ทุกๆ วันที่ 6 ตุลาคม คนไทยจะมีความทรงจำร่วมกันอย่างหนึ่ง —แม้ว่าความทรงจำนั้นจะพยายามถูกทำให้ลืม นั่นคือเช้าและสายของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีผลไม้ประหลาดเกิดขึ้น…
ต้นมะขามรอบๆ สนามหลวงบริเวณหน้าวัดพระแก้วออกผลเป็นศพ แล้วมีประชาชนกลุ่มหนึ่งแห่แหนมุงดูด้วยความตื่นเต้น ประหนึ่งว่านั่นเป็นผลไม้เงิน ผลไม้ทอง ตามคติโบราณที่ว่าถ้าใครฟังเทศน์มหาชาติจบทุกกัณฑ์ภายในวันเดียวจะได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์ ยุคที่ผู้คนมีศีลธรรม ต้นไม้ออกดอกออกผลเป็นถุงเงินถุงทอง
“นักศึกษาประชาชนที่แตกตื่นวิ่งหนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัย ในจำนวนนี้มีมากกว่า 20 คนถูกรุมตี รุกกระทืบ บางคนที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสแต่ยังไม่สิ้นใจถูกลากออกไปแขวนคอ – -”
(ย้อนอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลา ๑19, สุวภา แก้วสุข รวบรวม. ใน 20 ปี 6 ตุลา 19 บทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม, สารคดี ฉบับที่ 140 ปีที่ 12 เดือนตุลาคม 2539.)
คำถามคือคอนเส็ปต์ในการมองคนและนำไปสู่การฆ่าแบบนั้นมันเป็นคอนเส็ปต์แบบไหนกัน?
ในฐานะที่ผมเคยบวชเรียนเมื่อได้รับรู้เหตุการณ์นี้ก็มีคำถามนี้เกิดขึ้น ผมจึงอยากชวนพิจารณาเรื่องนี้ในส่วนของหลักการของพุทธศาสนา(ไทย) โดยพิจารณาในบริบทที่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในเหตุการณ์นี้
คือวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” ของ กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกขุ ที่ให้สัมภาษณ์ ‘จัตุรัส’ นิตยสารข่าวกรองรายสัปดาห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 วันที่ 25 มิถุนายน 2519
…..
จตุรัส : การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม
กิตฺติวุฑฺโฒ : อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ (ว่า) เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน
จตุรัส : ผิดศีลไหม
กิตติวุฑโฒ : ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่ามันผิดน้อย ถูกมากกว่า ไอ้การฆ่าคนคนหนึ่งเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ ไอ้สิ่งที่เรารักษาปกป้องไว้มันถูกต้องมากกว่า แล้วจิตใจของทหารที่ทำหน้าที่อย่างนี้ไม่ได้มุ่งฆ่าคนหรอก เจตนาที่มุ่งไว้เดิมคือมุ่งรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ การที่เขาอุทิศชีวิตไปรักษาสิ่งดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นบุญกุศล ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า
จตุรัส : ฝ่ายซ้ายที่ตายหลายคนในช่วงนี้ คนฆ่าก็ได้บุญ
กิตติวุฑโฒ : ถ้าหากฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประโยชน์
จตุรัส : คนฆ่าฝ่ายซ้ายที่ไม่ถูกจับมาลงโทษ ก็เพราะบุญกุศลช่วย
กิตติวุฑโฒ : อาจจะเป็นได้ ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ (หัวเราะ)
…..
