สถานการณ์ของธุรกิจสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นดูจะสดใสขึ้นมาบ้าง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของชินโซ อาเบะ เตรียมเปิดไฟเขียวให้ Airbnb ดำเนินการต่อ โดยมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ที่ให้บุคคลทั่วไปเปิดให้เช่าที่พักอาศัยผ่าน Airbnb ได้ไม่เกิน 180 วัน/ปี ตามการรายงานของสำนักข่าวเจแปนไทม์ส (10 มี.ค. 60)
นี่ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการสตาร์ทอัพแห่งแดนปลาดิบเลยทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ Airbnb เผชิญกับแรงกดดันจากสมาคมอุตสาหกรรมโรงแรมของญี่ปุ่นและถูกจำกัดการบริการด้วยกฎระเบียบ ‘มินปากุ’ (minpaku) ของรัฐบาล ซึ่งตั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการแชร์ที่พักอาศัยให้กับนักท่องเที่ยวว่า เจ้าของบ้านหรือโฮสต์จะต้องให้แขกพักอยู่อย่างน้อย 1 สัปดาห์
ที่จริงแล้วสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นถูกตีกรอบให้อยู่ใน ‘พื้นที่สีเทา’ มาตลอด ต่อให้ได้รับความนิยมหรือแรงสนับสนุนจากบริษัททุน ก็ยังต้องเจอกำแพงทางกฎหมายแทบทุกราย
เมื่อวันที่ 15-20 มี.ค. ที่ผ่านมา อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ได้ชวน The Momentum ร่วมด้วยสื่อมวลชนและเหล่าบล็อกเกอร์ไปพบปะกับธุรกิจสตาร์ทอัพและ Venture Capital (VC) อย่างใกล้ชิดที่ประเทศญี่ปุ่น ในทริป ‘GEN‐C Life in UrbanTech Era’ เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ใหม่ ‘UrbanTech’ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่ผันตัวเป็น Tech Company
มาดูกันว่า Tech Startup เจ๋งๆ ในญี่ปุ่นเขามีวิธีคิดที่น่าสนใจยังไง และพัฒนาเทคโนโลยีก้าวล้ำกันไปถึงไหนแล้วบ้าง
พลิกโฉมธุรกิจด้วยวิธีคิดแบบ Disruptive
จุดเด่นของ Tech Startup ที่นี่คงต้องยกให้กับความช่างคิดของคนญี่ปุ่นที่แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยนวัตกรรมที่ก้าวหน้า และต่อยอดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ โดยสอดคล้องไปกับบริบททางสังคม เช่น เทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ปลูกพืชได้ทุกพื้นที่และพร้อมรับกับการขยายตัวของเมือง หรือแม้แต่การออกแบบหุ่นยนต์ขึ้นมาใช้แทนแรงงานคนที่ใกล้ขาดแคลนในสังคมผู้สูงอายุ
Mebiol ได้คิดค้นการปลูกต้นไม้บนแผ่นฟิล์มใส ‘Hymec’ ด้วยเทคโนโลยีไฮโดรเจล และมอบประสบการณ์ farm to fork สำหรับคนเมือง ที่น่าทึ่งกว่านั้นยังช่วยแก้ปัญหาดินเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ประสบภัย และยังเป็นแผนเตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคนในปี 2025
ปัจจุบันโรงแรมเกียวโต ไบรท์ตัน ได้นำฟิลม์ไปทดลองใช้ปลูกมะเขือเทศบนพื้นคอนกรีตในเรือนกระจกล้อมด้วยไม้ไผ่ของโรงแรมเพื่อนำมาใช้ประกอบอาหารและลดปริมาณการขนส่งอาหารจากแหล่งอื่น
TABICA สตาร์ทอัพที่ให้บริการจัดทริปพานักท่องเที่ยวไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด โดยได้รับการสนับสนุนจาก GaiaX
Dverse ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบ Virtual Reality ที่ชื่อ SYMMETRY ข้อดีของซอฟต์แวร์นี้อยู่ตรงที่ช่วยให้นักออกแบบและลูกค้าเข้าใจภาพของผลิตภัณฑ์ตรงกันมากขึ้น และบาลานซ์ความต้องการของทั้งสองฝ่ายก่อนการผลิตจริง
Hoomano คือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับหุ่นยนต์เพื่อการพาณิชย์ และอยู่เบื้องหลังการพัฒนาหุ่นยนต์เป็ปเปอร์อันโด่งดังของ SOFTBANK สามารถตอบโต้กับคนได้ด้วยการออกแบบซอฟต์แวร์ Interactive Intelligence ซึ่งคาดกันว่าจะมาแทนที่พนักงานต้อนรับและฝ่ายบริการลูกค้าในไม่ช้า
Crowd Realty เรียกได้ว่าเป็นแรร์ไอเท็ม เพราะไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงให้คนมาร่วมลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และพลิกช่องว่างของระบบการลงทุนที่ผูกขาดโดยสถาบันการเงินขนาดใหญ่ให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า
กฎหมายญี่ปุ่นยังไม่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจใน Sharing Economy
