มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน
หลักยึดความคิด 3 ประการ เรียบง่ายและสามารถนำมาใช้งานได้จริง

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่  9 เป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง ทรงคุณค่า สามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติได้กับทุกเรื่องและทุกมิติในชีวิต

มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน

หลักยึดความคิด 3 ประการ เรียบง่ายและสามารถนำมาใช้งานได้จริง ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจเรื่องราวทางการเงินหรือเป้าหมายในชีวิต เราสามารถน้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาเป็นแนวทางในการบริหารการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี

เจนอยากเป็นเจ้าของรถสักคัน เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางไปทำงาน และใช้สอยอเนกประสงค์ แต่ติดที่เธอไม่สามารถซื้อรถด้วยเงินสดได้ เธอจึงคิดถึงการผ่อนเพื่อให้ได้รถมาใช้ดังที่ตั้งใจ

คำถาม 1: รถยนต์มีความจำเป็นสำหรับเจนจริงหรือเปล่า ทำไมเจนจึงควรมีรถยนต์เป็นของตัวเอง (มีเหตุผล)

คำถาม 2: ถ้ารถยนต์มีความจำเป็นจริงๆ รถรุ่นไหน ไซส์ไหนที่จะเหมาะกับการใช้งาน ทำให้การเงินของเจนไม่เป็นภาระจนเกินไป และการเงินของเจนพร้อมสำหรับภาระทางการเงินใหม่นี้จริงๆ หรือไม่ (พอประมาณ)

คำถาม 3: หากวันใดรายได้หายไป หรือมีรายจ่ายอื่นเพิ่มเข้ามาจากในปัจจุบัน เจนมีแผนรับมือสภาวะดังกล่าวอย่างไร เพื่อให้สามารถยังผ่อนรถได้ตามปกติ เช่น มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ หรือมีแหล่งรายได้สำรองเผื่อไว้ (มีภูมิคุ้มกัน)

จอมมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง อยากที่จะนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนให้งอกเงย มีคนแนะนำจอมให้ลงทุนในหุ้น โดยให้เหตุผลว่า หุ้นให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงที่สุด จอมควรลงทุนตามที่เพื่อนแนะนำหรือไม่

คำถาม 1: เป้าหมายการลงทุนของจอมคืออะไร ที่ต้องการให้เงินงอกเงยนั้นแค่ไหน ระดับใดจึงรู้สึกพอใจ เพราะอะไร (มีเหตุผล)

คำถาม 2: กับเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการ จอมควรลงทุนผ่านเครื่องมือใด และเขามีความรู้ในสิ่งที่เลือกลงทุนแค่ไหน อย่างไร ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มหรือไม่ จากที่ไหน (พอประมาณ)

คำถาม 3: จอมควรจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร ความเสี่ยงที่จะต้องเจอมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากการลงทุนผิดพลาด หรือไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ มีแผนรับมือหรือไม่ อย่างไร (มีภูมิคุ้มกัน)

จุกตั้งใจอยากจะศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จึงเริ่มต้นวางแผนและลงมือทำตามความใฝ่ฝันของตัวเอง ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

คำถาม 1: ทำไมจุกถึงอยากเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เรียนด้านนี้แล้วดีอย่างไร ถ้าได้เป็นแล้วจะทำอะไร (มีเหตุผล)

คำถาม 2: รู้หรือยังว่าถ้าอยากสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องมีความรู้อะไรบ้าง ระดับไหน ต้องเก่งด้านไหนเป็นพิเศษ รู้หรือยังว่าตัวเองมีความรู้แค่ไหน เพียงพอหรือไม่ ต้องเสริมต้องเติมอะไร แล้วด้านอื่นๆ อย่างค่าใช้จ่าย ต้องเตรียมพร้อมแค่ไหน (พอประมาณ)

คำถาม 3: อัตราการแข่งขันของสาขานี้เป็นอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร หากสอบตรงไม่ได้ มีทางเลือกอื่นๆ ที่จะได้เรียนเป็นวิศวกรได้หรือเปล่า ถ้าพลาดปีนี้ มีแผนในปีหน้าอย่างไร (มีภูมิคุ้มกัน)

ความรู้ทำให้สิ่งที่เรามุ่งคิดมุ่งทำเจริญก้าวหน้า
ช่วยจำกัดความเสี่ยงจากภัยที่มีโอกาสจะเกิด

ทั้ง 3 สถานการณ์ข้างต้น คือตัวอย่างอย่างง่ายของการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัส ซึ่งที่จริงคำถามในแต่ละข้อยังแตกออกได้อีกมากมาย และจะเห็นได้ว่าเพียงเรายกหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งเป็นโจทย์ ก็สามารถทำให้เรื่องเงินๆ ทองๆ หรือแผนการชีวิตที่เรากำลังตัดสินใจ มีหลักคิดหลักปฏิบัติที่ปลอดภัยต่อสถานะทางการเงินและความต้องการของเราได้อย่างมากแล้ว

และยิ่งหากบวกกับอีก 2 เงื่อนไขควบคู่ไปด้วย นั่นก็คือ คุณธรรม และความรู้ ซึ่งหมายถึงการเลือกคิดเลือกทำแต่ในสิ่งที่ดี อยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดี  และมีความรู้มากพอในเรื่องที่จะลงมือทำ ก็ยิ่งจะทำให้ทุกจังหวะก้าวของการดำเนินชีวิตของเรามั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

เพราะความรู้ทำให้สิ่งที่เรามุ่งคิดมุ่งทำเจริญก้าวหน้า ช่วยจำกัดความเสี่ยงจากภัยที่มีโอกาสจะเกิด ส่วนความดีนั้นเป็นที่รู้กันว่าเป็นเกราะป้องกันความไม่ดีที่จะมากล้ำกรายชีวิตคนเราอยู่แล้ว

หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสลึกซึ้งและทรงคุณค่ามากกว่าที่หลายคนเข้าใจ และเป็นหลักคิดในการดำรงชีวิตที่คนไทยควรน้อมนำมายึดถือปฏิบัติ เพื่อสร้างสุขและชีวิตที่ดีของพวกเราคนไทยทั้งประเทศ

ไม่ว่าโลกจะหมุนไปแค่ไหน หลักคิดที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งของพระองค์ท่านก็ยังร่วมสมัย และไม่มีคำว่า ‘ตกยุค’ ครับ

ภาพประกอบ: คุณเค

Tags: ,