เชื่อว่านาทีนี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนที่ร้อนแรงและอรรถรสได้มากเท่ากับ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ 2 อีกแล้ว!
เพราะแม้ว่าจะเริ่มออนแอร์ได้แค่เพียง 2 เอพิโสดเท่านั้น แต่กระแสของซีรีส์ก็พุ่งทะยานแตะมือกับเสียงชื่นชม และถูกพูดถึงในวงกว้าง ไล่ตั้งแต่ผู้(ชาย)คนใหม่ของกัส (รับบทโดย กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา), การสวมวิญญาณเน็ตไอดอลขายครีมของ ‘ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่’ หรือการดำเนินเรื่องที่เข้มข้นมากขึ้น ฯลฯ
แต่เราเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะได้ล่วงรู้ความจริงที่ว่า เติ้ล-ปิยะชาติ ทองอ่วม ผู้กำกับของซีรีส์ตระกูล ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ ไม่เคยผ่านงานการเป็นผู้กำกับ ไม่มีข้อมูลทฤษฎีเรื่องการจัดแสงและมุมกล้องใดๆ หรือฝันอยากเป็นผู้กำกับมาก่อน!?
The Momentum จึงถอดสูตรแนวคิดในการทำงานของปิยะชาติออกมาว่า เหตุใดคนที่ไม่เคยผ่านงานกำกับหรืออยากเป็นผู้กำกับมาก่อนถึงผลิตผลงานออกมาประสบความสำเร็จจนได้รับเสียงชื่นชมมากถึงเพียงนี้
โอกาสอะไรก็ตามที่เขาให้มา เราจะลองทำ และทำมันให้เต็มที่ที่สุด
ไม่มองเรื่องที่ไม่ถนัดคือภาวะเสียเปรียบ แต่ควรเปิดโอกาสแสวงหาความรู้และลองทำสิ่งใหม่ๆ
‘แคสติ้ง, คนเขียนบท, พิธีกรรายการ, ผู้กำกับซีรีส์’ นี่คือรายชื่อบทบาทที่ปิยะชาติได้มีโอกาสลองทำเป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงานที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านั้นเขาจะไม่เคยมีประสบการณ์หรือศาสตร์ความรู้ใดๆ ในด้านนั้นมาก่อนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ปิยะชาติเลือกทำมาตลอดคือการไม่ปิดโอกาสในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
“ก่อนจะมากำกับซีรีส์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เราไม่เคยมีผลงานกำกับมาก่อนเลย ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นผู้กำกับอยู่ในหัว จนได้มารับหน้าที่เขียนบทให้โปรเจกต์ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ โปรดิวเซอร์เลยมาถามเราว่าอยากลองเป็นผู้กำกับไหม? เพราะผู้กำกับในสายนี้ของ GDH ก็มีแค่ พี่สิน-ยงยุทธ ทองกองทุน (สตรีเหล็ก) คนเดียว เรารู้สึกว่าตัวเองโตมาประมาณหนึ่งและผ่านประสบการณ์อะไรมาเยอะ เลยตัดสินใจลองทำดู
“ช่วงที่จบปริญญาตรีใหม่ๆ ไฟแรง เราจะวิ่งตามหาความฝันทุกอย่างเลย ส่งสมัครงานมันทุกที่ แต่พอไม่ได้ก็เลยรู้สึกว่าทำตามโอกาสที่ได้รับให้ดีที่สุดแล้วกัน เลยบอกกับตัวเองเสมอว่าโอกาสอะไรก็ตามที่เขาให้มา เราจะลองทำ และทำมันให้เต็มที่ที่สุด เพราะไม่รู้หรอกว่าทำออกมาแล้วผลลัพธ์จะดีหรือไม่ดีจนกว่าจะได้ทำ ที่สำคัญต้องทำให้ดีที่สุด เพราะจะได้ไม่ต้องมาตั้งคำถามทีหลังว่าทำได้หรือเปล่า ทำดีที่สุดหรือยัง”
เราต้องใช้จิตวิทยาแสนสูงแรงกล้ามากในการเป็นผู้กำกับ
มันคืออาชีพที่ต้องเรียนรู้จิตวิทยาคน
เราจะต้องมีแนวทางต่อรองนักแสดงแต่ละคนให้ถูกวิธี
เพื่อให้เขายอมปล่อยของ หรือทำในสิ่งที่เราต้องการออกมาให้ได้
ค้นพบวิธีการทำงานที่ต่างออกไป เมื่อไร้ทฤษฎีและตำรา
