ในโลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมายที่ทุกคนต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ‘ความเครียด’ คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หลังจากที่ทุกคนเกิดมา บางคนมีความสามารถที่จะจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี และบางคนก็ไม่

ระยะหลังๆ มานี้ เรามักจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ​(Major Depressive Disorder) มาไม่มากก็น้อย มันกลายเป็นปัญหาของสังคมที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนก็เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะมีประสบการณ์ได้รู้จักหรือพูดคุยกับผู้ที่ป่วยจากโรคนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเรารู้จักเรื่องจิตเวชเพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น ยังไม่มีความเข้าใจมากพอว่าบุคคลกลุ่มนี้ต้องการอะไร ควรจะปฏิบัติด้วยอย่างไร แม้จะเป็นคนใกล้ตัวก็ตาม และสังเกตได้ว่าบุคคลที่ป่วยด้วยอาการซึมเศร้ามักถูกตราหน้าว่าเรียกร้องความสนใจ นิสัยเสีย หรือหนักไปกว่านั้น บางคนยังพูดจาแนวประชดให้ผู้ป่วยลงมือฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองเลย ซึ่งวิธีนั้นๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย หากแต่จะยิ่งซ้ำเติมผู้ป่วยด้วย

ตัวผมเองไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นหมอหรือมีความรู้ในโรคนี้พอที่จะไปรักษาคนอื่น แต่บทความนี้จะเล่าเรื่องที่ผมเป็นผู้ป่วยที่ทรมานกับโรคนี้มาไม่ต่ำกว่า 11 ปี อีกทั้งยังทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายหลายครั้ง ก่อความไม่สบายใจให้คนรอบข้างมากมาย จนครั้งล่าสุด ผมถูกจับส่งโรงพยาบาลทางจิตเวชไปรักษานี่แหละครับ ซึ่งการไปโรงพยาบาลครั้งนี้ทำให้ผมได้บทเรียนดีๆ มากมายในชีวิต ถึงมันจะไม่ใช่สถานที่ที่น่าไปที่สุด แต่ผมเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากที่นี่

แรกเริ่มเข้าสู่วอร์ดวิกฤตจิตเวช

เช้าวันที่ถูกจับตัวไปโรงพยาบาล เกิดจากคืนก่อนหน้านั้นผมทะเลาะกับแฟน แล้วผมพยายามทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายตลอดทั้งคืนจนที่บ้านทนไม่ไหว ผมโดนบุกเข้าห้องนอนมาในช่วง 6 โมงเช้าก่อนที่เจ้าหน้าที่จะล็อคมือ ล็อคแขนและขาผม ในวินาทีแรก ผมตั้งใจจะสู้กับเจ้าหน้าที่เพราะนึกว่าถูกโจรปล้นบ้าน แต่เมื่อเห็นหน้าญาติท่านหนึ่งที่หางตา ผมจึงเข้าใจว่าไม่ใช่โจร และยอมให้นำตัวไปโดยไม่ได้ขัดขืนใดๆ ผมโดนมัดข้อมือข้อเท้าขึ้นรถพยาบาลเพื่อนำไปส่งที่สถาบันจิตเวชแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

เมื่อไปถึง ผมถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉิน โดยมีเชือกเส้นใหญ่มามัดผมไว้บริเวณท้อง ผูกเข้ากับเก้าอี้ ส่วนที่เท้าและมือไม่ได้ถูกมัดอะไร

ระหว่างนั้น ก็ต้องนั่งรอคุณหมอมาเข้าเวร เมื่อคุณหมอมาถึง เขาก็ซักประวัติจากญาติที่มาด้วยถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเรา เดินมาพูดคุยกับเราเล็กน้อย หลังจากนั้น พยาบาลก็มาเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าเลือดต่างๆ รวมทั้งสารเสพติดด้วย กระบวนการทั้งหมดนี้ค่อนข้างจะกินเวลานาน ซึ่งผมหิวมาก แต่ด้วยสภาพของห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลที่ดูไม่ค่อยจะน่าอภิรมย์นัก ทำให้ผมกินข้าวไม่ลง จนค่าน้ำตาลผมต่ำจึงต้องเพิ่มน้ำหวานในช่วงที่ต้องอยู่โรงพยาบาล

เมื่อตรวจทุกอย่างเสร็จสิ้น ผู้คุมบอกผมว่าจะมัดมือพาไป ไม่มีอะไรแล้ว จากนั้นก็นำผมกับญาติขึ้นรถตู้ไปยังตึกผู้ป่วยใน (ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่า คนที่โวยวายจะถูกมัดกับเตียงพาขึ้นไป แต่บางคนก็ไม่ได้ถูกมัด ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าใช้มาตรการอะไร เพราะผมเองก็ให้ความร่วมมือตลอด)

เมื่อเข้าไปในวอร์ด ตอนแรกผมอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยวิกฤตซึ่งมีสภาพเก่า เต็มไปด้วยกรง ไม่มีแอร์ และห้องน้ำ ไม่มีประตู ในวอร์ดมีเพื่อนผู้ป่วยที่มาจากอาการต่างๆ อยู่ประมาณ 20 กว่าคน เมื่อผมเข้าไป ก็เปลี่ยนเสื้อผ้าไปใส่ชุดผู้ป่วย จากนั้นก็ถูกมัดกับเตียงทั้งแขนและขาเพื่อรอให้พยาบาลมาประเมินอาการ

เพราะผมขยับตัวได้ไม่มากนักจากการโดนมัด ทำให้ผมมองนาฬิกาอยู่บ่อยๆ ผมเริ่มโดนมัดประมาณบ่ายโมงครึ่ง มีผู้ป่วยเดินเข้ามาดูผมอยู่ประปราย บ้างก็มีสติ บ้างก็ไม่มีสติ แต่ว่าทุกคนน่ารักกับผมมาก ถึงแม้จะพูดไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็พยายามพูดให้ผมใจเย็นๆ บอกว่าเดี๋ยวเขาก็มาแก้มัดแล้วไปกินขนมกัน นั่นคือคำพูดคำแรกที่ผมได้ยินจากปากเพื่อนผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการประสาทหลอนที่ตอนแรกผมกลัวเขามาก แต่หลังจากนั้นผมก็ยิ้มให้เขาก่อนที่เขาจะเดินออกไป

เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักพักผู้ช่วยเหลือคนไข้ก็เดินมาถอดตุ้มหูและเครื่องประดับของผมออกจนหมด ซึ่งต้องบอกว่า ผมเป็นคนที่ชอบเจาะและสัก ทำให้ขั้นตอนนี้กินเวลานานและมีความเจ็บปวดเล็กน้อย ระหว่างที่นอนอยู่เฉยๆ นั้น หัวผมแล่นไปหมด เนื่องจากคิดถึงภาระที่ผมยังไม่ได้สะสางก่อนจะถูกนำมาส่งที่นี่ ผมคิดถึงวงดนตรีที่ผมทำ คิดถึงการบ้านและการเรียน คิดถึงงานที่ยังค้างคาจากบริษัทที่ฝึกงาน

พอเวลาผ่านไปจน 4 โมงเย็นก็เป็นเวลาทานข้าว พยาบาลเข้ามาคลายมัดที่มือขวาและข้อเท้าให้เพื่อให้สามารถทานข้าวได้ ผมพยายามกินข้าวให้หมดเพราะรู้ว่าต้องกินยาต่อ เมื่อกินเสร็จก็นอนรอให้พยาบาลมาประเมินอาการอีกที ซึ่งเป็นช่วงประมาณ 4 โมงครึ่งเกือบๆ 5 โมงที่พยาบาลเข้ามาคุยพร้อมพูดคุยถึงกฎและการใช้ชีวิตที่นี่ ก่อนจะแก้มัดให้ผมออกไปนั่งรวมกับเพื่อนๆ ผู้ป่วยคนอื่น

นับเป็นโชคดีของผมที่ได้เจอกับผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเดียวกันและคุยกันรู้เรื่องอีกสามคน คนหนึ่งเป็นน้อง คนหนึ่งเป็นพี่ และอีกคนหนึ่งเป็นคุณลุง ทั้งสามคนน่ารักกับผมมาก เราพูดคุยสอบถามอาการที่มา ผมก็เหมือนได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นมาทั้งวัน เนื่องจากบรรยากาศและอะไรอื่นๆ ทำให้ผมเผลอร้องไห้ออกมา น้องที่มานั่งคุยด้วยก็ยื่นกระดาษทิชชูมาให้ผมแล้วร้องไห้ไปด้วยกัน ก่อนที่คุณลุงจะเอื้อมมือมาจับเข่าผมแล้วพูดว่า “ไม่เป็นอะไรนะ”

เป็นครั้งแรกของวันที่ผมรู้สึกถึงความห่วงใยจากเพื่อนมนุษย์จริงๆ แม้จะอยู่ในสภาพผู้ป่วย แต่ก็นั่งมองหน้ากันและยิ้มให้กัน

น้องที่มานั่งคุยด้วยยื่นกระดาษทิชชูมาให้ผม แล้วร้องไห้ไปด้วยกัน ก่อนที่คุณลุงจะเอื้อมมือมาจับเข่าผมแล้วพูดว่า “ไม่เป็นอะไรนะ”

น้องคนนั้นพาผมเดินดูในวอร์ดว่าเราจะทำอะไรที่ไหน อีกทั้งบอกเวลาต่างๆ เช่นเวลากินข้าว เวลานอน เวลาอาบน้ำ ให้ผมรู้ การที่มีเพื่อนๆ 3 คนนี้ทำให้ผมรู้สึกสบายใจและลืมความเครียดไปสักพัก

ผมพยายามตีสนิทและทำความรู้จักกับผู้ป่วยในวอร์ดมากขึ้น เพราะรู้มาว่าเมื่อเข้ามาอยู่ในนี้ กว่าจะได้ออกมันต้องเป็นขั้นเป็นตอน และอาจจะใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 2-3 อาทิตย์จนถึงหนึ่งเดือน

