ผลสำรวจ PayScale ระบุว่า ลูกจ้างอเมริกัน 2 ใน 3 จากจำนวน 71,000 คน คิดว่าตัวเองได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

ลูกจ้างเหล่านี้เผยความในใจว่า กำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจหางานใหม่เพื่ออัพเงินเดือน หรือแม้ที่ทำงานเก่าจะขึ้นเงินเดือนให้ พวกเขาก็คิดจะลาออกอยู่ดี เนื่องจากคิดว่าเพื่อนร่วมงานน่าจะได้เงินเดือนมากกว่า

ไม่น่าเชื่อว่า เรื่องทั้งหมดนี้มีที่มาจากการที่บริษัทปิดบังข้อมูลเงินเดือน

“การเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนของบริษัท จะส่งผลดีต่อทั้งพนักงานและองค์กร”
เดวิด เบอร์กัส (David Burkus) ผู้เขียนหนังสือ Under New Management: How Leading Organizations Are Upending Business as Usual พูดบนเวที TED Talk เมื่อปีที่แล้ว

“พอคนไม่รู้เงินเดือนที่คนอื่นได้ อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้น้อยกว่าคนอื่น คำถามคือมีใครบ้างที่อยากจะทนทำงานในบริษัทที่ตัวเองรู้สึกว่าได้รับค่าจ้างที่ไม่คู่ควร หรือถูกเลือกปฏิบัติ?”

เบอร์กัสกำลังบอกว่า การเปิดเผยฐานเงินเดือนนั้นดีกว่าการปิดบัง!?

แม้จะฟังดูแปลกๆ แต่มีข้อมูลระบุว่า การที่พนักงานในองค์กรรู้เงินเดือนของกันและกัน มีข้อดี 4 ข้อ ดังนี้

1. ทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจ

“การเปิดเผยเงินเดือนจะทำให้พนักงานรู้สึกว่า พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงาน”

จีนน์ ซี. ไมสเตอร์ (Jeanne C. Meister) หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ The Future Workplace Experience: 10 Rules for Mastering Disruption in Recruiting and Engaging Employees ให้ข้อมูล “พวกเขาอาจจะลาออกก็ได้ แต่อย่างน้อยเรื่องเงินเดือนก็ไม่ใช่เหตุผลของการลาออก”

มีข้อมูลเผยว่า พนักงานที่ได้รับเงินน้อยกว่าที่ควรได้จะรู้สึกพอใจ ถ้านายจ้างระบุถึงที่มาที่ไปของค่าจ้างของเขา และถ้าพนักงานบางคนตัดสินใจนั่งคุยและเปิดใจถึงเรื่องค่าจ้างที่ได้ จะทำให้รู้สึกพึงใจในงานเพิ่มขึ้น 42%

2. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนล และมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟระบุว่า การเก็บข้อมูลเงินเดือนเป็นความลับมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของพนักงาน

ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวมีที่มาจากการทดลองให้นักเรียนเล่นเกมจับคู่ในคอมพิวเตอร์ 3 รอบ โดยที่ทุกคนได้เงินเดือนพื้นฐาน ระหว่างที่เล่นเกม นักเรียนได้รับโจทย์ให้ทำงานกลุ่มร่วมกัน (หรือแบบเล่นเป็นกลุ่ม) กลุ่มละ 4 คน ครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม จะรู้แค่ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง และได้รับโบนัสเท่าไหร่ จากผลการทดลองดังกล่าวพบว่ากลุ่มที่ไม่รู้เรื่องเงินเดือน มีประสิทธิภาพการทำงานลดลง

3. ส่งเสริมให้พัฒนาตัวเอง

“รายงานระบุว่า เมื่อพนักงานรู้ค่าจ้างที่ได้ มีการเปรียบเทียบค่าจ้างของเพื่อนร่วมงานคนอื่น พวกเขาจะรู้สึกอยากพัฒนาตัวเอง” เบอร์กัสเผย

“ขณะเดียวกันคนที่ทำงานได้ดีอยู่แล้ว ก็จะรู้สึกอยากทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่าทำไมพวกเขาถึงสำคัญกับองค์กร”

4. ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเพศ

การเปิดเผยเงินเดือนจะช่วยลดอคติและการถูกเลือกปฏิบัติของพนักงานได้

“วอร์ชิงตัน ดี.ซี. คือหนึ่งในรัฐที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพในระบบการจ้างงานและค่าตอบแทน (Gender Pay Gaps) ต่ำที่สุดในประเทศ (11%) เนื่องจากรัฐบาลกลาง มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว”

เมื่อปีที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศว่าจะขจัดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ โดยเรียกร้องให้บริษัท 100 แห่ง เปิดเผยค่าจ้างของพนักงานโดยระบุข้อมูลดังนี้ อาทิ เชื้อชาติ เพศ สีผิว ฯลฯ ให้กับคณะกรรมาธิการเพื่อความเสมอภาคในการทำงาน (EEOC) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดจ้างต่อไป

เปิดเผยเงินเดือนดีจริงหรือ?

