หรือนี่อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว ในเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

เมื่อโลกเริ่มเห็นลาดเลาแล้วว่า ศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะไม่จบลงเพียงแค่ผลการเลือกตั้ง

ตรงกันข้าม มันคือการเปิดบทใหม่ของความเคลื่อนไหวบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นการออกมาส่งสารอย่างชัดเจนของชาวอเมริกันถึงความอับอายที่ต้องมีประธานาธิบดีอย่างทรัมป์ รวมไปถึงการเล่นสนุกของเด็กๆ ในสถานศึกษาที่จะต้องรีบวิ่งหนีเมื่อมีใครสักคนตะโกนบอกว่า “ทรัมป์มาแล้ว”

ก่อนจะเจอจุดที่น่าจะลงตัวในที่สุดว่า หากอยากต่อต้านทรัมป์แบบมีเหตุผลและมีอารยธรรม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกมองว่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง คือหัวข้อที่เหมาะเหม็งที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย

หากในวิกฤตมีโอกาส ในซูเปอร์วิกฤตก็อาจจะมีซูเปอร์โอกาส

ต้องขอบคุณทรัมป์ ที่ผลักให้ชาวอเมริกันลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง
(และขอบคุณลุงสตีเฟน ฮอว์กิง ผู้ออกมาบอกในเวลาไล่เลี่ยกันว่า
เราจะอยู่กับโลกนี้ได้อีกเพียงพันปี

คำถามมีอยู่ว่า คนอเมริกันจะปล่อยให้ชัยชนะของทรัมป์เป็นความพ่ายแพ้ของทุกคนที่เหลือ (โดยเฉพาะเมื่อดูจากชื่อผู้ร่วมรัฐบาลที่เริ่มเปิดเผยมาบ้างแล้ว และทำให้คำว่า ‘ยี้’ ฟังดูจิ๊บจ๊อยไปเลย) หรือมันจะเป็นโอกาสสำหรับการลุกขึ้นมาทำสงครามกับความห่วยแตกครั้งใหญ่

แม้ว่าข่าวการประชุม COP (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองมาราเกช ประเทศโมร็อกโก จะถูกกลบเสียสนิทด้วยข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาซึ่งมีขึ้นในช่วงเดียวกัน สิ่งเดียวที่เราได้ยินจากมาราเกชก็คือคำกล่าวจากตัวแทนประเทศจีนที่ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของทรัมป์ ที่เคยบอกว่าโลกร้อนเป็นปาหี่ซึ่งจีนกุขึ้นเพื่อทำลายเศรษฐกิจของอเมริกา

แถมสอนประวัติศาสตร์กลับให้ด้วยว่าเป็นอดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันของอเมริกาอย่าง โรนัลด์ เรแกน และจอร์จ บุช ผู้พ่อเองที่มีส่วนในการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อถกปัญหานี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980

ถึงการประชุม COP22 ในปีนี้จะถูกลดบทบาทไปมาก แต่การปฏิเสธเรื่องโลกร้อนของทรัมป์ก็ไม่ต่างจากการเปิดพื้นที่สื่อให้เราถกเถียงเรื่องนี้กันมากขึ้น (โดยเฉพาะข้อความทวิตเตอร์ฮาๆ ในอดีตของทรัมป์ที่พูดถึงอากาศเย็นจัดในหลายพื้นที่ เพื่อปฏิเสธเรื่องโลกร้อน)

นี่คือเรื่องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่เคยได้รับความสนใจมากขนาดนี้ นอกเหนือจากในแวดวงผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างนักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานระหว่างประเทศ เอ็นจีโออย่างกรีนพีซ และผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกจริงจังเพียงกลุ่มเล็กๆ (กับรัฐบาลอีกหลายประเทศที่ทำราวกับถูกบังคับให้ต้องผลักดันนโยบายเรื่องโลกร้อนตามข้อตกลงในเวทีโลก)

ยิ่งทรัมป์โชว์ห่วยเท่าไหร่ ยิ่งรัฐบาลทรัมป์น่าหวาดกลัวเท่าไหร่
ยิ่งครอบครัวทรัมป์จุ้นจ้านกับการเมืองในทำเนียบขาวเท่าไหร่
การเมืองภาคประชาชนก็คงต้องแข็งแรงมากเท่านั้น

ในขณะที่คนที่เหลือแม้จะเชื่อว่ามันคือปัญหาใหญ่ แต่ก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากเฝ้าคอยนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่ายอมสละความสะดวกของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

ต้องขอบคุณทรัมป์ ที่ผลักให้ชาวอเมริกันลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง (และขอบคุณลุงสตีเฟน ฮอว์กิง ผู้ออกมาบอกในเวลาไล่เลี่ยกันว่า เราจะอยู่กับโลกนี้ได้อีกเพียงพันปี แน่นอนว่ามันเป็นคำกล่าวที่กระชากความสนใจให้ทุกคนกลับมาจริงจังกับอนาคตของโลกมากขึ้น)

ไม่ว่าสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดจะเป็นอะไร อนาคตของคนรุ่นหลัง?
ความยุติธรรม? หรือปากท้องและความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง
สิ่งแวดล้อมก็น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในศตวรรษที่ 21 อย่างไม่ต้องสงสัย

ว่าแต่เราจะทำอย่างไรกับโลกใบเดิมกันดี?