การมีเพื่อนที่สนิทในวอร์ดนั้น สำหรับผมคือเรื่องที่ดีมากๆ เลยครับ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้หลายๆ คนจะเก็บตัว และในสภาพนี้ อาจจะทำให้อาการยิ่งหนัก การมีเพื่อนดีๆ ในนี้นับว่าเป็นโชคดีมากๆ ของผม ที่อย่างน้อยตื่นมาใช้ชีวิตในแต่ละวันก็มีคนที่ผมคุยด้วยแล้วทำให้ยิ้มได้ พยายามเติมพลังบวกให้กันแต่ละวัน

การเข้านอนคืนแรกผ่านไปค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากช่วงที่ผมเข้าโรงพยาบาล ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว แต่วอร์ดวิกฤตนั้นไม่มีแอร์ ผมเลยต้องขอยานอนหลับเพิ่มจากพยาบาล สุดท้ายก็สามารถผ่านไปได้

ชีวิตในแต่ละวัน ท่ามกลางเพื่อนผู้ป่วยแผนกไอซียู

ในทุกๆ เช้าของวันและเวลาราชการ จะมีหมอเข้ามาตรวจและคุยกับคนไข้ เนื่องจากผมเป็นคนไข้ใหม่จึงได้คุยกับหมอก่อน คุณหมอถามถึงเหตุผลว่าทำไมจึงมาที่นี่ แต่เนื่องจากคุณหมอต้องตรวจคนไข้คนอื่นด้วย จึงไม่ได้คุยนานเป็นชั่วโมงเหมือนเวลาไปหาจิตแพทย์ที่วอร์ดผู้ป่วยนอก

ชีวิตในวอร์ดวิกฤตค่อนข้างจะเป็นวังวนซ้ำๆ วันต่อวันไปเรื่อยๆ ตื่นมาวัดความดัน กินข้าว หาหมอ นั่งเล่นนอนเล่น รอกิน รอญาติมา ซ้ำไปเรื่อยๆ จะมีก็แต่เพื่อนๆ ที่จะคอยมานั่งคุยกันเพื่อฆ่าเวลาไปให้จบวัน

ความสนุกของแต่ละวันคือการนั่งดูทีวีฆ่าเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ในตอนเช้าจะเป็นข่าว และช่วงบ่ายเป็นช่องหนัง อีกอย่างก็คือการนอน เนื่องจากต้องตื่น 6 โมงเช้าและเข้านอนในเวลาสองทุ่ม ในช่วงกลางวันที่กินเสร็จอิ่มๆ การนอนมักจะเป็นกิจกรรมหลักของผม แม้มีเตียงไม่มากพอสำหรับผู้ป่วยทุกคนที่จะนอนในตอนกลางวันเนื่องเพราะห้องนอนใหญ่จะเปิดให้เข้าไปนอนได้แค่ช่วงกลางคืนเท่านั้น ผู้ป่วยก็จะหาที่นอนกันเองไม่ว่าจะเป็นม้านั่งหรือโซฟาที่พัดลมเป่าถึง เพื่อพักสายตาและฆ่าเวลา

สิ่งที่ได้เรียนรู้หลักๆ จากการมีเวลาว่างมากทั้งวันนั้น น่าจะเป็นการหาความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ปกติเราจะมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน ผมมีความสุขที่ได้ช่วยผู้ป่วยคนอื่นที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้หรือไม่ก็นั่งคุยกับผู้ป่วยที่เป็นโรคจำพวกโรคจิตเภท (Schizophrenia) ที่จะมีการรับรู้ที่ต่างจากคนทั่วไป

อย่างเช่น ผมนั่งคุยกับผู้ป่วยคนหนึ่งที่เขาเชื่อว่าตัวเองเป็นคนกอบกู้กรุงศรีอยุธยาและตีหัวเมืองต่างๆ กลับมา และต้องการยกหัวเมืองล้านนาให้ผมเนื่องจากผมเป็นเพื่อนที่ดี ในตอนแรกผมกลัวมากๆ แต่เมื่อผมมาเปิดใจแล้วพยายามไม่ไปต่อต้านมัน มันก็เป็นเรื่องที่ผมสามารถรับฟังหรือคุยเล่นด้วยได้ แม้ไม่ได้คุยนานหลายชั่วโมงเพราะกลัวโดนหาว่ามีอาการเช่นกัน แต่มันก็สามารถฆ่าเวลาได้ หรือการที่ตื่นมาแล้วเราทักทายผู้ช่วยคนป่วย พยาบาล เพื่อนคนไข้ แล้วเขาพูดคุยกับเรา เมื่อเราเล่นมุขแล้วเขาขำกับเรา มันก็เป็นรอยยิ้มเล็กๆ ให้แก้เบื่อแก้เซ็งได้เล็กน้อย

การที่ตื่นมาแล้วเราทักทายผู้ช่วยคนป่วย พยาบาล เพื่อนคนไข้ แล้วเขาพูดคุยกับเรา เมื่อเราเล่นมุขแล้วเขาขำกับเรา มันก็เป็นรอยยิ้มเล็กๆ ให้แก้เบื่อแก้เซ็งได้เล็กน้อย