หากถอยออกมามองภาพรวมของวงการสตาร์ทอัพในญี่ปุ่น ยูจิ อุเอดะ (Yuji Ueda) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ GaiaX บริษัทตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งสนับสนุนธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy กล่าวว่าคอนเซปต์ของเศรษฐกิจแบ่งปันในญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับคุณค่าของสิ่งเก่าและเน้นการแชร์ระหว่างบุคคล พร้อมกับชี้ว่าธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเข้ามาช่วยเหลือสังคม เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดและประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง โดยยกตัวอย่างกรณีของ Airbnb ซึ่งเคยเสนอที่พักฟรีสำหรับผู้ประสบภัย ส่วนพื้นที่แบบโคเวิร์กกิงสเปซ ก็ตอบโจทย์ในแง่การใช้พื้นที่ร่วมกันและกลายเป็นคอมมูนิตี้ของการแลกเปลี่ยนไอเดียและมุมมองการสร้างสรรค์งาน โดยช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเช่าพื้นที่ไปในตัว
อย่างไรก็ดี ชาติผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างญี่ปุ่นยังคงก้าวไม่พ้นกรอบทางกฎหมายที่เคร่งครัดและเปิดโอกาสให้กับธุรกิจใหม่สักเท่าไรนัก GaiaX ซึ่งเป็น VC ที่สนับสนุนสตาร์ทอัพก็เข้าใจสถานการณ์ดีว่า การทำธุรกิจภายใต้ Sharing Economy ยังคงเป็นประเด็นสีเทาอยู่มาก ทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนต้องหาทางพลิกแพลงหรือผนึกกำลังกันก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมายไปให้ได้
เช่น Notteco ธุรกิจสตาร์ทอัพภายใต้ GaiaX เห็นโอกาสในตลาดการเดินทางระยะไกลที่มีมูลค่าสูงถึง 40 ล้านเยน/ปี แต่บริการแชร์รถที่ผู้ขับขี่ได้กำไรถือเป็นธุรกิจผิดกฎหมายในญี่ปุ่น (เช่น Grab) จึงอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายมาเปิดให้บริการแชร์รถสำหรับเดินทางไกลแบบ Carpooling System ที่น่าสนใจคือ Notteco ยังชูจุดเด่นของบริการที่เข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลจากระบบขนส่งสาธารณะและช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถขับรถได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในต่างจังหวัด ทำให้รัฐบาลสนใจปรับข้อกำหนดทางกฎหมาย
GaiaX ยังจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการเรื่องนี้ โดยมีบริษัทเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก ตั้งแต่บริษัททุนราว 10 บริษัท บริษัทธุรกิจภายใต้ GaiaX ประมาณ 100 ราย ร่วมด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอีกประมาณ 5 บริษัท
ขณะที่ตัวแทนจาก Stay Japan บริการเช่าห้องพักในญี่ปุ่น (คล้ายกับ Airbnb) อธิบายว่าบริษัทสามารถประกอบธุรกิจได้ถูกต้องโดยไม่ขัดกฎระเบียบของโรงแรมและเรียวกังของญี่ปุ่น เพราะวางจุดยืนเป็นที่พักทางเลือก (Alternative Lodging) แทนที่จะทับไลน์ของธุรกิจโรงแรมที่มีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ The Momentum ยังได้สำรวจรูปแบบการใช้ชีวิตในเมืองของกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางระดับบนในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบนิเวศของ Tech Startup โดยมิตชุย ฟูโดซัง อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรแข็งแกร่งของอนันดาฯ ได้พาเราเยี่ยมชม Sale Office และโครงการของมิตซุย ฟูโดซัง ที่ Park Court Hamarikyu และ Global Front Tower และได้พบว่าคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้นมีแนวโน้มใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะเดินทางในชีวิตประจำวันมากกว่าขับรถยนต์เอง ขณะที่ธุรกิจประเภท Car Sharing เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน
โดยสรุปแล้ว ภาพรวมของวงการธุรกิจประเภท Sharing Services นี้ยังเป็นพื้นที่สีเทาทางกฎหมาย สตาร์ทอัพแต่ละรายมีความโดดเด่นด้านแนวคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม แต่ยังเติบโตและมีสเกลแค่ในญี่ปุ่นมากกว่าจะออกไปบุกตลาดนอกประเทศ ทว่าท่าทีล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นว่ายังพอมีหวังสำหรับ Sharing Economy เพราะอย่างน้อยธุรกิจเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศให้ทันกระแสโลก และช่วยต้านทานสตาร์ทอัพต่างชาติที่จะเข้ามาตีตลาดอยู่ดี
คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถถอดบทเรียนจากสถานการณ์ในญี่ปุ่นแล้วนำมาปรับใช้กับระบบนิเวศของวงการสตาร์ทอัพในไทยได้บ้าง
อ้างอิง:
- – http://www.japantimes.co.jp/news/2017/03/10/business/corporate-business/airbnb-gets-cabinet-ok-japan-sets-rules-home-sharing-businesses/#.WNKuMxN96u0
- – https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-03-10/airbnb-nears-approval-in-room-starved-japan-with-tighter-rules