เมื่อไม่มีความฝันหรือจินตนาการถึงการสวมหมวกผู้กำกับ มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใดที่ปิยะชาติจะขาดประสบการณ์และศาสตร์ของการทำงานในตำแหน่งดังกล่าว แต่เมื่อวันหนึ่งเกิดจับพลัดจับผลูต้องมาเป็น ‘ผู้กำกับ’ ขึ้นมา เจ้าตัวก็มีวิธีการในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีที่ต่างออกไป
“เราเรียนนิเทศจุฬา เอกวิทยุ-โทรทัศน์ มีงานกำกับละครก็พังพินาศจนไม่อยากจะดูงานตัวเองตอนฉาย พอมาเป็นผู้กำกับก็ไม่รู้เรื่องเทคนิคกล้อง-มุมภาพใดๆ ทั้งสิ้น โชคดีที่ในซีซันแรกได้ ‘พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์’ ที่ดูแลเรื่องงานถ่ายซีรีส์ฮอร์โมนฯ ฝั่งนาดาวมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับดูเรื่องเทคนิคการถ่ายให้ ส่วนซีซันนี้ก็มีน้องอีกคนมาช่วยเหมือนกัน แต่ช่วงนี้เราก็เริ่มเรียนรู้ ดูเรื่องแสงเป็นมากขึ้น ถึงจะยังไม่เก่งมากก็ตาม
“เพราะด้วยการเป็นผู้กำกับที่ไม่มีทฤษฎี บางทีมันก็ทำให้เราได้ลองเล่าเรื่องในวิธีใหม่ๆ ที่ต่างออกไป ในแง่ของการทำงาน การมี reference มันก็ดี แต่สำหรับเรามันจะเห็นภาพทุกอย่างอยู่ในหัวเหมือนตอนที่เขียนบท แล้วเราก็จะวาดมือให้ทีมช่วยกันดู ให้เขาช่วยจัดให้ตามที่เราอยากได้ (หัวเราะ) ซึ่งไอ้วิธีนี้มันดีหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ”
เรียนรู้พฤติกรรมเพื่อนร่วมงานที่หลากหลาย รู้จักวิธีต่อรองเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
หลังเปิดโลกก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัว ปิยะชาติบอกกับเราว่า ทักษะที่เขาได้เรียนรู้เพิ่มอย่างแท้จริงนอกเหนือจากความรู้เรื่องการจัดแสงและมุมกล้องเล็กๆ น้อยๆ คือ การใช้จิตวิทยาเพื่อต่อรองกับคนที่แตกต่างกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
“เราต้องใช้จิตวิทยาแสนสูงแรงกล้ามากในการเป็นผู้กำกับ มันคืออาชีพที่ต้องเรียนรู้จิตวิทยาคน เช่น เราจะต้องมีแนวทางต่อรองนักแสดงแต่ละคนให้ถูกวิธีเพื่อให้เขายอมปล่อยของ หรือทำในสิ่งที่เราต้องการออกมาให้ได้
“อย่างวิธีที่เราปฏิบัติกับพีค (ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ: รับบทแนตตี้) และปิงปอง (ธงชัย ทองกันทม: รับบทกอล์ฟ) ก็ไม่เหมือนกัน อย่างพีคเราจะต้องคอยตะล่อมๆ เพราะรู้ว่าธรรมชาติของนางเป็นคนง้องแง้ง เลยต้องค่อยๆ พูดดีๆ กับนาง อย่างปิงปองเรารู้ว่าด่าเขาเพื่อให้เขาฮึกเหิมได้ แต่กลับกันถ้าจะไปด่าพีคเหมือนที่ด่าปิงปองก็ไม่ได้ เพราะนางจะต้องต้านกลับมาแน่นอน
“หรือกระทั่งนักแสดงรับเชิญคนอื่นๆ นักแสดงประกอบ รวมถึงตัวทีมงานเองก็ดี เราจะต้องรู้ว่าเราควรจะมีวิธีดีลกับคนแต่ละคนอย่างไร วิธีไหน และเพื่อให้ได้อะไรมา”
ถ้าบอกตัวเองว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว ผลมันจะออกมาชั่วหรือดี ก็จงยอมรับมันซะ
ไม่มีใครคอนโทรลอะไรบนโลกนี้ได้อยู่แล้ว
อย่าแบกความรู้สึกกดดันไว้เมื่อต้องสร้างสรรค์ผลงาน
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการหวนกลับมารับหน้าที่สานต่อผลงานที่เคยได้รับเสียงชื่นชมและกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดอีกคำรบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ปิยะชาติยอมรับอย่างติดตลกว่า เขาเป็น ‘ตุ๊ด’ หากทำ ‘ซีรีส์ตุ๊ด’ ออกมาไม่แซ่บถึงกึ๋นตุ๊ดด้วยกัน มันก็คงจะกลายเป็นเรื่องที่เสียเหลี่ยมตุ๊ดอย่างเขาไม่ใช่น้อย
“เราต้องทำให้เต็มที่เหมือนเดิมเท่าที่ทำได้ ตั้งแต่ทำบท กำกับ หรือตัดต่อ