กลุ่มของผมจะมีประมาณ 4 คนที่สนิทกัน ซึ่งมาจากกลุ่มอาการซึมเศร้าฆ่าตัวตายเหมือนกันตามข้างต้นนี่แหละครับ แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เพราะระบบของโรงพยาบาลที่ผมอยู่คือ ผู้ป่วยวิกฤตจะถึงเวลาจำหน่ายไปวอร์ดผู้ป่วยที่อาการดีขึ้น (60-70%) ก่อนที่แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ผมเข้ามาเป็นคนหลังๆ ช้ากว่าน้อง พี่ และลุงที่อยู่ในกลุ่ม นั่นหมายความว่าเขาจะได้ย้ายไปวอร์ดปกติก่อนที่ผมจะได้ย้าย

ความโชคร้ายก็คือ ผมเข้าไปในโรงพยาบาลช่วงปลายเดือนมีนาคม อยู่มาเรื่อยๆ เข้าเดือนเมษาซึ่งเป็นเดือนที่มีวันหยุดเยอะ และการทำงานของโรงพยาบาลก็จะหยุดตามวันหยุดเหล่านี้ด้วย (ไม่ใช่ไม่รักษานะครับ แต่หมอจะไม่มาบ้าง หรือการเดินเอกสารต่างๆ ต้องทำในเวลาราชการ)

ในกลุ่มของผมได้จองห้องพิเศษเอาไว้กันทั้งกลุ่ม ยกเว้นคุณลุง นั่นหมายความว่าเมื่อถูกส่งตัวออกไปจากวอร์ดวิกฤต พวกเราจะได้ไปอยู่วอร์ดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม น้องที่ผมสนิทด้วยเป็นคนแรกที่ได้ย้ายขึ้นไปวอร์ดปกติ ซึ่งตอนนั้น ผมยังมีพี่ที่สนิทด้วยอีกคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมใจหายเลยทีเดียวที่กลุ่มนี้ขาดน้องเขาไปแล้ว ทั้งห่วงน้องเขาว่า ขึ้นไปจะมีเพื่อนไหม จะเครียดอีกไหม และก็เป็นห่วงตัวเอง กลัวว่าจะไม่มีเพื่อน เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรผมก็ได้ขึ้นไปคนสุดท้ายอยู่แล้ว ถ้าพี่คนนี้ตามไป ผมต้องเหงาแน่ๆ เพราะคุณลุงก็อายุห่างจากผมค่อนข้างมาก ก็เลยไม่รู้จะคุยอะไรกันได้เยอะแยะตามช่องว่างของอายุ

เมื่อน้องเขาเดินออกจากประตูไปตอนนั้น ผมได้แค่กอดน้องเขาแล้วบอกว่า จะรีบตามขึ้นไปนะ มันเป็นความรู้สึกโหวงๆ บอกไม่ถูก แต่เราก็ต้องพยายามอยู่กับสิ่งตรงหน้า ผมคุยกับพี่อีกคนทุกวันว่า วันนี้พี่เขาจะถูกจำหน่ายไปวอร์ดปกติหรือเปล่าเพราะผมกลัวไม่มีเพื่อน นับเป็นโชคดีของผมและโชคร้ายของเขา ที่เจอปัญหาในการย้ายมาตลอดเช่น ห้องข้างบนไม่ว่างบ้าง ญาติยังไม่ได้มาเซ็นเอกสารบ้าง ทำให้พี่เขายังอยู่กับผมอยู่

ปกติแล้ว โรงพยาบาลรัฐบาลจะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาดูงานอยู่เรื่อยๆ และตอนผมอยู่ที่วอร์ดวิกฤตก็มีนักศึกษามาศึกษาดูในวอร์ด ผมกับพี่อีกคนก็นั่งดูอยู่ จนผมนึกอะไรแผลงๆ ออก จึงทำเป็นแกล้งคุยกับผีเสื้อที่ไม่มีจริง แกล้งเล่นกับปลาบู่บนโต๊ะ จนเป็นที่ขำขันกับพี่อีกคนหนึ่งไปพลางๆ

ในที่สุดงานเลี้ยงก็มีวันเลิกรา พี่คนนั้นถูกส่งขึ้นไปวอร์ดปกติตามน้องคนนั้นไปแล้ว ตอนนั้นผมรู้สึกว่างเปล่าจนไม่รู้จะทำอย่างไร เพื่อนที่สนิทก็ไปกันจะหมดแล้ว คุยกับคุณลุง คุณลุงก็คุยไม่เก่ง ในวอร์ดกับคนอื่นก็แทบจะไม่เคยคุยด้วยเลย

