มีข่าวว่า แจ็ก หม่า (Jack Ma) ประธานกลุ่มบริษัท Alibaba จะเข้าหารือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับประเด็นอีคอมเมิร์ซในเย็นวันนี้
หลังมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมบนเวที ACD Connect Business Forum 2016 การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD เมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า แจ็ก หม่า และรัฐบาล มีแผนจะดำเนินการอะไรร่วมกัน
แจ็ก หม่า กล่าวถึงการปฏิวัติเทคโนโลยีในอนาคตว่าจะทำให้เกิดการค้าปลีกแบบใหม่ที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Internet of Things มีระบบการเงินใหม่ที่ครอบคลุมมากขึ้น และ ‘ข้อมูล’ จะเป็นทรัพยากรแห่งศตวรรษใหม่
เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนแนะนำว่า รัฐบาลทุกประเทศต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจขนาดเล็ก
คำถามใหญ่และสำคัญหลังการมาเยือนของแจ็ก หม่า คือ
หาก Alibaba บุกไทยเต็มตัว จะเป็นแรงหนุนหรือกลืนอีคอมเมิร์ซไทย?
ภาคธุรกิจควรเอาตัวรอดอย่างไร?
แจ็ก หม่า จะครองทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซและการเงินทั้งอาเซียนหรือไม่?
หรือจะเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบพุ่งทะยาน?
The Momentum ได้สอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะตามมา เพื่อให้ผู้อ่านไม่พลาดประเด็นสำคัญ และเตรียมรับมือกับการขยับตัวของยักษ์ใหญ่ได้ทัน
1. Alibaba แรงหนุน หรือกลืนอีคอมเมิร์ซไทย?
ก่อนหน้านี้ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า รัฐบาลต้องการเชิญแจ็ก หม่า มาช่วยเหลือด้านเทรนนิงการทำอีคอมเมิร์ซ ตามโครงการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ
แต่ Alibaba จะเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงจริงหรือ?
เมื่อต้นปี Alibaba ประกาศซื้อกิจการ Lazada ด้วยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้วงการธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซในไทยและอาเซียนถึงขั้นระส่ำ
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการบริษัท TARAD.com และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ให้ความเห็นว่าการมาเยือนของ Alibaba มีข้อเสียมากกว่าข้อดี
“ข้อดีคือ วงการอีคอมเมิร์ซไทยตื่นตัวมากขึ้น ภาคธุรกิจหันมาใช้บริการของวงการ Payment คนสามารถเอาสินค้าไปขายได้บนช่องทางของ Alibaba
“แต่ในทางกลับกัน ข้อที่น่ากังวลคือ หาก Alibaba เข้ามาในไทย เขาก็เอาสินค้าจีนเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน ฉะนั้นจุดที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือ การไหลเข้ามาของสินค้าจีนทางออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียโอกาส”
ภาวุธอธิบายว่า ก่อนหน้านี้ Alibaba มอง Lazada เป็นช่องทางเจาะตลาดอาเซียน แนะให้จับตาดูการแข่งขันนับจากนี้ต่อไปให้ดี เตือนผู้ประกอบการต้องปรับตัว
“สินค้าจากจีน จากเถาเป่า (Taobao) จาก Alibaba จะเริ่มทะลักเข้ามาทาง Lazada สมมติว่าคุณขายสินค้าอยู่ แล้วสินค้าบางตัวของคุณไปชนกับตลาดจีน สิ่งที่คุณต้องระมัดระวังก็คือ ปีหน้าคุณอาจจะมีผู้ค้าจากประเทศจีนเข้ามาแล้วแข่งกับคุณ ผมมองว่าจีนเป็นความท้าทายที่จะเข้ามาในตลาดเอสเอ็มอีของไทย”
ภาวุธย้ำ ปริมาณสินค้าของจีนที่จะเข้ามาในอาเซียนนั้นมีมากกว่าสินค้าที่เราจะส่งออก
“ใครที่ทำธุรกิจเป็นตัวกลางเอาสินค้าจีนเข้ามา คุณเริ่มอันตรายแล้วนะครับ”
ทางฝั่ง บุรินทร์ เกล็ดมณี ซีโอโอ บริษัท ReadyPlanet ตัวแทนผู้ให้บริการเว็บไซต์ Alibaba.com ในไทยมองว่า การที่เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซแดนมังกรบุกตลาดไทยนับว่าช่วยให้ผู้ประกอบการไทยค้าขายได้มากขึ้น
“แต่ Alibaba Group เขามีทั้ง Alibaba.com, เถาเป่า, Alipay และเป็นเจ้าของ Lazada ด้วย บางคนเลยกังวล แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าจริงๆ มันไม่เกี่ยวว่าใครจะเป็นเจ้าของ Lazada เพราะทุกวันนี้คนจีนจะเอาของมาขายคนไทย หรือคนไทยไปเอาของจีนมาขาย มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว
“ไม่เกี่ยวว่าต้องเป็นเจ้าของเดียวกันก่อนแล้วผู้ขายจีนค่อยมาเมืองไทย เพราะการแข่งขันบนโลกอินเทอร์เน็ต มันไม่มีพรมแดนอยู่แล้ว”
2. Alibaba บุกไทย ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร
คำถามต่อมาคือ เมื่อ Alibaba รุกคืบเข้ามาในไทย ผู้ประกอบการค้าปลีกคงหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาไม่ได้ บุรินทร์ เกล็ดมณี ซีโอโอ บริษัท ReadyPlanet ตัวแทนผู้ให้บริการเว็บไซต์ Alibaba.com ในไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีแบรนด์ที่ชัดเจน
“คนออฟไลน์ต้องมีตัวตนบนโลกออนไลน์ด้วย แต่ผู้ประกอบการที่เปิดเพจเฟซบุ๊กขายของเอง และไม่ได้มีความเข้มแข็งของแบรนด์ ไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง ก็จะขายยากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องกลไกการตลาดตามปกติอยู่แล้ว”
บุรินทร์มองว่าโจทย์หินสำหรับรายย่อยที่ต้องการเจาะตลาดในจีนเอง “ถ้าเขาขายเอง โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มใหญ่ แล้วทำตลาดไม่เป็น สู้ไม่ได้ก็ต้องตายไป”
ขณะที่ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ แนะนำว่าผู้ประกอบการทุกคนควรมีช่องทางออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญเจ้าของธุรกิจออนไลน์ต้องมองและกล้าขยายไปตลาดต่างประเทศ โดยยึดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดเป็นหลัก
3. ทำไมไทยควรจับตา Ant Financial ในเครือ Alibaba Group
ในที่ประชุม แจ็ก หม่า ได้เอ่ยถึงพลังของเทคโนโลยี Big Data ในด้านการเงิน และยกตัวอย่างบริษัท Ant Financial ในเครือ Alibaba Group
Ant Financial เป็นธุรกิจ FinTech ที่ให้กู้ยืมแก่ธุรกิจขนาดเล็กกว่า 3 ล้านราย มูลค่ารวม 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้ Big Data วิเคราะห์พิจารณาเงินกู้และจัดการโอนเข้าบัญชีในวินาทีเดียว
Ant Financial ยังเป็นบริษัทแม่ของ Alipay บริการธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ ซึ่งได้เปิดตัวในไทยด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่ไหลบ่าเข้ามา
ที่น่าสนใจคือ Alipay ได้จับมือกับบริษัทในไทยด้วยกันถึง 7 ราย หนึ่งในนั้นคือ True Money ภายใต้ Ascend Group
Alipay มาแรงแค่ไหน?
Credit Suisse ประมาณการว่า 58% ของธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ในจีนจะทำผ่าน Alipay ที่สำคัญนักท่องเที่ยวจีนไปเยือนที่ไหน ก็สามารถจ่ายเงินผ่าน Alipay ได้ที่นั่น
นอกจากนี้ Ant Financial ยังมีบริการที่ครอบคลุมทางการเงินด้านอื่นๆ เช่น
Ant Financial Cloud บริการ Cloud Computing Service, Yu’e Bao กองทุนรวมออนไลน์, Ant Micro Loan บริการให้สินเชื่อออนไลน์ขนาดเล็กแก่เอสเอ็มอีและบุคคลทั่วไป, Sesame Credit ระบบ Credit Scoring, ธนาคารออนไลน์ MyBank, Zhao Cai Bao แพลตฟอร์มลงทุนสำหรับบุคคลทั่วไป
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Ant Financial มีผู้ใช้บริการเป็นประจำกว่า 450 ล้านคนต่อปี และมีมูลค่าสูงถึงราว 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ
บริษัท Ant Financial ยังมีแผนซื้อหุ้น 20% ของ Ascend Money หวังเจาะตลาดบริการทางการเงินในอาเซียน ขณะที่เว็บกระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่า Ant Financial ต้องการจะเพิ่มทุนเป็น 30% หลายฝ่ายจึงเกรงว่าแผนการขยายอาณาจักรของ Alibaba ครั้งนี้ จะยึดครองทั้งตลาด Online Payment ธุรกิจกู้ยืมขนาดเล็ก หรือกระทั่งทั้ง Ecosystem ของอีคอมเมิร์ซและระบบการเงิน
ไม่ใช่แค่ในไทยหรืออาเซียน แต่อาจเป็นทั้งเอเชีย!
4. แจ็ก หม่า รุกหนัก ผลประโยชน์อยู่ที่ใคร?
The Momentum ได้สัมภาษณ์ อิศราดร หะริณสุต Omise สตาร์ทอัพ Payment Gateway ที่กำลังมาแรงของไทย และเป็นพาร์ตเนอร์กับ Ascend Group
อิศราดรมองว่าการมาถึงของ Alipay จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน ธนาคาร และวงการ FinTech ของไทย ทั้งในเชิงบวกและลบ
“จริงๆ แล้ว ถ้า Alipay เข้ามา คนไทยที่อยากเจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน ก็จะมีช่องทางการชำระเงินสำหรับคนจีนมากขึ้นและง่ายขึ้น
“แต่เราก็ต้องดูว่ารัฐบาลเปิดกว้างมากแค่ไหน และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ค่อนข้างควบคุม ปกป้องบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศ
“ตอนนี้ Alipay เขาก็มีพันธมิตรที่ทำงานร่วมกัน ทั้งธนาคารเองและกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร ข้อดีคือจะมีเม็ดเงินของจีนเข้ามามากขึ้น แต่ถ้า Alipay จะปรับบริการใหม่ จากที่มีแค่ลูกค้าคนจีนมาเปิดให้คนไทยสมัครใช้บริการด้วย ก็อาจจะมาแข่งขันกับธุรกิจ e-wallet ที่เป็นธุรกิจโลคัล
“แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า Alipay เองเขาอยากจะลงมาแข่งขันกับ wallet ที่มีอยู่แล้วหรือเปล่า เพราะจริงๆ ถ้าจะทำ เขาก็ทำได้ง่ายอยู่แล้ว ฐานลูกค้าของเขาเยอะกว่า แค่ประชากรจีนอย่างเดียวก็ 1 ใน 4 ของโลกแล้ว”
ทางฝั่งแจ็ก หม่า ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย และปัญหาที่คนพูดถึงกันมากคือ โลกาภิวัตน์ แต่ผมมองว่าปัญหาไม่ใช่โลกาภิวัตน์ แต่เป็นโลกาภิวัตน์ที่ยังไม่สมบูรณ์ เราควรช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มคนอายุน้อยด้วย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสเผชิญหน้ากับการท้าทายมากยิ่งขึ้น
“ทุกรัฐบาลประกาศว่าให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่และธุรกิจขนาดเล็ก แต่ใช่ว่าทุกรัฐบาลจะรู้ว่าควรจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างไร เราเชื่อว่าเราจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจขนาดเล็กอย่างที่เราเคยทำ เพื่อบริษัทใหญ่ของเราในตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เราควรจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงิน เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจรายย่อย”
ไม่ว่าท้ายสุดแล้ว ผลประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่ที่ใคร แต่การมาเยือนไทยของแจ็ก หม่า ครั้งนี้ ก็สะท้อนให้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย
ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการในตลาดอีคอมเมิร์ซ เพื่อดันเศรษฐกิจดิจิทัล การตื่นตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ค้าปลีก และ FinTech
หรือการรุกคืบตลาดของแจ็ก หม่า ที่อ่าน ‘อนาคตของตลาด’ ได้ไกลกว่าใคร จนธุรกิจใหญ่ในวันนี้อาจร่วงได้ ถ้าไม่เตรียมรับมือ
เพราะการขยับตัวของยักษ์ใหญ่แค่ครั้งเดียว มักสร้างแรงสะเทือนในรัศมีกว้างกว่าที่ตาเห็นได้เสมอ
Source: ‘นายกฯถกแจ็ค หม่า11ต.ค.หวังดันไทยฮับดิจิทัลอาเซียน’ จากสำนักข่าว โพสต์ทูเดย์, บทความ ‘Jack Ma’s Ant Financial Replaces CEO Ahead of IPO, Memo Shows’ จาก Bloomberg
Tags: แจ็ก หม่า, Alibaba, ACD Summit, E-commerce, AntFinancialService, Fintech