วันนี้คุณดูคลิปวิดีโอไปแล้วกี่คลิป?
ไม่แปลก หากคำตอบของคุณจะมากกว่า 5-10 คลิป เพราะคอนเทนต์ประเภทวิดีโอกำลังมาแรงที่สุดแล้วในนาทีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการ Live ทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม สแนปแชท หรือคลิปสรุปข่าวเด่นประจำวัน ไหนจะเพจ Tasty ที่ฉีกแนวคลิปสอนทำอาหารทุกรูปแบบด้วยการพรีเซนต์ทุกขั้นตอนออกมาได้สนุกและน่ากินสุดๆ ในเวลาไม่เกิน 2-3 นาที!
กระทั่งสำนักข่าว เดอะการ์เดียน ถึงกับกล่าวว่า “วิดีโอออนไลน์คืออนาคตของ Content Marketing” ขณะที่หลายคนมองว่าสื่อนี้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคสมาร์ตโฟนครองเมืองอย่างแท้จริง
แพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ที่น่าจับตามองในปีนี้ คงหนีไม่พ้น C Channel แมกกาซีนวิดีโอสำหรับผู้หญิงของญี่ปุ่น ธุรกิจสตาร์ทอัพของ อากิระ โมริกาวะ (Akira Morikawa) ผู้ก่อตั้งบริษัทและอดีตซีอีโอ บริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และฮาวทูในรูปแบบวิดีโอสั้นๆ พร้อมกับเปิดให้คนอัพโหลดคลิปวิดีโอของตัวเองบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ถามว่าประสบความสำเร็จมากแค่ไหน สังเกตได้จากยอดวิวเฉลี่ยต่อเดือนที่สูงถึง 1 พันล้านวิว ซึ่งนับว่าเยอะกว่าเรตติ้งของรายการทีวีบางช่องเสียอีก
ปีนี้ อากิระ โมริกาวะ พา C Channel บุกตลาดเอเชียและเปิดตัวในไทย โดยมี Ookbee ผู้นำด้านแพลตฟอร์มอีบุ๊ก และ UGC รายใหญ่ในตลาดอาเซียนเป็นผู้ดำเนินการ เปิดตัวไม่นานก็มียอดไลก์สูงถึง 3 ล้านกว่าไลก์แล้ว
น่าสนใจว่าทำไม หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้บริหารของ Ookbee จึงหันมาจับตลาดวิดีโอคอนเทนต์
หรือกระแสที่ใครๆ ต่างหวั่นเกรงว่าสื่อออนไลน์นี้จะมา disrupt นิตยสารผู้หญิงแบบยกแผงจะเป็นจริง?
VDO + User-Generated Content Platform = โอกาสของธุรกิจสื่อใหม่
ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ โลกออนไลน์จึงเต็มไปด้วยเนื้อหาหลากหลายที่ผู้ใช้งานหรือ User สร้างขึ้นเอง และเกิดการแข่งขันแย่งชิงพื้นที่แสดงความคิดเห็นและความสามารถมากขึ้นทุกวินาที Ookbee จึงขยับจากธุรกิจอีบุ๊ก มาสู่แพลตฟอร์ม UGC หรือ User-Generated Content เพื่อรองรับความต้องการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเราๆ
ถ้าลองสำรวจโครงสร้างธุรกิจ UGC ของ Ookbee จะพบว่าครอบคลุมตั้งแต่ตลาดบล็อกนิยายและเรื่องสั้น โดยควบรวมกิจการ Storylog และ Fictionlog ของ ปิ๊ปโป้-เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ เปิดตลาดมิวสิกสตรีมมิงสำหรับคอดนตรีนอกกระแสร่วมกับ ฟังใจ เมื่อเห็นแมกกาซีนวิดีโอ C Channel ได้เสียงตอบรับที่ดีในญี่ปุ่น หมู-ณัฐวุฒิ ก็ไม่พลาดที่จะฉวยโอกาสนี้ไว้ทันที โดยในเฟสแรกนั้นจะมีเฉพาะคอนเทนต์ที่นำมาจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์ญี่ปุ่น
“เรามองว่า C Channel เป็นการผสมผสานคอนเทนต์ระหว่างวิดีโอที่สร้างสรรค์โดยมืออาชีพกับมือสมัครเล่น มีทั้งถ่ายทำในสตูดิโอ มีนางแบบอาชีพปนกับคนทั่วไป มันเป็นโมเดลธุรกิจที่เรากำลังทดลองในไทยประมาณ 4-5 เดือน และอาจเป็นคำตอบว่าผู้ผลิตสื่อคอนเทนต์ กับ UGC จะอยู่ร่วมกันอย่างไร”
ถอดโมเดลความสำเร็จในตลาดญี่ปุ่น
อธิบายอย่างง่าย C Channel คือนิตยสารผู้หญิงที่นำเสนอเนื้อหาประเภทฮาวทูและไลฟ์สไตล์ โดยย้ายเนื้อหาจากหน้ากระดาษมาอยู่ในรูปแบบของวิดีโอสั้นๆ ตั้งแต่การอัพเดตแฟชั่น สอนแต่งหน้า ทำผม ทำเล็บจนถึงการทำอาหาร ทั้งหมดนี้เน้นวิธีการนำเสนอแบบง่ายๆ กระชับ และน่าสนใจ
แต่เบื้องหลังความฮิตแบบถล่มทลายของ C Channel ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคลิปน่ารักๆ โปรดักชันดีๆ ที่ทีมงานถ่ายทำและคัดสรรคุณภาพมาเต็มที่เท่านั้น อากิระ โมริกาวะ ซีอีโอ C Channel เข้าใจพฤติกรรมของคนยุคนี้ดีว่าพอดูคลิปแล้วก็อยากจะทดลองทำตามบ้าง จึงพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก และเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปสร้างสรรค์วิดีโอสั้นๆ ในแบบฉบับของตนเอง หรือที่เรียกว่า ‘Clipper’ และอัพโหลดขึ้นบนแพลตฟอร์มให้คนอื่นได้ชม คอมเมนต์ และฟอลโลว์กันในคอมมูนิตี้แห่งนี้ (คล้ายๆ กับเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม)
ดังนั้น C Channel จึงมีทั้งคอนเทนต์แบบ bottom-up กับ top-down ปะปนกัน นั่นคือ มีทั้งคลิปวิดีโอที่ถ่ายทำโดยทีมงาน และคลิปวิดีโอของเหล่า Clippers หรือมือสมัครเล่นที่สร้างสรรค์เนื้อหาเอง อันเป็นจุดขายสำคัญของแมกกาซีนวิดีโอรายนี้ จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น มีผู้ชมคลิปวิดีโอเกินพันล้านวิวในเดือนแรกที่เปิดตัว!
คนมีเวลาจำกัด แต่คอนเทนต์มีมหาศาล VDO จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
หมู-ณัฐวุฒิ ผู้บริหาร Ookbee มองว่าวิดีโอคอนเทนต์เป็นสื่อที่เหมาะกับโลกปัจจุบันมากที่สุดและมีแนวโน้มจะครองตลาดไปอีกนาน เพราะเป็นสื่อที่เล่าเรื่องผ่านภาพและเสียงครบ ดูแล้วเข้าใจได้ทันที เหมาะกับผู้บริโภคยุคนี้ที่ออนไลน์ตลอดเวลา มีเวลาจำกัด และต้องการเสพอะไรเร็วๆ ทำให้เขาตัดสินใจทำตลาดในไทยตามคำชักชวนของอากิระ โมริกาวะ โดยเน้นการทำตลาดบนเฟซบุ๊กเป็นหลักเพื่อสร้างทราฟฟิก และเก็บสถิติยอดวิว คลิปไหนที่ได้รับความนิยมมากๆ ก็จะช่วยสร้างกระแสไวรัลให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างเอง
“ทุกวันนี้คนมีเวลาจำกัด แต่สื่อมันเยอะมาก ช่วงเวลาหลังเลิกงานตั้งแต่ 6 โมงเย็น – 4 ทุ่ม คือ 4 ชั่วโมงที่คนจะเลือกดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ดูซีรีส์ เราต้องแข่งกับซัพพลายเออร์อีกตั้งไม่รู้เท่าไร ฉะนั้นเราควรดูว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน บริการของเราจะแย่งเวลามายังไง เราจึงต้องเอา ‘บริการที่ใช่’ ให้ผู้บริโภคใน ‘เวลาที่ใช่’ ด้วย วิดีโอมันเลยชนะ เพราะใช้เวลาดูน้อยสุด”
แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงทดลอง แต่เพจ C Channel ประเทศไทยมียอดไลก์ทะลุ 1.5 ล้านไลก์ ภายใน 4-5 เดือนเท่านั้น และกระโดดขึ้นมาเป็น 3 ล้านกว่าไลก์ในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าโตเร็วมากเมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์รายอื่น
“ด้วยคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของผู้บริโภค มันเลยโตเร็ว ท้ายที่สุดแล้วหัวใจของ UGC ก็คือคอนเทนต์ การทำคอนเทนต์ที่ดีต้องอาศัยการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Data Mining ว่า เราโพสต์วิดีโอไปแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง มียอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดคอมเมนต์เท่าไร จำนวนเหล่านี้เกี่ยวกับเวลาที่โพสต์หรือเกี่ยวกับสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ในวิดีโอ”
วิดีโอเป็นสื่อที่ค่อนข้างเร็วกว่าอย่างอื่นด้วยซ้ำ เพราะมีทั้งภาพเคลื่อนไหว เสียง มันจบในตัว เมื่อเทียบกับการเขียนเล่าเรื่อง 1 ย่อหน้า วิดีโอจึงเป็นฟอร์แมตที่เหมาะกับโลกปัจจุบัน สร้างคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่คนรัก แล้วรายได้จะตามมาเอง
ความท้าทายของการทำแพลตฟอร์ม UGC คงหนีไม่พ้นการหารายได้จากโฆษณาและสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Users อย่างเราๆ ไม่ค่อยชอบกันเท่าไรนัก และอาจเลิกใช้ไปทันที จึงตั้งใจจะสร้างคอมมูนิตี้ให้แข็งแรงก่อน แล้วค่อยเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน รวมทั้งวางแผนพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับการเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการภายในปีหน้า
“เป้าหมายระยะสั้นตอนนี้ คงเอาให้ได้หลายร้อยล้านวิวต่อเดือน ก่อนที่จะคิดว่าจะหารายได้ยังไง เพราะตั้งเป้าไปก็เท่านั้น ถ้าไม่มีคนใช้แพลตฟอร์มมากถึงระดับหนึ่ง
“ตอนนี้เรายังไม่ได้หารายได้ด้วยซ้ำ เราเริ่มทดลองบ้างแล้วว่าโฆษณาแบบไหนขายได้ แต่ค่อนข้างเลือกและยังไม่มี KPI ในแง่ของรายได้ เพราะการขายของกับการผลิตคอนเทนต์ให้เป็นไวรัลมันค่อนข้างขัดแย้งกัน ถ้าเราพยายามจะยัดเยียดขายของ พลังของไวรัลก็จะลดลง”
C Channel ไม่ได้จะมาฆ่านิตยสาร แต่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค
มาถึงบทส่งท้ายที่ใครต่อใครรอคอยคำตอบว่า การมาถึงของสื่อใหม่อย่าง C Channel จะทำให้นิตยสารผู้หญิงในบ้านเราปิดตัวตามๆ กันไปหรือเปล่านั้น ผู้บริหาร Ookbee บอกกับเราว่า VDO Magazine ของ C Channel เป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมารองรับความต้องการเสพคอนเทนต์สนุกๆ ตามพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป และเพิ่มทางเลือกในการเสพคอนเทนต์มากกว่า
“ท้ายที่สุด เห็นได้ชัดว่านิตยสารอยู่กันเป็น 100 หัว รายการทีวีอยู่ร่วมกันมาเป็น 100 ช่อง ทุกคนก็จะมีมุมมองของตัวเอง มันไม่มีการแบ่งว่าเราจะไม่ฟังเพลงของค่ายนั้นค่ายนี้กันแล้ว คนที่ดูหนังของค่าย Marvel ก็ดูหนังของค่าย DC ได้ แต่แน่นอนว่าคนผลิตคอนเทนต์จะต้องพัฒนารูปแบบเนื้อหาให้เหมาะกับพฤติกรรมและความต้องการในอนาคตเท่านั้นเอง”
คนมีเวลาจำกัด แต่สื่อมันเยอะมาก เราต้องแข่งกับซัพพลายเออร์อีกตั้งไม่รู้เท่าไร ฉะนั้นเราควรดูว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน บริการของเราจะแย่งเวลามายังไง เราจึงต้องเอา ‘บริการที่ใช่’ ให้ผู้บริโภคใน ‘เวลาที่ใช่’ ด้วย วิดีโอมันเลยชนะ เพราะใช้เวลาดูน้อยที่สุด
Tags: VDOmagazine, DigitalContent, Ookbee, ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์, CChannel