เพื่อนใหม่ในวอร์ดวิกฤต

จากที่ผมจะเป็นคนเดินไปเดินมาคุยเล่นเสียงดังกับเพื่อน ช่วงนั้นผมเริ่มนอนมากขึ้น นอนทุกที่ทุกเวลา พยายามจะให้วันเวลามันผ่านไปไวๆ เพราะอยากรีบตามเพื่อนๆ ขึ้นไปแล้ว อีกทั้งเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด โรงพยาบาลหยุดราชการไป 3-4 วัน โดยผมต้องอยู่เฉยๆ ที่วอร์ดนั้นโดยไม่มีเรื่องอะไรเดินหน้าเลย ช่วงเวลานั้น ผมเริ่มได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นมาบ้างจากคนไข้ที่มาใหม่และคนไข้ที่เคยคุยกันบ้างก่อนหน้านี้ เราเริ่มรวมตัวกันเป็นอีกกลุ่มเล็กๆ ที่มีคนอยู่ 3-4 คน แต่ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างจะมีอายุที่ต่างกับผม ผมพยายามหาเรื่องคุยกับเพื่อนคนใหม่ๆ ว่าเป็นอะไรมา ที่บ้านทำอะไร ฯลฯ

ในกลุ่มใหม่นี้ ผมสนิทกับน้าคนหนึ่งที่อายุ 36 ปี ตอนแรกเขาดูน่ากลัวสำหรับผม แต่เมื่อคุยกันแล้วผมรู้สึกได้ว่าภายในจิตใจเขาไม่ได้มีอะไรเลย เป็นวันที่ผมเข้าใจคำว่า ‘โรค’ เพิ่มขึ้นมาก ผมเห็นน้าคนนั้นต่อสู้กับอาการของเขาทุกวัน เหมือนเวลาคนเป็นไข้แล้วพยายามหาผ้ามาเช็ดตัว ผมได้รู้ทันทีเลยว่า สิ่งที่แต่ละคนเป็นมันไม่ใช่ ‘นิสัย’ แต่มันคือ ‘อาการ’ ที่ถ้าเลือกได้ ผู้ป่วยทุกคนคงเลือกที่จะไม่เป็นอย่างแน่แท้

ยิ่งเห็นคุณน้าพยายามต่อสู้เท่าไร ผมก็ยิ่งรู้สึกทั้งสงสารและเคารพคุณน้าคนนั้นมากขึ้นเท่านั้น เพราะเขาเป็นนักสู้มากๆ ผมเริ่มอยู่กับน้าเขาบ่อยขึ้น คอยเป็นกำลังใจให้เขาสามารถกินข้าวได้ ผมจำได้ว่าทุกครั้งที่กินข้าว ผมจะไปนั่งข้างๆ น้าเขา ซึ่งตรงนั้นไม่ค่อยมีคนเพราะพัดลมเป่าไม่ถึง ผมจะคอยบอกเขาว่า “น้าต้องกินข้าวนะ ยาน้ามันเยอะ ถ้ากินน้อยยามันกัดนะ”

หลายๆ ครั้งที่น้าเขาต้องไปขอให้เจ้าหน้าที่มัดเขาไว้ติดกับเก้าอี้หรือเตียง เนื่องจากอาการของเขาอาจทำให้เขาไปทำร้ายคนอื่นหรือตัวเองได้ ซึ่งผมเองก็ช่วยดูแล เช่นเวลาเขาปวดปัสสาวะ ผมก็จะเอากระบอกไปรองและเอาไปเททิ้งให้ เมื่อเขาหิวน้ำ ผมก็เอาน้ำไปให้กิน เมื่อถึงเวลากินขนม ผมก็จะคอยแบ่งเขา

หลายๆ ครั้งที่น้าเขาต้องไปขอให้เจ้าหน้าที่มัดเขาไว้ติดกับเก้าอี้หรือเตียง เนื่องจากอาการของเขาอาจทำให้เขาไปทำร้ายคนอื่นหรือตัวเองได้

ผมไม่ได้จะบอกว่าผมทำสิ่งนี้เพราะผมเป็นคนดีนะครับ เพราะถ้าอยู่ข้างนอก ไม่ใช่ญาติ ผมคงไม่ทำแน่ แต่มันเป็นอะไรที่ผมเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าทำไปเพราะอะไร หน้าที่เราก็ไม่ใช่ เงินเราก็ไม่ได้ แต่ทุกครั้งเมื่อเราช่วยคุณน้าคนนี้ เรารู้สึกดี เมื่อน้าเขาบอกขอบคุณ ผมรู้สึกว่าผมสัมผัสได้ถึงความจริงใจของเขา และผมรู้สึกว่าผมเต็มใจที่จะช่วยผู้ป่วยคนนี้ให้ผ่านไปด้วยกันกับผม

นั่นละครับ ช่วงเวลาหลังจากแยกกับกลุ่มของผม ผมก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนและดูแลคุณน้า และในที่สุด วันของผมก็มาถึง เมื่อผมพบหมอในตอนเช้าแล้วคุณหมอบอกว่า ผมอาการดีพอที่จะย้ายขึ้นไปข้างบนแล้ว

