ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะเขียนประเด็นด้านการเงินในละครทีวี ที่พบเห็นทีไรก็รู้สึกขัดอกขัดใจ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าเนื้อเรื่องการเงินที่สื่อสารผ่านละครในบ้านเรานั้น หลายเรื่องสร้างความเข้าใจที่ผิด และสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชมจนบางครั้งกลายเป็นสร้างปัญหา ซึ่งประเด็นด้านการเงินในละครที่เห็นสื่อสารเพี้ยนอยู่บ่อย ๆ 2 เรื่อง อย่างเช่น

ยึดทรัพย์ง่ายดาย แต่หายจนง่ายกว่า

ละครไทยหลายเรื่อง มักมีบทเกี่ยวข้องกับหนี้และการยึดทรัพย์อยู่เสมอ ด้วยต้องการให้พระเอกหรือนางเอกตกระกำลำบากและดูน่าสงสาร ประเด็นก็คือ การยึดทรัพย์ในละครบางเรื่องดูขัดกับความเป็นจริง และบางเรื่องดูออกจะโหดร้ายไปสักหน่อย

อย่างเช่น บริษัทคุณพ่อพระเอกล้มละลาย พระเอกของเราจึงต้องสูญเสียคฤหาสน์อันเป็นที่รักราคา40 ล้านไปด้วยโดยปริยาย แถมยังต้องระหกระเหินออกมาเช่าห้องพักราคาถูก ตั้งหน้าตั้งตาทำงานสร้างตัวใหม่ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับไปเช็คบิลคู่อริ ซึ่งอาจเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีหรือทนายคนสนิทที่ฉ้อโกงเงินคุณพ่อไปก็เป็นได้

ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจที่จัดตั้งแบบบริษัทจำกัดนั้น เป็นรูปแบบธุรกิจที่ปกป้องทรัพย์สินส่วนตัว ออกจากทรัพย์สินของกิจการ และมีการจำกัดความรับผิดของกรรมการแต่ละท่านอยู่แล้ว ยิ่งคุณพ่อของพระเอกเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โตเสียขนาดนั้น น่าจะมีทนายความเก่ง ๆ อยู่ข้างตัว และไม่น่าพลาดเรื่องง่าย ๆ จนกลายเป็นพล็อตเริ่มต้นของละครไปได้

หรืออย่างกรณีนางเอกซึ่งอยู่อาศัยกับแม่และน้องชาย เกิดขาดส่งเงินผ่อนชำระค่าบ้าน เนื่องจากคุณแม่ซึ่งทำขนมขายต้องล้มป่วย ทำให้ไม่มีรายได้ส่งค่าบ้านได้ตามปกติ (อนุมานต่อด้วยว่าพ่อนางเอกทิ้งไปตั้งแต่ยังเด็ก)

ที่ผมชอบก็คือ กระบวนการยึดทรัพย์ของธนาคารที่ช่างทำได้รวดเร็วและทารุณเสียเหลือเกิน เรียกว่าขาดส่ง 2-3 งวด ก็ส่งคนชุดขาวผูกไทมาไล่ถึงที่บ้าน หนักกว่านั้นบางเรื่องมีการเข้าไปขนข้าวของของนางเอกและแม่ ออกมาวางข้างนอกบ้านเลยก็มี

ขณะที่การยึดทรัพย์ขับไล่กำลังดำเนินไปนั้น พระเอกของเราก็ขับรถสปอร์ตคันงามผ่านมาเห็นและเข้ามาช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย (แหม..อยากให้ขับผ่านบ้านผมบ้างจัง) จากนั้นจึงเกิดเป็นความรักแรกพบและดำเนินเรื่องต่อไปด้วยความเพ้อฝันที่ก้าวข้ามปมเรื่องการเงินไปได้อย่างง่ายดาย เพราะเมื่อรักกับคนรวย ความจนของคุณก็เป็นแค่อดีต

