สำหรับชาวไต้หวัน 23 ล้านคน วันพุธที่ 28 ก.พ. 2018 คือวันครบรอบปีที่ 71 ของการสังหารหมู่ประชาชนอย่างน้อย 18,000 ชีวิต ในเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘เหตุการณ์ 228’ (228 Incident) ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2490

ที่มาภาพ: taiwannews.com.tw

วันที่ 28 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันหยุดของชาวไต้หวัน และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ชาวไต้หวันกลุ่มหนึ่งก็ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลของนางสาวไช่ อิงเหวิน เร่งรัดแผนการลบทำลายสัญลักษณ์ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมที่ระบอบเผด็จการในยุคสมัยของเจียง ไคเชก ทิ้งไว้บนเกาะแห่งนี้

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ไต้หวันเพิ่งจะผ่านกฎหมายที่จะจัดการกับมรดกของความอยุติธรรมภายใต้การปกครองของเจียง ไคเชก เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วนี้เอง ซึ่งหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ชื่อของถนนและโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงอดีตผู้ปกครองจะถูกเปลี่ยน และบรรดารูปปั้นของเขาจะถูกรื้อถอน

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา รูปปั้นของเจียง ไคเชก นับร้อยชิ้นก็ถูกนำมารวมไว้ใกล้กับสุสานของเขาในเมืองเถา-ยฺเหวียนอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อวันพุธ กลุ่มผู้ประท้วงราวสิบคนก็บุกเข้าไปในสุสานพร้อมกับผืนผ้าที่มีข้อความต่อต้านรัฐบาลจีน จากนั้นก็ราดเทสีแดงลงบนโลงหินของเจียง ไคเชก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเลือดที่หลั่งรินในยุคสมัยการปกครองของพรรคชาตินิยมจีน (ก๊กมินตั๋ง) ภายใต้การนำของเขา

แถลงการณ์ตอนหนึ่งของกลุ่มผู้ประท้วงระบุว่า “ตราบใดที่ทรัพยากรของไต้หวันถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองสิ่งตกค้างของเจียงและพรรคพวกของเขา ตราบนั้นการสักการะบูชาผู้เผด็จการก็จะยังไม่หายไป และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง”

ในวันเดียวกัน อดีตประธานาธิบดีของไต้หวันสองคนก็แถลงข่าวเรียกร้องให้มีการลงประชามติในเดือนเมษายน 2562 ว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อทางการของประเทศจาก ‘สาธารณรัฐจีน’ เป็น ‘สาธารณรัฐไต้หวัน’ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านี้แล้วว่ามันอาจนำไปสู่สงคราม

ความเคลื่อนไหวทั้งสองด้านเมื่อวันพุธที่ 28 ก.พ. คือสิ่งตอกย้ำความท้าทายที่รัฐบาลของไช่ อิงเหวิน กำลังพบเผชิญ

ณ เวลานี้ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันกำลังอยู่บนทางสองแพร่งระหว่างแรงกดดันจากรัฐบาลจีน และการพยายามรักษาฐานเสียงจากกลุ่มผู้เรียกร้องให้ไต้หวันเป็นอิสระจากจีน

ลี เต็งฮุย วัย 95 ปี หนึ่งในสองอดีตประธานาธิบดีที่เรียกร้องให้มีการลงประชามติ บอกกับกลุ่มผู้สนับสนุนนับร้อยคนในงานแถลงข่าวว่า การลงประชามติคือ ‘อาวุธอันทรงพลังที่สุด’ ที่ไต้หวันจะใช้สถาปนาตัวเองในฐานะ ‘ประเทศปกติ’ ขณะที่อีกหนึ่งอดีตประธานาธิบดี คือ เฉิน ฉุ่ยเปี่ยน วัย 67 ปี ก็บอกว่า “ไต้หวันคือประเทศของเรา ไม่ใช่ของจีน”

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ไม่ได้แสดงความเห็นต่อทั้งกรณีการลงประชามติและการประท้วงที่สุสานของเจียง ไคเชก โดยเธอส่งข้อความรำลึกถึงเหตุการณ์ 228 ผ่านทวิตเตอร์ และระบุว่า รัฐบาลจะดำเนินการสอบสวนการใช้อำนาจโดยมิชอบที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบก๊กมินตั๋ง

 

ที่มา:

Tags: , , , , ,