แม้จะยังไม่รู้ว่า THE FACE THAILAND ซีซัน 3 ที่จะออนแอร์ครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์นี้จะมีเรื่องดราม่า และคำคมเชือดเฉือนของเมนเทอร์คนไหนให้หยิบยกไปพูดถึงบ้าง แต่ก็พอเดาได้ว่าซีซันนี้น่าจะยังคงความแซ่บไว้ไม่ต่างจาก 2 ซีซันที่ผ่านมาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์
แต่นอกจากองค์ประกอบความแซ่บ THE FACE THAILAND ยังมีเบื้องลึกและเบื้องหลังของกระบวนการทำงานอีกมากมายที่ผ่านการคิดและวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดีจาก ‘เต้’ – ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา เอฟโวลูชั่น จำกัด และ เอ็กเซ็กคูทีฟ โปรดิวเซอร์ รายการ THE FACE THAILAND ซึ่งทำให้เรียลิตี้รายการนี้สตรอง! จนพลาดไม่ได้แม้สักตอน
ความสนุกของรายการนี้มีที่มาอย่างไร? อะไรคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สาวกติดหนึบอยู่หน้าจอโทรทัศน์ทุกสัปดาห์? แล้วความดราม่าเกิดจากการเตี๊ยมมาแล้วจริงหรือไม่? ติดตามหาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้
ผลลัพธ์ที่ควบคุมไม่ได้ คือเสน่ห์ของ THE FACE THAILAND
ไม่ว่าจะซีซันไหน หนึ่งคำถามยอดฮิตที่เกิดขึ้นแทบทุกเทปก็คือ ‘รายการนี้มีสคริปต์หรือไม่’ ซึ่งทุกครั้งคุณเต้ก็จะตอบอย่างชัดเจนว่า “ยืนยันว่ามันมีสคริปต์ไม่ได้ เพราะเราถ่ายกันเทปละ 2 วัน มีฟุตเตจ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย จะมีสคริปต์ทั้งวันคงเป็นไปไม่ได้”
และที่สำคัญกว่าการไม่มีสคริปต์ก็คือ การไม่เข้าไปควบคุมผลลัพธ์ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของรายการที่ทำให้แฟนๆ ต้องติดตามอย่างเกาะติดทุกสัปดาห์
“สิ่งที่เราทำคือทำตามไบเบิลรูปแบบรายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศ คือมีแคมเปญ หรือสถานการณ์กำหนดมาให้ แล้วปล่อยให้ 3 เมนเทอร์และลูกทีมเล่นกันเอง ซึ่งการปล่อยให้เขาเป็นธรรมชาติของเขา อะไรจะเกิดก็เกิด ไม่ควบคุมผลลัพธ์ ไม่ชักนำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่าง ธรรมชาติตรงนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของรายการ”
แม้จะยืนยันอย่างนั้น แต่เอาเข้าจริงถ้าใครได้ดูรายการก็คงจะรู้ว่าความรู้สึกสนุกที่ได้แทบไม่ต่างจากเวลาดูละคร ต่างกันที่ละครบางเรื่องคนดูสามารถคาดเดาตอนจบได้ แต่กับ THE FACE THAILAND ตอนจบยังคงเป็นปริศนาที่แม้แต่คนทำรายการเองก็ยังไม่รู้