ตัวอย่างที่สองนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่มีความใกล้ชิดกับชีวิตประชาชนทั่วไป และสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่ไม่รู้เรื่องการเงินอย่างมาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการยึดทรัพย์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนั้น ในหลายเคสใช้เวลากันหลายปีเสียด้วยซ้ำ ซึ่งระหว่างนั้นนางเอกและแม่ยังสามารถเข้าเจรจาการส่งค่างวด ขอลดดอกเบี้ย รีไฟแนนซ์  ปรับโครงสร้างหนี้ หรือแม้กระทั่งขายบ้านเอาเงินส่วนต่างที่เคยผ่อนไปกลับมาเป็นทุนเริ่มต้นใหม่ได้ ไม่ใช่เอะอะ ขาดส่ง 2-3 เดือน ก็ถูกยึดตามท้องเรื่องละครทั่วไป

ที่บอกว่าแย่คือ ผู้ชมหลายคนพอเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหว แล้วติดภาพจำจากละคร กลัวบ้านถูกยึด ก็จะเลือกวิธีการอื่น ๆ แทนที่จะเข้าไปเจรจากับทางธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่มักจบด้วยการ “กู้เงินมาผ่อนบ้าน” และมักเป็นการกู้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยบ้านเสียด้วยสิ เพราะในบรรดาสินเชื่อบุคคลนั้น สินเชื่อบ้านถือว่าดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดแล้ว ทีนี้เมื่อกู้ดอกแพงมาผ่อนดอกถูก มันเลยยิ่งทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้นและลุกลามไปกันใหญ่

เล่นซ่อนหาพินัยกรรม

ในละครหลาย ๆ เรื่อง เรามักจะเห็นกรณีที่คุณพ่อพระเอกหรือนางเอก เป็นคนมีหลายบ้าน (เมียเยอะนั่นแหละ) ซึ่งแน่นอนเหลือเกินว่า แม่เลี้ยงของพระเอกหรือนางเอก ย่อมอยากให้ทรัพย์สินของคุณพ่อตกอยู่กับลูกใหม่ ไม่ใช่พระเอกหรือนางเอกที่พวกเราแอบลุ้นหรือแอบเชียร์ และนั่นคือที่มาของเรื่อง “พินัยกรรม”

เรื่องนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมคุณพ่อพระเอก (หรือนางเอก) ถึงได้สร้างเรื่องให้วุ่นวาย ด้วยการนำพินัยกรรมตัวจริงไปซ่อนไว้ในที่ที่กว่าจะหาเจอก็ปาไปถึงสองตอนสุดท้ายก่อนจบเรื่องพอดี ส่วนพระเอกนางเอกก็เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ไม่เจอพินัยกรรมสักที สุดท้ายคนฉลาดที่สุดคือคนดู เพราะรู้ตั้งแต่เริ่มเรื่องแล้วว่า พินัยกรรมเจ้าคุณพ่ออยู่ที่ไหน

คำถามมีอยู่ว่า “คุณพ่อครับ คุณพ่อซ่อนไว้ทำไมครับ” ในเมื่อมันก็มีวิธีการมากมายที่จะรักษาพินัยกรรมตัวนี้เอาไว้ เพื่อรักษาสิทธิลูกของพี่และประโยชน์ในการพิสูจน์ความจริง อาทิ ฝากสำนักงานทนายความ อย่างนี้เป็นต้น พอคุณพ่อเอาพินัยกรรมไปซ่อนไว้ เรื่องก็ยาวเลยครับทีนี้

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงน้ำจิ้มที่นำมาหยิกแกมหยอกกับคุณผู้อ่านเท่านั้น (ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกแยะ)

ก็เข้าใจครับว่า ละครก็คือละคร มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิง แต่ถ้าหากเราพยายามหาข้อมูลแล้วใส่ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ลงไปให้มากขึ้น เนื้อหาของละครก็น่าจะดูลุ่มลึกขึ้น สนุกขึ้น

เลิกสร้างละครพลอตง่าย ๆ แล้วหันมาเขียนบทที่ให้ประโยชน์ทั้งในแง่ความบันเทิงและให้ความรู้กับผู้ชมไปได้พร้อม ๆ กัน ผมว่ามันก็น่าจะดีเหมือนกันนะครับ!!

 

ภาพประกอบ: Maya