรรมชาติของละครทาคาระซึกะได้ดี หากสรุปง่ายๆ หัวใจหลักของละครแนวนี้คือความ ‘เยอะ’ ทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะฉาก เสื้อผ้า การแต่งหน้าทำผมของนักแสดง (ลองค้นคำว่า Takarazuka ในยูทูบได้เลยจ้ะ บางคลิปมีซับไตเติ้ลอังกฤษด้วยนะ) ว่ากันว่าการ์ตูนผู้หญิง (Shojo manga) ที่นางเอกมักมีดวงตาวิ้งๆ วับๆ จนบ้านเราเรียกว่า ‘การ์ตูนตาหวาน’ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากลุคของนักแสดงในละครทาคาระซึกะนี่แหละ
ความน่าสนใจของละครทาคาระซึกะอยู่ตรงที่คนดูส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง อย่างวันที่ผู้เขียนไปแถวโรงละคร ก็เห็นกลุ่มผู้หญิงตั้งแถวรอเจอดารากันเพียบ แต่ละคนพกกล้องพร้อมเลนส์ซูมอย่างโหด โอ้โห นี่มันแบบเดียวกับติ่งเกาหลีเลยนี่นา รุ่นน้องที่ร่ำเรียนอยู่ญี่ปุ่นยังเล่าให้ฟังว่าการเป็นแฟนคลับทาคาระซึกะมักเป็นการติ่งแบบ ‘รุ่นสู่รุ่น’ คือชอบกันมาตั้งแต่รุ่นยาย แม่ ลูก ไปยันหลาน (ฟังดูเป็นแนวทายาทอสูรชอบกล)
สาเหตุที่ผู้หญิงชอบละครทาคาระซึกะมีการวิเคราะห์กันไว้มากมาย เช่น เป็นการกระตุ้นความตื่นเต้นแบบเลสเบี้ยนที่ซ่อนอยู่ภายใน หรือเป็นการพาตัวเองหนีไปในอยู่โลกที่ผู้หญิงเป็นใหญ่และสามารถทำสิ่งที่ผู้ชายทำได้ อย่างที่เห็นกันบ่อยว่าเวลาจัดอันดับความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงทีไร ญี่ปุ่นก็ได้อันดับบ๊วยๆ ทุกที
อย่างไรก็ดี แม้ความนิยมในละครทาคาระซึกะจะเกี่ยวข้องกับอิสระและสิทธิของผู้หญิง ในแต่ชีวิตจริงของนักแสดงทาคาระซึกะนั้นไม่ง่ายเลย ก่อนจะสมัครเข้าคณะได้ ต้องเรียนก่อนสองปี ส่วนการออดิชั่นแต่ละปีมีผู้สมัครนับพัน ได้รับคัดเลือกเพียง 40-50 คน จากนั้นต้องเซ็นสัญญาเป็นระยะเวลาเจ็ดปีและอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยกฎเคร่งครัดมากมาย รวมถึงการวางตัวกับแฟนคลับและนักแสดงด้วยกันเอง เนื่องด้วยสังคมญี่ปุ่นยังไม่ยอมรับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงนัก (ก็เป็นตลกร้ายที่มันเกิดขึ้นได้แค่ในโลกของละคร)
น่าเสียดายที่ผู้เขียนไปเมืองทาคาระซึกะแบบเช้าเย็นกลับ เลยไม่มีเวลาดูละคร (แต่เท่าที่ทราบตั๋วก็ไม่ได้จองง่าย เต็มเร็วมาก) แต่ที่จริงแล้วจุดหมายหลักในการมาเยือนที่นี่คือ Osamu Tezuka Manga Museum พิพิธภัณฑ์ว่าด้วย โอซามุ เทะสึกะ ผู้ได้ฉายา ‘บิดาแห่งวงการมังงะ’
ไม่ต้องเป็นแฟนมังงะมากนักก็น่าจะเคยผ่านตาหรือได้ยินชื่อผลงานของ อ.เทะสึกะ กันมาบ้าง อาทิ Astro Boy, Black Jack หรือ Phoenix (Hi no Tori) สาเหตุที่ได้รับการยกย่องอย่างมากก็เพราะอาจารย์ได้วางรากฐานสำคัญของมังงะไว้มากมายในช่วงยุคโชวะ ไม่ว่าจะการวาดภาพด้วยแนวคิดแบบภาพยนตร์ (Cinematic) ซึ่งเขาหยิบยืมเทคนิคมาจากแอนิเมชั่นของดิสนีย์ หรือการสร้าง ‘ระบบดารา’ (Star system) ที่ตัวละครสามารถข้ามไปโผล่ในอีกเรื่องได้
ความเทพอีกอย่างของ อ.เทะสึกะ คือมีผลงานหลากหลายแนวมาก ทั้งไซไฟ (Astro Boy), การ์ตูนผู้หญิง (Princess Knight), การผจญภัยของสัตว์ (Kimba) และที่สำคัญคือการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์จริง (ซึ่งมักไม่ได้ตีพิมพ์ในบ้านเรา) อาทิ Buddha ที่เล่าถึงชีวิตของพระพุทธเจ้า หรือ Message to Adolf ว่าด้วยชาย 3 คนที่ชื่ออดอล์ฟในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
อ.เทะสึกะ ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทาคาระซึกะช่วงอายุ 5 ถึง 24 ปี เมืองนี้ส่งอิทธิพลกับเขาอย่างมาก ความอุดมสมบูรณ์ของป่า เขา แม่น้ำ แมลง ทำให้เขารักธรรมชาติและตระหนักถึงการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นธีมที่ปรากฏบ่อยครั้งในผลงานของเขา แม้ว่าหลายเรื่องจะมีฉากหลังเป็นโลกอนาคตและเทคโนโลยีล้ำยุคก็ตาม นอกจากนั้นแม่ของเทะสึกะยังพาเขาไปดูละครทาคาระซึกะบ่อยๆ มันทำให้เขาวาดผู้หญิงและเสื้อผ้าสตรีได้ออกมาสวยงาม รวมถึงดวงตาอันเป็นประกายด้วย
สำหรับ Osamu Tezuka Manga Museum เอาที่จริงไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก ใช้เวลาเดินประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ทั่วแล้ว (ข้อมูลส่วนใหญ่มีภาษาอังกฤษ ถ้าอ่านละเอียดอาจจะมากกว่านั้น) แต่จุดที่ชอบคือรายละเอียดของมิวเซียมที่มีรูปผลงานของ อ.เทะสึกะ อยู่ทุกหนแห่ง ตั้งแต่พื้น กำแพง เพดาน ลิฟท์ กระทั่งโถปัสสาวะยังมี! (ห้องน้ำหญิงมีหรือเปล่านี่ไม่รู้เพราะไม่ได้เข้า) เรียกได้ว่าตามรอยซอกแซกกันอย่างสนุก
อีกโซนที่ดีคือโรงหนังที่ฉายทั้งแอนิเมชั่นจากเรื่องที่ อ.เทะสึกะ วาด และหนังสั้นว่าด้วยชีวิตของอาจารย์เอง ผู้เขียนเพิ่งมาทราบเอาตอนนี้ว่าในช่วงท้ายของชีวิต อาจารย์มีช่วงที่จิตตกเขียนงานไม่ออก ไม่กล้าวาดกระทั่งรูปวงกลม แต่เทะสึกะก็ฝ่าฟันความรู้สึกนั้นมาได้ จนมีประโยคหนึ่งจากหนังที่บอกว่า “สาเหตุที่มังงะไม่เฟื่องฟูในประเทศอื่น ก็เพราะพวกเขาไม่มี โอซามุ เทะสึกะ”
ฟังดูเป็นประโยคน่าหมั่นไส้สุดฤทธิ์ แต่คิดไปคิดมามันก็มีส่วนจริงอยู่
* จากโอซาก้าสามารถเดินทางไปยังเมืองทาคาระซึกะได้โดยนั่งรถไฟ Hankyu สาย Takarazuka Main Line จากสถานี Umeda หรือนั่งรถด่วน Kounotori (JR West) จากสถานี Shin-Osaka หรือ Osaka ไปลงสถานี Takarazuka ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
* Osamu Tezuka Manga Museum เดินจากสถานี Takarazuka ประมาณ 12 นาที เปิดทำการ 9.30-17.00 (หยุดทุกวันพุธ) ค่าเข้า 700 เยน ดูรายละเอียดที่ http://www.city.takarazuka.hyogo.jp/tezuka/
Tags: ญี่ปุ่น, การแสดง, ทาคาระซึกะ