ต้องออกตัวก่อนว่าผมเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรในวงการแฟชั่นสักเท่าไหร่ ดังนั้นเวลาที่ผมสังเกตว่าอะไรมันฮิตนั้น มันต้องฮิตมากๆ แล้วมีคนใช้เยอะจริงๆ ผมถึงจะรู้เรื่องว่า อ๋อ นี่คือสิ่งที่คนเขาใช้กันอยู่อะไรแบบนี้

ช่วงปีสองปีที่ผ่าน ผมสังเกตเห็นผู้หญิงที่ผมรู้จักหลายคนถือกระเป๋าแบบหนึ่งซึ่งมีทรงเรียบๆ แต่สะดุดตาด้วยเข็มขัดใหญ่ๆ คาดอยู่บริเวณตรงกลางค่อนไปส่วนบนของกระเป๋า ผมเห็นคนรอบๆ ตัวผมถือกระเป๋านี้บ่อยพอๆ กับที่ผมเห็นกระเป๋า Hermès หรือถือสลับกับกระเป๋าแบรนด์แพงๆ ของต่างประเทศอยู่เป็นประจำ

อย่างที่บอกครับ ปกติผมเป็นคนไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับกระเป๋าผู้หญิงเลย แต่เมื่อเห็นบ่อยเข้ามากๆ ก็อดสงสัยไม่ได้จริงๆ เลยต้องถามเพื่อนคนหนึ่งไปว่า

“นี่กระเป๋าอะไร”

ก็ได้คำตอบมาว่า

“กระเป๋า BOYY” และ “เป็นของดีไซเนอร์สาวชาวไทย”

บอกตามตรงว่ามันทำให้ผมทึ่งมาก การที่ดีไซเนอร์ไทยสามารถสร้างของออกมาให้คนไทยที่ปกติถือกระเป๋า Hermès สลับมาใช้กับกระเป๋าของเธอได้ และมีคนใช้เยอะมากๆ ต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ

ยิ่งถามไปถามมาก็ทราบข้อมูลเพิ่มอีกว่า กระเป๋า BOYY รุ่นยอดนิยมไม่ได้หาซื้อกันได้ง่ายๆ แถมต้องรอกันหลายเดือน ยิ่งทำให้ผมอยากรู้เรื่องของดีไซเนอร์คนนี้เข้าไปอีก

ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อน ในที่สุดผมก็นัด คุณบอย​-วรรณศิริ คงมั่น ผู้ร่วมก่อตั้งและร่วมออกแบบ BOYY แบรนด์ไทยที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นแบรนด์สากลจริงๆ

แต่กว่าจะมีวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และนี่คือเรื่องราวการเดินทางของกระเป๋า BOYY ครับ

เรานั่งคุยกันในสตูดิโอและออฟฟิศของ BOYY ย่านทองหล่อ ที่คุณบอยใช้เป็นที่ทำงานและที่ออกแบบกระเป๋าด้วย รอบตัวเราจึงมีแพตเทิร์นกระเป๋าและโปรโตไทป์ ของสินค้าต่างๆ วางอยู่เต็มไปหมด

ย้อนหลังกลับไปช่วงปี 2004 – 2005 ที่นิวยอร์ก คุณบอยบอกว่าจุดเริ่มต้นของกระเป๋า BOYY มาจากความชื่นชอบเรื่องกระเป๋าล้วนๆ คือคุณบอยจะเป็นคนชอบเปิดนิตยสารดูรูปกระเป๋า ชอบดูคนถือกระเป๋า รู้หมดว่ากระเป๋าใบนี้ชื่ออะไร ยี่ห้ออะไร เรียกว่ามีแพสชันเกี่ยวกับเรื่องนี้มากๆ

คุณบอยจะชอบวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกระเป๋าว่า ใบนั้นดียังไง ใบนั้นไม่ดียังไงให้คุณ Jessie ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง BOYY มาด้วยกันฟังตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งคุณ Jessie ก็บอกว่า ถ้าคุณบอยจะหลงใหลในกระเป๋าขนาดนี้ ทำไมไม่ทำกระเป๋าเองซะเลย

จากคำยุ ทั้งคู่ก็เริ่มลงมือออกแบบกระเป๋าด้วยกัน ทั้งที่ยังเรียนและก็ทำงานอยู่

กระเป๋าในยุคแรกออกแบบมาแล้ว ขึ้นตัวอย่างไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำออกมาขาย เพราะรู้สึกว่ายังไม่ถูกใจ