เป็นที่น่าสังเกตว่าท่าทีต่อฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ของกิตติวุฑโฒกับพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เจ้าสำนักวัดมหาธาตุขณะนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง (*พระกิตติวุฑโฒก็เคยอยู่วัดมหาธาตุและยังเคยที่จะยึดอำนาจวัดมหาธาตุด้วยโดยการสนับสนุนของฝ่ายอำนาจขวาจัด แต่ไม่สำเร็จ)
ในสมัยที่สถาบันสงฆ์ไทยมีโครงสร้างการบริหารแบบสังฆสภาซึ่งใช้พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 โดยยกเลิกระเบียบการปกครองแบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญบ้านเมืองในยุคคณะราษฎร โดยที่สมเด็จพระสังฆราชไม่ได้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหาร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมติของสภาสงฆ์นั้น พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) มีบทบาทสูงมากถ้าเทียบกับโครงสร้างบริหารบ้านเมืองก็คือรัฐมนตรีมหาดไทย
มาถึงยุคที่บ้านเมืองมีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ทางสังฆสภาก็ถูกกดดันให้ออกกฎหมายห้ามบวชคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ เรื่องก็มาติดอยู่ที่พระพิมลธรรม ท่านไม่นำพาเรื่องนี้โดยให้เหตุผลว่าพุทธศาสนาไม่กลัวคอมมิวนิสต์ในความหมายว่า คนทุกคนที่เกิดมาล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้รู้รสธรรมของพระพุทธเจ้า มีสิทธิ์เข้ามาปฏิบัติ มีสิทธิบรรลุธรรมเท่าเทียมกัน ท่านยืนยันว่าอยากแลกเปลี่ยนและเทศน์ให้คอมมิวนิสต์ฟัง
แม้จะมีพระผู้ใหญ่ฝั่งธรรมยุติเรียกไปตักเตือนหรือมีการประชุมเรื่องนี้ในสังฆสภา ก็ไม่มีใครสามารถค้านหลักการที่ว่าคนทุกคนที่เกิดมาล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้รู้รสธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระพิมลธรรมยกมาอ้างนี้ได้ ข้างฝ่ายอำนาจบ้านเมืองก็ไม่ล้วงลูก ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาสงฆ์ไป
กระทั่งสิ้นยุคคณะราษฎร และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ ก็ยกเลิก พ.ร.บ.หรือรัฐธรรมนูญสงฆ์ฉบับ พ.ศ. 2484 นี้แล้วหันกลับไปใช้ พ.รบ.ฉบับเก่าตั้งแต่สมัย ร.5 (จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่แม้จะมีการปรับปรุง แต่ก็อยู่ในโครงสร้างเดิม) พระพิมลธรรมก็ถูกพระมหาเถระฝ่ายธรรมยุติร่วมมือกับฝ่ายอำนาจบ้านเมืองสร้างข่าวเท็จ ใส่ร้าย จนนำไปสู่การที่จอมพลสฤษดิ์มีคำสั่งจับท่านขังคุกอยู่หลายปี
…..
แต่จะว่าไปแล้วแนวคิดหรือการอธิบายหลักการพุทธของพระกิตติวุฑโฒนั้นไม่ได้แปลกอะไร ถ้าเราได้ค้นดูสายธารประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสยามประเทศ เพราะมันไปสอดคล้องกับวิธีการอธิบายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ซึ่งวางโครงสร้างการศึกษาพุทธศาสนาในสังคมไทยที่เราใช้เรียนกันอยู่ทุกระดับชั้น ในบทเทศนาของพระองค์ ทรงเทศนาให้คนยึดมั่นในชาติอยู่เสมอ เช่นว่า
“ท่านทั้งหลายควรถือชาติเป็นสำคัญ…ควรช่วยกันอุดหนุนชาติของตนไว้เพื่อความเป็นไทยสมชื่อ ไม่ควรรักชีวิตของตนยิ่งกว่ารักชาติ…ออกทรัพย์เสียอากรเป็นราชพลีสำหรับบำรุงแผ่นดิน ออกเงินหรือเรี่ยไรในการงานอันเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน เช่น ซื้อเรือรบ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ถนน สะพาน ทำนุบำรุงลูกให้มีร่างกายล่ำสันแข็งแรง โดยไม่เป็นโรคหรือพิการ หากเป็นผู้ชายจะได้รับราชการทหารแล้วออกมาเป็นพลเมืองผู้สามารถ หากเป็นผู้หญิงจะได้เป็นมารดาของบุตรที่แข็งแรง และเป็นชาวเมืองผู้สามารถเช่นเดียวกัน เคารพนับถือและซื่อสัตย์ในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินของตน โดยนับถือตลอดจนถึงราชสกุล…นับถือเจ้าหน้าที่ราชการผู้เป็นใหญ่เหนือตนขึ้นไปตามควรแก่ฐานะ”
หรือในเรื่องมงคลวิเสสกถา ที่ทรงเทศนารับรองพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 6) ให้นำสยามเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า
“สมเด็จพระมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้ามาทรงตัดพระราชไมตรีและประกาศทำสงครามกับกรุงเยอร์มนีและกรุงออสเตรียกับฮุงการีในนามของกรุงสยาม ทรงพร่าสันติภาพเสียก็เพื่อจะทรงอุปถัมภ์ธรรมในรวางมิตร เมื่อคำนึงถึงธรรมภาษิตว่า ‘อังคํ ธนัญ์ ชีวิตัญ์จาปิ สัพ์พํ อัป์เปว ชเห ธัม์มนุส์สรัน์โต’ ที่แปลว่า ‘เมื่อรลึกถึงธรรม ถึงคราวเข้า ทรัพย์อวยวะ แม้ชีวิตรก็ควรสละเสียทั้งนั้น’ เปนอันห้ามรัฐประศาสนนัยโดยประการอื่น”
การอ้างเอาธรรมภาษิตที่ว่าควรสละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตเพื่อรักษาธรรมนี้ก็ตรงหลัก แต่ ‘ธรรม’ ในบริบทนี้คือการ ‘พร่าสันติภาพ’ นั่นก็คือการร่วมสงครามที่ต้องกระทำชีวิตผู้อื่นให้ตายตกไป ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการตัดชีวิตหรือโอกาสหรือสิทธิ์ที่คนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างฝ่าย ให้ไม่สามารถรู้รสธรรมได้ ตรงนี้นี่ละที่ทำให้พระมหาเถระชาวอีสานที่แตกฉานในพระไตรปิฎกซึ่งมีบทบาทสูงมากในการกระจายการศึกษาในสมัยนั้นคือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ถึงกับออกมาเทศนาและเขียนหนังสือโต้ว่า การซื้อเรือดำน้ำ การซื้ออาวุธสงคราม หรือแม้แต่การเรียนสิ่งนี้เพื่อผลิตมันขึ้นมา และการทำสงครามฆ่าชีวิตผู้อื่นนั้นเป็น ‘ทุวิชา’ หรือ ‘วิชาชั่ว’ และแล้วท่านก็ถูกพระมหากษัตริย์ถอดยศ ถูกย้ายวัดและถูกกักบริเวณเป็นเวลา 1 ปี
ถอยเลยไปอีกนิดจากเหตุการณ์นี้ในช่วงรัชกาลที่ 5 เกิดกรณีคนอีสานลุกฮือขึ้นเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากศูนย์กลางอำนาจรัฐของพระนคร ในนาม ‘ขบวนการผู้มีบุญ’ (เพราะผู้นำเป็นพระและปะขาวทรงศีล 8 จึงชื่อผู้มีบุญ) แต่ถูกสร้างวาทกรรมให้เป็น ‘ผีบุญ’ และเกิดการฆ่าล้างกันอย่างมโหฬาร แม้แต่พระและผู้ทรงศีลที่ร่วมขบวนการก็ไม่เว้น การปราบปรามกินเวลานานแรมปีและขยายอาณาเขตครอบคลุมทั่วอีสาน หลายแห่งมีลักษณะการฆ่าแบบตัดหัวเสียบ หรือโยนศพลงบ่อน้ำทับถมกันไป
คอนเส็ปต์นี้คล้ายกับศาสนจักรในยุคกลางของยุโรปที่กระทำต่อ พ่อมด แม่มด และคนนอกศาสนาอยู่กลายๆ
เพราะอันที่จริงแล้ว แม้แต่ ‘ผี’ ในทัศนะของพุทธนั้นคือภพภูมิหนึ่งของสัตว์โลก เป็นพวกโอปปาติกะ (คือเกิดผุดขึ้น) และมองสิ่งเหล่านี้ (ภูติ ผี ปิศาจ) ว่าไม่ได้มีอำนาจทำลายล้าง อย่างดีก็แค่รบกวน ทำให้เกิดความกลัวบ้าง เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง ในกรณียเมตตสูตร (ที่พระเณรจะเรียกกันว่าบทสวดกันผี) บทสวดนี้เกิดขึ้นเพราะพระภิกษุมาปรึกษาพระพุทธเจ้าเรื่องที่ผีรบกวน พระพุทธเจ้าให้เจริญเมตตา แผ่ส่วนบุญให้เขา เพราะเขามีกรรมที่ต้องเสวยทุกข์ในภพภูมิเช่นนั้น ไม่ได้มีท่าทีที่จะต้องปราบปราม ต้องฆ่าล้าง หรือทำลาย (ลองหาดูคำแปลกรณียเมตตสูตรนี้ได้)
ดังนั้นกรณีการฆ่าในลักษณะ ‘ผีบุญ’ และ ‘6 ตุลา’ นั้น ต้องไม่ใช่แนวคิดแบบพุทธจริงๆ แน่ๆ (ในที่นี้อ้างอิงคำว่า ‘พุทธจริงๆ’ จากพระไตรปิฎกซึ่งถือว่าเป็นเอกสารชั้นต้น) แต่น่าจะเป็นลักษณะพิเศษของ ‘พุทธไทย’
ถามต่อว่า แล้วแนวคิดแบบพุทธไทยนั้นเป็นอย่างไร?
พระกิตติวุฑโฒน่าจะเป็นตัวอย่างของคำตอบที่ดีมากต่อคำถามนี้ เบื้องหลังคำตอบนั้นก็คือโครงสร้างอำนาจที่ดึงศาสนาเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ จึงมีการปล่อยให้กิตติวุฑโฒออกมาพูดแบบนั้น ทั้งที่ค้านหลักการสำคัญข้อแรกของพุทธศาสนา คือการ ‘ห้ามฆ่า’ ชีวิตผู้อื่น เพราะจะเป็นการตัดโอกาสหรือตัดสิทธิ์ของคนอื่นไม่ให้ได้รู้รสธรรมของพระพุทธเจ้า
นี้ยืนยันได้ชัดเจนว่าศาสนาพุทธไทยนั้นยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแน่นอน เพียงแต่พุทธไทย ‘อนุญาต’ ให้พระฝ่ายขวาหรือฝ่ายอำนาจออกมามีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่นพระกิตติวุฑโฒเป็นตัวอย่าง และเมื่อออกมาแล้วก็ไม่ได้รับการว่ากล่าวตักเตือนแต่อย่างใด ซ้ำยังมีการปูนบำเน็จให้อีก
แต่ถ้าพระเณรฝ่ายประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหว เช่นพระที่ไปอ่านพระสูตรจากพระไตรปิฎก ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา หรือพระที่ไปร่วมชุมนุมกับประชาชนเสื้อแดงในปี 2553 ก็จะถูกลงโทษ ไล่ออกจากวัด บังคับให้สึก ด้วยคำอธิบายกับสังคมว่า พระเณรไม่ควรยุ่งการเมือง ทั้งๆ ที่เรื่องที่เข้าไปยุ่งนั้นถือเป็นเรื่องที่จะนำพาสังคมสงฆ์ให้ได้ออกจากแนวคิดแบบพุทธไทยซึ่งบิดเบี้ยวจากตัวบทของพุทธจริงๆ และเพื่อจะไม่ให้ตัวเองและลูกหลานประชาชนผู้ยากจนที่ต้องมาอาศัยผ้าเหลืองเพื่อโอกาสทางการศึกษา ต้องกลายเป็นส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจของรัฐที่บีฑาประชาชนส่วนใหญ่
และเพราะไม่ต้องการเห็นต้นไม้ออกผลเป็นศพ แล้วให้ผู้คนมองว่านั่นเป็นถุงเงินถุงทอง