“ที่เขาพูดกันว่าชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย เราว่าจริง เพราะอย่าลืมว่าเมนเทอร์ 3 คนนี้เป็นตัวแม่ของวงการบันเทิง มีประสบการณ์การทำงานมาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี ไม่มีใครยอมใครหรอก แล้วแต่ละคนก็มีสัญชาตญาณความเป็นแม่เหมือนกันหมด ยิ่งรักลูกทีมแค่ไหนก็ยิ่งต้องปกป้องลูกทีม นอกจากจะต้องแข่งกันเองแล้วยังต้องแข่งกันเพื่อลูกทีมอีก เรียกว่าแข่งซ้ำแข่งซ้อนแข่งซ่อนเงื่อน ยังไงก็ต้องมีอารมณ์ร่วมอยู่แล้ว เหมือนนักกีฬาตอนแข่งขันกันยังทะเลาะกันเลย รายการนี้ก็เหมือนกัน”
คัดสรรองค์ประกอบที่ใช่ เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกได้ถูกต้อง
อีกหนึ่งเคล็ดลับความปังของ THE FACE THAILAND คงหนีไม่พ้นการคัดเลือกเมนเทอร์ 3 คนมาขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งชิงชัยชนะให้ลูกทีม ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้ทีมแคสติ้งที่คัดสรรส่วนผสมที่แตกต่างมารวมเข้าด้วยกันจนลงตัว
“เรามีทีมงานที่คอยเสนอชื่อเมนเทอร์เข้ามา จากนั้นค่อยมานั่งคุยกันว่าความสมดุลของทั้ง 3 คนลงตัวหรือยัง คือเคมีของทั้ง 3 คนต้องเข้ากัน ถ้าแรงแบบเดียวกัน ทุกอย่างก็จะไปทางเดียวกันหมด อย่างซีซันที่แล้วก็เป็นส่วนผสมในแบบที่คนหนึ่งแรงแต่จริงใจ อีกคนแรงแบบเงียบๆ แต่กินเรียบ อีกคนอาจจะไม่แรงแต่มีปฏิภาณไหวพริบที่ดี ต้องดูกันปีต่อปีว่า 3 คนนี้ลงตัวหรือเปล่า”
ส่วนในซีซันนี้จะลงตัวหรือไม่คงต้องให้คนดูเป็นผู้ตัดสิน เพราะขณะที่เรานั่งคุยกับคุณเต้ รายการนี้เพิ่งถ่ายทำไปได้เพียงแค่ 3 เทปเท่านั้น ซึ่งคุณเต้มั่นใจว่าจะเป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ถึง 70%
“ที่คาดหวังไว้คือให้ 3 คนนี้ใช้ศักยภาพของตัวเองให้ถึงขีดสุด เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้ลูกทีมได้เป็น THE FACE ที่มีคุณภาพมากที่สุด และคนดูต้องได้ประโยชน์ด้วย
“คนมักจะถามว่ากดดันไหม เพราะปีที่แล้วเป็นปรากฎการณ์ระดับประเทศ แต่เราตอบเสมอว่าไม่กดดันเลย เพราะเราเกิดมาในวงการนี้ เราเข้าใจวัฏจักรของมันดี มีทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังแล้วดับ ดับแล้วกลับมาดังใหม่ เห็นมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้คาดหวังว่าจะดังเท่าปีที่แล้ว พอขึ้นซีซันใหม่ก็เหมือนล้างทุกอย่างใหม่หมด เหมือนไม่เคยทำมาก่อน แล้วก็ทำให้เต็มที่ พอทำเต็มที่เราจะไม่เสียใจเลยในสิ่งที่ตัวเองทำ แค่นั้นพอ ถ้าซีซัน 3 ไม่ดี ก็อาจจะไม่มีซีซัน 4 ก็ได้ ต้องมองปีต่อปี”
เราเกิดมาในวงการนี้ เราเข้าใจวัฏจักรของมันดี มีทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังแล้วดับ ดับแล้วกลับมาดังใหม่ เห็นมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้คาดหวังว่าจะดังเท่าปีที่แล้ว พอขึ้นซีซันใหม่ก็เหมือนล้างทุกอย่างใหม่หมด เหมือนไม่เคยทำมาก่อนแล้วก็ทำให้เต็มที่ พอทำเต็มที่เราจะไม่เสียใจเลยในสิ่งที่ตัวเองทำ
LGBT อาจเป็น THE FACE คนต่อไป!