จนเมื่อทั้งสองย้ายกลับมาเมืองไทยในปี 2005 เลยได้มีโอกาสออกแบบกระเป๋าให้คุณ Kai สำหรับเดินแฟชั่นโชว์ พอการเดินแฟชั่นโชว์ชุดนั้นจบ ก็มีคนมาขอซื้อหลังเวที นี่เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่ามีคนมาสนใจกระเป๋า ทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้น แม้ว่ากระเป๋าใบนั้นจะไม่ใช่กระเป๋าซูเปอร์แบรนด์ก็ตาม

คุณบอยเลยบอกคุณ Jessie ให้รีบมาเมืองไทยเพื่อมาพัฒนากระเป๋าใบนั้นให้สมบูรณ์ เมื่อกระเป๋าเสร็จ คุณ Jessie ก็เอากระเป๋ากลับไปที่นิวยอร์ก

ด้วยความที่คุณ Jessie เป็นนักดนตรีและรู้จักคนในวงการดนตรี แฟชั่น ศิลปะ ค่อนข้างเยอะ วันหนึ่งก็เลยได้ไปเจอบรรณาธิการหนังสือ Visionare ซึ่งเห็นกระเป๋า BOYY แล้วชอบมาก เลยบอกว่าจะติดต่อคนรู้จักให้

คนแรกสังกัด  Barneys New York

คนที่สองสังกัด New York Times

คนที่สามสังกัด Colette Paris

ก่อนจากกันบรรณาธิการคนนี้บอกว่า ให้ไปคุยต่อกันเองนะ

ปรากฏว่าได้รับการติดต่อกลับมาจากทั้งสามคน โดยห้าง Colette ซื้อกระเป๋า BOYY ไปขาย New York Times ก็เขียนถึง

และนี่คือจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของกระเป๋า BOYY

คุณบอยบอกว่าตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับแฟชั่นเลย ไม่รู้เลยว่าคอลเล็กชันทำยังไง ควรจะมีกระเป๋ากี่แบบ ฯลฯ คือพูดง่ายๆ ว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจแฟชั่นเลย

แต่พอมองย้อนกลับไป คุณบอยบอกว่าแฟชั่นมันอยู่ในตัวคุณบอยและคุณ Jessie อยู่แล้ว แค่ตอนนั้นยังไม่รู้วิธีการทำบริษัทแฟชั่นเท่านั้นเอง

ต่อมาคอลเล็กชันที่สองก็ตามออกมา ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาบายเออร์ติดต่อเข้ามาจะต้องมีโชว์รูมไว้โชว์สินค้า แต่คุณบอยไม่มี ก็เลยโชว์สินค้าในครัวที่อพาร์ตเมนต์ที่นิวยอร์กซะเลย

คุณบอยเล่าแบบติดตลกว่า ครัวที่โชว์สินค้าเก่ามาก ถึงขนาดที่ว่าถ้าอะไรตกไปในพื้นที่ที่เป็นร่องๆ จะหายไปทันที

เพราะเริ่มต้นแบบไม่เหมือนคนอื่น ทุกๆ ซีซันคุณบอยจึงได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆเสมอ เช่น ต้องมีการถ่าย lookbook ต้องส่งกระเป๋าภายในเดือนนี้นะ ฯลฯ  ทั้งหมดนี้ทำโดยไม่มีที่ปรึกษา และใช้ทุนส่วนตัวล้วนๆ

คุณบอยบอกว่าไม่เคยมีนักลงทุน และถึงตอนนี้ก็ยังไม่มี และคงจะไม่มีตลอดไป

ถึงจุดนี้เริ่มมีเซเลบริตี้มาถือกระเป๋า ทำให้แบรนด์เริ่มเป็นที่พูดถึง

เซเลบริตี้คนแรกที่ถือกระเป๋าของ BOYY และทำให้กระเป๋าเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ Chole Sevigny (โคลอี้ เซวิญญี่) ซึ่งรูปที่โชเลถือกระเป๋า BOYY รูปนั้นเป็นรูปที่ปาปารัสซีถ่ายไว้ และสื่อหลายสื่อซื้อเอาไปลงต่อๆ กัน และมีการเขียนถึงกระเป๋าที่เธอถือ นอกเหนือจากนั้นก็มีเซเลบริตี้ระดับ A-list อย่าง ซาราห์ เจสซิกา ปาร์เกอร์ หรือ นิโคล ริชชี ฯลฯ ต่างก็เป็นเจ้าของกระเป๋า BOYY เช่นกัน

ตอนนั้นธุรกิจเริ่มมีความจริงจังมากขึ้น คุณ Jessie จึงเริ่มซื้อหนังจากอิตาลีด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านเอเจนต์ ซึ่งคุณบอยเล่าให้ฟังว่ายากมากกับการที่ไม่ได้เป็นแบรนด์ใหญ่และต้องติดต่อโรงงานหนังด้วยตัวเอง เพราะต้องยอมรับว่าไม่มีใครรู้จัก ดังนั้นจึงใช้เวลานานมากกว่าจะยอมร่วมงานกันทำอะไรสักอย่างกับแบรนด์ที่เพิ่งเกิดใหม่แบบนี้

เมื่อถามถึงอุปสรรคครั้งใหญ่ที่ได้เจอ คุณบอยเล่าว่า เคยมียุคมืดช่วงหนึ่งที่เคยเกือบทำให้เลิกทำ

ช่วงนั้นต้องขายผ่านตัวแทนโชว์รูมที่นิวยอร์ก ซึ่งคล้ายกับตัวแทนจำหน่ายที่จะนำสินค้าไปวางตามร้านต่างๆ และมีจุดหนึ่งที่ตัวแทนโชว์รูมพยายามที่จะให้คุณบอยต้องขายของในราคาที่เป็น mid market ซึ่งเป็นอะไรที่คุณบอยไม่ชอบเลย

คุณบอยคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำธุรกิจแฟชั่น แต่ทำแฟชั่นเป็นธุรกิจ

ดังนั้นการคิดว่าจะขายของราคาเท่าไหร่ แล้วคิดย้อนกลับมาว่าต้นทุนเป็นเท่าไหร่ ไม่ใช่สิ่งที่คุณบอยทำ แต่คุณบอยทำของที่อยากทำออกมาให้ดีที่สุดก่อน แล้วถึงค่อยคิดว่าจะขายเท่าไหร่

พอโดนคอมเมนต์เยอะๆ คุณบอยก็เริ่มเขวจนคอลเล็กชันเริ่มเละ เพราะรู้สึกว่าไม่มีจุดยืน พอคอลเล็กชันเริ่มเละ ก็ขายไม่ดี ผลงานก็ไม่น่าพอใจ

ตอนนั้นคุณบอยอยู่ระหว่างทำคอลเล็กชันหนึ่ง เลยคิดว่าจะทำคอลเล็กชันนี้เป็นคอลเล็กชันสุดท้าย จึงตั้งใจจัดเต็ม โดยไม่สนใจว่าใครจะคอมเมนต์อะไร เพราะไหนๆ ก็จะทำเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว

จะไปสนใจใครทำไม

พอ Winter 2010 ซึ่งเป็นคอลเล็กชันที่ได้ทำตามแนวทางของตัวเองอีกครั้งออกสู่ตลาด ปรากฏว่าขายดีมากๆ

จากที่คิดว่าจะเลิกทำ กระเป๋าคอลเล็กชันนั้นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ให้คุณบอยเดินหน้าทำกระเป๋าที่ตัวเองชอบต่อไป

คุณบอยคิดไหมว่ากระเป๋า BOYY จะขายที่เมืองไทยได้?–ผมถาม

เพราะสงสัยว่า คุณบอยปั้นแบรนด์กระเป๋า BOYY ให้ดังเปรี้ยงจนคนไทยที่ใช้กระเป๋าซูเปอร์แบรนด์มาตลอดอย่าง LV, Gucci, Prada หันมาใช้กระเป๋า BOYY ได้อย่างไร

คำตอบอยู่ในตอนต่อไปครับ

ติดตามเรื่องราวความสำเร็จของกระเป๋าฝีมือดีไซน์เนอร์คนไทย ตอนที่ 2 ได้ที่ ถอดรหัสความสำเร็จของกระเป๋า BOYY (ตอนที่ 2/2)

ภาพประกอบ: Lovesyrup

Tags: , ,