ผมดีใจ แต่ก็อดห่วงเพื่อนๆ ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมันก็ต้องเป็นไปตามกาลเวลา ผมออกจากห้องหมอมาบอกข่าวให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งทุกคนก็ยินดีด้วยกับผม พวกเรากอดกัน อวยพรกัน ก่อนจะไปรับประทานอาหารเที่ยงด้วยกัน เวลาบ่าย 2 ของวันนั้นซึ่งเป็นเวลาอาบน้ำของวอร์ดวิกฤต ผมรีบอาบก่อนจะนำข้าวของออกมาวางเพื่อเตรียมตัวย้ายขึ้นไปวอร์ดข้างบน เมื่อถึงเวลาทุกคนมายืนมอง เราต่างก็โบกมือร่ำลากัน ก่อนที่ผมจะเอาน้ำส้มที่ญาติผมเอามาให้ ยื่นไปให้เพื่อนๆ ไปแบ่งกันกิน ก่อนที่ผมจะเดินออกมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่เพื่อขึ้นลิฟต์ไปข้างบน ก่อนประตูลิฟต์จะปิดลง ผมกับเพื่อนๆ โบกมือลากันเป็นครั้งสุดท้าย โดยที่ในใจผมก็รู้ว่า สำหรับบางคนที่เราได้รู้จัก เราคงไม่เจอกันอีกแล้วในชีวิต

ชีวิตหลังวอร์ดวิกฤต

เมื่อขึ้นมาข้างบนวอร์ดปกติซึ่งเป็นห้องแบบพิเศษ ผมเดินเข้าไปวัดความดันและสังเกตรอบๆ วอร์ดที่ผมขึ้นมามันช่างต่างจากข้างล่างเสียเหลือเกิน มันเต็มไปด้วยหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ที่มีสี มีห้องครัวติดแอร์ มีห้องสำหรับทำกิจกรรมกลุ่ม ลูกกรงน่ากลัวๆ ที่คั่นระหว่างห้องพยาบาลกับพื้นที่คนไข้หายไป มีโต๊ะปิงปอง มีห้องนอนที่มีแอร์ มีห้องน้ำที่ไม่ต้องอาบรวมกับคนอื่น (แต่ในห้องน้ำก็มีกล้องวงจรปิดอยู่ดี)

ในระหว่างที่ผมเดินสำรวจอยู่นั้น ผมมานั่งดูทีวีที่พื้นที่ส่วนกลาง ก่อนจะเหลือบไปเห็นชาวแก๊ง ของผมนั่งกันอยู่สองคนในห้อง พวกเขากำลังทำกิจกรรมกลุ่มอยู่ ตอนนั้นผมดีใจมาก โบกไม้โบกมือให้เพื่อนๆ แต่เพื่อนๆ ที่อยู่ในห้องไม่สามารถโบกมือกลับได้เนื่องจากทำกิจกรรมอยู่ ผมจึงนั่งรอจนเพื่อนๆทำกิจกรรม เสร็จก็ปรี่เข้าไปกอดกันยกใหญ่

ในวอร์ดปกตินั้นจะมีกิจกรรมให้ทำฆ่าเวลาเยอะกว่าวอร์ดวิกฤต มีหนังสือมากมาย มีทีวี มีห้องนอนที่สามารถเข้าไปนอนได้ทั้งวัน และมีกิจกรรมกลุ่มบำบัดอีกวันละหนึ่งหรือสองกลุ่ม ญาติสามารถมาเยี่ยมได้นานขึ้นและมีอาหารที่ดีกว่า

วอร์ดที่ผมขึ้นมามันช่างต่างจากข้างล่างเสียเหลือเกิน มันเต็มไปด้วยหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ที่มีสี มีห้องครัวติดแอร์

ผมจำได้ว่า ผมแทบไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวเลย เนื่องจากข้างบนนี้มีเพื่อนในวัยเดียวกันเยอะ หรือหากเป็นคนอื่นก็อยู่ในเกณฑ์ที่คุยรู้เรื่องกันหมดทุกคนแล้ว ในวอร์ดนี้ กลุ่มผมมีขนาดใหญ่ขึ้นมากเนื่องจากมีคนวัยเดียวกันเยอะ และพวกเราก็ชอบเกาะกลุ่มกัน ซึ่งพยาบาลดูจะไม่ชอบใจมากนักเวลาคนไข้เกาะกลุ่มกันใหญ่มากๆ เพราะกลัวคนไข้รวมกันทำสิ่งไม่ดี

ผมได้เพื่อนใหม่หนึ่งคนที่อายุใกล้กัน เป็นรูมเมทผม ในห้องจะนอนกัน 3 คน เรามักจะชวนกันหาอะไรทำไปเรื่อยแก้เบื่อ เพื่อนผมชอบชวนเล่นไพ่ Uno มาก เกมหนึ่งเกมสามารถฆ่าเวลาได้ราวๆ 10 นาที ซึ่งถือว่าเยอะหากเราไม่มีอะไรทำ ผมก็พยายามรวมกลุ่มไปเล่นไพ่กับมันอยู่บ่อยๆ เพราะการใช้ชีวิตในตึกสี่เหลี่ยมไม่ได้ไปไหนมันช่างน่าเบื่อและดูดพลังมาก

