เคยสังเกตไหมครับว่ามนุษย์เรามักนำประสบการณ์พื้นฐานที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้ามาใช้ในการทำความเข้าใจและพูดถึงแนวคิดอื่นที่ซับซ้อนหรือเป็นนามธรรม ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราโกรธ เราก็มักนำคำที่เกี่ยวกับความร้อน (ซึ่งเป็นประสบการณ์พื้นฐานของมนุษย์เพราะเราทุกคนรู้สึกร้อนหรือหนาวได้) มาใช้อธิบายอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นนามธรรมนี้ เช่น โกรธควันออกหู โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เดือดดาล หัวร้อน เป็นต้น

ด้วยความที่ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์พื้นฐานของมนุษย์เพราะใครๆ ก็ต้องเคยป่วยด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คำต่างๆ ที่ใช้บรรยายโรคภัยจะถูกนำมาใช้ทำความเข้าใจความคิดที่ซับซ้อนหรือเป็นนามธรรมในรูปแบบคล้ายๆ กัน พูดอีกอย่างก็คือ คำที่ปกติใช้พูดถึงโรคภัย อาจนำไปใช้พูดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับโรคภัยเพื่อให้เราเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้ดีขึ้น (เช่นที่ The Financial Times เรียกประเทศไทยว่าเป็น “the sick man of Southeast Asia” หรือ “คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว)

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า มีคำเกี่ยวกับโรคภัยคำไหนบ้างที่ถูกเอาไปใช้ในเชิงเปรียบเปรยและใช้ในความหมายว่าอะไร

Infectious

ความหมายปกติ:

ติดต่อกันได้ แพร่ไปสู่อีกคนหนึ่งได้ (เช่น Malaria is an infectious disease. มาลาเรียเป็นโรคติดต่อ)

ความหมายเชิงเปรียบเปรย: 

โรคติดต่อสามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้ฉันใด รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของบางคนก็มีพลังและเสน่ห์จนทำให้ผู้ที่เห็นต้องพลอยยิ้มหรือหัวเราะตามฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ คำว่า infectious ที่ปกติใช้พูดถึงโรคติดต่อต่างๆ จึงถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่ออธิบายลักษณะรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะที่เห็นแล้วต้องยิ้มหรือหัวเราะตาม เช่น She was known for her infectious laughter. ก็คือ เธอเป็นที่รู้จักดีว่ามีเสียงหัวเราะที่ได้ยินแล้วมีความสุขหรือพลอยต้องหัวเราะตาม นอกจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแล้ว คำนี้ยังอาจหยิบไปใช้กับพลังงานหรือความกระตือรือร้นได้ด้วย เช่น ถ้าพูดว่า His enthusiasm is infectious. ก็จะหมายถึง เขากระตือรือร้นมากจนใครๆ ที่อยู่รอบๆ ก็พลอยรู้สึกกระตือรือร้นตามไปด้วย

อีกคำที่มีลักษณะคล้ายกันคือ contagious ซึ่งปกติใช้พูดถึงโรคติดต่อเช่นกัน (ติดต่อได้ผ่านการสัมผัส) แต่ก็สามารถนำมาใช้อธิบายรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือความกระตือรือร้นที่แพร่ไปสู่คนอื่นได้เหมือนกับคำว่า infectious เช่น a contagious smile เป็นต้น

Fever

ความหมายปกติ:

ไข้ สภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติ (เช่น I’m running a fever. ฉันมีไข้)

ความหมายเชิงเปรียบเปรย: 

เวลาที่มีไข้สูงมากๆ เราอาจมีอาการเพ้อ (delirium) สติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ดี อันเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับเวลาที่ตื่นเต้นหรือพะว้าพะวง ด้วยเหตุนี้ fever จึงถูกเอามาใช้เรียกภาวะที่คนตื่นเต้นนั่งไม่ติด กระวนกระวายใจ เช่น Everyone was in a fever of anticipation over Brexit. คือ ทุกคนต่างกระวนกระวายรอดูผลเรื่องเบร็กซิตอย่างใจจดใจจ่อ

นอกจากนั้น อาการไข้นี้ยังถูกเอาไปใช้เรียกกระแสคลั่งหรือเห่อที่พลุ่งพล่านขึ้นมาชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จางหายไปด้วย เช่น กระแสคลั่งดอกทิวลิปในศตวรรษที่ 18 ก็เรียกว่า tulip fever หรือกระแสคลั่งการประกวดนางงามเมื่อฤดูกาลการประชันความงามทั้งหลายมาถึงก็จะเรียกว่า pageant fever