หรือนี่จะเป็นการใช้หลักการแบบกลับด้านในการเยียวยาให้โลกดีขึ้น คล้ายกับการออกกำลังกายที่ตามหลักการแล้วคือ การสร้าง ‘ความเครียด’ ให้กับร่างกาย เพื่อให้มันฟื้นฟูตัวเองขึ้นใหม่

อัล กอร์* อาจสร้างความตระหนักเรื่องโลกร้อนให้กับชาวโลกได้ แต่เสียงของเขาพิสูจน์แล้วว่าไม่ดังพอที่จะทำให้เราชาวโลก (หรือเอาแค่ชาวอเมริกันของเขา) เครียดมากพอในระดับที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรได้อย่างเป็นรูปธรรมนัก

แต่ทรัมป์อาจจะทำได้… แม้จะเป็นความกลับด้านที่น่าตื่นเต้นเกินไปสักหน่อย

นั่นอาจเป็นเพราะนิสัยพื้นๆ ของพลเมืองทั้งหลาย ที่มักปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบ้านเมืองในการรับมือกับเรื่องยาก แต่วันใดวันหนึ่งเมื่อรู้สึกว่าบ้านเมืองพึ่งไม่ได้ ตัวพลเมืองเองก็ต้องลุกขึ้นมาตรวจสอบและกำกับการทำงานของคนที่ตนเองเลือกไปทำงานให้

ยิ่งทรัมป์โชว์ห่วยเท่าไหร่ ยิ่งรัฐบาลทรัมป์น่าหวาดกลัวเท่าไหร่ ยิ่งครอบครัวทรัมป์จุ้นจ้านกับการเมืองในทำเนียบขาวเท่าไหร่ การเมืองภาคประชาชนก็คงต้องแข็งแรงมากเท่านั้น

ไม่เพียงเป็นคานงัดกับรัฐบาลทรัมป์ แต่มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าปัญหาโลกร้อนจะอยู่ในพื้นที่ข่าวอย่างต่อเนื่อง ความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะได้รับการแบ่งปันและถกเถียงในวงกว้างมากขึ้น และในระดับบุคคลไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ในวงผู้เชี่ยวชาญ เมื่อนั้นเราคงเห็นทั้งความรับผิดชอบและความสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการสู้กับปัญหาโลกร้อนมากขึ้น

รวมถึงความเป็นไปได้ที่มันจะกลายเป็น ‘ความเคลื่อนไหวทางสังคม’ ครั้งใหม่ ที่อาจจะเป็นตัวเร่งหรือเปลี่ยนหน้าตาของมนุษยชาติก็ได้ ใครจะไปรู้

รู้แต่ว่าโลกมนุษย์ก็ย่อมจะดีกว่านี้แน่ ขอเพียงคนที่ออกมาต้านทรัมป์อย่าเพิ่งกลับบ้านเร็วนัก และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต้านและฝ่ายสนับสนุนจะไม่บานปลายจนเอาไม่อยู่ไปเสียก่อน
ไม่ว่าสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดจะเป็นอะไร อนาคตของคนรุ่นหลัง? ความยุติธรรม? หรือปากท้องและความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง สิ่งแวดล้อมก็น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในศตวรรษที่ 21 อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะมันคือปัญหาว่าด้วยการจัดการทรัพยากร อันเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานที่สุดของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับโลก

เมื่อยังต้องอยู่บนโลกนี้ไปก่อน
ก็ควรทำอย่างที่ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ บอกไว้นั่นแหละ
“Let us not take this planet for granted”
อย่าทำกับโลกราวกับมันเป็นของตายอันไร้ค่า

ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะทันไหม โลกจะอยู่ได้อีกแค่พันปีจริงหรือไม่ ในขณะที่วิทยาการว่าด้วยการชะลอความร่วงโรยจะก้าวหน้าจนสักวันหนึ่งเราอาจจะไม่ตายอีกต่อไป แต่จะมีประโยชน์อะไรเมื่อไม่มีโลกให้อยู่

 ที่สำคัญ ไม่รู้ว่าย้ายไปโลกใหม่จะไปทำมันพังอีกหรือเปล่า

เมื่อยังต้องอยู่บนโลกนี้ไปก่อน ก็ควรทำอย่างที่ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ บอกไว้นั่นแหละ “Let us not take this planet for granted” อย่าทำกับโลกราวกับมันเป็นของตายอันไร้ค่า

โดยเฉพาะชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้บริโภคสติแตกและปล่อยคาร์บอนมากกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มาโดยตลอด ที่ต้องลุกขึ้นมาจริงจังกับเรื่องนี้เสียที

เลือกทรัมป์มาแล้วก็รับผิดชอบด้วย!

 

ภาพประกอบ: Thomthongc

FACT BOX:

อัล กอร์ หรือ อัลเบิร์ต อาร์โนลด์ “อัล” กอร์ จูเนียร์ นักการเมืองและนักธุรกิจชาวอเมริกัน เคยเป็นตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2543 ก่อนพ่ายแพ้ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อย่างฉิวเฉียด ขณะเดียวกันก็เป็นนักรณรงค์ที่เดินสายบรรยายเรื่องภาวะโลกร้อนทั่วสหรัฐฯ ซึ่งต่อมามีการทำเป็นภาพยนตร์สารคดีชื่อ An Inconvenient Truth ความยาว 100 นาที ที่ฉายให้เห็นวิกฤตการณ์สภาวะโลกร้อนอย่างตรงไปตรงมาและลึกซึ้ง หนังไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีพลังและน่าสะพรึงกลัว หากยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนดูได้อย่างน่าทึ่ง และจากความพยายามในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ทำให้ในปี พ.ศ. 2550 อัล กอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