การรักษาของวอร์ดนี้ไม่ได้มีหมอเข้าทุกวันเหมือนที่วอร์ดวิกฤตแล้ว ซึ่งก็เป็นโชคร้ายของผมอีกเหมือนกัน เพราะผมขึ้นมาในช่วงวันสงกรานต์พอดี อาทิตย์นั้น โรงพยาบาลหยุดทั้งอาทิตย์ ทำให้ผมไม่ได้เจอกับหมอหรือทำกิจกรรมอะไรเลยตลอดสัปดาห์ ก็แค่กิน นอน หรือดูทีวีไป ผมจำได้ว่าผมหงุดหงิดมากที่โรงพยาบาลหยุด เพราะทุกวันที่อยู่ที่นี่ก็ต้องจ่ายเงิน แต่ไม่ได้เจอหมอเป็นอาทิตย์เลย

พอกลับมาวันทำการ หมอก็เรียกผมเจอและเข้าไปคุย ผมเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลซ้ำให้หมอคนใหม่ฟัง หากแต่ว่าในวอร์ดนี้ คุณหมอดูไม่รีบเท่าที่วอร์ดวิกฤต มีเวลาฟังเรื่องของผมเพิ่มขึ้น และมีเวลาให้คำปรึกษาด้วย

ในแต่ละวันที่ผ่านไปอย่างน่าเบื่อหน่าย ผมมีไม่กี่อย่างที่ทำให้อยากตื่นมาในตอนเช้า ก็คือเฝ้ารอแฟนของผมมาเยี่ยม ซึ่งหลังจากเราทะเลาะกันไม่นาน แฟนของผมก็มาเยี่ยมตั้งแต่อยู่วอร์ดวิกฤตและเคลียร์ปัญหาของเราได้ ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล ผมหวังไว้ก่อนนอนทุกคืนว่า พรุ่งนี้แฟนจะมาเยี่ยม เป็นกำลังใจที่ทำให้ผมสามารถเฝ้ารอวันพรุ่งนี้ที่แสนน่าเบื่อได้มาตลอด และเมื่อขึ้นมาข้างบนที่ญาติสามารถมาอยู่ได้นานขึ้น แฟนผมก็มาหาเรื่อยๆ ทำให้อาการของผมดีขึ้นไวด้วย หลายๆ ครั้งผมถูกพี่พยาบาลแซวเวลาที่แฟนผมมาเยี่ยมว่า วันนั้นผมจะร่าเริงผิดปกติ หรือพี่เจ้าหน้าที่ที่ชอบมาแซวผมว่ามีความสุขขนาดนี้จับมัดเล่นดีกว่าไหม ซึ่งผมก็ได้แต่หัวเราะกลบเขินกลับไป

พูดถึงการเข้ากลุ่มบำบัด คือการที่พยาบาลจะคัดเลือกผู้ป่วยเข้ามานั่งคุยกันตามหัวข้อกลุ่ม เช่น กลุ่มบำบัดหนังสือพิมพ์ ก็คือจะให้ผู้ป่วยหนึ่งคนอ่านหนังสือพิมพ์ เมื่อเสร็จแล้วก็จะมานั่งคุยกันถึงหัวข้อหนังสือพิมพ์นั้นๆ แต่กลุ่มบำบัดที่ผมชอบที่สุดคือกลุ่มจิตบำบัดประคับประครอง โดยผู้ป่วยจะมาเล่าถึงเรื่องที่ไม่สบายใจ แล้วเพื่อนๆ จะเลือกหัวข้อหรือเรื่องที่น่าสนใจที่สุดแล้วนำมาถกเถียงปรึกษากันเพื่อหาทางออกหรือคำแนะนำให้เพื่อนๆ

แต่ละวันบนวอร์ดปกติดำเนินไปซ้ำๆ เดิมเช่นเดียวกับวอร์ดวิกฤตแหละครับ เพียงแต่มีกิจกรรมให้ทำมากขึ้น ผมมักจะหมกตัวอยู่กับเพื่อน หรือไม่ก็อ่านหนังสือการ์ตูนและนั่งคุยกับญาติเป็นเวลานานเมื่อญาติมาเยี่ยม ในวอร์ดปกตินั้นไม่ค่อยมีเรื่องอะไรให้ปวดหัวเหมือนวอร์ดวิกฤต บางครั้งผมก็ไปนั่งฟังคนไข้ที่เป็นคนสูงอายุร้องเพลงไปเรื่อย จนกระทั่งกลุ่มของผมเริ่มกลับบ้านไปทีละคน ความเหงาปากเหงาใจก็กลับมา แต่นับเป็นโชคดีที่ยังมีเพื่อนอยู่อีกหลายคน ผมจึงสามารถใช้ชีวิตให้เวลามันค่อยๆ ผ่านไปได้จนถึงวันสุดท้ายของผม

ได้เวลากลับบ้าน

วันที่ผมได้กลับบ้าน ผมเพียงรู้มาก่อนจากคุณหมอว่า เขาจะเรียกญาติมาคุยพร้อมกับผม ญาติผมมาตั้งแต่ตอน 9 โมงเช้าของวันนั้นเพื่อรอหมอเรียกเข้าไปคุย คุณหมอจะทบทวนอาการทั้งหมดให้ญาติฟัง รวมถึงแนวทางปฏิบัติหลังจากผมออกไปจากโรงพยาบาล การไปรักษาต่อแบบผู้ป่วยนอกและทบทวนความคิดของผมตั้งแต่เข้ามาโรงพยาบาล ว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

