องค์การอนามัยโลกจะเปิดประชุมสมัชชาในสัปดาห์นี้ รัฐบาลไทเปใช้จังหวะที่นานาชาติชื่นชมผลงานป้องกันโรคระบาด แสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมเวทีนี้ ชาติตะวันตกสนับสนุนคำขอของไต้หวัน แต่จีนยังคงกันท่า 

ไต้หวันเปิดเกมขอเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในเวทีสมัชชาองค์การอนามัยโลกในขณะที่จีนถูกวิจารณ์ว่า ปกปิดข้อมูลการระบาดในช่วงแรก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการยับยั้งไวรัสไม่ให้แพร่กระจาย 

แน่นอนว่า รัฐบาลปักกิ่งคัดค้านคำขอนี้ เพราะมองว่าไทเปกำลังรุกคืบไปสู่การประกาศเอกราช ทว่าคำขอนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากพันธมิตรตะวันตกหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ 

นักสังเกตการณ์ต่างจับตาดูว่า ประเด็นสถานะของไต้หวันในองค์การอนามัยโลกจะร้อนฉ่า ถึงขนาดบดบังวาระความร่วมมือของนานาชาติในการเอาชนะโรคระบาดหรือเปล่า จีนกับอเมริกาจะงัดข้อกันด้วยเรื่องไต้หวัน จนกระทั่งส่งผลต่อบรรยากาศความร่วมมือของโลกหรือไม่ อย่างไร  

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ส.ส. และนักกิจกรรมไต้หวันจัดแถลงข่าวเรื่องความพยายามของไต้หวันในการขอเข้าร่วมเวที WHO (15 พ.ค. 2020 ภาพ: REUTERS/Ann Wang)  

มะรุมมะตุ้มจับจองวัคซีน

นับเป็นครั้งแรกที่สมัชชาขององค์การอนามัยโลก (World Health Assembly) จะดำเนินการประชุมแบบเสมือนจริง แทนการประชุมที่ผู้แทนรัฐสมาชิก 194 ประเทศได้พบหน้ากันที่กรุงเจนีวาเหมือนอย่างทุกปี เนื่องจากจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรวมตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 

ตามปกติ เวทีนี้จะใช้เวลาประชุมนาน 3 สัปดาห์ เพื่อกำหนดนโยบายและอนุมัติแผนงานและงบประมาณขององค์การอนามัยโลก แต่ในปีนี้จะใช้เวลาแค่ 2 วัน (18-19 พ.ค.) โดยมีวาระเพียงหัวข้อเดียว นั่นคือ ผ่านข้อมติเกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่  

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ จัดทำร่างข้อมติและหารือกับชาติสมาชิกของสมัชชา จนบรรลุผลการเจรจาแล้ว ขั้นต่อไปคือ นำร่างข้อมติเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ   

สาระสำคัญของร่างข้อมติฉบับนี้ คือ เรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงชุดตรวจ เวชภัณฑ์ การรักษาที่ได้ผล และที่สำคัญคือ วัคซีนที่จะมีมาในอนาคต

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มปรากฏวี่แววแล้วว่า ถ้าโลกไม่มีข้อตกลงร่วมกัน ชาติมหาอำนาจอาจเปิดฉากช่วงชิงวัคซีน ปล่อยให้ประเทศอ่อนแอคอยกินน้ำใต้ศอก 

การเข้าถึงวัคซีนอาจกลายเป็นประเด็นร้อน เวลานี้ สหรัฐฯ กับยุโรปกำลังงัดข้อกันที่จะได้วัคซีนก่อนเพื่อน ขณะเดียวกัน วอชิงตันกล่าวหาปักกิ่งว่า พยายามขโมยงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกัน

เกมสามเส้าในวิกฤตไวรัส

คงยากที่จะปฏิเสธว่า ภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยแฝงเบื้องหลังเสียงสนับสนุนของชาติตะวันตกและพันธมิตรในเอเชีย ที่จะยกสถานะของไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยความต้องการที่จะทัดทานอิทธิพลของจีนในการเมืองโลก

ตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ร่วมกันส่งเสียงขานรับสหรัฐฯ ผลักดันให้ไต้หวันได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก 

ความสัมพันธ์สามเส้า จีน ไต้หวัน สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงย่านเอเชีย-แปซิฟิกเสมอมา วิกฤตไวรัสได้เข้ามาเป็นประเด็นท้าทายในทางแพร่ง ทางหนึ่งคือความร่วมมือ ทางหนึ่งคือความขัดแย้ง 