ทั้งนี้ เราอาจะเจอการใช้คำ fever แบบเปรียบเปรยในคำว่า yellow fever ด้วย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

Disease

ความหมายปกติ:

โรค (เช่น There’s no known cure to this disease. โรคนี้ยังไม่พบยารักษา)

ความหมายเชิงเปรียบเปรย: 

สังคมของเรามักจะถูกเปรียบเทียบเป็นร่างกายบ่อยๆ อย่างในภาษาไทยก็ใช้คำว่า องคาพยพ ที่หมายถึง อวัยวะน้อยใหญ่ มาเรียกภาคส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสังคม ด้วยเหตุนี้ หากมีความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นและสร้างความปั่นป่วนในสังคม ก็ไม่แปลกที่เราจะมองความเสื่อมทรามนั้นเป็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ด้วยเหตุนี้ คำว่า disease จึงถูกนำมาใช้หมายถึง ความเสื่อมทรามที่สร้างปัญหา เช่น คนที่รู้สึกลัทธิวัตถุนิยมเป็นปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ก็อาจจะพูดว่า Materialism is a disease of modern society. หรือผู้ที่มองว่าลัทธิชาตินิยมเป็นแนวคิดที่สร้างปัญหาในสังคมอยู่ ก็อาจจะพูดว่า The disease that is ravaging our country is nationalism.

Anemic

ความหมายปกติ:

มีภาวะโลหิตจาง (เช่น anemic patients ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง)

ความหมายเชิงเปรียบเปรย: 

ภาวะโลหิตจางคือภาวะที่จำนวนเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะนี้รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า ไม่ค่อยมีกำลังวังชา และอาจดูซีดเซียวจากภายนอกเมื่อเทียบกับคนทั่วไป คำนี้ถูกเอามาใช้อธิบายสิ่งที่ดูไม่ค่อยมีพลัง ไม่น่าสนใจหรือดึงดูดเท่าที่ควรจะเป็น ดูแล้วเจือจางหรือปวกเปียก ตัวอย่างเช่น หากสินค้าชนิดหนึ่งที่บริษัทเพิ่งปล่อยสู่ตลาดทำยอดขาดไม่ค่อยดี ทำให้บริษัทตัดสินใจเลิกผลิตสินค้านั้นต่อ ก็อาจจะบอกว่า Because of its anemic sales, the company has decided to discontinue the product. หรือหากเรารู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเท่าที่ควรในการป้องกันการระบาดของไวรัสอู่ฮั่น ก็อาจจะอธิบายสิ่งที่รัฐบาลทำว่าเป็น an anemic attempt to prevent a virus outbreak

Hemorrhage

ความหมายปกติ:

ตกเลือด เลือดออกเป็นปริมาณมาก (เช่น brain hemorrhage อาการเลือดออกในสมอง)

ความหมายเชิงเปรียบเปรย: 

หากเราจะเปรียบเทียบองค์กรหนึ่งเป็นร่างกาย สิ่งที่อาจถือได้ว่าเป็นเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายให้คงอยู่ได้ก็อาจจะเป็นเงินหรือผู้คนในองค์กรนั้น ดังนั้น หากเราต้องการพูดถึงภาวะที่เงินหรือบุคลากรไหลออกจากองค์กรนั้นเป็นปริมาณมากให้เห็นภาพ การนำคำที่หมายถึงภาวะเลือดออกไหลออกจากร่างกายเป็นปริมาณมากๆ ก็น่าจะบรรยายภาพนี้ได้ชัดเจนดี (คล้ายๆ คำว่า brain drain หรือ สมองไหล ที่ใช้หมายถึงเหตุการณ์ที่คนเก่งๆ ที่เป็นมันสมองขององค์กรไหลออกไปที่อื่น) ด้วยเหตุนี้ คำว่า hemorrhage จึงถูกนำมาใช้หมายถึง การสูญเสียเงินหรือบุคลากรออกจากองค์กรเป็นจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์เบร็กซิตอาจส่งผลให้ประเทศอังกฤษสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเพราะไม่สามารถทำงานอยู่ในประเทศได้แล้ว แบบนี้ก็อาจพูดว่า Brexit will trigger a hemorrhage of medical personnel. หรือหากบริษัทกำลังสูญเงินอย่างหนัก ก็อาจจะพูดว่า The company is hemorrhaging money.

 

บรรณานุกรม

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Dobson, Mary. Murderous Contagion: A Human History of Disease. Quercus: London, 2015.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Parker, Steve. Kill or Cure: An Illustrated History of Medicine. DK: New York, 2013.

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

Tags: , ,