ก่อนมาใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาฝึกงานอยู่ที่สวีเดนเป็นเวลาครึ่งปี เราไม่มีความรู้ใดใดเกี่ยวกับประเทศนี้มาก่อน และไม่รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวใดๆ นอกจากสตอกโฮล์มและมัลเม่อ (Malmö) แต่เมื่อมาถึง เรากลับมีโอกาสได้ไปเที่ยวก่อนจะเริ่มฝึกงานท่ามกลางอุณหภูมิสิบกว่าองศา และลมฝนเย็นฉ่ำของฤดูใบไม้ร่วง โดยไม่ต้องหาข้อมูลใดๆ
นั่นก็เพราะ Uppsala University มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในสวีเดนที่เราไปฝึกงานอยู่นั้นมีนักศึกษาจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้มหาลัยจัดทัวร์ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นจำนวน 5-6 ทริปทุกต้นเทอม โดยต้องลงชื่อให้ทันและต้องออกเงินเองทริปละ 250 โครน หรือ 1,000 บาท ไม่รวมค่าอาหาร
ด้วยโอกาสที่มีนี้ เราเลือกไปสองทริปที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือการทัวร์ปราสาทของกษัตริย์สวีเดนในสุดสัปดาห์แรก และเหมืองกับโรงถลุงเหล็กของชนชั้นแรงงานในสุดสัปดาห์ที่สอง ถือว่าได้เห็นความแตกต่างระหว่างสองวิถีชีวิตภายในสองวัน ถึงจะเป็นไปแบบผิวเผินแบบนักท่องเที่ยวทั่วไปก็ตาม
ปราสาทสวีเดนมันเป็นยังไง
การไปเที่ยวแบบเยี่ยมชมวิวครั้งแรกของเราในสวีเดนเป็นการทัวร์แบบมีบรรยายภาษาอังกฤษที่ปราสาทกริปส์โฮล์ม (Gripsholms Castle) รถบัสออกตรงเวลาไม่รอคนที่ยังมาไม่ถึง มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นทุ่งหญ้าสีเขียวใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวและทะเลสาบขนาดใหญ่ที่เชื่อมไปถึงสตอกโฮล์มได้ถนัดตา
พวกเราห้าสิบคนลงใต้ไป 100 กิโลเมตรจากอุปซอลา (Uppsala) ใช้เวลาบนรถบัส 1 ชั่วโมง 20 นาที ก็มาถึงปราสาทกริปส์โฮล์มส์ที่ตั้งอยู่ในเมืองมารีเอเฟรด (Mariefred) ห่างจากจากสตอกโฮล์มไปทางตะวันตก 70 กิโลเมตร เดินทางได้ด้วยรถไฟจากสถานีสตอกโฮล์ม เซ็นทรัล โดยช่วงหลังมาริเอเฟรดมีสนามกอล์ฟสร้างใหม่ แถบนี้เลยกลายเป็นสถานที่โปรดแห่งใหม่ของชาวเมืองหลวงและมีคนเดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย
ปราสาทริมทะเลสาบแห่งนี้เป็นโปรเจคต์ของกษัตริย์กุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa) หรือกุสตาฟที่ 1 ผู้อยากจะสร้างปราสาทไว้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกในสมัยศตวรรษที่ 16 ก่อนที่หลังจากนั้นจะถูกใช้เป็นที่พักของกษัตริย์ต่อไปอีกหลายสมัย รวมทั้งเป็นใช้ที่คุมขังเชื้อพระวงศ์ที่ขัดขวางการใช้อำนาจของกษัตริย์ด้วย