ถึงแม้ไต้หวันเรียกตัวเองด้วยชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน เคยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 1948 จนกระทั่งสูญเสียที่นั่งในยูเอ็นให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 1972 ทว่าจีนไม่เคยยอมรับเอกราชของไต้หวันนับแต่ต่างฝ่ายต่างแยกกันปกครองดินแดนของตัวเองตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา 

เจิ้งเจินซิง ผู้เชี่ยวชาญกิจการไต้หวัน มหาวิทยาลัยซิงหัว ในกรุงปักกิ่ง ชี้ว่า เหตุที่สหรัฐฯ กดดันจีนในประเด็นไต้หวันนั้น เป็นเพราะตอนนี้อเมริกาถือจีนเป็นศัตรู ถ้าวอชิงตันเล่นไพ่ไต้หวันเผชิญหน้ากับจีน ปักกิ่งจะยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างแน่นอน

ไวรัสระบาดใต้ระบอบอำนาจนิยม

อันที่จริง สถานะผู้สังเกตการณ์โดยตัวมันเองไม่ได้หมายถึงการรับรองเอกราช ปักกิ่งยังเคยเห็นชอบให้ไต้หวันเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมของสมัชชาอนามัยโลกมาแล้วเมื่อช่วงปี 2009-2016 ในนามของ “จีนไทเป” 

เหตุที่ปักกิ่งคัดค้านในเที่ยวนี้ก็เพราะไต้หวันมีรัฐบาลที่ยึดถือจุดยืนแตกต่างออกไป ในครั้งนั้น ไทเปดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับปักกิ่ง ในเวลานี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีหญิง ไช่อิงเหวิน มาจากพรรคที่ถือว่าไต้หวันเป็นรัฐเอกราชโดยพฤตินัย และไม่ยอมรับหลักการ “จีนเดียว” 

แต่ท่าทีกีดกันไต้หวันของจีนสวนทางกับท่าทีของบรรดาพี่เบิ้ม หลายประเทศมองว่า ระบอบอำนาจนิยมที่มีการควบคุมข้อมูลข่าวสาร เป็นตัวการทำให้ไวรัสลุกลามไปทั่วโลก ขณะที่ดินแดนประชาธิปไตยอย่างไต้หวันได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างของการรับมือโรคระบาด ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตแค่ 7 ราย ติดเชื้อเพียง 433 ราย 

ไทเปบอกว่า ถ้าไต้หวันได้มีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก ประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญที่ได้จากการควบคุมโรคจะเป็นประโยชน์แก่นานาชาติ การกีดกันไต้หวันถือว่าไม่เป็นธรรมต่อดินแดนที่มีประชากร 23 ล้านคน 

อนามัยโลกไม่ออกคำเชิญ

จนถึงขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ส่งเทียบเชิญไต้หวันเข้าร่วมประชุม โดยบอกว่า ตัวองค์การเองไม่มีอาณัติที่จะทำหนังสือเชิญ เรื่องนี้เป็นอำนาจตัดสินใจของรัฐภาคี กับรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงจีน

องค์การอนามัยโลกยังออกตัวด้วยว่า ไม่ได้ทอดทิ้งไต้หวัน ที่ผ่านมามีการติดต่อในระดับเจ้าหน้าที่โดยตลอด เจ้าหน้าที่ไต้หวันได้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการหลายครั้ง 

อย่างไรก็ดี ไต้หวันแย้งว่า ในสมัยของผู้อำนวยการอนามัยโลกคนก่อนหน้า ทางองค์การเคยเชิญไต้หวันมาแล้ว เพราะเรื่องนี้ถือเป็น “ดุลยพินิจ” ของผู้อำนวยการ 

ต้องคอยดูว่า ประเด็นสถานะของไต้หวันในองค์การระหว่างประเทศ อย่างเช่นองค์การอนามัยโลก จะจบลงอย่างไร.

 

 

อ้างอิง:

South China Morning Post, 6 May 2020

Reuters, 14 May 2020

Reuters, 15 May 2020

AFP via Channel News Asia, 16 May 2020

AFP via Barrons, 16 May 2020

ภาพปก: FABRICE COFFRINI / AFP

 

Tags: , , , , , ,