จงรวมตัวกันเถิดนักเรียนทั้งผอง อย่าปล่อยให้พวกเขาปิดหูปิดตาไม่รับฟังปัญหาของเรา เมื่อฟันเฟืองของระบบหยุดไป เหล่าผู้มีอำนาจบนหอคอยงาช้างจะต้องสะเทือนและรับฟังพวกเรา นักเรียนทั้งผอง ‘จงรวมตัวกัน ประท้วงหยุดเรียนในวันที่ 6-10 กันยายนนี้’

นี่คือการประกาศแคมเปญของกลุ่มนักเรียนเลวเพื่อสไตร์ค หยุดเรียนออนไลน์ ประท้วงการเรียนการสอนที่ล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับเรียกร้องให้เหล่านักเรียนทั้งหลายร่วมตะโกนเสียงร้องให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการรับรู้และแก้ไขปัญหาการเรียนออนไลน์

เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาเป็นวันแรกของการเริ่มแคมเปญนัดหยุดเรียน โดยวันแรกของกลุ่มนักเรียนเลวได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ มีผู้หญิงใส่ชุดนักเรียนมัธยม ผูกเชือกและห้อยตัวเองหย่อนลงมา บริเวณสกายวอล์กสี่แยกอโศก คล้ากับยการแขวนคอ พร้อมกับป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่มีใจความว่า ‘เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ไม่เห็นหัวเด็ก’

The Momentum คุยกับ ธัญชนก คชพัชรินทร์ ตัวแทนนักเรียนเลว ถึงปัญหาการเรียนออนไลน์ ที่เธอบอกกลับเราว่า การล้มเหลวของระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หากแต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย คือชีวิต และอนาคตของเด็กคนหนึ่ง และการ สไตร์คหยุดเรียนทั้งประเทศ ที่มีนักเรียนเข้าร่วมวันนี้กว่า 8,207 คน เป็นการแสดงให้เห็นว่าเหล่านักเรียนทั้งหลายจะไม่ยอมก้มหัวต่อระบบการศึกษาที่มันล้มเหลว เหลื่อมล้ำอีกต่อไป

ธัญชนก เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเด็กนักเรียน – นักศึกษาทุกคนเจอความยากลำบากในการเรียนออนไลน์อย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ อุปกรณ์ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำค่าไฟ ที่กลายเป็นภาระของนักเรียนและครอบครัว

“หากเป็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัว ไม่ลำบาก ไม่ยากจน ก็จะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ก็ แต่ในขณะเดียวกันยังมีเด็กอีกกว่า 1.8 ล้านคน ที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่กลับไม่เห็นการเคลื่อนไหว การพยายามแก้ปัญหาจากภาครัฐ”

ปัญหาต่อมาคือ สมาธิ และประสิทธิภาพในการเรียนที่มันถดถอย เพราะการเรียน กลายเป็นการจดเลคเชอร์อย่างเดียว ทั้งที่การเรียน มีมากกว่าการจดและฟังเลคเชอร์ กลุ่มเด็กที่เจอปัญหามากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็ก

“เมื่อวานมีผู้ปกครองมาเล่าให้ว่า ลูกเรียนอยู่ชั้น ป. 4 กำลังจะขึ้น ป.5 แต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เลยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะการเรียนออนไลน์ มันแสดงให้เห็นว่ายิ่งพ่อกับแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูกมันยิ่งทำให้การเรียนการสอนไม่ได้ประสิทธิภาพไปด้วย หรือบางทีอุปกรณ์ของครูเองก็ไม่พร้อม มันเลยส่งผลให้ทุกอย่างดูยากไปหมด และเด็กที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ก็จะยิ่งเหลื่อมล้ำหนักเข้าไปอีก