กระแสความฮือฮาของ THE FACE ซีซันนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่เมนเทอร์มาช่าที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แต่ยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้สาวประเภทสองหรือผู้หญิงข้ามเพศมีสิทธิ์สมัครเข้าแข่งขันร่วมกับผู้หญิงทั่วไปด้วย
“ตั้งแต่ THE FACE ซีซัน 2 จบ เวลาไปไหนก็จะมีแฟนๆ ที่เป็น LGBT มาถามกันเยอะว่าทำไมไม่เปิดให้หนูเข้าประกวดด้วย เราฟังมาเรื่อยๆ แล้วคิดตามว่าในโลกนี้ประเทศอื่นๆ เขาก็มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ส่วนประเทศไทยที่ถือเป็นจุดศูนย์รวมความหลากหลายทางเพศยังจะมานั่งดูถูกกันทำไม
“ย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ขนาดเรายังไม่อยากให้ใครมาแปะป้ายเลยว่าเป็นอะไร เราก็อยากต่อสู้เรื่องสิทธิตรงนี้เหมือนกัน ก็เลยปรึกษาผู้ใหญ่หลายๆ คน เสียงตอบรับก็ยัง 50/50 หลายคนบอกว่าจะดีเหรอ แยกไปอีกรายการไหม แต่ถ้าแยกแล้วจะทำไปทำไม ไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นแบ่งแยกเขาอีกสิ เราอยากทำให้มีความเท่าเทียมกัน ก็เลยตัดสินใจเปิดรับเพศที่ 3 โดยที่ไม่ได้เอาเข้ามาเป็นตัวละครเสริม แต่มองที่คุณสมบัติของเขาจริงๆ มีสิทธิ์ตกรอบ มีสิทธิ์เข้ารอบ และก็มีสิทธิ์ที่จะเป็น THE FACE THAILAND ได้ด้วย”
ไม่สร้างกระแส แค่หยิบประเด็นที่ถูกมาขยายความต่อ
“คนมักจะบอกว่าเราสร้างกระแสเก่งจังเลย ทำยังไงคะ แต่จริงๆ คือเขาเข้าใจผิดนะ เพราะเราไม่เคยสร้างกระแส และสร้างไม่เป็นด้วย แต่เราจับกระแสที่คนดูพูดถึงแล้วนำมาต่อยอด หรือเล่นกับกระแสนั้น” คุณเต้เปิดเผยให้เราฟังถึงกลยุทธ์ในการใช้โซเชียลมีเดีย จิกซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ THE FACE THAILAND สามารถต่อยอดคอนเทนต์ให้แพร่กระจายไปไกลมากกว่าแค่ในหน้าจอทีวี
ถ้าพี่ลูกเกดไม่ได้มาเล่นๆ ทีมโซเชียลมีเดียของ THE FACE THAILAND ก็คงมาพร้อมกับความจริงจังไม่แพ้กัน เพราะจากสถิติในเดือนกันยายน 2559 แฟนเพจใน Facebook ของ THE FACE THAILAND มีผู้กดไลค์อยู่ประมาณ 1 ล้าน 9 แสนคน ส่วนในทวิตเตอร์ @TheFaceThailand ก็มีผู้ติดตามอีกกว่า 6 หมื่นราย แถมทุกโพสต์ยังมาพร้อมกับยอดคอมเมนต์ ยอดแชร์ และยอดรีทวีตอีกมากมาย
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการลองผิดลองถูกของทีมงาน ตั้งแต่ซีรีย์ Ugly Betty จนมาถึง Gossip Girl และ THE FACE THAILAND ซีซันแรก สุดท้ายจึงค้นพบว่าเคล็ดลับที่ทำให้การสื่อสารทางโซเชียลมีเดียประสบความสำเร็จก็คือการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนดู
“โซเชียลมีเดียไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว ถ้าคุณอยากคุยกับเรา แต่เราไม่คุยด้วย วันหนึ่งคุณก็คงเลิกสนใจเราในที่สุด แบบนั้นเราไม่ยอม เพราะคำว่า engagement สำคัญสำหรับเรามาก ในเมื่อเขาเป็นแฟนของเรา เขามีสิทธิ์ที่จะมีสิทธิ์มีเสียงมีความคิดเห็น หน้าที่ของทีมงานคือต้องสื่อสารกลับไปเพื่อสร้างให้เกิดบทสนทนา แล้วต้องสื่อสารในเวลาที่เขากำลังตื่นเต้นกับรายการอยู่ ถ้าเลยไปจากช่วงเวลานั้นก็ไม่มีประโยชน์หรอก อย่าลืมว่าโซเชียลมีเดียต่างๆ เวลาผ่านไป 5 นาทีก็โดนโพสต์อื่นกลืนไปหมดแล้ว
“ที่สำคัญคือต้องฟังก่อนว่าเขาพูดอะไรกัน ฟังให้ดี แล้วเอาเรื่องที่พูดมาเป็นกระแส แต่เดิมคนทำรายการทีวีเคยใช้วิธีเขียนข่าวเพื่อบอกว่ารายการมันดีมาก สนุกมาก ต้องดูให้ได้นะคืนนี้ ซึ่งเหมือนเรากำลังไปบังคับคอนเทนต์ แต่ไม่ได้ฟังว่าคอนเทนต์ที่คนดูพูดคุยกันเป็นเรื่องอะไร เราคิดว่าวิธีเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วสำหรับยุคนี้”
ในเมื่อเขาเป็นแฟนของเรา เขามีสิทธิ์ที่จะมีสิทธิ์มีเสียงมีความคิดเห็น
หน้าที่ของทีมงานคือต้องสื่อสารกลับไปเพื่อสร้างให้เกิดบทสนทนา
แล้วต้องสื่อสารในเวลาที่เขากำลังตื่นเต้นกับรายการอยู่
ถ้าเลยไปจากช่วงเวลานั้นก็ไม่มีประโยชน์หรอก
แพลตฟอร์มไม่สำคัญเท่ากับคอนเทนต์
เมื่อภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนไป ช่องทีวีมีมากขึ้น ขณะที่พฤติกรรมของคนดูสวนทางหันไปใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก โจทย์ใหม่ที่ท้าทายผู้ผลิตรายการทีวีก็คือ จะดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้อย่างไรในเมื่อรอบๆ ตัวเขามีสื่ออีกมากมายที่คอยแย่งชิงความสนใจอยู่เหมือนกัน คำตอบที่ได้คือ
“Content is the King คือเรื่องจริง เพราะถ้าคอนเทนต์คุณแข็งแรงจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหนเดี๋ยวคนก็จะตามไปดูเอง เพราะยุคนี้คนดูจะเป็นคนเลือกว่าเขาจะดูอะไร ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราบังคับยัดเยียดให้เขาดูรายการนี้ เวลานี้ และห้ามมีความคิดเห็น
“ยกตัวอย่างรายการ THE FACE THAILAND ที่ออกอากาศในทีวีตอน 5 โมงครึ่ง พูดตามตรงว่าเรตติ้งประมาณ 3-4 ก็ถือว่าไม่ค่อยดีนะ แต่หลังจากจบรายการไม่ถึงชั่วโมง มียอดคนดูใน YouTube 3-5 ล้านวิว แปลว่าพฤติกรรมของคนดูเขาไม่ได้ต้องการจะดูในเวลาที่เราบอกเท่านั้น”
ถึงพฤติกรรมของคนดูในยุคนี้จะเปลี่ยนไป แต่รายการทีวีก็ยังคงมีหน้าจอโทรทัศน์เป็นช่องทางการสื่อสารหลักซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
“ยังไงสถานีโทรทัศน์ก็ต้องมาก่อน เพราะ first window ต้องสำคัญที่สุด คงต้องรอให้พฤติกรรมของผู้สนับสนุนต่างๆ เปลี่ยนไปมากกว่านี้ ถึงเวลานั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนตาม เพราะฉะนั้น multi platform จึงไม่ใช่การเอาสิ่งที่อยู่ในทีวีมาลง YouTube แล้วจบ แต่ยังต้องมี exclusive content ที่คุณจะได้เห็นในทีวีเท่านั้น และอาจจะไม่ได้เห็นในที่อื่นๆ ซึ่งยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้คนอยากดูทีวีก่อน”
เสียงสะท้อนจากคนดู… เสียงสวรรค์ที่คนทำรายการต้องรับฟัง
อีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่คุณเต้เคยทำไว้ในตอนที่ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีย์เรื่อง Gossip Girl มาทำเป็นเวอร์ชันไทยก็คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการตามเสียงสะท้อนของผู้ชม หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘รื้อทำใหม่’ ทั้งๆ ที่ถ่ายทำไปแล้วถึง 30% เสียเงินนับล้านไปฟรีๆ
“เรามองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ถึงจะต้องยอมขาดทุนไปพอสมควร แต่ก็คุ้มตรงที่คนดูให้ใจเราไปเลย เพราะเหมือนเป็นครั้งแรกที่มีคนยอมฟังเสียงสะท้อนของพวกเขาจริงๆ แถมฟังแล้วยอมแก้ให้ใหม่หมดด้วย ทำให้เขากล้าจะให้โอกาสเราอีกครั้ง แก้เสร็จแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ดีไม่รู้ แต่เขารู้สึกบวกกับเรามากขึ้นแน่นอน
“อย่างที่สองที่ได้และชอบมากคือ เราได้โอกาสปรับเปลี่ยนภายในองค์กรเอง เพราะบางทีเราทำงานกันมานาน พอประสบความสำเร็จมาเรื่อยๆ ก็ไม่มีอะไรจะทำให้ตื่นตัวได้อีก เลยทำแบบเดิมๆ ในเรื่องเดิมๆ มาเรื่อยๆ แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ก็เหมือนเป็นการปลุกให้เราตื่น ถือเป็น enlighten moment สำหรับเราก็ว่าได้”
แน่นอนว่าการรับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดีเสมอ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเสียงที่รับฟังจะนำมาปรับใช้ได้ทั้งหมด สิ่งที่คุณเต้ให้ความสำคัญไม่แพ้การเปิดหูรับฟังก็คือ การคัดกรองเสียงสะท้อนเหล่านั้น
“เราต้องตัดเรื่องอารมณ์ และความรู้สึกออกไป คือคนที่ด่าโคตรเหง้าศักราชเราก็มีนะ อันนั้นต้องตัดออกไปเลย พยายามฟังเนื้อความจริงๆ ดูว่าเหตุผลมันเป็นไปได้ไหม แล้วค่อยทำตามที่เขาต้องการ”
เช่นเดียวกับรายการ THE FACE THAILAND ที่เปิดรับเสียงสะท้อนจากผู้ชมอยู่เสมอ อย่างที่คุณเต้ฝากบอกแฟนรายการว่า
“เราทำเต็มที่อยู่แล้ว เพื่อที่ตัวเองและทีมงานจะได้ไม่เสียใจในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป ไม่อยากให้คาดหวัง หรือเอาไปเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ เพราะมันไม่เหมือนกันหรอก แล้วมันก็คงไม่ถูกใจทุกคนหรอก อยากให้ปลดกำแพง แล้วดูให้สนุก มีอะไรก็ติชมเข้ามา ถ้าเราปรับให้ได้เดี๋ยวเราจะรีบปรับให้เลย คราวนี้ทำไม่ทันเดี๋ยวครั้งหน้าทำให้แน่นอน”
ใครจะได้เป็น THE FACE THAILAND ในปีนี้เราคงไม่อาจรู้ได้ แต่ที่รู้แน่ๆ เมื่อฟังแนวคิดของทายาทกันตนาคนนี้ก็เชื่อแล้วว่าเขาไม่ได้มาเล่นๆ จริงๆ…