ยอดขายหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 17%
ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2553-2557
และเพิ่มมากขึ้นถึง 29% ทั่วโลก สำหรับปี 2557 เพียงปีเดียวเท่านั้น
หุ่นยนต์คงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ของเล่นอีกต่อไป แต่อาจจะกลายเป็นเพื่อนหรือคู่แข่งของมนุษย์ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ เพราะนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และ artificial intelligence พัฒนาไปอย่างรวดเร็วแบบติดจรวด และยุโรปไม่ต้องการตกขบวนในการเป็นผู้นำมาตรฐานโลกด้านนี้
ในระหว่างการประชุมใหญ่ของสภายุโรปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้ กลุ่ม ส.ส. สภายุโรปได้ออกแถลงการณ์และเรียกร้องให้อียูเตรียมออกกฎหมายและกำหนดมาตรการใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ ไม่เพียงแต่ต้องควบคุมเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องดูด้านสังคมและจริยธรรมร่วมไปด้วย
ที่เร่งด่วนคือผลักดันให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองหากมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยเฉพาะสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ หากคุณถูกรถชน แล้วใครผิด ใครจะรับผิดชอบความเสียหาย จะเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ผลิต หรือผู้ใช้กันแน่ ตอนนี้ยังไม่มีใครตอบได้
ยุโรปนับเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับเรื่องการวางแผนการกำหนดนโยบายและคิดแบบรอบคอบ ที่สำคัญยังคำนึงถึงผลกระทบแบบรอบด้าน มีการปรึกษาหารือภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างเปิดกว้างและโปร่งใส ไม่ให้เรื่องของผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมมาครอบงำและมีอำนาจเหนือผู้บริโภค (จนเกินไป) และต้องคำนึงถึงประเด็นด้านสังคมและจริยธรรม ที่น่ารักกว่านั้นคือยังสนใจไปถึงความรู้สึกและความผูกพันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของพวกเขา
สำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ หากคุณถูกรถชน
แล้วใครผิด ใครจะรับผิดชอบความเสียหาย
จะเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ผลิต หรือผู้ใช้กันแน่ ตอนนี้ยังไม่มีใครตอบได้
ว่ากันตรงๆ ที่ยุโรปต้องรีบลุกขึ้นมากำหนดกฎหมายและมาตรฐาน คงเป็นเพราะจริงๆ แล้วอียูไม่อยากพลาดการเป็นผู้นำและผู้กำหนดมาตรฐานโลกของเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ต่างหาก ก่อนที่หุ่นยนต์ประเทศอื่นๆ จะเป็นอเมริกาหรือจีนจะเอาไปครอง เจ้ามาตรฐานอย่างอียูจึงต้องเร่งเดินหน้า
จากรายงานขององค์กร International Federation of Robotics ยอดขายหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 17% ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2553-2557 และเพิ่มมากขึ้นถึง 29% ทั่วโลก สำหรับปี 2557 เพียงปีเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ ส.ส. ยุโรปยังผลักดันให้จัดตั้งหน่วยงานของยุโรปด้านหุ่นยนต์ขึ้นมาใหม่ด้วย (European Agency for Robotics and Artificial Intelligence) เพื่อเป็นหน่วยงานที่จะช่วยให้ข้อมูลแก่ภาครัฐในการกำหนดนโยบาย มาตรฐาน และข้อกำหนดต่างๆ สำหรับหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะด้านเทคนิค สังคม จริยธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลมากที่สุด
อันที่จริงหน่วยงานวิจัยของยุโรปก็ทำการศึกษาเรื่องพวกนี้มามาก อาทิ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์ที่มี E-Personality กับมนุษย์ก็เป็นอีกประเด็นที่สภายุโรป และสถาบันวิจัยยุโรปทำการศึกษาวิจัยอยู่ โดยเฉพาะในกรณีที่หุ่นยนต์เข้ามามีส่วนในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น อย่างในกรณีของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากหุ่นยนต์ เช่น ผู้พิการ หรือผู้ชรา
ลองดูวิดีโอของสภายุโรปเกี่ยวกับอนาคตหุ่นยนต์ได้ที่นี่ และดูว่ายุโรปจะเป็นผู้นำมาตรฐานด้านหุ่นยนต์ของโลกได้อย่างไร
ในขณะที่ใครๆ ก็พูดถึงแต่เศรษฐกิจยุคใหม่ และเรื่องการเข้ามาครอบอำนาจของหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ และที่สำคัญจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างไร จะทำคนตกงานได้เป็นล้านๆ คนจริงๆ หรือ ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ยุโรปก็จับตาผลกระทบเรื่องนี้อยู่อย่างใกล้ชิด
ที่น่าสนใจก็คือ ในตลาดโลกที่ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย หากหุ่นยนต์มาครองสายการผลิตของสินค้าต่างๆ จริง ตลาดแรงงานในเอเชียและไทยจะได้รับผลกระทบด้วยไหม
คำถามนี้คงต้องฝากให้ภาครัฐนำไปศึกษาและพิจารณาผลกระทบเพื่อวางแผนนโยบายสำหรับการพัฒนาตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจยุค 4.0 ของไทยต่อไป ว่าเราจะรับมือกับอนาคตหุ่นยนต์ได้อย่างไร
Cover: Regis Duvignau, Reuters/Profile
Tags: AI, Law, Robot