ปราสาทกริปส์โฮล์มส์กลายเป็น ‘ปราสาทแม่ม่าย’ ในศตวรรษที่ 17 เพราะมีพระราชินีที่เป็นแม่ม่ายมาอาศัยอยู่ติดกันสองพระองค์ และกลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมในศตวรรษที่ 18 เพราะกษัตริย์กุสตาฟที่ 3 คลั่งประวัติศาสตร์และละครเวทีมากจนพระมารดาถึงขั้นสร้างโรงละครไว้ในปราสาทให้เป็นของขวัญ โดยสิ่งที่เราชอบมากเกี่ยวกับโรงละครนี้คือพื้นเวทีนั้นลาดลงไป เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าฉากมีความลึก และชั้นบนสุดของโรงละครมีที่นั่งจัดไว้ให้บรรดาคนรับใช้ได้ชมละครไปพร้อมกับชนชั้นสูงด้วย
แต่สิ่งที่เราชอบมากกว่าโรงละครคือการตกแต่งภายในโดยรวมที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียด ไม่เหมือนกับปราสาทหรือพระราชวังในเมืองอื่นๆ อย่างเวียนนาที่ประดับประดาและเลี่ยมทองอย่างหรูหรา ที่นี่ปูพื้นและตกแต่งห้องด้วยไม้สีขาวหรือสีสว่าง วาดเส้นสายลวดลายพืชพันธุ์และเถาวัลย์ต่างๆ ลงไป ใช้แชนเดอเลียร์ที่ทำจากเปเปอร์มาเช่ แขวน tapestry สวยๆ ไว้บนผนัง และแน่นอนว่าต้องมีภาพวาดพอร์ตเทรตของกษัตริย์ มเหสี ราชินี และราชวงศ์คนอื่นๆ ติดไว้ด้วย โดยบางห้องจะเป็นรูปกษัตริย์จากดินแดนต่างๆ ที่ครองราชย์ในช่วงเดียวกัน อย่างอังกฤษ เยอรมัน หรือรัสเซีย เราชอบที่นี่จนเซอร์ไพรส์ว่าทำไมมันถึงไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่เวลาคนมาเที่ยวสวีเดน อาจจะเป็นเพราะมันไม่ฟูฟ่าน่าตื่นตาตื่นใจกระมัง
เอาเข้าจริงการมาปราสาทกริปส์โฮล์มส์โดยไม่ได้หาข้อมูลหรือเปิดดูรูปในอินสตาแกรมมาก่อนนั้นสร้างความรู้สึกหลากหลาย ตั้งแต่รู้สึกผ่อนคลายตอนเดินเล่นในสวน จนออกไปยังทางเดินเลียบทะเลสาบ รู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้านตอนเดินชมปราสาทเพราะมันน่ารักอบอุ่นเหมือนไม่ใช่บ้านเชื้อพระวงศ์ รู้สึกอึดอัดตอนเข้าเมืองมาริเอเฟรดที่อยู่ใกล้กลับปราสาท เพราะถึงเมืองจะเล็กจิ๋วแต่กลับมีความเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสูงจนเกือบเลี่ยน หรือรู้สึกรักและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนอยู่ในตอนที่ไกด์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปราสาทและเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งทำให้จิตใจสดชื่นและเบิกบานมากกว่าที่คิดไว้
ดินแดนแห่งเหล็กและชายฝั่งทะเลบอลติก
