มนุษย์เรายังไม่สามารถสำรวจแก่นโลกโดยตรงได้ และนี่อาจเป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าใกล้แก่นของดาวเคราะห์ แม้จะเมื่อนานมาแล้วก็ตาม

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2016 องค์การนาซาประกาศดำเนินการสองภารกิจใหม่ที่มีชื่อว่า ลูซี (Lucy) และ ไซคี (Psyche)
ยานอวกาศลูซีจะเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสฯ ที่โคจรในวงโคจรเดียวกับดาวพฤหัสฯ โดยจะมีสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะโคจรนำหน้าดาวพฤหัสฯ ส่วนอีกกลุ่มจะโคจรตามหลังดาวพฤหัสฯ

ภาพแสดงยานอวกาศลูซีขณะสำรวจดาวเคราะห์น้อย

 

ภาพแสดงตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสฯ

 

ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้กำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับที่ระบบสุริยะถือกำเนิดขึ้นโดยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือองค์ประกอบเลย ดังนั้น สสารของดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ย่อมมีข้อมูลของระบบสุริยะในยุคแรกเริ่มตกค้างอยู่ราวกับซากฟอสซิลทางประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะ!

นี่เป็นสาเหตุให้ภารกิจนี้มีชื่อว่า ลูซี เพราะลูซีนั้นเป็นชื่อของซากฟอสซิลบรรพบุรุษของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับกำเนิดมนุษย์อย่างมหาศาล

เทคโนโลยีในภารกิจลูซีเป็นการต่อยอดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ที่เดินทางไปสำรวจดาวพลูโตมาแล้ว กล้องโทรทรรศน์ที่เคยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเก็บข้อมูลและภาพถ่ายดาวพลูโตจะถูกพัฒนาให้เป็นแบบใหม่ที่ดีขึ้นมาก

ภาพดาวพลูโตที่เราเห็นในปี ค.ศ. 2015 นั้นถูกส่งขึ้นไปกับยานนิวฮอไรซันส์เมื่อปี ค.ศ. 2006 แต่ในครั้งนี้กล้องที่ส่งขึ้นไปจะเป็นเทคโนโลยีล่าสุด ดังนั้นข้อมูลที่ได้ย่อมดีกว่าเดิมอย่างเทียบไม่ได้

ยานอวกาศลูซีจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 2021 และน่าจะเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายในปี ค.ศ. 2025 ใช้เวลาเดินทางราวๆ 4 ปี จากนั้นมันจะใช้เวลา 6 ปี สำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน 6 ดวงที่โคจรบริเวณดาวพฤหัสฯ

ภาพยานอวกาศไซคีขณะสำรวจดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche

ส่วนยานอวกาศไซคีจะถูกส่งไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่น่าสนใจที่สุดดวงหนึ่งในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักที่อยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสฯ มันเป็นดาวเคราะห์น้อยเหล็กขนาดยักษ์ที่มีชื่อว่า 16 Psyche มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่ถึง 120 กิโลเมตร (มากกว่าระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปอ่างทองเล็กน้อย) ซึ่งความน่าสนใจคือองค์ประกอบของมันเป็นเหล็กและนิกเกิล ในขณะที่ดาวเคราะห์น้อยส่วนมากเป็นหินหรือสสารประกอบพวกออกซิเจน, คาร์บอน, ไนโตรเจน และซัลเฟอร์

กล่าวได้ว่าองค์ประกอบของ 16 Psyche นั้นคล้ายคลึงกับแก่นของโลกเรามาก มีความเป็นไปได้สูงมากที่ 16 Psyche เป็นแก่นของดาวเคราะห์โบราณสักดวงหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กับดาวอังคาร แต่ถูกกระหน่ำชนอย่างรุนแรงด้วยอุกกาบาตจำนวนมากจนมันสูญเสียเปลือกชั้นนอกไปจนหมด

มนุษย์เรายังไม่สามารถสำรวจแก่นโลกโดยตรงได้ และนี่อาจเป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าใกล้แก่นของดาวเคราะห์ แม้จะเมื่อนานมาแล้วก็ตาม การสำรวจครั้งนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติของแก่นดาวเคราะห์ รวมทั้งตอบคำถามต่างๆ เช่น ดาวเคราะห์มีการแยกออกเป็นชั้นๆ อย่างไรในอดีตกาล

ยานอวกาศไซคีจะถูกส่งในปี ค.ศ. 2023 และเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยในปี ค.ศ. 2030 แน่นอนว่านี่เป็นครั้งแรกที่จะมีการส่งยานอวกาศไปสำรวจโลกใบใหม่ที่ไม่ใช่หินหรือแก๊ส แต่เป็นโลกแห่งเหล็ก!

ทั้งสองภารกิจนี้จะช่วยเติมเต็มภาพความเข้าใจเรื่องระบบสุริยะและดาวเคราะห์ให้กับมนุษย์เราได้อีกมากมาย ซึ่งมันเป็นเหมือนการทำความเข้าใจบ้านหลังใหญ่ของเราที่อาศัยอยู่ตลอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

ว่าแต่ฟังแล้วคุณว่าภารกิจไหนน่าสนใจกว่ากันครับ?

แถม! นอกจากนี้องค์การนาซายังจะใช้งบประมาณไปกับ Near-Earth Object Camera ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ออกแบบมาเพื่อสำรวจวัตถุใกล้โลก ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วย

ภาพประกอบ: sciencealert.com​
อ้างอิง:
     – https://www.nasa.gov/press-release/nasa-selects-two-missions-to-explore-the-early-solar-system
http://www.sciencealert.com/nasa-just-announced-it-will-spend-450m-to-probe-a-dead-planet-s-core

 

Tags: ,