“ถ้าเราให้ความสำคัญกับพื้นที่ไร้ประโยชน์ พื้นที่ในชีวิตของทุกคนก็จะไม่มีคำว่าเปล่าประโยชน์” คือประโยคปิดท้ายในคลิปวิดีโอ The Unusual Football Field ที่บอกเล่าถึงโปรเจกต์ในชื่อเดียวกัน ว่าด้วยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างและไม่มีใครใช้สอยในชุมชนคลองเตยให้เป็นสนามฟุตบอลเล็กๆ ที่ไร้รูปทรง แต่อัดแน่นด้วยความคิดสร้างสรรค์

โปรเจกต์นี้เป็นแคมเปญฉลองครบรอบ 25 ปี ของบมจ. เอพี (ไทยแลนด์) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง โดยสนามฟุตบอลดังกล่าวมีทั้งรูปทรงตัวแอล (L-Shape) และรูปทรงซิกแซก (Zig Zag) สอดรับกับภูมิทัศน์ของชุมชนคลองเตยอย่างลงตัว และกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนได้มาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ร่วมกันจริงๆ

คลิปวิดีโอนี้ได้รับกระแสตอบรับเชิงบวกและถูกแชร์ไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน เว็บไซต์ชื่อดังด้านการออกแบบและโฆษณา อาทิ designboom, Dezeen และ Ads of the Day ต่างกล่าวชื่นชมว่าเป็นแคมเปญที่นำการออกแบบเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่ในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ยึดติดอยู่กับข้อจำกัดของพื้นที่เดิม

ล่าสุด TIME ได้ประกาศให้โปรเจกต์สนามฟุตบอล The Unusual Football Field ติดอันดับหนึ่งใน 25 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในปี 2016

The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับ ท็อป-ภัทรภูริต รุ่งจตุรภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงาน Corporate Image แห่งบมจ. เอพี (ไทยแลนด์)

และนี่คือเบื้องหลังของโปรเจกต์เล็กๆ ที่มอบคำนิยามและคุณค่าใหม่ให้กับ ‘พื้นที่ชีวิต’ ในเมือง

นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ที่หลายๆ คนมองว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้
แต่เราเชื่อว่าถ้าเราใส่ใจ แล้วก็ใส่การออกแบบที่ดีเข้าไป
มันสามารถเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ได้จริงๆ”

เมื่อพื้นที่ไร้ประโยชน์จุดประกายความท้าทายให้กับนักออกแบบ

ภัทรภูริตเล่าถึงที่มาของโปรเจกต์นี้ว่า โจทย์แรกของเอพีไม่ใช่การสร้างสนามฟุตบอล แต่ทางบริษัทต้องการทำงานออกแบบที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของ ‘พื้นที่’ ที่ไม่สมบูรณ์แบบ จึงเกิดไอเดียที่จะเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งไร้ประโยชน์ใช้สอยให้กลับมาเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์สำหรับชุมชนอีกครั้ง

เอพีจึงเริ่มสำรวจพื้นที่ในกรุงเทพฯ โดยใช้โดรนบันทึกภาพถ่ายทางอากาศ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับทีมนักออกแบบ AP Design Lab นำภาพถ่ายไปวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแต่ละพื้นที่ให้ตรงกับโจทย์มากที่สุด จนกระทั่งมาลงตัวที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งยังคงประสบปัญหาชุมชนแออัด ทำให้คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไม่มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในยามว่างหรือหลังเลิกเรียน

“เวลาพูดถึงชุมชนแออัด คนมักจะนึกถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เยาวชนที่มารวมตัวกันทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือปัญหาด้านคุณภาพชีวิต เราก็คุยกันว่าถ้าจะต้องพัฒนาพื้นที่ในชุมชนคลองเตยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและทำให้คนที่อยู่ในสังคมนั้นๆ ใช้ประโยชน์จากมันได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี เราจะทำอะไร

