เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรแค่ 1.3 ล้านคน เพิ่งออกจากสหภาพโซเวียตในปี 1990 แต่ในปี 2018 เอสโตเนียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยเฉพาะระบบ e-Resident ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2014 ทำให้การเข้าถึงบริการภาครัฐเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุดแบบครบวงจร
บริการภาครัฐในแบบดิจิทัล มีตั้งแต่ Digital ID ระบบประกันสุขภาพ ลายเซ็นดิจิทัล การลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ ไปจนถึงการเปิดบัญชีธนาคารที่ไม่ต้องไปธนาคารให้ยุ่งยาก และการจองคิวหมอ
ปัจจุบันระบบ e-Resident ให้บริการคลอบคลุมมากกว่า 90% ในแบบที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางมายังหน่วยงานของรัฐให้เสียเวลา และทำทุกอย่างผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน
ในงาน Techsauce Global Summit 2018 ซึ่งมีขึ้นเมื่อ 22 -23 มิถุนายน ที่ผ่านมา หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจคือ Estonia: The Emerging Digital Nation โดย ตาวิ รอยวาส (Taavi Rõivas) อดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียวัย 38 ปี ที่พูดเรื่องการเปลี่ยนระบบราชการอันล้าหลังสู่ความทันสมัยในยุคดิจิทัล
ตาวิ รอยวาส บอกกับคนฟังในงานว่า ทุกวันนี้ ชีวิตประจำวันของเราอยู่กับสมาร์ตโฟนและแอปพลิเคชันมากมายที่ทำทุกอย่างได้ อาจเป็นเรื่องน่าเสียใจถ้ารัฐบาลไม่ได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ครั้งหนึ่ง โลกของเราซื้อขายกันด้วยเงินสด ต่อมา 60 ปีที่แล้วมีสิ่งที่เรียกว่าบัตรเครดิตเกิดขึ้นเพื่อใช้แทนเงินสด ทำให้เราใช้จ่ายต่างๆ ง่ายขึ้น เกิดเป็นอีคอมเมิร์ซ เราสามารถซื้อของได้จากแอมะซอน อาลีบาบา หรือราคูเต็น เราจองที่พักผ่านบุคกิงดอทคอม อะโกดา ใช้บริการเรียกรถอูเบอร์ ซึ่งเป็นบริการอะไรก็ได้ที่สามารถเข้าถึงกระเป๋าสตางค์ของเราได้”
“บัตรเครดิตเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว มีวิธีไหนที่เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องเสียค่าอัตราแลกเปลี่ยน แล้วถ้าเราต้องทำเรื่องแจ้งเกิด ภาษี แจ้งย้ายบ้าน เราต้องไปที่สำนักงานเขตใช่ไหม”
นี่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไรที่เอสโตเนีย
อดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียฉายภาพของโครงการ e-Resident ที่ได้ทำไปแล้ว อย่างเรื่องของสมาร์ตไอดี ประชากรของเอสโตเนียจะมีสมาร์ตไอดีที่ยืนยันตัวตนผ่านหมายเลขประจำตัว Digital ID และลายเซ็นดิจิทัลซึ่งออกโดยรัฐบาล สำหรับการเข้าถึงบริการของภาครัฐ การทำธุรกรรม และสามารถรับรองเอกสารต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
“เราอยู่ในปี 2018 ที่คนคิดว่าการเซ็นบนกระดาษเป็นอะไรที่ปลอดภัย ผมเดินทางมาถึงเมืองไทย 3 ชั่วโมง และเซ็นเอกสารไปหลายชุดมาก เอาจริงๆ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเป็นผมเซ็น อาจเป็นเลขาฯ ผม หรือลูกสาววัยเก้าขวบของผมก็ได้ ถ้าเราใช้ลายเซ็นดิจิทัลมันจะยืนยันตัวตนคนเซ็นต์ได้จริงๆ”
“แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรายังพัฒนา Mobile ID ซึ่งทำทุกอย่างผ่านสมาร์ตโฟนได้ มีซิมการ์ดที่เก็บข้อมูลส่วนตัว และใช้ระบุตัวตน ผมสามารถลงนามในเอกสารราชการสำคัญได้ระหว่างผมอยู่ที่กรุงเทพฯ และส่งกลับไปยังเอสโตเนียในชั่วพริบตา การนั่งเซ็นเอกสารด้วยมือเป็นอะไรที่ใช้เวลาเป็นวัน ถ้าผมไม่อยู่ในเอสโตเนียหนึ่งสัปดาห์ คงต้องใช้เวลาในการจัดการกับมันทั้งวัน ซึ่งวิธีการแบบนี้มันเร็วกว่า”
อีกเรื่องเป็นข้อดีในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เนื่องจากหลายประเทศเก็บข้อมูลคนไข้ด้วยกระดาษ และต้องจัดเก็บอยู่ในห้องเอกสารห้องหนึ่งในโรงพยาบาล ถ้าเอาข้อมูลคนไข้มาอยู่ในระบบดิจิทัล ไม่ว่าหมอคนไหนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้
“ยกตัวอย่างว่าถ้าคุณไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ แล้วเกิดไม่สบายต้องไปหาหมอ แต่หมอที่คุณไปหาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคุณเลย เพราะการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพยังเป็นอนาล็อก ถ้ามันอยู่ในรูปแบบดิจิทัล หมอสามารถเข้าถึงประวัติการรักษาและดึงข้อมูลออกมาได้ รู้ได้เลยว่าคุณแพ้อะไร เลือดกรุ๊ปอะไร หรือการรักษาก่อนหน้าเป็นอย่างไร ผมว่ามันง่ายกว่าเยอะ”
“เราอยู่ในปี 2018 ที่คนคิดว่าการเซ็นบนกระดาษเป็นอะไรที่ปลอดภัย ไม่มีใครรู้หรอกว่าเป็นผมเซ็น อาจเป็นเลขาฯ หรือลูกสาววัยเก้าขวบของผมก็ได้”
“แล้วถ้าเราจองคิวหมอได้เหมือนอย่างจองที่พักผ่านบุคกิงดอทคอมหรือ Airbnb ดูว่าหมอจำนวนพันคน มีคนไหนที่ว่างสำหรับคุณ การเอาแอปหรือวิธีแบบนี้มาปรับใช้กับบริการของรัฐ คุณคิดว่า พลเมืองจะได้ประโยชน์มากขนาดไหน นี่คือสิ่งที่ชาวเอสโตเนียทำกันมาเป็นสิบปี ผมหวังว่าประเทศอื่นจะหันมาทำเหมือนกัน ถ้าทำกันทั้งโลก นึกไม่ออกเลยว่าชีวิตจะสะดวกสบายและน่าสนใจขนาดไหน
หลังจากนั้น เขาโชว์ภาพการเลือกตั้งแบบดั้งเดิม นั่นคือการเดินเข้าคูหาเลือกตั้งแล้วหย่อนบัตรลงกล่อง แต่สิ่งที่เอสโตเนียทำในปี 2005 คือการเข้าไปในเว็บไซต์สำหรับการเลือกตั้ง แล้วใช้ Digital ID ลงทะเบียนเพื่อเข้าชื่อเลือกตั้ง และลงคะแนนได้เหมือนกัน
“บางคนอาจไม่ชอบวิธีนี้เพราะเห็นว่าวิธีดั้งเดิมจะเป็นการออกไปเข้าสังคมมากกว่า ซึ่งผมเคารพการตัดสินใจของพวกเขา แต่เราใช้วิธีนี้เพราะเราไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะตั้งสถานทูตในทุกประเทศ หากว่ามีชาวเอสโตเนียนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ออสเตรเลีย โปแลนด์ หรือที่ไหนก็ได้ในโลก ก็สามารถลงคะแนนเลือกตั้ง อย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเราเปิดให้ชาวเอสโตเนียนที่อาศัยอยู่ใน 116 ประเทศเลือกตั้งได้ วิธีนี้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มโอกาสสำหรับคนที่ไม่สามารถมาที่จุดเลือกตั้งหรือไม่อยากมาได้”
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกรรมสองประเภทที่รัฐบาลเอสโตเนียยังไม่อนุญาตให้ทำในรูปแบบดิจิทัล นั่นคือ การซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ และการจดทะเบียนสมรส ซื้อถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทางกฎหมายสูง โดยตรงมีเจ้าหน้าที่คนกลางเป็นพยานในการลงชื่อ
Tags: Techsauce, TSGS18, เอสโตเนีย, Estonia, Digital ID