ในความเป็นจริง เงินเดือนยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ดังนั้นการจะเปิดเผยเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน สิ่งที่ควรจะพิจารณาคือ การคุยเรื่องนี้จะให้ประโยชน์หรือไม่และแค่ไหน

เช่น การแชร์ผลงานและตัวเลขที่ได้จากการทำงานของทีมเซลล์ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อยอดรายรับที่จะได้ในอนาคต เพราะการเปิดกลุ่มสนทนากัน แล้วแชร์กรณีศึกษาที่ดีที่สุดในการทำงาน จะช่วยผลักดันให้คนอื่นๆ ทำงานดีขึ้น

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง การเผยเหตุผลอย่างยุติธรรมว่า ทำไมลูกจ้างคนหนึ่งถึงได้เงินเดือนสูง เช่น เพราะความรับผิดชอบที่มากขึ้น หรือมีประสบการณ์การคุยในเรื่องแบบนี้ อาจทำให้พนักงานที่ไม่เห็นภาพรวมของการทำงานหรือไม่เข้าใจรู้สึกไม่พอใจได้

เมื่อพนักงานรู้สึกว่าเงินเดือนที่ตัวเองได้รับไม่แฟร์ เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น อาจเป็นต้นเหตุให้ความผิดหวังนี้ส่งต่อไปถึงคนอื่นๆ ในทีม จนกระทั่งในที่สุด เป็นบ่อเกิดของการลาออก และประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง

ดังนั้น ก่อนที่องค์กรใดจะตัดสินใจเปิดเผยตัวเลขเงินเดือน จะต้องคิดให้รอบคอบ เพราะ…

“เมื่อคุณเปิดประตูครั้งหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถปิดมันได้อีกต่อไป” ลอว์เรน กริฟฟิน (Lauren Griffin) รองประธานอาวุโส ฝ่ายจัดหาบุคลากรเข้าทำงานของ Adecco บริษัทที่ให้บริการด้านการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลกล่าว

ควรเปิดเผยเงินเดือนอย่างไร?

การเปิดเผยตัวเลขเงินเดือนเหมือนดาบสองคม การจะเผยข้อมูลนี้อย่างไรจึงเป็นคำถามสำคัญที่แต่ละบริษัทต้องคิด และเลือกวิธีที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมในองค์กรของตน

Photo: buffer.com

ยกตัวอย่าง Buffer บริษัทด้านโซเชียลมีเดีย ที่เผยข้อมูลเงินเดือนของพนักงานทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่ง CEO บนเว็บไซต์บริษัท พร้อมระบุที่มาที่ไปของเงินเดือนแต่ละคนว่าคิดจากอะไรอย่างละเอียด หากอยากรู้เพิ่มเติมแนะนำให้ดูที่ https://open.buffer.com/transparent-salaries/

Photo: buffer.com

หรือหลายบริษัทอาจเปิดเผยอัตราเงินเดือนในตำแหน่งต่างๆ และให้พนักงานคำนวณเงินเดือนจากประสบการณ์ของตัวเอง หรือจากโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร

ซึ่งวิธีการข้างต้น อย่างน้อยที่สุดก็พอช่วยให้พนักงานคาดเดาฐานเงินเดือนของพนักงานคนอื่นๆ ได้

“ความโปร่งใสเรื่องค่าจ้าง แต่ละองค์กรต้องคิดเอาเองว่าจะทำมันอย่างไร ซึ่งจะมีผลให้พนักงานมีความรู้สึกถึงความแฟร์ขององค์กรเพิ่มขึ้น” เบอร์กัสกล่าว

“นอกจากนี้ ก็จะมีแนวโน้มที่จะเห็นการทำงานร่วมกันของพนักงานในเชิงบวกสูงขึ้นอีกด้วย”

เอ๊ะ! ว่าแต่… ตอนนี้คุณได้เงินเดือนเท่าไหร่?

อ้างอิง:
     – https://www.fastcompany.com/3065592/the-future-of-work/why-everyones-salary-should-be-revealed, https://open.buffer.com/transparent-salaries