การโดนจับตัวเข้ามารักษาที่นี่ คงต้องยอมรับว่าโหดร้ายก็โหดร้ายเลยล่ะครับ ขนาดคุณหมอเองยังบอกเลยว่า “ผมไม่ปฏิเสธหรอกนะว่ามันไม่โหดร้าย” แต่มันกลับกลายเป็นประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ผมเองก็ผ่านมันมาแล้ว ระหว่างนั้นมันทรมานที่ต้องอยู่แต่บนตึก ไม่ได้ออกไปเจอแสงตะวันเลยเป็นเวลาเกือบเดือน แต่มันก็ทำให้ผมคิดถึงวิธีรักษาตัวเองใหม่ ตั้งแต่ออกมายังไม่ได้ลงมือทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย และเมื่อมีความคิดนี้ ก็จะนึกถึงคำแนะนำของเพื่อนๆ หรือของหมอตอนที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและพยายามทำตามนั้น

สำหรับผม ผมคงไม่แนะนำให้ใครไปรักษาตัวแบบที่ผมรักษาหรอกครับ อย่าปล่อยให้มันถึงขั้นนั้นเลย หากท่านผู้อ่านมีคนรู้จักหรือตัวเองที่รู้ว่าตัวเองป่วยทางจิต ก็สามารถไปหาหมอได้ ในหลายๆ โรงพยาบาลก็มีแผนกจิตเวชอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาเฉพาะทางสุดๆ แบบผม ตัวผมเองนั้น ก็เป็นเพราะปฏิเสธการรักษามานาน เหตุมันถึงได้บานปลายขนาดนี้ แต่ถ้าท่านผู้อ่านรู้ว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการป่วยแล้วไปรักษาแต่เนิ่นๆ ผมกล้ารับประกันแน่นอนว่า ท่านไม่ต้องไปเสียเวลาใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลแบบผมแน่นอน

นี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรก และขอเป็นครั้งเดียวที่ผมจะถูกส่งเข้ารักษาในลักษณะนี้ ผมนำประสบการณ์ที่ผมได้เข้าไปสัมผัสออกมาเขียน เพราะอยากให้ทุกท่านเข้าใจว่า คนที่ป่วยมีอาการทางจิตเวชว่าพวกเขาไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้เป็นแบบในหนังที่ต้องถือมีดวิ่งแก้ผ้าบนป้ายโฆษณา พวกเราเป็นแค่คนป่วยกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้พบเจอได้ง่ายนัก เนื่องจากมันเป็นอาการทางสมอง ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างโรคต่างๆ ที่ท่านคุ้นชินกัน

การที่มีคนต้องผ่านเรื่องราวแบบนี้อย่างเช่นผมหรือเพื่อนๆ ไม่ใช่เพราะเราต้องการ แต่มันเป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับทุกท่าน ที่เลือกได้ก็คงไม่อยากเป็นไข้ หากท่านมีคนที่รู้จักหรือตัวท่านเองมีอาการแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ก็อย่าลืมที่จะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออกก่อนที่อาการมันจะหนักขึ้นเกินไปจนสายเกินกว่าจะแก้

ถึงเพื่อนร่วมโรคที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผมคงไม่สามารถพูดอะไรได้เยอะมาก แต่ผมก็จะพูดในสิ่งที่ผมพูดตั้งแต่ตอนอยู่โรงพยาบาลว่า ผมเข้าใจว่าโลกใบนี้มันทำให้พวกเราเบื่อหน่ายและท้อถอยเพียงไร หากแต่ผมเชื่อว่าท่านทุกคนมีความแข็งแกร่ง มีความสามารถที่จะผ่านมันไปได้ มันไม่ใช่อะไรที่จะหายไปภายในปีสองปี ผมเป็นมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จนตอนนี้ผมกำลังจะเรียนจบก็ยังไม่หาย ดังนั้น ขอเพียงแค่เราทนมันและสู้กับมัน สักวันหนึ่ง พอเรามองย้อนกลับไป เราอาจจะประหลาดใจกับตัวเองเหมือนกันว่า ทำไมเราเดินมาได้ไกลขนาดนี้ ในเส้นทางที่มันไม่ได้มีอะไรราบรื่นเลย ผมก็คงพูดได้แค่สั้นๆ เหมือนทุกครั้งที่ผมบอกเพื่อนผู้ป่วยว่า “สู้ๆ นะ เราเป็นกำลังใจให้”

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณทุกคนที่อ่านจบมาถึงบรรทัดนี้นะครับ หวังว่าเรื่องของผมจะทำให้ทุกท่านเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชและสภาพความเป็นอยู่ของพวกเรามากขึ้น หากท่านไหนต้องการจะนำคนที่รู้จักหรือตนเองไปหาหมอก็คุยกันดีๆ และหาเวลาไปกัน ไปคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หลายๆ อย่างมันจะโหด แต่สุดท้ายมันก็อาจจะสอนอะไรบางอย่างเราเหมือนกัน สู้ๆ ครับทุกคน ผ่านโลกใบนี้ไปด้วยกัน

ขอบพระคุณครับ

Tags: , ,