“จนมาลงตัวที่การออกแบบพื้นที่ว่างในชุมชน โดยเน้นสำหรับกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก เลยขยายไอเดียต่อว่าเราน่าจะทำอะไรเกี่ยวกับกีฬา เพราะช่วยพัฒนาด้านจิตใจและสุขภาพไปพร้อมๆ กัน แต่พื้นที่ในคลองเตยนั้นมีอุปสรรคในการออกแบบ เช่น โครงสร้างเดิมที่ไม่สามารถรื้อถอนได้ เราจึงหาทางเอาชนะอุปสรรคทางกายภาพดังกล่าว”

ทลายกรอบด้วยความสร้างสรรค์และออกแบบให้ใช้งานได้จริง

สาเหตุที่สนามฟุตบอลทั้ง 2 แห่งในคลองเตยไม่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนอย่างสนามฟุตบอลทั่วไป ไม่ใช่แค่เพียง ‘การคิดต่าง’ แต่เป็นการออกแบบพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทั้งด้านขนาดและสภาพแวดล้อม ทีมงานจึงพยายามออกแบบพื้นที่ให้ ‘ยืดหยุ่น’ และ ‘กลมกลืน’ ไปกับชุมชนมากที่สุด ที่สำคัญใช้สอยได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปทรงกรอบสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม

แล้วเล่นได้จริงไหม? เป็นคำถามที่ใครหลายๆ คน รวมทั้งเราอดสงสัยไปไม่ได้

“จริงๆ เล่นเหมือนฟุตบอลโต๊ะเล็ก (ฟุตซอล) ตามปกติเลยครับ” ภัทรภูริตกล่าว “ด้วยลุคที่เราเห็น มันอาจจะเป็นรูปทรงบิดเบี้ยว แต่เวลาออกแบบ เราคำนึงเสมอว่าต่อให้รูปทรงของสนามไม่ใช่สี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ผู้เล่นสองฝั่งก็ควรจะเล่นได้จริง โดยไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และให้เด็กๆ เยาวชนในพื้นที่ได้ทดลองเล่นเองด้วย ตอนแรกเขาก็คิดว่าคงไม่โอเคหรอก แต่พอเล่นจริงๆ แล้ว มันแทบจะไม่แตกต่าง ความสนุกมันไม่ได้ลดลงเลย เหมือนเล่นสนามปกติเลย

“เด็กๆ จะโฟกัสกับเกม ไม่ได้โฟกัสกับพื้นที่ทางกายภาพแล้ว ฉะนั้น นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ที่หลายๆ คนมองว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าถ้าเราใส่ใจ แล้วก็ใส่การออกแบบที่ดีเข้าไป มันสามารถเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ได้จริงๆ”

“เสียงสะท้อนเหล่านี้ทำให้เราอยากออกแบบชีวิต
ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีได้จริงด้วย
ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามหรือประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียว
แต่เราควรจะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว”

เข้าใจคน เข้าใจพื้นที่ เข้าใจความต้องการ

ประมาณ 3-4 เดือน คือระยะเวลาที่ทีมงานใช้เวลาพัฒนาโปรเจกต์ The Unusual Football Field ตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจ เข้าพัฒนาพื้นที่หลังจากหารือและได้ข้อสรุปจากทางชุมชน จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จและส่งมอบสนามให้แก่ชุมชนคลองเตย

ภัทรภูริตเปิดเผยว่า ขั้นตอนที่กินระยะเวลานานที่สุด คือการคิดการออกแบบเพื่อเอาชนะข้อจำกัดพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งต้องอาศัยการลงพื้นที่ พูดคุย และสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงให้เจอ

“เราได้พบปะกับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ผู้อยู่อาศัย หรือผู้นำชุมชน ทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นอินไซต์จากคนในพื้นที่จริงๆ ว่าเขามีความต้องการอย่างไร มีเรื่องอะไรที่อยากจะพัฒนา อะไรที่เขาไม่ชอบ มันเป็นข้อมูล (input) ที่ดีมากๆ ซึ่งสามารถนำมาประกอบการออกแบบ เพื่อที่จะทำให้ตัวชิ้นงานสุดท้ายสามารถตอบโจทย์คนส่วนมากในชุมชนได้”

ภัทรภูริตเล่าต่อว่าเสียงสะท้อนที่ทีมงานมักจะได้รับจากผู้นำชุมชนและคนในชุมชนที่มีครอบครัวก็คือ เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่มีกิจกรรมหลังเลิกเรียน และขาดพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ จึงมักจะไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ซึ่งอาจทำให้เด็กถูกชักจูงหรือชี้นำไปในทางที่ผิดได้ง่าย

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมงานยังออกแบบสนามทั้ง 2 แห่งให้รองรับและส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกันของคนทุกวัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้น่าอยู่ “เราเน้นกลุ่มที่เป็นเยาวชนก็จริง แต่สุดท้ายสนามที่ชุมชนคลองเตย คนในชุมชนที่เป็นวัยอื่น วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ เขาก็สามารถเข้ามาใช้งานสนามนี้ เป็นลานเอนกประสงค์ เต้นแอโรบิกได้เช่นเดียวกัน

“เสียงสะท้อนเหล่านี้ทำให้เราอยากออกแบบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีได้จริงด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามหรือประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียว แต่เราควรจะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว”

ถ้าคนในชุมชนไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ในระยะยาว
ต้องหวงแหนทะนุถนอมมัน หรือไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการชุมชนอย่างแท้จริง สุดท้ายมันก็จะผุพังไปตามกาลเวลา จริงๆ ผมว่าอันนี้เป็นหลักการ
เป็นคอนเซปต์ที่สำคัญที่สุดของการออกแบบ
หรือว่าการส่งมอบพื้นที่ให้กับชุมชนที่สำคัญมากก็ว่าได้

มากกว่าชื่อเสียงคือ งานออกแบบเพื่อสังคม ต้องรับฟังเสียงของชุมชน

ภัทรภูริตยังกล่าวกับ The Momentum ว่า ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้เหนือความคาดหมายของเขาและทีมงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็น เสียงตอบรับจากคนในชุมชนซึ่งได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวจริง หรือสื่อมวลชนในไทยและต่างประเทศเองก็ตาม

“คนในชุมชนค่อนข้างดีใจและตื่นเต้นมาก จากเดิมมันเป็นพื้นที่ลานปูนเปล่าๆ มีต้นไม้ขึ้นรกร้าง มีกองเศษขยะ ไม่ได้ใช้อะไรเลย แล้วอยู่มาวันหนึ่งมีคนไปทำสนามฟุตบอลให้ และเอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำเป็นพื้นที่ให้มีประโยชน์และให้คนในชุมชนมารวมตัวกันทำสิ่งดีๆ หลังสนามสร้างเสร็จ เราจะเห็นคนมาเล่นกันหลังเลิกเรียน หรือรวมตัวกันทำกิจกรรม ซึ่งก็ส่งผลบวกอย่างมากให้คนในชุมชน ส่วนฟีดแบ็กจากสื่อชั้นนำทั้งเมืองไทยและสื่อต่างประเทศก็ถือเป็นกำลังใจที่ดี แล้วก็เป็นแรงผลักดันให้เรามีกำลัง มีแรงใจที่จะคิดค้นอะไรดีๆ แบบนี้ต่อไปให้กับสังคม”

แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น เขามองว่าโปรเจกต์จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อ มันตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะหัวใจสำคัญของการออกแบบก็คือการคำนึงถึงผู้ใช้งาน (User-Centered Design) ซึ่งก็คือคนในชุมชนนั่นเอง

“สมมติว่าเราไปเจอพื้นที่หนึ่งที่มีโครงสร้างเดิม เป็นเพิงไม้ซึ่งชาวบ้านเขาเอาไว้เก็บของ เขาขอห้ามรื้อ เพราะถ้าเกิดรื้อออกไปแล้ว เขาไม่มีที่ให้เก็บของ เราก็ต้องออกแบบโดยที่ไม่เข้าไปรบกวนการใช้สอยหรือประโยชน์ใช้งานที่เขามีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราก็จะถือว่าการจะออกแบบอะไรก็แล้วแต่ เราต้องฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนด้วย และออกแบบให้มันไปกันได้ดีกับความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน

“ถ้าเราออกแบบโดยไม่ได้รับฟังเสียงสะท้อนหรือความต้องการที่แท้จริง เราจะทำได้แค่เอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปตั้งในชุมชน มันอาจจะสวย ดูดี มีประโยชน์ใช้สอย มีคนพูดถึงในระยะแรก แต่ผมเชื่อว่าถ้าคนในชุมชนไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ในระยะยาว ต้องหวงแหนทะนุถนอมมัน หรือไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการชุมชนอย่างแท้จริง สุดท้ายมันก็จะผุพังไปตามกาลเวลา จริงๆ ผมว่าอันนี้เป็นหลักการ เป็นคอนเซปต์ที่สำคัญที่สุดของการออกแบบ หรือว่าการส่งมอบพื้นที่ให้กับชุมชนที่สำคัญมากก็ว่าได้”

อาจเรียกได้ว่านี่คือตัวอย่างของการนำแนวคิดการออกแบบเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งร้างว่างเปล่าให้กลับมามีคุณค่าและความหมายอีกครั้ง และหวังว่าเราจะได้เห็นโปรเจกต์หรือแคมเปญส่งเสริมสังคมที่ทำจริง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมจริง และส่งผลยั่งยืนจริงๆ ต่อไปในวันหน้า

Photo: AP Thailand

DID YOU KNOW?

ทุกๆ ปี TIME จะคัดเลือกสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในโลก โดยตัดสินจากผลงานที่ช่วยทำให้โลกดียิ่งขึ้น ฉลาดขึ้น หรือแม้กระทั่งน่าสนุกยิ่งขึ้น (แบบไม่เรียงลำดับความสำคัญ) และนี่คือ 25 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2016

  • Flyte หลอดไฟลอยได้ โดย Simon Morris
  • Morpher หมวกจักรยานพับได้ โดย Jeff Woolf
  • Tesla Solar Roof แผงโซล่าร์เซลล์ โดยบริษัท Tesla และ SolarCity
  • Nike Hyperadapt รองเท้าผูกเชือกเอง โดย Nike
  • Unusual Football Field สนามฟุตบอลไร้รูปทรง โดยบมจ. เอพี (ไทยแลนด์)
  • Playstation VR อุปกรณ์แว่นตา Virtual Reality โดย Playstation
  • Hmbldt Vape Pens ปากกากัญชา โดย Hmbldt
  • Hello Sense นาฬิกาปลุกที่จะช่วยให้ตื่นอย่างสดใส มีคุณภาพ โดย Sense
  • Eagle 360 ยางรถยนต์หมุนได้ทุกทิศทาง โดย Goodyear
  • Quip แปรงสีฟันอัจฉริยะ โดย Simon Enever
  • Eatwell Assistive Tableware ชุดจานชามที่ช่วยย้ำเตือนความทรงจำสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดย Sha Yao
  • Better Shelter ที่พักอเนกประสงค์สำหรับผู้อพยพ โดย IKEA
  • Dyson Supersonic ไดร์เป่าผมไร้เสียงสุดล้ำ โดย Dyson
  • The Orange-Fleshed Sweet Potato มันหวานสายพันธุ์ใหม่ วิตามิน A สูง โดย CIP และ Harvestplus
  • Dji Mavic Pro โดรนถ่ายภาพขนาด 4K พกพาง่าย โดย DJI
  • Arc InstaTemp ปรอทวัดไข้อัจฉริยะ โดย Arc
  • Minimed 670g อุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือด โดย Medtronic
  • Tiangong-2 สถานีอวกาศเทียนกง 2 โดย องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน
  • IKO อุปกรณ์แขนเทียมที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กๆ เล่นได้ โดย Arturo Torres
  • Chevrolet Bolt รถไฟฟ้าราคาประหยัด โดย Chevrolet
  • UNICEF Kid Power Band สายรัดข้อมืออัจฉริยะที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายมากขึ้น พร้อมกับส่งอาหารให้เด็กที่ขาดแคลนอาหารทั่วโลกตามจำนวนก้าว โดย Ammunition
  • Apple Airpods หูฟังไร้สาย โดย Apple
  • Amazon Echo ผู้ช่วยอัจฉริยะประจำบ้าน โดย Amazon
  • Wynd เครื่องกรองอากาศบริสุทธิ์ขนาดพกพา โดย Ray Wu
  • Barbie Dolls ตุ๊กตาบาร์บี้โฉมใหม่ที่มีรูปลักษณ์สมจริงมากขึ้น โดย Mattel