ถ้าคุณไม่อยู่แล้วภาระทางการเงินจะตกอยู่กับคนที่คุณรัก
และไม่อยากให้ภาระดังกล่าวเป็นปัญหากับพวกเขามากเกินไป
คุณควรพิจารณาประกันชีวิตเป็นทางเลือกหนึ่ง

ความเสี่ยงทางการเงินของคนเรา นอกเหนือไปจากการมีชีวิตหลังเกษียณโดยปราศจากเงินแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ถือได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การจากไปก่อนวัยอันควร และทิ้งภาระทางการเงินไว้ให้คนข้างหลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นหัวเรือใหญ่ของครอบครัว เป็นกำลังหลักและเป็นแหล่งรายได้หลัก การจากไปของบุคคลสำคัญเช่นนี้ ส่งผลกระทบทางการเงินอย่างใหญ่หลวงต่อบุคคลข้างหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลองนึกภาพคุณสมชายคุณพ่อลูกหนึ่ง ทำงานบริษัทเอกชน มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาท ภรรยาเป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้ แถมยังมีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ อยู่ทุกเดือน วันหนึ่งหากเกิดเรื่องโชคร้าย สมชายจากครอบครัวไปโดยไม่มีวันกลับ จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวนี้อย่างไร หากพวกเขาไร้ซึ่งหลักประกันทางการเงิน

คำถามหนึ่งที่ผมมักถูกถามอยู่เสมอก็คือ “เราทุกคนจำเป็นต้องทำประกันชีวิตหรือเปล่า”

ถ้าถามว่า ‘ทุกคน’ ก็คงต้องตอบว่า “ไม่” แล้วจะดูอย่างไรว่าเราควรทำประกันชีวิตหรือเปล่า

หลักการง่ายๆ ที่ผมใช้แนะนำคนที่มาขอคำปรึกษาก็คือ ให้ดูจาก ‘ภาระทางการเงินของตัวเอง’

ยกตัวอย่างกรณีคุณสมชาย เราจะเห็นได้เลยว่า เขาเป็นผู้รับผิดชอบภาระทางการเงินของครอบครัว รายได้หลักๆ ของครอบครัวมาจากคุณสมชายเพียงคนเดียว ดังนั้นในกรณีนี้คุณสมชายควรพิจารณาการทำประกันชีวิตเอาไว้ ตรงกันข้ามกับกรณีของภรรยาคุณสมชายที่ไม่ได้เป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว ดังนั้นหากคุณภรรยาไม่ตัดสินใจทำประกันชีวิต ก็อาจยังไม่เสี่ยงมากเท่ากับกรณีของคุณสมชาย

หรือหากเปรียบเทียบกันกับเด็กที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ที่ยังไม่ได้มีภาระทางการเงินอะไร การพิจารณายังไม่ทำประกันก็อาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่บัณฑิตคนนี้เริ่มสร้างภาระทางการเงิน ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เริ่มสร้างครอบครัว ประกันชีวิตก็ควรจะถูกนำเข้ามาพิจารณาเป็นเครื่องมือทางการเงิน เพื่อช่วยสร้างหลักประกันด้วยเช่นกัน

หากสรุปเป็นคำถามง่ายๆ สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่า ตัวเองควรทำประกันดีหรือไม่ก็คือ

“ถ้าหากวันนี้คุณต้องจากโลกนี้ไป คุณมีภาระทางการเงินที่ทิ้งไว้ให้คนข้างหลังหรือเปล่า” ถ้ามี! หรือถ้าคุณไม่อยู่แล้วภาระทางการเงินจะตกอยู่กับคนที่คุณรัก และไม่อยากให้ภาระดังกล่าวเป็นปัญหากับพวกเขามากเกินไป คุณควรพิจารณาประกันชีวิตเป็นทางเลือกหนึ่ง

ทีนี้พอรู้แล้วว่า เราเป็นคนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องซื้อประกันชีวิต คำถามต่อมาก็คือ แล้วจะต้องซื้อเท่าไร (ทุนประกัน) ถึงจะคุ้มครองความเสี่ยงที่เรามีได้อย่างครอบคลุม

แนวคิดในการประเมินเรื่องนี้ เราใช้หลักที่เรียกว่า ‘ความจำเป็นพื้นฐาน’ หรือ Basic Needs ครับ

หลักคิดก็คือ ให้ประเมินจากสองปัจจัยสำคัญ นั่นคือ 1) ภาระหนี้สินรวมกับมรดกที่วางแผนจะมอบไว้ให้คนข้างหลัง และ 2) ทรัพย์สินและทุนประกันที่มีในปัจจุบัน

วิธีการก็คือ ให้ผู้ที่ประสงค์จะทำประกันชีวิตตรวจสอบหนี้สินทั้งหมดที่มี นำมาบวกรวมกันกับมูลค่าเงินที่ต้องการจะตระเตรียมไว้ให้คนข้างหลัง เพื่อเป็นทุนในการใช้ชีวิต อาทิ ค่าใช้จ่ายหลังจากไป ค่าเรียนของลูก เป็นต้น

จากนั้นก็ให้นำมูลค่าทรัพย์สินและทุนประกันชีวิตที่มีไปหักลบออก เพียงเท่านี้เราก็จะได้ส่วนต่างเป็นทุนประกันที่บุคคลนั้นควรพิจารณาซื้อไว้ เพื่อจัดการความเสี่ยงทางการเงินกรณีเสียชีวิตแล้วครับ

ตัวอย่างเช่น กรณีของคุณสมชาย หากปัจจุบันเขามีหนี้กู้ซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ผ่อนรถยนต์ 200,000 บาท สมชายประเมินแล้วว่า หากจากไปก่อนเวลาอันควร ก็ตั้งใจจะทิ้งเงินไว้ให้ครอบครัว 1,000,000 บาท รวมเป็นหนี้สินและมรดกที่อยากทิ้งไว้ให้คนข้างหลัง 3,200,000 บาท

ปัจจุบันคุณสมชายมีทรัพย์สินเป็นเงินออม 500,000 บาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 400,000 บาท ทองคำ 100,000 บาท และมีทุนประกันจากประกันหมู่ที่บริษัททำให้ 200,000 บาท รวมทรัพย์สินและทุนประกันที่มีในปัจจุบัน 1,200,000 บาท

ในกรณีนี้แบบนี้ คุณสมชายก็อาจพิจารณาทำประกันเพิ่มอีก 2,000,000 บาท (3,200,000-1,200,000) เพื่อเป็นหลักประกันให้แน่ใจว่า เมื่อถึงวันที่ต้องจากไป คนในครอบครัวจะตั้งหลักดำเนินชีวิตกันต่อไปได้

ทั้งหมดข้างต้นคือ วิธีการในการพิจารณาและประเมินทุนประกันสำหรับบุคคล โดยวิธีพิจารณาจากความจำเป็นพื้นฐาน

อย่างไรก็ดี การทำประกันชีวิตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยงทางการเงิน ซึ่งแม้ว่าบุคคลจะทำประกันชีวิตเพื่อปกป้องความเสี่ยงทางการเงินหากเกิดเหตุร้ายก่อนวัยอันควรแล้ว ในอีกทางหนึ่งก็ควรดูแลและรักษาสุขภาพ ดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย เพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่กับคนที่รัก และได้ดูแลพวกเขาไปอีกนานเท่านาน

เลือกใช้ให้ดี …ประกันชีวิตมีประโยชน์กับชีวิตครับ

ภาพประกอบ: NOLA NOLEE

Tags: