ในวันที่ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ บวกกับข่าวเมื่อต้นปีที่รัฐบาลไทยวางแผนจะอัดฉีดสตาร์ทอัพไทยราวๆ 20 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นอัตราการเติบโตและการสร้างนวัตกรรมใหม่ของกลุ่มธุรกิจนี้ จนหลายคนมองว่า โอกาสมาถึงแล้ว!

The Momentum เข้าใจฟีลคนที่อยากทำจริงจัง และไม่อยากฝากความหวังไว้กับหนังสือ ‘ฮาว-ทู’ อย่างเดียว เลยชวนคนในแวดวงสตาร์ทอัพ เอม-อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA Thailand และ ดอน-อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้ง Omise ผู้ให้บริการ Online Payment ที่ได้เงินระดมทุนสูงสุดในปีนี้ มาแชร์ไอเดียและประสบการณ์จริง

เพื่อเป็นไกด์ไลน์เริ่มต้นให้ ‘สตาร์ทอัพหน้าใหม่’ ว่าก่อนจะคิดถึงฝั่งฝัน อย่าละเลย 4 เรื่องต่อไปนี้เด็ดขาด!

1. ล้วงอินไซต์ พัฒนาไอเดียที่ตอบโจทย์ Pain Point

หลายคนน่าจะพอมีภาพธุรกิจของตัวเองในใจ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ควรเลือกไอเดียที่ชอบหรือการตอบโจทย์ตลาดเป็นหลัก คำถามคือจะรู้ได้ยังไงว่าไอเดียแบบไหนจึงจะดีที่สุด

ดอนจาก Omise แนะนำว่าไอเดียดีไม่จำเป็นต้องแปลกใหม่เสมอไป แต่อาจเกิดจากการเห็นปัญหาในชีวิตประจำวันที่ถูกมองข้าม ทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วพลิกหรือ disrupt ช่องว่างนั้นให้เป็นโอกาส

จากนั้นให้คิดต่อว่าจะขยายธุรกิจออกไปโตในตลาดอื่นได้ไหม ทำซ้ำได้หรือไม่ อย่าเพิ่งรีบตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นแบบ แจ็ก หม่า หรือใคร ให้โฟกัสการพัฒนาสินค้าหรือบริการไปเรื่อยๆ ซึ่งแนวคิดแบบ Lean Startup นี้ จะช่วยย่นระยะเวลาการสำรวจวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และลดความเสี่ยงในการลงทุน

2. ทีมดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

จากการพูดคุยกับชาวสตาร์ทอัพมาหลายราย ทุกคนแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทีมงานที่ดีคือสิ่งสำคัญที่สุด แล้วทีมที่ดีเป็นอย่างไร ต้องเป็นคนดี? คนเก่ง? คำตอบนั้นใกล้เคียง แต่ยังไม่ใช่

“เราเลือกคนมีแพสชันมาทำงาน” เอมอธิบายว่า HUBBA เคยส่อแววเกือบเจ๊ง แต่กลับมาไกลได้ขนาดนี้ เพราะมีทีมงานที่ดี และแนะนำว่าควรเลือกคนที่มีแพสชันในการทำงาน

“ถ้าไม่มีแพสชัน เขาก็อยู่กับเราไม่นาน เราต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เขารู้สึกสนุก ได้เรียนรู้ ทำงานกับคนเจ๋งๆ Work Hard Play Hard จริงใจต่อกัน ไม่ใช่เอาใครมาก็ได้ เพราะการทำสตาร์ทอัพมันยาก ต้องเรียนรู้หลายอย่างพร้อมกัน กว่าที่เราจะรู้ว่าต้องการใครและรวมทีมได้ ต้องใช้เวลา”

3. จงสร้าง ‘คอมมูนิตี้’ ที่มีความหลากหลาย

คอมมูนิตี้นี้ไม่ได้มีแค่กลุ่มสตาร์ทอัพ แต่อาจมีเจ้าของอีคอมเมิร์ซ นักออกแบบ อินคิวเบเตอร์ กลุ่มบริษัททุน บริษัทเอกชนหรือภาครัฐ หรือแม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็ได้ เพราะนอกจากคอนเน็กชัน เราจะได้ know-how ที่อยู่นอกเหนือความถนัดของตัวเอง

เช่น การลงทุน การวางกลยุทธ์ การบริหาร การตลาด ซึ่งอาจช่วยให้สตาร์ทอัพรอดจากวิกฤต หรือนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจให้ดีกว่าเดิม หรือจับมือกับพาร์ตเนอร์ สร้างธุรกิจแนวใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

Omise ซึ่งเบนเข็มจากการทำเว็บอีคอมเมิร์ซมาให้บริการชำระเงินออนไลน์ รู้ว่าตัวเองขาดความรู้เชิงเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างระบบการเงินและความปลอดภัย จึงชวนที่ปรึกษาจาก Visa Asia Pacific มาเสริมทัพอีกแรง จนมีบริการที่มีคุณภาพอย่างในวันนี้ และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มัดใจนักลงทุนได้สำเร็จ

ขณะที่ HUBBA ซึ่งวางจุดยืนตัวเองเป็น Community Builder มองว่าการสร้างคอมมูนิตี้ที่ดี จะช่วยผลักดันให้วงการสตาร์ทอัพไทยไปไกล มีระบบนิเวศที่ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยได้ นอกจากนี้ ยังชวนนักออกแบบ UX และ UI ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มาตั้งทีมที่ปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ

4. ความสำเร็จคือการยืนระยะ ไม่ใช่ระดมทุนได้เยอะ

สตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะเน้นโตไวและขยายสเกลเร็ว แต่ก็มีหลายเจ้าที่รุ่งมากๆ แต่ร่วงไว ซึ่งเจ้าของสตาร์ทอัพทั้งสองรายมีความเห็นตรงกันว่า การคิดแบบ innovative จะช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น และไม่ตายตกไปตามกระแส

อาจฟังดู cliche ไปหน่อย แต่ Omise มองว่าต้องคอยพัฒนามาตรฐานของบริการ (Serviceability) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับธุรกิจการเงิน ถ้าขาดความน่าเชื่อถือ ระบบล่มบ่อย คนก็พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้บริการอื่นทุกเมื่อ

“ในเมื่อเราทำได้ คนอื่นก็มีโอกาสทำได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง”

คือเคล็ดลับของการรักษาจังหวะของ Omise ให้โตเร็ว และโตอย่างสม่ำเสมอด้วย ขณะที่ HUBBA ยึดหลักว่าถึงจะขยายสเกลได้ ก็ไม่ควรสูญเสียวัฒนธรรมและวิธีการคิดแบบชาวสตาร์ทอัพไป

FACT BOX:

  • อินคิวเบเตอร์ (Incubator) โครงการอบรม/ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ คล้ายๆ Boost Camp มีพี่เลี้ยงคอยช่วยกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการสร้างธุรกิจตั้งแต่ระยะตั้งต้น เช่น พัฒนาไอเดียดีๆ ให้เป็นธุรกิจที่เติบโตได้ Coworking Space บางรายจะจัดโครงการบ่มเพาะให้ชาวสตาร์ทอัพเข้าแลกเปลี่ยน ทำงาน และพัฒนาธุรกิจร่วมกัน
  • แอคเซอเลอเรเตอร์ (Accelerator) บริษัทที่เฟ้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีทักษะความสามารถเฉพาะด้าน เริ่มมีโมเดลธุรกิจของตัวเองและมีศักยภาพในการเติบโต เข้ามาร่วมโครงการ โดยที่แอคเซอเลอเรเตอร์จะช่วยดำเนินการเรื่องการลงทุนด้วย ยกตัวอย่างเช่น Y Combinator