ในสัปดาห์ที่สอง เราเดินทางไป Northern Uppland หรืออุปแลนด์เหนือ ดินแดนทางตอนเหนือของ อุปซอลาเราจะแวะเที่ยวสามที่ ได้แก่ โรงถลุงเหล็กเอิสเตอร์บีบรูค (Österbybruk) เลิฟสตาบรูค (Lövstabruk) คฤหาสน์ของเจ้าของโรงถลุงเหล็ก และหมู่บ้านอือเรกรุนด์ (Öregrund) ชายฝั่งทะเลบอลติก ทั้งหมดอยู่ทางเหนือของอุปซอลาไปประมาณ 45, 70 และ 80 กิโลเมตรตามลำดับ โดยสามารถเดินทางจากสถานีสตอกโฮล์ม เซ็นทรัล ไปต่อรถบัสที่อุปซอลา โซนนี้นับว่าไกลจากสตอกโฮล์มอยู่พอสมควร แต่หากแวะไปอุปซอลาแล้วจะขึ้นเหนือไปอีกหน่อยก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว
เราแวะดูเหมืองก่อนเป็นอันดับแรก หลุมแรกลึก 120 เมตร แต่ถูกถมขึ้นมาจนเหลือ 90 เมตร อีกหลุม 140 เมตร ไกด์เล่าว่าสมัยก่อนคนงานเหมืองต้องเซ็นสัญญากับนายจ้างนาน 6 ปี และกว่าจะได้ค่าจ้างก็ต้องรอจนครบ 6 ปี ถึงจะได้เงินก้อนใหญ่เอาไปตั้งตัวได้ ซื้อฟาร์ม ซื้อบ้านได้ ระหว่างที่ทำงานก็มีสวัสดิการให้ กินฟรีอยู่ฟรี แต่กว่าจะได้ใช้เงินก้อนก็ต้องเอาชีวิตให้รอดจากการปีนป่ายในหลุมไปให้ได้ เพราะการขนแร่เหล็กขึ้นมานั้นไม่ใช่ง่าย ต้องห้อยตัวติดกับถังขนแร่เหล็กขึ้นลง ไม่มีเก้าอี้หรือที่นั่งให้
ความพิเศษคือที่นี่ไม่ใช้การระเบิดหลุม แต่ใช้การเผาไฟ เนื่องจากการระเบิดจะทำให้หินแตกถึงแก่น แต่การเผาไฟจะไม่ทำลายหินที่ยังไม่แตก มันจะเป็นหน้าผาแข็งแกร่งต่อไป แต่วิธีหลังใช้เวลานานกว่า และทำให้เหล็กมีราคาสูงขึ้นด้วย
จากเหมืองเรานั่งรถต่อมาอีก 10 นาทีก็ถึงหมู่บ้านคนงานและโรงถลุงเหล็กเอิสเตอร์บีบรูค (Bruk ภาษาสวีดิชแปลว่าเหล็ก) โดยตึกสีไข่ไก่ในภาพด้านบนคือบ้านพักของคนงาน ถนนเส้นนี้มีบ้านพักคนงานติดกันเป็นสิบบ้าน โดยสุดถนนด้านหนึ่งจะเป็นโรงพยาบาล ส่วนอีกด้านจะเป็นโรงเรียน ด้านที่ใกล้โรงเหล็กกับบ้านพักของเจ้าของจะเป็นบ้านของหัวหน้าคนงาน ไล่ไปจนถึงบ้านของคนงานระดับต่ำที่สุด เรียงตามลำดับความสำคัญ สองรูปด้านล่างเป็นด้านในบ้านพัก
ภาพถัดมาเรียกว่า Sunday room ซึ่งเป็นห้องที่เก็บไว้สำหรับใช้เฉลิมฉลองในวันพิเศษเท่านั้น ถึงกับมีคำกล่าวว่าในช่วงชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งจะได้ใช้ห้องนี้เพียงสองวัน นั้นคือวันแต่งงานกับวันตาย ส่วนในวันธรรมดานั้นทุกคนจะใช้ชีวิตอยู่ในภาพที่สอง ซึ่งเป็นห้องครัวที่เป็นห้องนั่งเล่นและห้องนอนในตัว จะนอนเมื่อไหร่ก็เปิดด้านล่างของโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ และดึงเตียงพับออกมา เห็นห้องเล็กอย่างนั้นจุคนได้สองครัวเรือนเชียว
พอออกจากบ้านพัก เราก็เข้ามาดูโรงถลุงเหล็กกันต่อ ในยุคศตวรรษที่ 16 อุตสาหกรรมเหล็กเคยเป็นของรัฐมาก่อน ก่อนที่ในยุคศตวรรษที่ 17 ชาวดัทช์จากอัมสเตอร์ดัมนามว่าหลุยส์ เดอ กีเออร์ (Louis De Geer) จะมาเป็นผู้จัดการโรงงานและกลายเป็นเจ้าของในภายหลัง คนงานมีฝีมือถูกขนย้ายมาจากดินแดนวัลโลเนีย (Wallonia) ในเบลเยี่ยมส่วนที่พูดภาษาฝรั่งเศสและทำให้ดินแดนแถบนี้กลายเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ของยุโรปเป็นเวลานานจนถึงตอนต้นของศตววรษที่ 20
