วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 กลุ่มนักศึกษาในนามเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ คนป. ตระเวนชูป้ายผ้าแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันครบรอบ 6 ปี รัฐประหารปี 2557 ตามสถานที่สำคัญต่างๆ
โดยเริ่มจากบริเวณหน้ารัฐสภาเกียกกาย ก่อนไปยังกองทัพบก ถนนราชดำเนิน เดินเท้าต่อไปยังหน้าเนียบรัฐบาล และไปจบกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจุดสุดท้าย โดยตลอดระยะเวลาที่ทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ติดตามสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาติให้นักศึกษาเดินเข้าไปบริเวณฐานอนุสาวรีย์ที่มีรั้วกั้นไว้ กลุ่มนักศึกษาจึงทำกิจกรรมบริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินแทน
ต่อมา คนป. ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเพจของกลุ่มโดยมีเนื้อหาว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงตอนนี้นับเป็นเวลา 2,191 วัน ที่พิสูจน์ได้แล้วว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เสพติดอำนาจและอยากอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด และมีพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย คนป. จึงเรียกร้องให้คณะรัฐประหารออกไปจากตำแหน่งทางการเมืองโดยเร็วที่สุด และยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการต่อ 2 หน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการค้ำจุนระบอบรัฐประหาร ได้แก่ กองทัพและวุฒิสภา รวมไปถึงให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดย คนป. มีแนวทางเสนอดังต่อไปนี้
ประการแรก กองทัพจะต้องถูกตัดงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะงบฯ ซื้ออาวุธทั้งหมด ผ่านช่องทางการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2564 ในรัฐสภา เพื่อนำเงินไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ประการที่สอง ให้ยุติบทบาทวุฒิสภาชุดนี้ที่มาจากการเลือกโดย คสช. และไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด
ประการที่สาม ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อเปิดช่องให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีที่มาจากประชาชน
ทั้งนี้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้นโดย คสช. อันมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ ทำการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นหน้าที่นายกรัฐมนตรีจากการก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี ไปก่อนหน้านั้นในวันที่ 7 พฤษภาคม ปีเดียวกัน
การรัฐประหารครั้งนั้น คสช.ได้อ้างเหตุผลว่า มีความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างรุนแรง รัฐบาลในขณะนั้นไม่สามารถบริหารราชการได้ ปัญหาการทุจริต และมีการกระทำความผิดต่อสถาบันเบื้องสูง
ภาพโดย ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์
Tags: คสช., รัฐประหาร 2557, รัฐธรรมนูญ 2560, คณะรักษาความสงบแห่งชาติ, สมาชิกวุฒิสภา, รัฐประหาร, คนป.