แผนการพัฒนาระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกอาจทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเป็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดดและแซงหน้าประเทศอื่นชนิดที่ ‘ไม่เห็นฝุ่น’

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า หลังจากปกปิดเป็นความลับมาระยะหนึ่ง ล่าสุด กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเตรียมลงทุนเม็ดเงินมหาศาลสำหรับการสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก มูลค่าราว 1.9 พันล้านเยน (หรือประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาทไทย) หวังเดินหน้าอุตสาหกรรมการผลิตและการค้นคว้าวิจัยเพื่อยกระดับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ และการวินิจฉัยโรค ตามนโยบายของประเทศ

แผนการพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์อาจเป็นความหวังใหม่ของญี่ปุ่น หรือแม้แต่ความหวังของรัฐบาลอาเบะเอง ที่จะพลิกเกมกลับมาเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีและหุ่นยนต์อีกครั้ง หลังจากเสียเชิงให้กับคู่แข่งรายสำคัญอย่างเกาหลีใต้และจีน ในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ติดต่อกันหลายปี และดูเหมือนว่าครั้งนี้ รัฐบาลจะมั่นใจมากกว่าที่ผ่านมา เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่คนญี่ปุ่นมีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่เป็นสองรองใคร

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวเปิดเผยว่าจะเร่งดำเนินการสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นโดยเร็วที่สุดภายในปีหน้า พร้อมกับคาดว่าจะมีกำลังประมวลผลสูงถึง 130 เพตาฟล็อปส์ (petaflops) ต่อวินาที (หรือ 130,000 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) ถ้าหากสำเร็จ ญี่ปุ่นจะทำลายสถิติของระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกของจีนที่ชื่อ ‘ซันเวย์ ไท่หูไลท์’ (Sunway-TaihuLight) ซึ่งมีความเร็วในการประมวลผลเฉลี่ย 93 เพตาฟล็อปส์ต่อวินาที ส่วนความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 125.436 เพตาฟล็อปส์ต่อวินาที

“เท่าที่เราทราบคือ ไม่มีเทคโนโลยีใดในโลกจะเร็วไปกว่านี้อีกแล้ว” ซาโตชิ เซคิกุจิ (Satoshi Sekiguchi) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าว

แน่นอนว่าเป้าหมายของการพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์นี้ไม่ใช่เพื่อทำลายสถิติของจีน เพราะญี่ปุ่นต้องการนำระบบประมวลผลชั้นเลิศมาพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเปรียบเสมือนอนาคตของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งประเทศ!

หากเปรียบเทียบกับจีน ซึ่งนำระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซันเวย์ ไท่หูไลท์ มาใช้ในการพยากรณ์สภาพอากาศ การทดลองวิจัยยา และการออกแบบเชิงอุตสหกรรม ทางญี่ปุ่น (ซึ่งพัฒนาหุ่นยนต์ที่พยากรณ์สภาพอากาศได้สำเร็จมานานแล้ว) กลับตั้งเป้าว่าจะนำปัญญาประดิษฐ์มาต่อยอดกับการผลิตรถยนต์ไร้คนขับ การพัฒนาระบบบริการและเครื่องมือจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ รวมทั้งดึงเม็ดเงินมหาศาลที่เหล่าบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นทุ่มไปกับการพึ่งพาเทคโนโลยีของไมโครซอฟต์และกูเกิลให้กลับคืนสู่ประเทศอีกครั้ง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ยังเรียกร้องให้บริษัทเอกชน ข้าราชการ และพรรคการเมือง จับมือกันพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมของชาติให้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แบตเตอรี พลังงานทดแทน และตลาดใหม่อื่นๆ ที่มีศักยภาพจะเติบโตในอนาคต

การประมูลโครงการนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ธันวาคมปีนี้ และไม่ว่าบริษัทไหนจะเข้ามารับผิดชอบ ก็เรียกได้ว่าบริษัทนั้นจะต้องแบกรับความหวังของคนทั้งประเทศเลยทีเดียว

Photo: Wikimedia commons

 

อ้างอิง:

– www.reuters.com/article/us-japan-supercomputer-idUSKBN13K0RS

 

FACT BOX:

ฟล็อปส์ (flops) หมายถึงหน่วยวัดสมรรถนะการทำงานของคอมพิวเตอร์ ซึ่งนิยมใช้กับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง คอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยเป็นเพตาฟล็อปส์ (petaflops) จะมีสมรรถนะในการประมวลคำสั่งคิดเป็น 1015 ฟล็อปส์/วินาที เช่น คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็ว 33.86 เพตาฟล็อปส์/วินาที จะสามารถประมวลผลคำสั่งได้ถึง 33,860 ล้านล้านคำสั่ง/วินาที