วิธีการผลิตคือคนงานจะเอาแร่เหล็ก (iron ore) มาจากเหมืองแล้วหลอมในเตา Blast furnace ให้กลายเป็นเหล็กดิบ (pig iron) ก่อนที่จะมาผ่านกระบวนการเอาคาร์บอนออกจากเหล็กเพื่อให้เหล็กมีความยืดหยุ่นและออกมาเป็นเหล็กกล้า คนงานจะถลุงเหล็กกันตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์จนถึงเที่ยงวันเสาร์ และพักผ่อนกินนอนอยู่ในโรงถลุงเหล็ก หรืออย่างดีก็เข้าไปอยู่นั่งเล่นนอนเล่นในห้องพักที่เรียกว่า labby เท่านั้นเอง
หลังจากนั่งกินข้าวที่แพ็คมาเองในสวนหลังโรงถลุงเหล็กกับเพื่อนเสร็จ เราก็นั่งรถไปอีกหนึ่งชั่วโมงเพื่อชมคฤหาสน์ของหลุยส์ เดอร์ กีเออร์ ที่อยู่กันมาจนรุ่นลูกรุ่นหลานกัน โดยแมนชั่นนี้ตั้งอยู่ในเขตของโรงถลุงเหล็กเลิฟสตาบรูค หรือเขียนแบบโบราณว่า Leufsta อ่านว่า เลิฟสตาบรูค ซึ่งถือว่าเป็นเขตที่โด่งดังและมีเรื่องเล่าเยอะมากในหมู่นักประวัติศาสตร์สวีเดนสมัยศตวรรษที่ 17-18 แมนชั่นนี้ถูกรัสเซียเผาตอนปี 1719 ก่อนจะถูกสร้างใหม่โดยชาร์ลส์ เดอ กีเออร์ (Charles De Geer)
จุดขายของแมนชั่นนี้คือการตกแต่งภายในสไตล์กุสตาเวียน (Gustavian) เรียกตามกษัตริย์กุสตาฟที่ 3 ของสวีเดนที่ไปฝรั่งเศสกับอิตาลีมาแล้วติดใจการตกแต่งที่พักราชวงศ์ของที่นั่นเลยเอามาปรับใช้กับสวีเดน โดยยังคงการติดขอบทองและแชนเดอร์เลียสีทองไว้ ส่วนสิ่งที่เราชอบคือการใช้ผนังไม้สีขาว ครีม เทาอ่อน และที่ขาดไม่ได้คือฟ้าพาสเทล แล้วเพนท์ให้เป็นลายหินอ่อนแทนที่จะใช้หินอ่อนจริงๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นน่าอยู่แบบไม่ทิ้งลายความหรูหราแบบ Decorative French
แล้วเราก็ปิดท้ายทริปวันนี้ด้วยการนั่งรถต่อจากเลิฟสตาบรูคมาทางเหนืออีก 40 นาที เพื่อเดินเล่นเลียบชายฝั่งทะเลบอลติกที่หมู่บ้านอือเรกรุนด์ ที่ในบางวันจะมีสิงโตทะเล นกทะเล และหงส์สีขาวเดินเล่นให้เห็นอยู่บนโขดหิน ส่วนวันนี้มีแต่พวกเราเองที่ถ่ายรูปกันไม่หยุดหย่อนอยู่บนนั้น
ถึงจะไม่มีน้องหงส์ว่ายมาอวดโฉม แต่ลมเย็นและอากาศชุ่มปอดก็ทำให้เราผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าได้ไม่น้อยทีเดียว และพบว่าบางครั้งการเข้าไปเยี่ยมชมโดยไม่รู้จักกันมาก่อนก็เป็นการเที่ยวที่เยียวยาใจได้อีกแบบเหมือนกัน
Fact Box
- หากเดินทางข้ามเมืองในสวีเดน แนะนำให้โหลดแอปฯ สีเขียวชื่อ SJ ไว้ ส่วนหากจะต่อรถบัสสีเหลืองจาก Uppsala ไป Österbybruk แนะนำให้โหลดแอปฯ สีเหลืองชื่อ UL เพื่อเช็คเวลารถบัสซึ่งออกเดินทางจาก Uppsala ทุกครึ่งชั่วโมง