แต่ตอนที่เราถ่ายทำ เราจะไม่มานั่งคิดกดดันแล้วนะว่างานของเราจะได้รับความนิยมไหม จะโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ณ ตอนนั้นมากกว่าว่าใช่สิ่งที่อยากได้หรือเปล่า จะรู้สึกกดดันอีกทีก็ช่วงที่มันจะออนแอร์
“เราจะใช้แนวคิดที่ว่าทำให้ดีที่สุดไปเลย จะได้ไม่ต้องมานั่งถามตัวเองว่าวันนั้นมึงทำได้ดีแล้วหรือยัง ทุกอย่างที่ทำ ทุกการตัดสินใจของชีวิต ถ้าบอกตัวเองว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว ผลมันจะออกมาชั่วหรือดี ก็จงยอมรับมันซะ ไม่มีใครคอนโทรลอะไรบนโลกนี้ได้อยู่แล้ว”
เป็น ‘หัว’ ไม่จำเป็นต้องกำอัตตาไว้ตลอดเวลา ปล่อยวางบ้างก็ดี
ปิยะชาติเท้าความหลัง ย้อนเวลากลับไปให้เราฟังว่า ครั้งหนึ่งสมัยที่เจ้าตัวยังดำรงตำแหน่งโปรดิวเซอร์ประจำรายการในช่องทีวี ‘GTH ON AIR’ (ในช่วงดังกล่าวยังใช้ชื่อว่า ‘GTH’) เขาเคยไล่ลูกน้องออกจากบริษัทถึง 10 คนมาแล้ว! เพราะทีมงานแต่ละคนทำงานไม่ได้ตามความตั้งใจที่ตนต้องการ
“พอได้มาเป็นผู้กำกับจริงๆ เรารู้สึกว่าคนที่เป็นผู้กำกับเขาเก่งกันมากๆ เลยนะ ต้องปะทะกับคนอื่น บางทีต้องกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวบ้าง เอาแต่ใจบ้าง มีจุดยืนในสิ่งที่คิดที่เชื่อว่ามันดี แต่บางครั้งก็ต้องมีความยืดหยุ่นเช่นกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อ่อนมากไปก็ไม่ดี เพราะจะสูญเสียความเป็นตัวตน
“ผู้กำกับเป็นอาชีพที่ทำให้เราได้เรียนรู้หลักธรรมในการปล่อยวางมากๆ สมมติฉากแรก นักแสดงเล่นกันชั่ว ทุกอย่างพังพินาศหมด แต่คิวจะต้องไปต่อแล้ว บางครั้งจะมามัวเสียดายฉากเมื่อสักครู่ไม่ได้ ก็ต้องโฟกัสกับฉากใหม่ที่กำลังถ่ายทันที หรือเพิ่งจะตำหนิทีมงานเรื่องเตรียมของไม่พร้อม แต่กำลังดูฉากตลก ก็จะไปฝังหัวอยู่ตรงนั้นมันไม่ได้ ต้องนิพพานให้อยู่เหนืออารมณ์ขุ่นมัวทั้งหมด
“ยอมรับว่าปกติเราเป็นคนที่ค่อนข้างเพอร์เฟกชันนิสต์มากๆ จนบางครั้งก็ยอมทำให้คนอื่นเสียความรู้สึกเพื่อให้งานออกมาดี แต่ทุกวันนี้อายุ 35 ปีแล้ว ก็รู้สึกว่าทุกๆ อย่างมันโตไปตามวัยด้วย มันทำให้เราคิดได้ว่า ไม่เป็นไรหรอก เขาก็ทำดีที่สุดแล้วล่ะ ไปขยี้เขาให้ตายเขาก็คงทำให้มันดีขึ้นกว่านี้ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็จะเป็นแค่อีกวันหนึ่งที่ผ่านไป เราว่าเราทำตัวเองให้มันสบายขึ้น แต่ก็ยังทำงานเต็มที่เหมือนเดิมนะ”
ไม่ว่าผลงานชิ้นต่อไปของ เติ้ล-ปิยะชาติ จะเป็นไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ 3 ซีรีส์เรื่องใหม่ หรือภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ระดับบล็อกบัสเตอร์
ไม่ว่าบทบาทที่เขาได้รับในอนาคตจะยังคงเป็นผู้กำกับเหมือนเดิม หรือจะลองหันไปจับกล้องเป็นผู้กำกับภาพ หรือเป็นช่างไฟเพื่อเรียนรู้วิธีการจัดแสง
เราก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าผู้กำกับที่มีแนวคิดและวิธีในการทำงานสุดแซ่บรายนี้น่าจะสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพให้พวกเราได้ติดตามกันต่อไปอยู่เรื่อยๆ อย่างแน่นอน
แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้น อย่าลืมติตตาม ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ 2 ต่อไปจนกว่าจะจบซีซัน ที่เรารับรองได้ว่าความสนุกและความวายป่วงของสี่สหายในซีรีส์เรื่องนี้จะทวีคูณความแซ่บขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
Tags: Siries, LINE, GDH