“อีกปัญหาที่เห็นได้ชัดคือเรื่องสุขภาพที่ตามมาทั้งสุขภาพจิต และสุขภาพกาย ทั้งเด็กและครูเองก็ตาม เช่นอาการปวดหลัง ซึมเศร้า และปัญหาเรื่องสายตา แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาเหล่านี้ กลับตกเป็นภาระของผู้ปกครองเด็ก สะท้อนให้เห็นว่ากำลังวิกฤตทุกทางแล้ว”

สำหรับการนัดการหยุดเรียนครั้งนี้ กลุ่มนักเรียนเลวต้องการส่งเสียงไปถึงรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้มีการจัดการเรียนการสอนที่ดีขึ้นภายใต้ 5 ข้อเรียกร้อง ตั้งแต่การปรับตัวชี้วัดการศึกษา การจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเยียวยาจิตใจ การจัดให้มีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ทั่วถึง และเยียวยาค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครอง รวมถึงต้องเร่งจัดการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเร่งนำวัคซีนคุณภาพสูงมาฉีดให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทั้งหมด

ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว ขยายความว่า รัฐบาลต้องนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ทุกคน ไม่ใช่แค่นักเรียนหรือบุคลากร ต่อมารัฐบาลต้องลดมาตรฐานการชี้วัดลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการลดการชี้วัดลง แต่ก็เป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงเรียน

“สิ่งนี้หมายความว่าโรงเรียนจะทำตาม หรือไม่ทำตามก็ได้ และรัฐบาลควรให้เด็กเรียนฟรี 12 ปี จริงๆ เหมือนที่เขียนในรัฐธรรมนูญ แต่ทุกวันนี้มันไม่ได้เรียนฟรี มันยังมีค่าทำเนียม ค่าห้องพิเศษ ค่าห้องแอร์ ค่านู้นค่านี่ ค่าบำรุงศึกษาเต็มไปหมด ”

ด้านเหตุผลที่เลือกใช้วิธีนัดหยุดเรียน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เด็กนักเรียนหลายคนไม่สามารถออกจากบ้านได้ หรือบางคน ต้องขออนุญาตผู้ปกครองก่อนออกจากบ้าน และการบริหารแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่ล้มเหลวของรัฐบาลทำให้การจัดม็อบ จัดกิจกรรมเรียกร้องแบบที่ผ่านมา ก็จัดได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนมาจัดออนไลน์ ซึ่งให้ผลลัพธ์เหมือนกัน เพราะรูปแบบการ Strike หยุดเรียนทุกคนสามารถทำได้ เพียงแค่กดไม่เข้าร่วมคลาสเรียนก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้แล้ว และมันสามารถสะท้อนได้ว่า ‘เราจะไม่อดทนต่อระบบการศึกษาที่มันล้มเหลวนี้อีกต่อไป’

“หลายคนอาจมองว่าการสไตร์คหยุดงานของแรงงานต่างกับการสไตร์คหยุดเรียน ของนักเรียน เพราะแรงงานนายจ้างจ่ายค่าจ้าง จริงๆ แล้วรัฐบาลก็จ้างเราเรียน ในรัฐธรรมนูญนั้น เขียนไว้เลยว่าการให้การศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐทีต้องจัดการให้เด็ก หากเราไม่เรียน ก็หมายความว่ารัฐล้มเหลวในหน้าที่ชองตัวเอง นี่คือสิ่งที่คนไม่ค่อยเห็น การเรียนคือหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดการศึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับเรา การที่เราออกมาทำอารยะขัดขืนแบบนี้มันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่จะบอกกับรัฐว่า การศึกษาของคุณมันทำหน้าที่ได้ห่วย ”

นอกจากการคาดหวังให้นักเรียนเข้าร่วมแคมเปญแล้ว เธอยังบอกอีกว่ากลุ่มครู อาจารย์ ก็เป็นกลุ่มที่คาดหวังให้เข้าร่วมการสไตร์คในครั้งนี้ด้วย เพราะกลุ่มครู อาจารย์ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และถูกกดขี่จากระบบเหมือนกัน

 ฉะนั้น ปัญหาทุกอย่าง จึงต้องแก้ที่ต้นตอคือภาครัฐ ระบบ การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ที่ต้องช่วยกันกดดันเพื่อให้เขาแก้ไข และเราต้องการแรงสนับสนุนจากครู และอาจารย์’

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่บอกว่า ขี้เกียจเรียนหรือเปล่า หรือเรียนไม่เก่งแล้วมาโทษระบบการศึกษา ธัญชนกบอกว่า เป็นคำตำหนิ ที่ไม่มองว่า สภาพแวดล้อมว่าที่เป็นอยู่ เอื้อต่อการเรียนรู้เด็กมากแค่ไหน

เช่น เด็กบางคนไม่สามารถเข้าเรียนออนไลน์ได้ เพราะต้องช่วยงานที่บ้าน แต่ครูไม่เข้าใจก็หักคะแนน หรือการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์จากภาครัฐ ไม่มีใครช่วยสนับสนุนเขาในจุดนี้ มีเพียงการมอบเงินเยียวยา 2,000 บาทมิหนำซ้ำ กระทรวงศึกษาธิการยังให้อัดคลิปขอบคุณเงินจำนวน 2,000 บาท ไปยังรัฐบาลอีกด้วย

“เราไม่ได้ขี้เกียจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่สามารถแก้ได้แค่ครูเข้าใจเด็ก หรือเด็กขยัน ตอนนี้มันยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ด้วยซ้ำ มันมีปัญหาอีกมากที่ต่อให้เราพยายามแก้ที่ตัวเองมากแค่ไหน มันก็แก้ไม่ได้ สุดท้าย มันก็ต้องกลับไปแก้ที่ระบบอยู่ดี การเรียนที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดคือการเรียนในห้องเรียน ในโรงเรียน หากคุณยังไม่สามารถทำตรงนี้ได้ ก็ต้องจัดการเรียนออนไลน์ที่ดี มีการจัดสรรอุปกรณ์ ไปให้เด็กและครู”

ส่วนกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์การแขวนคอที่สกายวอล์กที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมที่ต้องการสื่อให้ทุกคนเห็นภาพปัญหาของการเรียนออนไลน์ ที่รัฐไม่มีการจัดสรรสวัสดิการที่เพียงพอให้กับครูและเด็กนักเรียน ส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก  และรัฐบาลไม่ควรทิ้งเด็กเหล่านี้ กิจกรรมครั้งนี้จึงออกมาเป็นตัวแทน เป็นกระบอกเสียงให้เด็กที่ไม่สามารถพูดเองได้ เพราะเด็กบางคนไม่มีสมาร์ทโฟนด้วยซ้ำ กิจกรรมนี้ จึงเป็นการพูดแทนเด็กทั่วประเทศว่า ความล้มเหลวของระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หากแต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย คือชีวิตเด็ก อนาคตเด็ก การล้มเหลวของระบบก็เหมือนการดับชีวิตเด็กเช่นกัน

ส่วนใครที่ตั้งคำถามว่า การที่ออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ รัฐบาลจะฟังเสียงหรือไม่นั้น ธัญชนกบอกว่า แม้จะไม่สามารถมั่นใจอะไรได้เลยในประเทศที่รัฐบาลไม่ฟังเสียงของประชาชน และนักเรียน ถือเป็นชนชั้นล่างสุดของระบบนี้ แต่สิ่งที่เธอมั่นใจคือ ถ้าอยู่เฉยๆ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแน่นอน

“แต่ถ้าเราออกมาเคลื่อนไหวไม่ว่าจะรูปแบบไหน ชูป้าย เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ จะ Strike หยุดเรียน หรืออะไรก็ตาม มันจะทำให้เสียงของเราไปถึงเขา”

ภาพ :นักเรียนเลว

Tags: