**คำเตือน บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของรายการ

สัปดาห์ที่แล้วว่าพีกแล้ว The Face Thailand Season 3 สัปดาห์นี้ร้อนฉ่ามหาประลัยยิ่งกว่าเดิม ทั้งเจ้าอนัญทิพย์ลูกเกด (บางซีนนางแรงระดับเจ้าสำเภางามกันเลยทีเดียว) เศกขรเทวีมาช่า และเจ้านางตองนวลบี เมืองทิพย์ The Face Thailand แทบจะร้อนเป็นไฟกันเลยทีเดียว!

ส่วนการ tie-in สินค้าก็ยังคงทำได้ทื่อเหมือนเดิม นี่ก็เป็นเสน่ห์ของรายการอย่างหนึ่งนะ ดูตลกดี

เอาเป็นว่าถ้าอยากดูอะไรจริงๆ จังๆ ก็กดดูคลิปย้อนหลังตั้งแต่ตอน 3 ขึ้นไปเลยก็ได้ เพราะตอน 1-2 ไม่ได้มีอะไรมากมายขายของอย่างเดียว เช่น มีผู้เข้าแข่งขันมานั่งคุยกันแบบเฟกๆ ว่า Master Class จะเรียนอะไรนะ อุ๊ย! เดี๋ยวฉันเอาน้ำมาให้พวกเธอดีกว่า แล้วก็ขายน้ำกันไป พอมาถึง Master Class นี่ไม่เห็นเจนี่เขาจะสอนแอ็กติ้งอะไรมากมาย มีแต่มาขายเครื่องสำอางทำคิ้วอุยปังทะลุรันเวย์ (อยากเห็นหน้าคนคิดก๊อปปี้ “คิ้วอุยปังทะลุรันเวย์” มาก อะไรคือ “คิ้วอุย”) อะ ก็ขายของกันไป แต่พอคลิป 3 ขึ้นไปเท่านั้นแหละคุณเอ๊ย! ดุเดือดยิ่งกว่าอะไรดี (แต่ก็มีขายของแทรกๆ ทื่อๆ อยู่ตลอดนะ บางอันดูเข้ากันเป็นธรรมชาติ บางอันก็ทื่อจนตลก ถือว่าดูขำๆ ผ่านๆ ไปแล้วกัน)

ถึงจะขายของหนักมากแค่ไหน แต่ในการแข่งขันเรายังคงได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากเมนเทอร์ทุกคนอยู่ให้เอาไปใช้ในโลกการทำงานกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ทีมไหน #ทีมลูกเกด #ทีมบี #ทีมมาช่า #ทีมคุณเต้ เราก็สามารถเรียนรู้กันได้หมด

เขาอุตส่าห์ตีกันเพื่อให้เราได้เรียนรู้ขนาดนี้ (เผลอๆ ยอมทำตัวร้ายๆ มาให้คนดูด่าจริงอินจริงได้ขนาดนี้) เราก็ต้องเรียนให้ได้มากที่สุด อย่ามัวแต่อินกับการที่เมนเทอร์ทะเลาะกันอย่างเดียว ไม่ต้องแค้นไปแอบกรีดรถเมนเทอร์คนไหนด้วย แล้วก็ไม่ต้องไปแอบดักตีหัวนักเขียนด้วย! (หมั่นไส้ ด่าแม่ดีนัก ชิ!) คือฉันก็ด่าหมด เอ้ย! ก็เขียนในสิ่งที่เห็นแล้วถอดบทเรียนมาเล่า จริงๆ ก็เชียร์ทุกคน รักทุกคน เพราะสุดท้ายก็เรียนรู้ได้จากทุกคนหมด

สัปดาห์นี้ได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง ดาหน้ากันเข้ามาเรียนได้เลย!

ทุกตำแหน่งในทีมมีความหมายต่อชัยชนะ

เมนเทอร์บีตัดสินใจให้สกายเป็นตัวเด่นสุดในแคมเปญ ให้เทียกับข้าวเป็นตัวประกอบ แต่หนักสุดคือให้ทับทิมกับบลอสซั่มนั่งรมควันสโมกบอมบ์อยู่ข้างฉาก ด้วยเหตุผลว่าทับทิมกับบลอสซั่มไม่มีอินเนอร์ เลยให้ไปนั่งจ๋องๆ หงอยๆ ปิ้งบาร์บีคิวอยู่ข้างฉาก ทำตาละห้อยดูเพื่อนสะบัดผมไปมาแทน จนเป็นเหตุให้สองสาวน้อยใจในชะตาชีวิต ไปๆ มาๆ ถือสโมกบอมบ์หน้ามันอยู่ จู่ๆ เมนเทอร์บีก็บอกให้กระโดดเข้าฉากมาระบำแขกกับอีกสามคนด้วย แพ้มาก็มาโทษว่า สองสาวไม่มีอินเนอร์ (ปิ้งสโมกบอมบ์อย่างมีอินเนอร์นี่มันปิ้งกันยังไง?!)

ครั้นพอให้โอกาสกระโดดเข้าฉากมาระบำแขกแล้วก็ไม่มีอินเนอร์อีก ทำให้ทีมแพ้ ดังนั้นเข้าห้องเชือดไปพิสูจน์ตัวเองเลยไป๊! เอ๊า?!

ถามว่าวิธีของเมนเทอร์บีผิดไหมที่ให้ความสำคัญลูกทีมแต่ละคนในการแข่งขันไม่เท่ากัน อันนี้แล้วแต่มุมมอง เพราะในการทำงานจริง การทำงานที่ประสบความสำเร็จคือการเลือกคนที่ใช่มาทำหน้าที่ที่ใช่ Put the right man on the right job แต่ต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนหรือทำหน้าที่อะไรล้วนมีผลต่อความสำเร็จของทีมทั้งสิ้น เหมือนฟันเฟืองที่ขาดชิ้นเล็กที่สุดไปชิ้นเดียว การทำงานก็ไม่ราบรื่นได้

สิ่งที่เมนเทอร์บีควรจะทำตั้งแต่ต้นคือการอธิบายลูกทีมว่า แต่ละคนมีความหมายต่อชัยชนะของทีม และเมนเทอร์เห็นคุณค่าของทุกคนหมด เพื่อเคลียร์ปัญหาความน้อยใจตั้งแต่ต้น เพราะถ้าลูกทีมต้องแบกความน้อยใจไปแข่งขันมันจะไม่มีผลดีอะไรกับทีม ก็เหมือนที่เมนเทอร์บีบอกว่ามองไปที่ทับทิมและบลอสซั่มที่กำลังปิ้งสโมกบอมบ์แล้วเห็นแววตาคับแค้นน้อยใจอยู่ (เผาควันขนาดนี้ เผาพริกเผาเกลือให้พี่บีเลยไหมลูก!) ต้องบอกให้ลูกทีมรู้ตั้งแต่ต้นว่า ต่อให้ทุกคนทำหน้าที่ต่างกัน แต่ทุกคนต้องเคารพซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนมีความหมาย

สมมติว่าในการทำงานต้องไปพรีเซนต์งานกับลูกค้า คนพรีเซนต์อาจจะเป็นหัวหน้าเพราะต้องการความน่าเชื่อถือ และต้องใช้พลังในการพรีเซนต์ แต่ถึงลูกน้องระดับจูเนียร์ไม่ได้เป็นคนพรีเซนต์ เราก็ต้องให้บทบาทกับเขา เช่น ลูกน้องระดับจูเนียร์ต้องเป็นคนตรวจเอกสารทุกอย่างไม่ให้มีตัวสะกดผิดแม้แต่คำเดียว เพราะการสะกดผิดแปลว่า เราไม่รอบคอบ หรือให้เป็นคนหาข้อมูลบางอย่าง เป็นคนคอยจับเวลาการพรีเซนต์คอยส่งสัญญาณบอกคนพรีเซนต์ ฯลฯ ลูกน้องจูเนียร์จะรู้สึกว่าถึงเขาไม่ได้พรีเซนต์แต่เขามีบทบาทสำคัญมากต่อการทำงานในครั้งนี้ ไปจนถึงว่าเราฝึกให้จูเนียร์ได้พรีเซนต์ในบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกหัดเขาไปในตัว

เพราะแม้จะเป็นการแข่งขัน เป็นการลงสนามจริง ถ้าเราให้บทบาทกับลูกน้อง ลูกน้องจะรู้สึกว่าเขาสำคัญ เมื่อรู้ว่าเขามีหน้าที่สำคัญ เขาจะไปพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เพราะลึกๆ แล้วทุกคนก็ไม่อยากเป็นตัวถ่วง นี่ก็เป็นการฝึกคนได้อีก

สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าในทีมใครเก่งเรื่องไหน จะส่งเสริมเขาได้อย่างไร หรือจะดึงอาวุธไหนออกมาสู้ แต่สำคัญกว่านั้นคือใจของคนในทีม อาวุธที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่ความสามารถของคนในทีม แต่คือใจของคนในทีม ถ้าทำให้ทุกคนรู้ว่าเขามีความหมายต่อความสำเร็จของทีม ใจเขาจะสู้ไปด้วยกัน และไม่รู้สึกว่าเราทิ้งใครข้างสนาม ชนะก็ต้องชนะด้วยกัน แพ้ก็ต้องแพ้ด้วยกัน

ตัวสำรองสำคัญเท่าตัวจริง

หลังจากเมนเทอร์บีให้บลอสซั่มกับทับทิมนั่งจ๋องปิ้งสโมกบอมบ์ จู่ๆ ก็ให้สองสาวกระโดดเข้าฉากมาระบำแขกกับเขาด้วย ประเด็นคือไม่เคยมีการเตรียมตัวสองสาวนี้มาก่อน หน้าผมไม่มีการทำ บล็อกกิ้งไม่เคยรู้มาก่อน ซ้อมก็ไม่เคยมี เตรียมตัวมาแต่ปิ้งสโมกบอมบ์อย่างเดียว พอถึงเวลาจริงก็ทำได้ไม่ดี

เรื่องนี้ต้องเตรียมตั้งแต่ตอนวางแผน ทุกคนควรจะรู้หน้าที่และวิธีการทำงานของคนอื่นๆ ในทีมด้วย เช่น ต่อให้ได้รับหน้าที่ปิ้งสโมกบอมบ์อยู่ข้างฉาก แต่ต้องถูกฝึกมาแล้วว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ถ้าต้องกระโดดเข้าฉากแทนใครก็ต้องทำหน้าที่นั้นได้ดี สกายเกิดสะบัดผมแรงคอเคลื่อนต้องเข้าโรงพยาบาล คนที่เหลือก็ต้องทำหน้าที่แทนได้ ทับทิมกับบลอสซั่มเกิดเมาควันสโมกบอมบ์ขึ้นมา คนที่เหลือก็ต้องรู้ว่าจะปิ้งควันยังไงให้ได้ควันที่สวย

เหมือนละครเวทีที่ต้องมีนักแสดงสำรอง (understudy) ที่รู้บทของนักแสดงหลัก เมื่อไรก็ตามที่ต้องเข้าฉากแทนก็สามารถทำได้เลย และผู้กำกับเองก็จะให้ความสำคัญกับนักแสดงสำรองมากไม่แพ้นักแสดงหลัก เพราะที่สุดแล้วทุกคนมีความหมายต่อความสำเร็จ นักแสดงสำรองจะไม่น้อยใจว่าฉันคือตัวสำรอง แต่จะถูกฝึกอย่างหนักให้สามารถทำงานได้ทันที

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปีที่แล้ว ตอนมีละครเวทีเรื่อง Sunset Boulevard ซึ่งตอนนั้นมีนักแสดงอย่าง เกลนน์ โคลส (Glenn Close) รับบทนำที่เรียกว่าต้องแบกละครเวทีไว้ทั้งเรื่อง ปรากฏว่าในรอบการแสดงหนึ่ง เกลนน์ โคลส ไม่สบาย ต้องใช้ เรีย โจนส์ (Ria Jones) นักแสดงสำรองมาแสดงแทน ตอนที่ทีมงานประกาศให้คนดูทราบก็มีเสียงโห่ เพราะทุกคนอยากมาดู เกลนน์ โคลส กันหมด บางคนเดินออกจากโรงละครเลยด้วยซ้ำ แต่การแสดงก็ยังดำเนินต่อไป ปรากฏว่าทันทีที่จบการแสดง เรีย โจนส์ ได้รับเกียรติอย่างสูงสุดจากผู้ชมด้วยการลุกขึ้นปรบมือทั้งโรงละครอย่างกึกก้อง กลายเป็นข่าวใหญ่โต นั่นก็เพราะทีมงานทุกคน รวมทั้ง เรีย โจนส์ เตรียมตัวมาตลอด

​ในการทำงานแม้จะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจน แต่ทุกคนต้องรู้งานของคนอื่นๆ อย่างทั่วถึงกันหมด และสามารถลุกขึ้นมาทำงานแทนที่คนอื่นได้ในกรณีฉุกเฉิน

บรีฟให้เคลียร์

เมนเทอร์ลูกเกดเป็นคนเดียวที่ลงรายละเอียดไปถึงการออกเสียงชื่อแบรนด์ลูกค้า ซ้อมลูกทีมว่าจะออกเสียงว่าอะไร ขณะที่ทีมอื่นอาจจะใส่ใจแต่เรื่องการโพสกับอินเนอร์อย่างเดียว จะเห็นว่าสามทีมออกเสียงชื่อแบรนด์ลูกค้าไม่เหมือนกันเลย ถ่ายโฆษณาแล้วออกเสียงแบรนด์ผิดเดี๋ยวก็ไม่ได้เงินหรอกลูก!

เมนเทอร์ลูกเกดเป็นคนที่บรีฟได้ชัดเจน ทำให้ลูกทีมเห็นภาพตรงกันด้วยการอธิบายว่า คาแรกเตอร์ของเราในการถ่ายทำคืออะไร เราคือไฮแฟชั่น เราคือนางแบบที่เดินอยู่บนแคตวอล์กที่นิวยอร์ก จะบรีฟให้ลูกทีมเข้าใจคำว่าใส่จริตลงไป ก็บรีฟเจาะเลยว่าให้นึกถึง ปู ไปรยา วิธีการบรีฟแบบนี้จะทำให้ทั้งทีมเข้าใจตรงกันหมด มากไปกว่าการบอกว่า มั่นใจหน่อย ซึ่งมั่นใจของแต่ละคนไม่เท่ากันอีก ให้ลงรายละเอียดหรือมีตัวอย่างให้ลูกทีมเข้าใจตรงกันเลยน่าจะดีกว่า

บรีฟที่ชัดเจนจะเป็นเหมือนเข็มทิศให้ทีมรู้ว่าจะมุ่งหน้าไปทางไหนและไปอย่างไร ไม่อย่างนั้น ต่างคนจะต่างออกทะเลไปคนละทาง ทำคนละวิธี สุดท้ายผลที่ออกมาก็จะไม่ดี

คนบรีฟต้องจับใจความให้ถูกต้อง จับมาผิดชีวิตก็พินาศได้ ที่สำคัญคือจะบรีฟทีมก็ต้องตีโจทย์มาแล้วระดับหนึ่ง ไม่ใช่มาบอกเพียงว่าลูกค้าบอกมาว่าจะเอาอะไร คนบรีฟที่ดีต้องมาพร้อมคำตอบแล้วระดับหนึ่งว่าจะตอบโจทย์นี้อย่างไร ไม่อย่างนั้นคนบรีฟจะเป็นแค่เมสเซนเจอร์ ที่แค่บอกว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับโจทย์นี้อย่างไร

งานที่ดีเกิดจากการบรีฟที่ดี ถ้าบรีฟไม่ดีก็จะได้งานที่ไม่ดี เอาขยะเข้าไปในสายการผลิต สิ่งที่ออกมาก็คือขยะอยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลาและให้ความสำคัญกับการบรีฟให้ละเอียดชัดเจน

​ไม่มีบท อย่าเจ๋อ

ระหว่างที่เมนเทอร์ลูกเกดกำลังปะทะอารมณ์กับเมนเทอร์มาช่าอย่างดุเดือดอยู่นั้น เมนเทอร์บีก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรี บอกให้ทุกคนหยุด ทะเลาะอะไรกัน เลยโดนเมนเทอร์มาช่าบอกว่า บีไม่ต้อง บีไม่เกี่ยว ไม่มีบท อย่าเจ๋อ เงิบเลย! วันนี้แต่งหน้าเบาอยู่แล้วหน้ายิ่งซีดกว่าเดิม กะจะช่วยให้ไม่ต้องทะเลาะกันโดนลูกหลงมาซะงั้น! เอ๊า?!

via GIPHY

เราจะกระโดดเข้าไปเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งต้องดูว่าเราอยู่ในจุดที่ทั้งสองฝ่ายฟังเราอยู่หรือเปล่า เราเป็นคนที่สองฝ่ายฟังไหม อย่างในกรณีเมนเทอร์บีก็ไม่ใช่คนที่ทั้งสองฝ่ายจะฟัง (เพราะก่อนหน้านี้นางก็พ่นพิษใส่เขาไว้ทั่ว) ลองคุณเต้ออกมาบอกสิว่าถ้าทะเลาะกันจะไม่จ่ายเงิน เออ! นี่แหละคนที่ทั้งสองคนจะฟัง และทั้งสองฝ่ายเองก็ไม่ได้อยู่ในอาการที่จะฟังใคร ณ เวลานั้น เพราะเลือดขึ้นหน้ากันอยู่ การกระโดดเข้าไปในวงความขัดแย้งเวลานั้นมีแต่ทำให้เราเจ็บตัวเปล่าๆ

บนความขัดแย้ง เราต้องดูสถานการณ์ว่าสองฝ่ายอยู่ในจุดที่พร้อมจะฟังกันหรือไม่ ใครเป็นคนกลางที่คู่ขัดแย้งจะยอมเปิดใจฟังได้ เป็นคนที่มีความยุติธรรมเป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ทำให้ใครรู้สึกว่าลำเอียง ต้องดูว่าปัญหาที่แท้จริงของความขัดแย้งเกิดจากอะไร แต่ละฝ่ายต้องการอะไร ข้อเสนอของแต่ละฝ่าย make sense พอหรือเปล่า และถอยได้มากที่สุดแค่ไหน ถ้าประเมินแล้วยังไม่ใช่เวลาจะไกล่เกลี่ยก็ยังไม่ต้องทำ ทำแล้วคนกลางเจ็บตัว หน้าแหก แถมความขัดแย้งก็ไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย บางอย่างต้องใช้เวลาให้เย็นลงก่อนแล้วถึงค่อยหาวิธีเจรจาไกล่เกลี่ย บางทีการนิ่งเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด

การจัดการความขัดแย้งต้องไม่ทำให้คนรู้สึกว่ามีใครแพ้ ไม่มีใครชนะใคร แต่ควรทำให้ทุกฝ่ายชนะด้วยกันหมด

ที่สุดแล้วเราหาผู้แข่งขันที่ชนะบนเกมการแข่งขัน ไม่ได้หาเมนเทอร์ที่ชนะบนการทำลายล้างคนอื่น

ทิ้งท้ายไว้ด้วยซีนที่ ซอนย่า คูลลิง เปิดประตูโพละ! ออกมาหน้านิ่งๆ แล้ว เดี๋ยวมาลุ้นกันว่านางมาทำไม (แล้วอะไรคือการที่เด็กรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์ไม่รู้จักซอนย่า เอาดอกมะลิไปไหว้แม่สิลูก!) เมนเทอร์ลูกเกดจะไปหาหมอโรคจิตอย่างที่เมนเทอร์มาช่าแนะนำไหม และจะประดิษฐ์คำอะไรเก๋ๆ ขึ้นมานอกจาก “I have สติ” อีก เมนเทอร์บีจะเจ๋อ เอ้ย! จะยังรักษาลูกทีมให้อยู่ครบห้าคนไหม เมนเทอร์มาช่าจะเป็นเมนเทอร์ที่แย่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมาอย่างที่เมนเทอร์บีตราหน้าไว้หรือเปล่า บลอสซั่มจะร้องไห้อีกเทปไหม (นางร้องไห้ตลอดดดดด) เขาจะตีอะไรเรื่องอะไรกันอีก สัปดาห์หน้ารู้กัน!

Tags: